ThaiPublica > คอลัมน์ > The Science of ความรักพี่เสียดายน้อง: The Paradox of Choice

The Science of ความรักพี่เสียดายน้อง: The Paradox of Choice

24 พฤษภาคม 2018


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณเคยได้ยินคำว่า The Paradox of Choice ไหมครับ

The Paradox of Choice มาจากการสังเกตที่เห็นได้ว่ามนุษย์เรานั้น ถ้าสามารถเลือกได้ ชอบให้มีตัวเลือกเยอะๆ (many choices) มากกว่ามีตัวเลือกน้อย (few choices) ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลือกของมหาวิทยาลัยที่เราอยากจะไปเรียนต่อ หรือในเมนูอาหาร หรือแม้แต่กระทั่งคนที่เราอยากจะเดทหรือแต่งงานด้วย คือยิ่งมีตัวเลือกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ประมาณนั้น

แต่สาเหตุที่มันเป็น paradox หรือปฏิทรรศน์นั้นมาจากการวิจัยที่พบว่าเวลาที่เรามีตัวเลือกเยอะๆ นั้น เรามักจะพอใจในสิ่งที่เราเลือกไปแล้วน้อยกว่าในกรณีที่เรามีตัวเลือกที่น้อย และในหลายๆ ครั้ง การที่เรามีตัวเลือกหลายตัวนี้มักจะทำให้เราตัดสินใจไม่เลือกอะไรเลยมากกว่าถ้าเรามีตัวเลือกไม่กี่ตัว

ยกตัวอย่างงานทดลองของ Sheena Iyengar และ Mark Lepper ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology ที่ทำเกี่ยวกับจำนวนตัวเลือกของแยมทาขนมปังในซูเปอร์มาเก็ต

โดยในการทดลองนี้ทั้งสองได้เอาโต๊ะ “ลองมาชิมแยมกัน” ไปตั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในกลุ่มที่เป็น control นั้นทั้งสองได้เอาแยมจำนวน 6 ชนิดไปตั้งเอาไว้ ส่วนกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็น treatment ทั้งสองได้นำเอาแยมจำนวน 24 ชนิดด้วยกัน เสร็จแล้วทั้งสองก็วัด 1) จำนวนคนที่หยุดมาลองชิมแยม และ 2) จำนวนคนที่ชิมเสร็จแล้วตัดสินใจซื้อแยม ไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง กลับบ้านไป

ปรากฎว่า จากจำนวนคนที่เดินผ่านโต๊ะชิมทั้งหมด (242 คนในกลุ่ม control และ 260 คนในกลุ่ม treatment) แค่ 40% (N=104) เท่านั้นที่หยุดชิมแยม ณ ที่โต๊ะที่มีแยมให้เลือกชิมอยู่หกชนิดบนโต๊ะ เมื่อเทียบกันกับ 60% (N=145) ที่หยุดเพื่อชิมแยม ณ ที่โต๊ะที่มีแยมให้เลือกชิมอยู่ยี่สิบสี่ชนิดด้วยกัน

แต่ว่าถ้าเราดูจำนวนคนที่ตัดสินใจซื้อแยมกลับไปบ้านล่ะก็ 30% (N=31) ของคนที่หยุดชิมทั้งหมด 104 คนในกลุ่ม control ตัดสินใจซื้อแยมกลับไปกินที่บ้าน เมื่อเทียบกันกับ 3% (N=4) ของคนที่หยุดชิมทั้งหมด 145 คนในกลุ่ม treatment ที่ตัดสินใจซื้อแยมกลับไปกินที่บ้าน

คำถามคือทำไมคนถึงมีพฤติกรรมอย่างนั้น

คำตอบอยู่ที่ opportunity cost ที่เรามีในหัวของเรานะครับ ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คงจะเป็น “ราคาของโอกาสที่เสียไปจากการเลือกตัวเลือก ก แทน ตัวเลือก ข”

คือยิ่งเรามีตัวเลือกมากเท่าไหร่ ความรู้สึกเสียดายที่จะตามมาจากการที่เราไม่ได้เลือกตัวเลือกอีกตัวหนึ่งก็จะสูงขึ้นตามๆ กันไปเท่านั้น พูดง่ายๆ มันก็คือความรู้สึกรักพี่เสียดายน้องนั่นเอง

The Paradox of Choice ให้บทเรียนสำคัญสำหรับคนที่ทำธุรกิจนะครับ นั่นก็คือแทนที่จะทำสินค้าออกมาเยอะแยะให้ลูกค้าเลือก ให้พยายามลดจำนวนตัวเลือกของสินค้าที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กันลงมาให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ (ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจจะขัดกันกับความรู้สึกทางด้านการค้าที่เรามีนะครับ) เพื่อที่ว่าเราจะสามารถลด opportunity cost ของลูกค้าซึ่งก็อาจจะช่วยทำให้เขาตัดสินใจซื้อของเราได้ง่ายขึ้นด้วย แถมโอกาสที่เขาจะพอใจกับสิ่งที่เขาซื้อไปเรียบร้อยแล้วก็จะสูงขึ้นตามจำนวนตัวเลือกที่ลดลงไปด้วยนะครับ 🙂

อ่านเพิ่มเติม

Iyengar, S.S. and Lepper, M.R., 2000. When choice is demotivating: Can one desire too much of a good thing?. Journal of personality and social psychology, 79(6), p.995.