วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2562) ณ ห้อง Sapphire 108 ชั้น 1 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นายวิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ นำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ร่วมเดินทางมาไทยครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในการขยายความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งสหรัฐฯ นับเป็นนักลงทุนที่สำคัญของไทยและมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อากาศยานและอวกาศ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาแสดงความชื่นชมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน พร้อมกล่าวว่าการมาเยือนครั้งนี้นำภาคเอกชนจากสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของไทยมาร่วมประชุม Indo-Pacific Business Forum ที่หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจสำหรับภาคเอกชน
ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ รวมทั้งได้พัฒนากฎระเบียบต่างๆ และผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียนด้วย
สำหรับประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) บางส่วนแก่ไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชนและสาธารณชน แต่เข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
“นายกรัฐมนตรีได้หารือประเด็นที่สหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือ GSP) สินค้าไทย 573 รายการ ว่า ไทยรับทราบและเข้าใจดีเนื่องจากเป็นสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาที่จะต้องพิจารณา เพียงแต่ในกระแสสังคมของคนไทยอาจจะยังไม่เข้าใจ รัฐบาลก็พยายามเข้าใจพยายามอธิบายให้เข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง” ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันมามากว่า 200 ปี ไทยจึงหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาในมุมที่เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย และความสัมพันธ์ของระหว่าง 2 ประเทศ
โดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า กรณีนี้ถือว่าเป็นมูลค่าเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับหลายๆ เรื่องที่เคยพูดคุยเจรจากับไทย โดยมองว่ายังมีระยะเวลาที่ไทยจะชี้แจง ส่วนสหรัฐฯ ก็พร้อมจะหาทางออกร่วมกันในอนาคต โดยอาจจะมีการอุทธรณ์สินค้าบางรายการได้ และพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ยังมีเวลาอีก 6 เดือนในการเจรจา ชี้แจง และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย เพื่อที่จะนำไปพิจารณาสนับสนุนในการคืนสิทธิ์ให้กับสินค้าบางรายการ โดยบรรยากาศการหารือครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีความตึงเครียด
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นการแบน 3 สารพิษอันตรายในประเทศไทยมาพูดคุยในครั้งนี้
นอกจากนี้ ในการหารือทวิภาคี ได้มีการพูดคุยในเรื่องธุรกิจพลังงาน และการดูแลความปลอดภัยบริเวณสนามบิน การตรวจคนเข้าเมือง ที่สหรัฐฯ ได้ฝากไทยพิจารณา