ThaiPublica > เกาะกระแส > ปลัดพลังงานตั้ง “สราวุธ แก้วตาทิพย์” เจรจา “เชฟรอน” เคลียร์ปมค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแสนล้าน

ปลัดพลังงานตั้ง “สราวุธ แก้วตาทิพย์” เจรจา “เชฟรอน” เคลียร์ปมค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแสนล้าน

21 ตุลาคม 2019


ประเด็นข้อพิพาทระหว่างกลุ่มผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมรายเก่ากับกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีความเห็นต่างในกรณีที่กระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวง และประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหลายฉบับ บังคับให้ผู้รับสัมปทานฯ ทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งทั้งหมดที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ภายหลังสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมสิ้นสุดลงในปี 2565-2566 คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกัน ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ข้อ 22 มีขอบเขตการบังคับใช้ครอบคลุมไปถึง “แท่นผลิตปิโตรเลียม” ที่ต้องยกให้กับรัฐเพื่อนำไปใช้งานต่ออีก 5-10 ปี ด้วย

ขณะที่สัญญาสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ตกลงกันไว้เมื่อปี 2515 ข้อ 15 (4) ระบุว่า “เมื่อสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด ให้แก่รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีอย่างเคร่งครัด จึงเป็นที่มาของความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในประเด็นข้อกฎหมาย

ฝ่ายผู้รับสัมปทานมีความเห็นว่า สัญญาสัมปทานฯ ปี 2515 กำหนดให้ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดแก่รัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินไหนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้รื้อถอน แต่ในสัญญาสัมปทานฯ ไม่ได้พูดถึงทรัพย์สินที่ต้องส่งมอบให้รัฐเพื่อนำไปใช้งานต่อ ต้องทำอย่างไร ฝ่ายผู้รับสัมปทานจึงเข้าใจว่า เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ยกทรัพย์สินให้กับรัฐนำไปใช้งานต่อแล้วก็น่าจะจบ ไม่คิดว่าต้องตามไปรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนในอนาคต เมื่อฝ่ายรัฐใช้งานแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ส่งมอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ผู้รับสัมปทานมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการนำเงินหรือหลักทรัพย์มาวางไว้ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นหลักประกันการรื้อถอนมูลค่าลายหมื่นล้านบาท

ดังนั้น ในกรณีที่กระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวง และประกาศอธิบดีกรมเชื้อเพลิงอีกหลายฉบับ มาบังคับให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัตินอกเงื่อนไขหรือข้อตกลงแห่งสัญญาสัมปทานฯ ถือเป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้บริษัทเชฟรอนต้องไปยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้เป็นผู้ชี้ขาดก่อนหน้านี้

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน

ล่าสุด นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานว่าบริษัทเชฟรอนได้ไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อขอระงับคดีไว้เป็นการชั่วคราวแล้ว ทางคณะกรรมการปิโตรเลียมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรณีการส่งมอบสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานงานเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ จากนั้นคณะกรรมการเจรจาฯ ก็ได้มีการแต่งตั้ง ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะทำงานเจรจากับบริษัทเชฟรอน ซึ่งในขณะนี้คณะทำงานได้เริ่มเจรจากับบริษัทเชฟรอนแล้ว แต่ทางคณะทำงานยังไม่ได้รายงานผลการเจรจามาที่คณะกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยฯ หากการเจรจาสามารถตกลงกันได้ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังรับทราบ ก่อนที่จะดำเนินการตามแผนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการการปิโตรเลียม แต่ถ้าผลการเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทางกระทรวงพลังงานก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการ ขณะนี้ได้เตรียมแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายไทยเอาไว้แล้ว