ThaiPublica > เกาะกระแส > โควิด-19 ทำให้เห็นพลังของแนวคิดง่ายๆ การใช้จ่ายของคนหนึ่ง คือรายได้ของอีกคนหนึ่ง

โควิด-19 ทำให้เห็นพลังของแนวคิดง่ายๆ การใช้จ่ายของคนหนึ่ง คือรายได้ของอีกคนหนึ่ง

27 มิถุนายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : theguardian.com

เมื่อเดือนมีนาคม 2020 หลังจากการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19 หนังสือพิมพ์ New York Times พิมพ์บทความชื่อ One Simple Idea That Explains Why the Economy Is in Great Danger โดยกล่าวว่า การที่คนเราจะมองเห็นว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก คือการเข้าใจถึงความคิดอย่างหนึ่ง ที่ชัดเจน ลึกซึ้ง แต่ทว่าหลบซ่อนอำพรางอยู่

ความคิดดังกล่าวนี้คือสภาพความเป็นจริงที่ว่า การใช้จ่ายของคนคนหนึ่ง ก็คือรายได้ของคนอีกคนหนึ่ง ความคิดดังกล่าวนี้ คือสิ่งที่ช่วยอธิบายวิกฤติ และความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในปีหนึ่งมีมูลค่า 87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แกนเศรษฐกิจทุนนิยม

บทความ New York Times กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้จ่ายกับรายได้ และการบริโภคกับการผลิต คือแกนกลางการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นพื้นฐานการทำงานอย่างต่อเนื่องของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ เราซื้อสิ่งของที่ต้องการ โดยจ่ายเงินให้กับคนที่ผลิตสิ่งของเหล่านี้ และคนคนนี้ก็ใช้เงินไปซื้อสิ่งของที่เขาต้องการ กระบวนการทำงานของจักรกลเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก

เพราะเหตุนี้ สิ่งที่น่าวิตกอย่างมากก็คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการทำงานแบบไม่หยุดพักของเครื่องจักรกลเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการใช้จ่ายกับรายได้ต้องหยุดชะงักลงเกือบสิ้นเชิงในทั่วทุกภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญๆ และเป็นระยะเวลาที่ระบุแน่ชัดไม่ได้

ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2020/03/17/upshot/coronavirus-economy-crisis-demand-shock.html

บทความ New York Times กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสมัยใหม่ยังไม่เคยประสบปัญหาแบบนี้มาก่อน ทำให้เราไม่รู้ว่าเครื่องจักรกลเศรษฐกิจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรต่อความเสียหายที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าหากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาดำเนินงานใหม่ตามปกตินั้น จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก หรือว่าสะดวกง่ายดายขนาดไหน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคในโลกเราลดลงอย่างมาก สิ่งนี้หมายความว่าผลิตผลทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ส่วนประชาชนที่เป็นผู้ให้บริการด้านต่างๆ ก็มีรายได้ลดต่ำลง ในสหรัฐฯ ผลกระทบสำคัญของโควิด-19 จะมีต่อการใช้จ่ายที่เป็นการบริโภคส่วนบุคคล (personal consumption) ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ 3 ภาคส่วนด้วยกัน คือ การเดินทาง บันเทิงสันทนาการ และอาหารกับที่พักอาศัย

หน่วยงาน The Bureau of Economic Analysis เปิดเผยว่า ในปี 2019 คนอเมริกันใช้จ่ายเงินในด้านการเดินทาง เช่น ค่าโดยสารเครื่องบินและรถไฟ 478 พันล้านดอลลาร์ ใช้จ่ายในด้านสันทนาการ เช่น บัตรเข้าชมกีฬาหรือเล่นการพนัน 586 พันล้านดอลลาร์ และใช้จ่ายด้านอาหารและการพักอาศัย เช่น ภัตตาคารและโรงแรม 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งหมดคือ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 14% ของการบริโภคทั้งหมด

ผลกระทบเป็นระลอกคลื่น

ที่มาภาพ : voanews.com

รายได้ของภาคเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เกิดการหมุนเวียนเกิดขึ้นในอีกหลายจุด เช่น จ่ายเป็นเงินเดือนแก่พนักงานในธุรกิจดังกล่าว เป็นรายได้ของซับพลายเออร์ จ่ายเป็นค่าเช่าให้แก่เจ้าของสถานที่ รายได้เป็นภาษีเข้ารัฐ และกำไรที่เป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น

เมื่อการบริโภคหดตัวลง จะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเงินสด ประเด็นสำคัญที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดก็คือว่า การหดตัวของการบริโภคส่วนบุคคลนี้จะมีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ เป็นระยะเวลานานแค่ไหน และการพังทลายของการใช้จ่ายเงินจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อรายได้ของผู้คน

ภาวะเศรษฐกิจที่การใช้จ่ายของบุคคลหดตัวลง อาจทำให้เกิดการชดเชยขึ้นมาเช่นกัน เช่น คนซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เกตมากขึ้นแทนการไปซื้อจากร้านอาหาร หรือใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าสุขอนามัยเพิ่มขึ้น แต่การทำงานมากขึ้นของพนักงานร้านซูเปอร์มาร์เกต หรือร้านขายยา ก็ไม่สามารถมาชดเชยทางเศรษฐกิจ ต่อรายได้ของคนทำงานนับล้านๆ คนที่ลดลงหรือหายไป เช่น พนักงานบนเครื่องบิน หรือพนักงานโรงแรม

ร้านอาหารที่ปิดกิจการ สนามบินที่ไร้เที่ยวบิน หรือโรงแรมไม่มีคนเข้าพัก คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เป็นคลื่นลูกแรกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นคลื่นลูกที่ 2 และ 3 ตามมาอีก เช่น ธุรกิจที่ล้มละลายจำนวนมาก จะทำให้ระบบธนาคารขาดทุนขึ้นมา สิ่งนี้จะเป็นเหตุให้มีการจำกัดการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจต่างๆ หรือการตกต่ำของราคาน้ำมันดิบ อาจทำให้อุตสาหกรรมพลังงานปลดคนงาน

มาตรการช่วยเหลือช่วงกดปุ่ม “หยุดพัก”

ที่มาภาพ : https://mitpress.mit.edu/books/economics-age-covid-19

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Joshua Gans เขียนไว้ในหนังสือ Economics in the Age of COVID-19 (2020) ว่า ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ ที่การบริโภคและการผลิตเกิดการหยุดชะงักลงในแบบผิดปกตินี้ เราควรจะมองว่า การผลิตที่หยุดลง เป็นการหยุดพักชั่วคราวของการประกอบธุรกิจ คล้ายๆ กับเวลาที่เรากดปุ่ม “หยุดพักชั่วคราว” (pause) ของเครื่องเล่น DVD

การใช้แนวคิดการกดปุ่มหยุดชั่วคราวของธุรกิจ มีความหมายสำคัญ เพราะโดยปกติ เมื่อธุรกิจประสบปัญหาขาดลูกค้า ก็มักจะปิดกิจการลงไปในที่สุด แต่การปิดกิจการของธุรกิจนั้น จะมีต้นทุนที่สูงมาก เราจะเห็นได้ว่า หากปิดกิจการไปแล้ว เป็นเรื่องยากลำบาก ที่ธุรกิจนั้นจะกลับมาดำเนินงานใหม่

อย่างเช่น ร้านอาหารที่ปิดกิจการไปแล้ว หากจะเปิดใหม่ขึ้นมา เจ้าของร้านจะต้องมองหาทำเลสถานที่แห่งใหม่ หาแหล่งเงินกู้ จากนั้นก็เริ่มลงทุนในด้านต่างๆ ก่อนที่จะมีการจ้างพนักงาน และในที่สุดก็เปิดร้านอาหารใหม่ขึ้นมา เปรียบเหมือนกดปุ่ม “หยุดการเล่น” (stop) แผ่น DVD และก็นำแผ่น DVD ออกจากเครื่องเล่น

แต่ในช่วงวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เจ้าของร้านอาหารต้องการจะกดปุ่ม “หยุดพักชั่วคราว” คือธุรกิจยังดำรงอยู่แบบเดิม ไม่ได้ล้มหายไป เพียงแต่หยุดดำเนินงานชั่วคราวเท่านั้น เหมือนกับที่เรากดปุ่มเรียกว่า pause ของเครื่องเล่น DVD การกดปุ่มหยุดพักชั่วคราวนั้น ภาคเอกชนสามารถดำเนินการด้วยกันเองได้ เช่น เจ้าของสถานที่งดเก็บค่าเช่าร้านอาหาร เพราะหากไล่เจ้าของร้านอาหารที่ไม่จ่ายค่าเช่าออกไปในยามที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค ก็ไม่สามารถหาคนเช่ารายใหม่ได้

แต่รัฐบาลในหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาที่จะติดตามมา หากปล่อยให้ธุรกิจจำนวนมากล้มละลายลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ในเดือนมีนาคม 2020 ฝรั่งเศสสั่งระงับการเก็บค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่าสถานที่ของธุรกิจขนาดเล็ก ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ประกาศว่า “ไม่มีธุรกิจไหนที่จะถูกปล่อยให้ล้มลง” ส่วนรัฐบาลเดนมาร์กจะจ่ายเงินเดือน 75% ของคนงานที่เสี่ยงจะถูกเลิกจ้าง และออกค่าใช้จ่ายในส่วนของต้นทุนคงที่ของธุรกิจขนาดเล็ก

มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลหลายประเทศ สะท้อนความจริงที่ว่า เศรษฐกิจถดถอยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นแบบปกติตามวัฏจักร การปล่อยให้ธุรกิจจำนวนมากล้มลงไป จะสร้างปัญหายากลำบากอย่างมาก ต่อการที่ธุรกิจจะกลับมาดำเนินงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เอกสารประกอบ

Economics in the Age of COVID-19, Joshua Gans, 2020, MIT Press.
One Simple Idea That Explains Why the Economy Is in Great Danger, March 17, 2020, nytimes.com