ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุคดอกเบี้ยเงินฝากติดลบเริ่มแล้ว เจพี มอร์แกน มองยุโรปติดกับดอกเบี้ยติดลบอีก 8 ปี

ยุคดอกเบี้ยเงินฝากติดลบเริ่มแล้ว เจพี มอร์แกน มองยุโรปติดกับดอกเบี้ยติดลบอีก 8 ปี

22 กันยายน 2019


ที่มาภาพ: https://www.independent.co.uk/news/world/europe/denmark-bank-negative-interest-rates-millionaires-charge-a9074756.html

อัตราดอกเบี้ยติดลบที่เริ่มต้นจากธนาคารกลาง ส่งผ่านมายังพันธบัตรของรัฐบาล ในที่สุดก็ถูกส่งต่อมายังเงินฝากของประชาชนทั่วไปหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์กประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ

ธนาคารกลางหลายประเทศ รวมทั้งธนาคารเดนมาร์ก ได้ดำเนินนโยบายการเงินอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อเนื่องหลายปี เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ในเดือนสิงหาคม รัฐบาลเยอรมนีได้เสนอขายพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีในอัตราผลตอบแทนติดลบเป็นครั้งแรก โดยเสนอพันธบัตรวงเงิน 824 ล้าน ยูโร อัตราดอกเบี้ย 0% ขายในราคาสูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนปี 2593 รัฐบาลจะจ่ายเงินคืน 795 ล้านยูโร

ล่าสุดจุสเกแบงก์ (Jyske Bank) ธนาคารใหญ่อันดับสองของเดนมาร์ก ประกาศเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ว่า จะปรับลดอัตราเบี้ยเงินฝากที่ติดลบอยู่แล้วให้ลงไปอีก จาก -0.6% เป็น -0.75% สำหรับเงินฝากในบัญชีที่มีจำนวนมาก 750,000 โครน หรือกว่า 110,100 ดอลลาร์ เพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank-ECB) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไปยังผู้ฝากเงิน

อัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.75% นี้จะใช้กับเงินฝากของบริษัทและของประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบหมายถึง ผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการฝากเงินให้กับธนาคาร

จุสเกแบงก์ได้เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ 0.6% ในเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาสำหรับเงินฝากในบัญชีที่มีจำนวนมากกว่า 7.5 ล้านโครนขึ้นไป

ที่ประชุม ECB เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ลงมาที่ -0.50% จาก -0.40% และฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรในเดือนพฤศจิกายน โดยจะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 20,000 ยูโรต่อเดือน และไม่กำหนดระยะสิ้นสุด

“การลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB ทำให้จุสเกแบงก์มีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ดังนั้นธนาคารจึงต้องส่งผ่านค่าใช้จ่ายนี้ไปยังลูกค้า” นายแอนเดอร์ส ดาม ซีอีโอของธนาคาร ชี้แจงผ่านวิดีโอที่โพสต์ในเว็บไซต์ของธนาคาร และกล่าวเพิ่มเติมว่า “หวังว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ลดลงไปกว่านี้ แต่ก็ไม่สามารถให้คำมั่นได้”

นายแอนเดอร์ส ดาม กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารด้านลูกค้าบุคคลขาดทุนจำนวนมากและเพิ่มขึ้น เพราะลูกค้ายังคงฝากเงินต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางด้วยการกำหนดเพดานเงินฝากไว้ที่ 7.5 ล้านโครน

เดนมาร์กเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบตั้งแต่ปี 2012 และในเดือนสิงหาคมจุสเกแบงก์เป็นธนาคารแรกที่นำเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านติดลบ 0.5% สำหรับระยะเวลากู้ยืม 10 ปี

ที่มาภาพ: https://www.washingtonpost.com/business/negative-rates-are-coming-for-your-savings/2019/08/23/0b7fb124-c56c-11e9-8bf7-cde2d9e09055_story.html

นอกจากจุสเกแบงก์แล้ว ธนาคารในเดนมาร์กที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ คือ ธนาคาร Sydbankโดยในปลายเดือนสิงหาคม 2562 ได้ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ 0.6% กับเงินฝากรายย่อยที่มีจำนวนมากกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ ตามหลังจุสเกแบงก์

คาเรน ฟรอซิก ซีอีโอของ Sydbank กล่าวว่า ไม่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยติดลบจะอยู่นาน และคงจะพ้นภาวะนี้ไปในไม่ช้า

ทางด้านธนาคารดานส์เกแบงก์ (Danske Bank) ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งยืนยันว่า ยังไม่มีแผนที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ

ยูบีเอสแห่งสวิตเซอร์แลนด์นำรายแรก

ก่อนหน้านี้ต้นเดือนสิงหาคม ธนาคารยูบีเอส ธนาคารเก่าแก่ที่มีอายุร่วม 157 ปี ของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นธนาคารที่ให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่งที่ใหญ่สุดของโลก ได้แจ้งลูกค้ามหาเศรษฐีว่า ธนาคารใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ 0.6% ต่อปีกับบัญชีเงินฝากที่มีจำนวนมากกว่า 500,000 ยูโรขึ้นไป และจะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ 0.75% กับเงินฝากที่มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านยูโร และ 2 ล้านฟรังก์สวิส โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้

จากการคำนวณค่าธรรมเนียมการฝากเงินต่ำสุดที่ 3,000 ยูโรต่อปี ขณะที่เงินฝากสกุลเงินฟรังก์สวิสจำนวน 2 ล้านฟรังก์จะมีค่าธรรมเนียม 15,000 ฟรังก์ต่อปี

ธนาคารยูบีเอสถือเงินของลูกค้าทั่วโลกรวมกันมากถึง 1.9 ล้านล้านยูโร และการที่ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ เนื่องจากต้องการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่เกิดจากการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางสวิส (Swiss National Bank) ให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ติดลบที่ 0.75% และคาดว่าจะยังคงอยู่ในแดนลบไปจนถึงปี 2021 เป็นอย่างน้อย

ธนาคารยูบีเอสระบุว่า ภาวะตลาดเงินและตลาดทุนยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่คาด และยังคงติดลบ และคาดว่าภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำจะยังคงอยู่อีกนาน ซึ่งทำให้ธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยติดลบจากเงินฝากที่นำไปฝากกับธนาคารกลาง

ธนาคารยูบีเอสยังประเมินให้ลูกค้ารับทราบว่า ธนาคารกลางสวิสอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบอยู่แล้วให้ลงไปอีกที่ระดับ -1% ในเดือนกันยายนนี้

ทางด้านเครดิตสวิส ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์อีกราย ก็มีแผนที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบกับลูกค้าเงินฝากที่เป็นฟรังก์สวิสเช่นกัน โดยเริ่มต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบไว้ที่ 0.4% สำหรับเงินฝากที่มีจำนวนมากว่า 1 ล้านยูโร

เครดิตสวิสจะแจ้งลูกค้าไพรเวตแบงกิงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2562

ส่วนจูเลียส แบร์ ไพรเวตแบงกิงอีกรายของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เก็บค่าฝากเงินจากลูกค้าแล้ว

  • ดอกเบี้ยติดลบ: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
  • แบงก์พาณิชย์ในเดนมาร์กปล่อยกู้บ้าน ดบ.ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์
  • ธนาคารพาณิชย์แบกต้นทุนจ่ายค่าฝากเงินให้ธนาคารกลางมา 7 ปี

    การใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบของธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์ก เป็นผลของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางมาต่อเนื่อง 7 ปีซึ่งนานที่สุดในโลกนับตั้งแต่ได้ลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 0% ครั้งแรกปี 2555 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ฝากเงินกับธนาคารกลางมีภาระจ่ายค่าฝากเงินให้ธนาคารกลาง แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เริ่มพิจารณาที่จะส่งผ่านต้นทุนให้ผู้ฝากเงิน จากเดิมที่ไม่กล้าที่จะดำเนินการเนื่องจากเงินฝากมีจำนวนมหาศาล

    เดือนกรกฎาคม เงินฝากของธนาคารทั้งระบบมีจำนวนสูงสุดทำสถิติใหม่ที่ 930 พันล้านโครนหรือ ราว 140 พันล้านดอลลาร์ ทำให้กลายเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ว่าจะฝากเงินฝากส่วนเกินกับธนาคารกลางแล้วยอมจ่ายดอกเบี้ยหรือค่าฝากเงินให้ธนาคารกลาง หรือเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบ

    ธนาคารบางรายไม่ต้องการที่จะสูญเสียลูกค้าจึงไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ และเกรงว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบจะทำให้เกิดการถอนเงินจำนวนมากออกจากธนาคารและมีผลกระทบต่อการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

    จุสเกแบงก์ยังส่งสัญญานที่จะขยายการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบไปยังผู้ฝากเงินกลุ่มอื่นๆ แต่บีร์เกอร์ นีลเสน ซีเอฟโอของธนาคาร มองว่ายังไม่จำเป็น และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ฝากเงินทั่วไป อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกก็ได้ โดยธนาคารกำลังติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

    ทางด้านโซเรน มอร์เตนเสน ซีอีโอ เอล์มแบรนด์ ธนาคารขนาดเล็ก หวังว่าธนาคารใหญ่จะลดวงเงินฝากที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบลง เพื่อลดแรงกดดันต่อธนาคารเล็กที่ยังรีรอ เพราะระดับเงินฝากมากสุดของธนาคารเล็กอยู่ที่ 100,000-200,00 โครน และผู้ฝากที่มีเงินระดับนี้มีจำนวนไม่มาก

    ในเยอรมนี รัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบหรือเก็บค่าฝากจากลูกค้ารายย่อย หลังจากที่มีการนำเสนอมาตรการโดยผู้นำแคว้นบาวาเรีย

    แต่สมาคมธนาคารในเดนมาร์กไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่มีผลกระทบต่อการแข่งขันและสังคม

    ธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์กพยายามที่จะไม่ส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้ฝากเงินแต่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาใกล้ระดับ 0% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวในเดนมาร์กอยู่ที่ 0.22% ลดลงจาก 1.32% ในเดือนมกราคม 2558 และแม้ว่าเงินฝากประเภทโอนได้มีดอกเบี้ยเพียง 0.07% แต่เงินฝากก็ยังเพิ่มขึ้น เพราะการลงทุนระยะสั้นประเภทอื่นยังมีผลขาดทุน

    ธนาคารกลางเดนมาร์กยังไม่เห็นระดับต่ำสุด

    ธนาคารกลางเดนมาร์ก
    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-denmark-rates/denmarks-central-bank-cuts-key-interest-rate-to-historic-low-idUSKCN1VX21Q

    เมื่อวันที่ 12 กันยายน ธนาคารกลางเดนมาร์กได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลางลงอีก 0.10% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ติดลบมากขึ้นที่ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วและอยู่ในระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์

    การลดดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของธนาคารกลางเดนมาร์ก เป็นผลจากการลดดอกเบี้ยของ ECB ที่ประกาศก่อนหน้าในวันเดียวกันเพื่อรักษาค่าเงิน เนื่องจากเงินโครนได้ผูกติดกับเงินยูโร และเป็นการลดครั้งแรกนับจากเดือนมกราคม 2559

    ลาร์ส โรห์เด ผู้ว่าการ ธนาคารกลางเดนมาร์ก กล่าวว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงอาจจะไม่ใช่ระดับต่ำสุด แม้โดยทั่วไปแล้วอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงจะมีระดับต่ำสุด

    “แต่สำหรับเราซึ่งเป็นธนาคารกลางที่มีประสบการณ์กับอัตราดอกเบี้ยติดลบมากที่สุด ก็ยังไม่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำสุดตรงไหน” และกล่าวเพิ่มเติมว่า คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าดอกเบี้ยจะกลับไปเป็นบวก เพราะธนาคารกลางยังคงต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับ ECB

    ผู้ว่าการธนาคารกลางเดนมาร์กยอมรับว่า ประสิทธิภาพนโยบายการเงินทั่วโลกขณะนี้ค่อนข้างจำกัด ไม่ว่าดอกเบี้ยจะติดลบที่ 0.4% หรือ 0.5% ก็จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่การดำเนินนโยบายการเงินของเดนมาร์กมุ่งไปที่อัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า

    ยุโรปติดกับดักดอกเบี้ยลบต่ออีก 8 ปี

    เจพี มอร์แกน แอสเซตแมเนจเมนต์ ประเมินว่า ยุโรปจะยังใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบต่อไปอีก 8 ปี เนื่องจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยสูงขึ้น แม้ธนาคารหลายประเทศได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น

    “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ค่อนข้างช้า จึงคาดว่าการถดถอยของเศรษฐกิจโลกจะไม่ลงลึกมาก” บ๊อบ มิเชล จากเจพี มอร์แกน แอสเซตแมเนจเมนต์ กล่าว

    นโยบายการเงินสามารถสนับสนุนการขยายตัวในรอบนี้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะป้องกันการถดถอยของเศรษฐกิจได้ ดังนั้นการฟื้นตัวรอบต่อไปต้องเปลี่ยนจากนโยบายการเงินเป็นนโยบายการคลัง

    นอกจากนี้ยังมองว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบยังคงมีอยู่ โดยคาดว่ายุโรปจะยังใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบไปอีก 8 ปี พร้อมตั้งคำถามว่าธนาคารอาจจะดำเนินการไม่มากพอที่จะดึงเงินเฟ้อขึ้น และโดยที่เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอนและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำธนาคารกลางจะยังคงใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนปรนต่อไปอีก

    ความขัดแย้งทางการค้าส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และมีผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งยังเห็นได้ว่าภาคบริการเริ่มชะลอตัว ความเชื่อมั่นลดลง การลงทุนถดถอย

    นายแอนเดอร์ส ดาม ซีอีโอของจุสเกแบงก์ กล่าวว่า สภาวะอัตราดอกเบี้ยติดลบอยู่คู่กับตลาดเดนมาร์กมาต่อเนื่องร่วม 7 ปีแล้ว เราเชื่อมาตลอดว่าดอกเบี้ยติดลบเป็นภาวะชั่วคราว แต่กลับกลายเป็นเรื่องถาวร

    นายแอนเดอร์ส ดาม มีมุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยติดลบจะยังคงอยู่อีก 8 ปี

    ดอกเบี้ยติดลบเริ่มอย่างไร

    ธนาคารหลายประเทศได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ หลังจากเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ เมื่อเลห์แมนบราเทอส์ล่มสลายในปี 2551 หลายธนาคารได้เริ่มลดดอกเบี้ยลงมาที่ระดับใกล้ 0% แต่สิบปีให้หลังอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำในหลายประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ขณะที่ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีกมาก ธนาคารกลางหลายแห่งได้หันมาดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบด้วย ในยูโรโซน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางเดนมาร์ก ธนาคารกลางสวีเดน และธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำกว่า 0%

    ภายใต้ดอกเบี้ยติดลบ สถาบันการเงินต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางจากการที่นำเงินฝากหรือสำรองส่วนเกินไปฝากไว้ที่ธนาคารกลาง เพราะธนาคารกลางต้องการให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้มากกว่า เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ECB ได้ใช้อัตราดกเบี้ยติดลบในปี 2557 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาที่ -0.1% เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และล่าสุดวันที่ 12 กันยายนได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกมาที่ -0.5% จาก -0.4%

    ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเดือนมกราคม ปี 2559 เพื่อป้องกันการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ในอัตรา -0.1% ของสำรองส่วนเกินที่มาพักไว้กับธนาคารกลาง