ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมคนที่รวยก็จะยิ่งรวยขึ้น ส่วนคนที่จนก็จะยิ่งจนลง: The Matthew Effect

ทำไมคนที่รวยก็จะยิ่งรวยขึ้น ส่วนคนที่จนก็จะยิ่งจนลง: The Matthew Effect

29 ตุลาคม 2018


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

อะไรคือ Matthew Effect?

จุดเริ่มต้นของ Matthew Effect นั้นมาจากบทความในพระกิตติคุณของ Matthew ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 สาวกของพระเยซูที่จารึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลเอาไว้ว่า

“For to every one who has will more be given, and he will have abundance; but from him who has not, even what he has will be taken away.”

“สำหรับคนที่มี เขาจะยิ่งได้รับเพิ่มมากขึ้นและก็จะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ตามมา ส่วนคนที่ไม่มี เขาก็จะต้องสูญเสียในสิ่งที่เขามีไป”

— Matthew 25:20

ในทางวิชาการ Matthew Effect — ซึ่งคนแรกที่นำคำนี้มาใช้ก็คือนักสังคมศาสตร์ Robert K. Merton — มักจะถูกหยิบนำมาใช้ในการอธิบายว่าทำไมคนที่เกิดมารวยก็จะยิ่งรวยขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่เกิดมาจนก็จะยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความรวยที่คนเรามีอยู่ในตอนแรกนั้นจะช่วยส่งผลทำให้เกิดโอกาสที่ตามมาในการที่จะทำให้พวกเขายิ่งรวยขึ้นเมื่อเทียบกันกับโอกาสที่คนจนจะได้รับในชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกิดมารวยก็จะมีโอกาสที่มากกว่าคนจนในเชิงโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ (และถ้าเราดูในบริบทที่เป็นไทยแล้วล่ะก็ เราก็จะสามารถเห็น Matthew Effect กันได้อยู่เป็นประจำจากการดูนามสกุลของคน ซึ่งคนที่เกิดมามีนามสกุลดังก็จะมีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าคนที่มีนามสกุลโนเนม ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย การสมัครงาน หรือการเข้าวงการการเมือง เป็นต้น ซึ่งก็จะส่งผลให้คนที่มีนามสกุลที่ดีกว่ามีโอกาสที่จะทำให้นามสกุลตัวเองเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนได้มากกว่าคนที่ไม่มีนามสกุลที่ดังเท่า)

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณเกิดมาโชคดี โอกาสที่คุณจะโชคดีต่อไปเรื่อยๆ ก็จะสูง (ซึ่งความโชคดีที่ตามมานั้นอาจจะไม่ได้ขึ้นตรงกับความสามารถที่แท้จริงของคุณเลยก็ได้)

นอกจากความรวยที่อาจจะตามมาจากความมี “บุญเก่า” ของคนใน Matthew Effect ยังสามารถนำมาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอื่นๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น

Matthew Effect สามารถนำมาใช้อธิบายได้ว่าทำไมการทำวิจัยและเขียนเปเปอร์กับคนที่ชื่อดังๆ จะทำให้คนที่มีชื่อเสียงที่ดังกว่าได้รับเครดิต บวกกับชื่อเสียงเกียรติยศจากงานวิจัยนั้นๆ จากสายตาของคนภายนอกมากกว่าคนที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าบนเปเปอร์ ถึงแม้ว่างานที่ทำนั้นจะมีการแบ่งกันทำอย่างเท่าๆ กันก็ตาม

ในเชิงของการศึกษา เด็กที่เริ่มต้นด้วยการเรียนดีก็จะยิ่งมีโอกาสที่ผลักดันให้เขายิ่งเรียนดีขึ้นไปเรื่อย ส่วนเด็กที่เริ่มต้นด้วยการเรียนที่ไม่ดี พวกเขาก็มักจะเจอแต่สิ่งที่กดผลการเรียนของตนให้พัฒนาได้ไม่สูงเท่าที่จริงๆ แล้วสามารถทำได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือการจัดให้มีห้องคิง ห้องควีน หรือการยกย่องแต่เด็กที่เรียนดี การให้ทุนการศึกษาแต่เด็กที่เรียนดีอย่างเดียว ส่วนเด็กที่เรียนไม่ดีตั้งแต่ต้น ความใจใส่ที่เราให้พวกเขาก็จะลดลงตามๆ กันไป เป็นต้น

ในเชิงการค้า แบรนด์ไหนที่สามารถสร้างชื่อเสียงของตัวเองได้ก่อนก็จะมีโอกาสในการโตเร็วกว่าแบรนด์ที่ดีพอๆ กันแต่ไม่เร็วพอในการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง

จะว่าไป Matthew Effect เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่นักวิชาการเรียกกันว่า positive feedback effect ซึ่งก็คือผลบวกที่เกิดขึ้นในตอนแรกช่วยส่งผลให้เกิดผลบวกที่ทวีคูณขึ้นไปอีกในอนาคต (คล้ายๆ กับ compound interest นั่นแหละครับ)

ปัญหาก็คือ เราจะทำยังไงถ้า Matthew Effect นั้นนอกจากจะทำให้คนที่เกิดมารวยยิ่งรวยมากขึ้นและคนที่เกิดมาจนยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ แล้ว ก็ยังยิ่งทำให้คนที่เกิดมาโชคดีเหล่านี้คิดว่าสิ่งดีๆ ที่ตามมาจาก positive feedback effect นี้เป็นเพราะ “ความสามารถ” ของเขา ไม่ใช่เพราะ “โชคชะตา”

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าถ้าเรายังคิดกันผิดๆ ว่าทุกอย่างที่ดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรานั้นมาจากความสามารถของตัวเราเองแต่อย่างเดียว โอกาสที่นโยบายสาธารณะที่ช่วยสร้างความเสมอภาค หรือโอกาสที่เราจะโหวตให้พรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนที่โชคร้าย ที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมๆ กันกับ “บุญเก่า” นี้จะเกิดขึ้นหรือตามมาทีหลังนั้นก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม
Merton, R.K., 1968. The Matthew effect in science: The reward and communication systems of science are considered. Science, 159(3810), pp.56-63.