ThaiPublica > เกาะกระแส > DSI พบหลักฐานสำคัญ เชื่อมโยงคดีการหายตัว “พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ” แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย

DSI พบหลักฐานสำคัญ เชื่อมโยงคดีการหายตัว “พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ” แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย

4 กันยายน 2019


ดีเอสไอแถลงข่าวคดีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ที่หายตัวไป ที่มาภาพ : https://www.amnesty.or.th/latest/news/741/

“DSI พบหลักฐานสำคัญ เชื่อมโยงคดีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย”

วันนี้(วันอังคารที่ 3 กันยายน 2562) เวลา 13.00 น. พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พันตำรวจโท เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรวีย์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และพันตำรวจตรี นิรุท อินธิศร ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ดังนี้

ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พฤติการณ์กล่าวคือ นายพอละจีฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัว นายพอละจีฯ พร้อมรถจักรยานยนต์และนำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจีฯ และญาติ เชื่อว่า นายพอละจีฯ หายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ

  • คดีที่หายไป – 3 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ภรรยาระบุไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว มั่นใจระบบยุติธรรมแต่คนไม่ปฏิบัติ
  • คดีที่หายไป – 4 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ครอบครัวยังคงรอคอยความยุติธรรม
  • คดีที่หายไป: 5 ปีคดี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ ภรรยาเขียนจดหมาย “ยังรอคอยความยุติธรรมให้กับครอบครัวของฉัน”
  • ภายหลังการรับไว้ในกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน ได้มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษและมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Strong Collaboration) ประกอบไปด้วย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ร่วมกันสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องมาโดยตลอด

    กระทั่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 และเมื่อวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำ จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน สามารถตรวจพบชิ้นส่วนกระดูก จำนวน 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง เหล็กเส้น จำนวน 2 เส้น ถ่านไม้ จำนวน 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน

    จากนั้น ได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่า “วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200 – 300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี่ รักจงเจริญ”

    เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ (Crime Scene) พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของ “นายพอละจี่ รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี” ส่วนถังน้ำมัน เหล็กเส้น ถ่านไม้ และเศษฝาถังน้ำมัน ได้ส่งศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการผ่านความร้อนและการผุกร่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์

    นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับ นักประดาน้ำ จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน ตรวจหาพยานหลักฐาน พบชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 ชิ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

    ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่าพฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) และคดีเป็นที่สนใจของประชาชน สื่อมวลชนในประเทศและระหว่างประเทศ จึงแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนให้ทราบ ซึ่งหลังจากนี้ จะเร่งรัดสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มองค์กรที่กระทำความผิดโดยเร็ว หากผลการสอบสวนมีความคืบหน้าจะแถลงให้ทราบโดยทันที

    ทั้งนี้ หากท่านมีเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือโทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ

    นอกจากนี้มีแถลงการณ์ร่วมระหว่าง ICJ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรณีการพบชิ้นส่วนร่างกายของ “บิลลี่” โดยนายเฟรเดอริก รอว์สกี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ICJ กล่าวว่า “ดีเอสไอควรเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อระบุตัวผู้ที่กระทำการสังหารบิลลี่ และนำตัวพวกเขามาสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าประเมินพยานหลักฐานและพบว่าบิลลี่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย ผู้กระทำความผิด รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่ในการบังคับบัญชาบุคคลดังกล่าว ควรถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เหมาะสมและร้ายแรงโดยสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ มิใช่การตั้งข้อหาตามความผิดอาญาที่เบากว่าและไม่สะท้อนความร้ายแรงของความผิดที่เกิดขึ้น”

    นายนิโคลัส เบเคลัง รักษาการผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคดีนี้สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งการถูกทำร้าย ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหาร

    “คดีนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ถูกเพิกเฉยมานาน โดยรัฐบาลไทยต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายในประเทศ หากไม่ทำเช่นนั้น ย่อมส่งผลให้ขาดกลไกที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพนการที่จะสอบสวนคดีเหล่านี้ ทั้งยังทำให้บรรยากาศการลอยนวลพ้นผิดเลวร้ายลง”

    อนึ่ง ดีเอสไอระบุว่าชิ้นส่วนกระดูกที่ค้นพบมีสารพันธุกรรมตรงกับแม่ของบิลลี่ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นกระดูกที่มาจากผู้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับเธอ อย่างไรก็ดี ดีเอสไอปฏิเสธที่จะระบุชื่อผู้ต้องสงสัย และขอเวลาเพิ่มเติมในการสอบสวนคดีนี้และการตรวจสอบเศษชิ้นส่วนที่ค้นพบต่อไป

    อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://www.amnesty.or.th/latest/news/741/