ThaiPublica > เกาะกระแส > รฟท.จับมือ CPH เซ็นสัญญาร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ศุภชัย” เผยต่างชาติขอซื้อหุ้น

รฟท.จับมือ CPH เซ็นสัญญาร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ศุภชัย” เผยต่างชาติขอซื้อหุ้น

24 ตุลาคม 2019


รฟท.จับมือ CPH เซ็นสัญญาร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ศุภชัย” เผยต่างชาติขอซื้อหุ้น

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนและบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) , นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

เสร็จจากพิธีลงนามสัญญาร่วมทุน ฯ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุน ระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด จากข้อตกลงสัญญาสัมปทาน โดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฏว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200‬ ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

ชงร่างพ.ร.ฎ.เวนคืนเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

สำหรับปัญหาการส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่าปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก็จะมีเรื่องการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคออกจากพื้นที่ เช่น ประปา ไฟฟ้า ท่อส่งน้ำมัน และชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ของรฟท.ออกจากพื้นที่ด้วย ตามสัญญาร่วมทุน ฯ กำหนดว่ารฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทเอกชน เพื่อนำไปก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่เกิน 2 ปี ซึ่งรฟท.จะพยายามเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนโดยเร็วที่สุด ขณะนี้ทาง EEC ได้ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมเป็นคณะทำงาน ดำเนินการออกแบบและเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน และล่าสุดนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินมาที่รฟท.แล้ว และคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้านี้

ตั้งเป้าส่งมอบพื้นที่ “พญาไท-ดอนเมือง” ไม่เกิน 2 ปี 3 เดือน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC กล่าวเสริมว่า เรื่องการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก คือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนนี้ทางรฟท.ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ได้ ส่วนพื้นที่จากสนามบินสุวรรณภูมิไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภา รวมระยะทาง 170 กิโลเมตร คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ได้ภายใน 2 ปี แต่คณะทำงานร่วมจะพยายามเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ให้ได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน ส่วนพื้นที่ที่มีความยากลำบากมากที่สุด คือ เริ่มสถานีรถไฟฟ้าพญาไทไปถึงสนามบินดอนเมือง คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ได้ภายใน 4 ปี ซึ่งคณะทำงานร่วมจะพยายามเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯไม่เกิน 2 ปี 3 เดือน

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ พันธมิตร กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โดยได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน , บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ , บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ , บมจ. ช.การช่าง ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public – Private – Partnership หรือ PPP ในครั้งนี้ โดยภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจและออกแบบ รวมทั้งเจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่างๆ เพื่อเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

“นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) รวมทั้งได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากเอกอัครราชทูต 3 ประเทศ ประกอบด้วย นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการประวัติศาสตร์ที่เป็นความร่วมมือระดับโลกเพื่อพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในครั้งนี้” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

เร่งตอกเสาเข็มภายใน 1 ปี สร้างเสร็จไม่เกิน 5 ปี

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ก่อนเข้าประมูลงานนี้ทางบริษัทฯใช้เวลาเตรียมการไม่ต่ำกว่า 2 ปี หลังจากชนะการประมูลแล้วก็มีการเจรจากันอีก 11 เดือน หลังจากมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนฯกันแล้ว ตามสัญญาแนบท้ายทางบริษัท ต้องเริ่มลงมือก่อสร้างภายใน 12 เดือน แต่ไม่เกิน 24 เดือน สำหรับพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้เร็วที่สุดคือโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) แต่ส่วนที่ยากที่สุด คือ การส่งมอบพื้นที่ส่วนต่อขยายจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไทไปสนามบินดอนเมือง ส่วนการส่งมอบพื้นที่ที่มีระยะทางยาวที่สุด คือ ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินอู่ตะเภา โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์และพันธมิตรจะต้องเริ่มลงมือก่อสร้างภายใน 12 เดือน และสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี

“สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่องความเสี่ยง เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท และลงทุนร่วมกับคอนซอร์เตี้ยมอีกหลายราย ต้องกู้จากธนาคารมาลงทุน หากดำเนินการไปแล้วขาดทุน ทุก ๆปีก็ต้องไปหาเงินมาเข้าเติม อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาประมูลโครงการนี้ เราศึกษามาดีแล้ว จึงมีความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่จะนำไปสู่การลงทุนในโครงการ PPP หรือ รถไฟความเร็วสูงสายอื่นๆตามมา แต่การที่จะทำให้โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ควรต้องมีความยืดหยุ่นด้วย” นายศุภชัย กล่าว

เผยต่างชาติเจรจาขอซื้อหุ้น

ส่วนกรณีที่มีนักลงทุนรายใหม่จะเข้ามาถือหุ้นบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด นายศุภชัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นนักลงทุนในประเทศ การระดมทุนเพื่อใช้ในก่อสร้างโครงการนี้มีหลายเฟสขึ้นอยู่กับระยะทาง และระยะเวลาในการก่อสร้าง ซึ่งในแต่ละเฟสนั้น ก็อาจจะมีบางจังหวะสามารถเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายใหม่ที่สนใจเข้ามาถือหุ้นได้ แต่ต้องได้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมทุน ฯ กล่าวคือ ในระหว่างการก่อสร้างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องถือหุ้นบริษัท รถไฟความเร็วสูงฯไม่ต่ำกว่า 40% และต้องได้รับอนุญาตจากรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นบริษัท รถไฟความเร็วสูงฯอยู่ที่ 70% ซึ่งทางกลุ่ม CPH ตั้งใจว่าจะพยายามรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท รถไฟความเร็วสูงฯไม่ต่ำกว่า 51% ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนในโครงการนี้ต้องอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดขาดและรวดเร็ว จากนั้นเมื่อ CPH ดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเสร็จเรียบร้อย และ”โเปิดให้บริการเดินรถไฟไปได้ระยะหนึ่ง ก็อาจจะแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้ายระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขายมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง และมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้