ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจธนาคารกลางทั่วโลก รับวิกฤติโควิด-19 ประเทศไหนสั่งแบงก์ “งดปันผล”

สำรวจธนาคารกลางทั่วโลก รับวิกฤติโควิด-19 ประเทศไหนสั่งแบงก์ “งดปันผล”

25 มิถุนายน 2020


จากสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ออกหนังสือเวียนขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงเพิ่มเติมพร้อมระบุว่า ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้หลายเดือน บางประเทศนอกจากขอให้งดซื้อหุ้นคืนแล้วยังขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้วด้วย ขณะที่บางประเทศขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลไประยะเวลาหนึ่งเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์โควิด-19 ก่อน และบางประเทศขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ stress test ใหม่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายเงินปันผล

หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเช่นกัน รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย

  • ธปท.สั่งแบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล หยุดซื้อหุ้นคืน รักษาเงินกองทุนรับความไม่แน่นอน 1-3 ปี
  • “ผู้ว่า ธปท.” แจงกรณีสั่งแบงก์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล ชี้เงินกองทุนภูมิคุ้มกันให้พร้อมปล่อยกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
  • สมาคมธนาคารไทยหนุนนโยบาย ธปท. “งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล”-“งดซื้อหุ้นคืน”
  • สำนักข่าวไทยพับลิก้า จึงสำรวจธนาคารกลางทั่วโลกว่ามีประเทศใดบ้างได้ดำเนินการในเรื่องนี้ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ได้ตอบสนองนโยบายอย่างไร ซึ่งพบว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี

    อังกฤษของดจ่ายปันผลทุกประเภท-งดโบนัสผู้บริหาร

    นายแซม วูดส์ รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางอังกฤษ ซีอีโอ PRA ที่มาภาพ: https://www.bankofengland.co.uk/about/people/sam-woods/biography

    ในอังกฤษ นายแซม วูดส์ รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) สายงานกำกับดูแล ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Prudential Regulation Authority ได้เขียนจดหมายถึง 7 ธนาคารและสถาบันการเงินใหญ่ คือ เอชเอสบีซี (HSBC), เนชันไวด์ (Nationwide Building Society), บังโค ซานตานเดร์ (Banco Santander SA), สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered), บาร์เคลส์ (Barclays), อาร์บีเอส (Royal Bank of Scotland: RBS) และกลุ่มลอยส์แบงกิง (Lloyds Banking Group) ลงวันที่ 31 มีนาคม 2020

    โดยทั้งหมดมีข้อความในลักษณะเดียวกัน คือ ขอให้พิจารณาระงับการจ่ายเงินปันผล ระงับการซื้อหุ้นคืน ไปจนถึงสิ้นปี 2020 รวมทั้งขอให้ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานของปี 2019 ที่ยังค้างจ่าย และขอให้ระงับการจ่ายโบนัสในรูปเงินสดให้กับคณะผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่แบกรับความเสี่ยง อันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

    โดยให้ทั้ง 7 ธนาคารรายงานผลการตัดสินใจของคณะกรรมการไปยัง PRA ภายในเวลา 20.00 น. ในวันเดียวกันว่าเห็นด้วยกับการเสนอแนะของ PRA หรือไม่ ซึ่งหากไม่เห็นด้วย PRA พร้อมที่จะพิจารณาใช้อำนาจในการกำกับดูแลดำเนินการ อีกทั้งคาดหวังว่าทั้ง 7 ธนาคารจะออกแถลงการณ์ถึงการตัดสินใจภายในเวลา 21.00 น. และ PRA จะออกแถลงการณ์ในเวลาเดียวกัน

    นอกจากนี้ PRA ได้แนบร่างแถลงการณ์ของธนาคารและร่างแถลงการณ์ของ PRA ที่ PRA เตรียมไว้มาให้ทั้ง 7 ธนาคารเป็นแนวทาง (ตัวอย่างจากจดหมายที่ส่งให้กับเอชเอสบีซี) โดยในร่างแถลงการณ์สำหรับธนาคารที่ PRA เตรียมไว้มีข้อความว่า

    “เพื่อให้ธนาคารสามารถดูแลสนับสนุนภาคธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไม่ปกติอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้ระงับการจ่ายเงินปันผลรายไตรมาสหรือเงินปันผลระหว่างกาล เงินปันผลค้างจ่าย หรือการซื้อหุ้นสามัญคืน นอกจากนี้ เพื่อปฏิบัติตามการร้องขอของ PRA และเพื่อรักษาเงินกองทุนไว้ใช้สำหรับการดูแลลูกค้า คณะกรรมการยังเห็นชอบที่จะยกเลิกการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานปี 2019 ที่ยังไม่ได้จ่าย และคณะกรรมการจะพิจารณานโยบายการจ่ายเงินปันผลอีกครั้งในสิ้นปี 2020”

    ส่วนร่างแถลงการณ์ของ PRA เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “PRA ยินดีกับการตัดสินใจของคณะกรรมการของธนาคารใหญ่ที่ได้ระงับการจ่ายเงินปันผลและระงับการซื้อหุ้นคืนไปจนถึงสิ้นปี 2020 และยกเลิกการจ่ายเงินปันผลค้างจ่ายสำหรับผลการดำเนินงานปี 2019 เพื่อปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ PRA นอกจากนี้ PRA ยังคาดว่า ธนาคารจะไม่จ่ายเงินโบนัสในรูปเงินสดให้กับผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่แบกรับความเสี่ยง อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการธนาคารกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเกี่ยวกับการระงับ การจ่ายเงินและการมอบผลตอบแทนหลายด้านในอีกหลายเดือนข้างหน้า”

    แบงก์งดปันผลรวม 8 พันล้านปอนด์

    ที่มาภาพ: https://www.businesstoday.com.my/2020/02/28/hsbc-amanah-provides-leading-edge-sustainability-linked-financing/

    ผลปรากฏว่า ทั้ง 7 ธนาคารได้ประกาศงดจ่ายเงินปันผล และระงับการซื้อหุ้นคืนไปจนถึงสิ้นปี 2020 ตามที่ PRA ร้องขอ รวมทั้งยกเลิกยกเลิกการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานปี 2019 ที่ยังไม่ได้จ่าย รวมทั้งได้ขอให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจ เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ การไม่จ่ายเงินปันผลจะช่วยให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าธุรกิจ ลูกค้ารายย่อย และชุมชนได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ธนาคารรักษาเงินกองทุนและมีการลงทุนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจในระยะยาว

    โดยเอชเอสบีซีแถลงการณ์ว่า คณะกรรมการได้ประชุมพิจารณาการเสนอแนะของ PRA แล้วได้ตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งที่ 4 ที่กำหนดจ่าย 0.21 ดอลลาร์ต่อหุ้นในวันที่ 14 เมษายน 2020 ซึ่งต้องขออภัยต่อผู้ถือหุ้นรวมทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อยในฮ่องกงและประเทศอื่นๆ

    คณะกรรมการยังได้ตัดสินใจที่จะไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เงินปันผลค้างจ่าย หรือซื้อหุ้นคืนไปจนถึงสิ้นปี 2020

    ทางด้านธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดออกแถลงการณ์ว่า หลังจากพิจารณาการเสนอแนะของ PRA คณะกรรมการตัดสินใจที่จะยกเลิกการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานของปี 2019 ในอัตราหุ้นละ 20 เซนต์ และระงับการซื้อหุ้นคืนตามที่ประกาศไว้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020 รวมทั้งจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปี 2020 และคณะกรรมการจะพิจารณาเงินปันผลจากการดำเนินงานปี 2020 ในสิ้นปีพร้อมกับคำนึงถึงแนวโน้มระยะปานกลางในช่วงนั้น

    บาร์เคลส์แบงก์ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อให้ธนาคารสามารถดูแลลูกค้าธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไม่ปกติอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดี คณะกรรมการของธนาคารได้พิจารณาและตัดสินใจว่าในปี 2020 นี้ธนาคารจะไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล หรือเงินปันผลค้างจ่าย และจะไม่ซื้อหุ้นคืน

    นอกจากนี้ เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของ PRA และเพื่อรักษาเงินกองทุนให้มากขึ้น เพื่อธนาคารจะได้สามารถช่วยเหลือลูกค้า คณะกรรมการยังได้ตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 6.0 ปอนด์สำหรับผลการดำเนินงานทั้งปี 2019 ที่กำหนดจ่ายในวันที่ 3 เมษายน 2020 และคณะกรรมการจะพิจารณานโยบายการจ่ายเงินปันผลอีกครั้งในสิ้นปี 2020

    ทางด้านอาร์บีเอสได้แถลงว่า เพื่อให้ธนาคารสามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจและครัวเรือนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการของธนาคารได้ตัดสินใจที่จะไม่จ่ายเงินปันผลรายไตรมาสหรือเงินปันผลระหว่างกาล เงินปันผลที่ยังค้างจ่าย ไม่ซื้อหุ้นคืน รวมทั้งเลื่อนการพิจารณาผลตอบแทนผู้ถือหุ้นไปสิ้นปี 2020 นอกจากนี้เพื่อปฏิบัติตามคำร้องขอของ PRA คณะกรรมการยังได้ตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินปันผลทั้งหุ้นสามัญและการจ่ายเงินปันผลพิเศษของปี 2019 และจะไม่นำเข้าสู่การประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2020 ด้วย

    ที่มาภาพ: https://www.thetimes.co.uk/article/scottish-hit-back-at-rbs-name-change-l0bspnng7

    ขณะที่ธนาคารกลุ่มลอยด์แบงกิงแถลงว่า เพื่อตอบสนองต่อการร้องขอของ PRA และเพื่อรักษาเงินกองทุนไว้สำหรับการช่วยเหลือลูกค้า คณะกรรมการธนาคารตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินปันผลของปี 2019 ดังนั้นมติของคณะกรรมการข้อ 17 ที่ประกาศการจ่ายเงินปันผลก็จะนำเข้าที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2020 เพื่อยกเลิก และคณะกรรมการจะพิจารณานโยบายการจ่ายเงินปันผลทั้งจำนวนเงินอีกครั้งในสิ้นปี 2020

    ส่วนแถลงการณ์ธนาคารซานตานเดร์ระบุว่า คณะกรรมการจะรวบการจ่ายเงินปันผลปี 2020 ไปจ่ายครั้งเดียวในเดือนพฤษภาคม 2021 โดยที่คณะกรรมการจะเสนอจำนวนเงินที่จะจ่ายเข้าที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นเมื่อประเมินผลกระทบทั้งหมดจากการระบาดของโควิด-19 ได้ชัดเจนแล้ว

    นอกจากนี้ธนาคารจะตั้งเงินกองทุน ซึ่งได้จากการลดผลตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการ และการจ่ายเงินสมทบของพนักงาน เพื่อจัดหาอปุกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งนี้คาดว่ากองทุนจะมีมูลค่าเบื้องต้นอย่างน้อย 25 ล้านยูโร และประธานบริหารของกลุ่ม แอนา โบเต็ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารโฆเซ แอนโทนิโอ อัลวาเรซ ได้ตัดสินใจลดผลตอบแทนปี 2020 ลง 50%

    The Guardian รายงานว่า เงินปันผลของปี 2019 ที่ธนาคารยกเลิกจ่ายจะทำให้ธนาคารมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอีกรวมกัน 8 พันล้านปอนด์

    ขณะที่บีบีซีรายงานว่า บทวิเคราะห์ของบริษัท เอเจ เบลล์ อินเวสเมนต์ (AJ Bell Investment) ประเมินว่า กลุ่มลอยด์แบงกิง, อาร์บีเอส, บาร์เคลส์, เอชเอสบีซี และแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มีเงินปันผลที่จะจ่ายรวมกันราว 15.6 พันล้านปอนด์

    ที่มาภาพ: https://www.gladstonebrookes.co.uk/blog/2018/04/18/lloyds-banking-group-to-close-49-more-branches/

    PRA ขยายวงคลุมปันผลธุรกิจประกัน

    PRA ยังได้ขยายการระงับการจ่ายเงินปันผลไปยังธุรกิจประกันภัย โดยในวันเดียวกับที่ส่งจดหมายให้ธนาคารใหญ่ ยังได้ส่งจดหมายให้กับผู้บริหารบริษัทประกันภัย ขอให้พิจารณาระงับการจ่ายเงินปันผลเช่นกัน

    ในวันที่ 8 เมษายน 2020 ได้มีแถลงการณ์ PRA ต่อประกาศระงับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทประกันภัย หลังจากที่ได้รับจดหมายจาก PRA ขอให้งดการจ่ายเงินปันผล โดยระบุว่า PRA ยินดีกับการตัดสินใจอย่างรอบคอบของบริษัทประกันภัยบางแห่งที่ได้ระงับการจ่ายเงินปันผล เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอันเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19

    จากจดหมายที่ได้ส่งออกไปในวันที่ 31 มีนาคม 2020 เมื่อบริษัทมีการพิจารณาเกี่ยวเงินปันผลไม่ว่าจะจ่ายหรือระงับการจ่ายก็ตาม คณะกรรมการควรให้ความสำคัญกับการดูแลคุ้มครองผู้ถือกรมธรรม์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรักษาความปลอดภัยและความมั่นคง การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนหรือประเด็นการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญควรมีข้อมูลครบถ้วนในหลายด้าน รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

    บริษัทประกันภัยได้ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลรวมกันเป็นเงิน 1.3 พันล้านปอนด์ โดยบริษัทที่ประกาศยกเลิกจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2019 ประกอบด้วย อวีวา (Aviva), กลุ่มอาร์เอสเอ (RSA Group), ฮิสค็อกซ์ (Hiscox) และไดเรกต์ไลน์ (Direct Line) ซึ่งรวม 839.4 ล้านปอนด์ของบริษัทอาวีวาที่มีกำหนดจ่ายเดือนมิถุนายน 2020 กลุ่มบริษัทนี้จะพิจารณานโยบายการจ่ายเงินปันผลในสิ้นปี 2020

    ส่งจดหมายฉบับใหม่ขอสถาบันในตลาดระงับปันผล

    ในวันที่ 4 มิถุนายน 2020 เซอร์จอห์น คันลิฟฟ์ รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางอังกฤษ ด้านเสถียรภาพ ทางการเงิน ได้ส่งจดหมายถึงสถาบันที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (financial market infrastructures and specified providers เช่น สำนักหักบัญชีและชำระราคา) ให้ระงับการจ่ายเงินปันผล โดยขอให้ติดตามความเสี่ยงของตลาดอย่างใกล้ชิดอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

    ในกรณีที่คณะกรรมการมีการพิจารณาผลตอบแทนผู้ถือหุ้นหรือผลตอบแทนด้านอื่น “ธนาคารกลางหวังว่า สถาบันจะมีการหารือกับธนาคารกลางก่อนที่จะมีการจ่ายผลตอบแทนผู้ถือหุ้น” เซอร์จอห์นกล่าว

    ECB ขอให้ชะลอถึงตุลาคม

    ที่มาภาพ: https://www.ofeed.com/Forex_News/ECB-Expands-QE-program-by-%E2%82%AC600bn

    ทางด้านธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ออกคำแนะนำ เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ระงับการจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืน เพื่อเพิ่มความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการรองรับความเสียหาย การสนับสนุนสินเชื่อแก่ครัวเรือน ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดใหญ่ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19

    ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ควรระงับการจ่ายเงินปันผลปีจากผลการดำเนินงานปี 2019 เและ 2020 ไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2020 เป็นอย่างน้อย และควรระงับการซื้อหุ้นคืน

    อย่างไรก็ตาม คำขอนี้ไม่มีผลย้อนหลังกับเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2019 ที่บางธนาคารได้จ่ายออกไปแล้ว แต่สำหรับธนาคารที่จะต้องขอให้ที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นอนุมัตินั้น ขอให้แก้ไขวาระการประชุมในเรื่องนี้

    ธนาคารพาณิชย์หลายรายในสหภาพยุโรปได้ตัดสินใจดำเนินการตามข้อแนะนำของธนาคารกลางยุโรป (The European Central Bank: ECB) โดยในอิตาลีซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายในยุโรป ธนาคารยูนิเครดิตเป็นธนาคารอิตาเลียนรายแรกที่ได้ระงับแผนการจ่ายเงินปันผลสำหรับการดำเนินงานปี 2019 รวมทั้งระงับแผนซื้อหุ้นคืน

    ธนาคารเอบีเอ็นแอมโรในเนเธอร์แลนด์ ประกาศระงับแผนการจ่ายเงินปันผลเช่นกัน ตามมาด้วยธนาคารไอเอ็นจี และธนาคารราโบ ส่วนในเบลเยียม ธนาคารเคบีซีประกาศงดจ่ายปันผล ในเยอรมนีธนาคารที่ระงับการจ่ายเงินปันผลคือ คอมเมิร์ซแบงก์ ซึ่งไม่จ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2019

    แคนาดาลดเงินกองทุนแลกงดปันผล

    ที่มาภาพ: https://www.unseenopp.com/bank-of-nova-scotia-stock-nyse-bns-approaching-breakout-rally/

    สำนักงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศแคนาดา หรือ The Office of the Superintendent of Financial Institutions (OSFI) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ลงวันที่ 17 เมษายน 2020 เพื่อให้ภาพรวมของระบบการดูแลเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ คำถามที่เกิดขึ้นทั่วโลกถึงแนวทางที่ดีที่สุดในการดำรงเงินกองทุน และผลที่เกิดขึ้นกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ หลังจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

    OSFI ระะบุว่า โดยปกติแคนาดาได้กำหนดมาตรฐานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไว้สูงตามมาตรฐานสากลและ Basel III อยู่แล้ว โดยกำหนดให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมรองรับกรณีฉุกเฉินหรือในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือบัฟเฟอร์ (buffer) ทั้งในส่วนที่ต้องดำรงไว้เสมอ (capital conservation buffer) และส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจ (countercyclical buffer) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้นต้องมี countercyclical buffer สูงกว่าประเทศอื่นๆ และยังต้องดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ domestic stability buffer อีกด้วย

    นอกจากนี้ countercyclical buffer ในแคนาดายังครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกไม่เฉพาะสินทรัพย์ในประเทศเท่านั้น ในอัตรา 2.25% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนัก และเมื่อรวมกับการดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ domestic stability buffer อีก 1% แล้ว การดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ในแคนาดาถือว่าสูงมาก

    ภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ OSFI ได้ลดอัตราการดำรงเงินกองทุนลงให้เป็นไปตามมาตรการรับมือฉุกเฉิน เพื่อให้ธนาคารนำเงินกองทุนไปใช้ได้ โดยวันที่ 13 มีนาคม 2020 ได้ลดอัตราการดำรงเงินกองทุนลง 1.25% หรือราว 55% ของ domestic stability buffer และยังได้ห้ามการเพิ่มเงินปันผล รวมถึงการซื้อหุ้นคืน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนรับมือฉุกเฉินที่ได้จัดทำขึ้นมาก่อนหน้านี้ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อธนาคารพาณิชย์มีการใช้เงินกองทุนที่ดำรงไว้ ก็จะต้องมีปฏิบัติตามข้อจำกัดการใช้เงิน ตัวอย่างเช่น หากธนาคารพาณิชย์ต้องใช้เงินจาก capital conservation buffer ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องดำเนินการตามจำกัดการใช้เงิน ซึ่งครอบคลุมการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืน และข้อจำกัดนี้ใช้บังคับกับธนาคารใหญ่เป็นรายแรกๆ เมื่อเงินกองทุนลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้สำหรับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ (domestic systemically important banks: D-SIBs)

    ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์แคนาดามีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ โดยให้อัตราผลตอบแทนที่ 5.7% ส่วนธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 4.2% ขณะที่อัตราผลตอบแทนเงินปันผลธนาคารพาณิชย์ในยุโรปอยู่ที่ 1.7%

    ออสเตรเลียไฟเขียว-แต่แบงก์หั่นปันผล

    ดร.ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ที่มาภาพ: https://abcnews.go.com/Business/wireStory/australia-cuts-benchmark-interest-rate-record-low-025-69679017

    เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2020 ดร.ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ โดยระบุว่า ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง และการจ่ายเงินปันผลมีความสำคัญต่อรายได้ของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจ่ายเงินปันผลของธนาคารจะมีการปรับลดลง

    “ธนาคารพาณิชย์ออสเตรเลียมีเงินกองทุนในระดับสูงมาก ธนาคารกลางได้ขยายขอบเขตการทดสอบ stress test ให้กว้างขึ้นและได้ผลว่า ภายใต้ภาวะกดดัน ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง จึงสามารถที่จะจ่ายปันผล และนักลงทุนบางกลุ่มก็คาดหวังที่จะมีรายได้จากเงินปันผล” ดร.โลว์กล่าว

    แต่เพื่อให้ผู้ถือหุ้นร่วมรับภาระหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ก็ควรมีการปรับลดจำนวนเงินปันผลที่จะจ่ายลงบ้าง “แน่นอนว่าจะมีการลดเงินปันผลลง ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม”

    ในวันที่ 7 เมษายน 2020 หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Australian Prudential Regulation Authority: APRA) ได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการของสถาบันการเงิน ให้พิจารณาอย่างจริงจังที่จะเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลไปจนกว่าสถานการณ์จะชัดเจนขึ้น แต่หากหลังการทดสอบ stress test และคณะกรรมการได้กำหนดเงินปันผลไปแล้วก่อนที่จะหารือกับ APRA ก็ควรที่จะลดจำนวนเงินลง

    ดร.โลว์กล่าวอีกว่า ในการพิจารณาการจ่ายเงินปันนั้น “ควรคำนึงถึงความสมดุล และการลดเงินปันผลลงจากระดับของสองปี ก็เป็นทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องมีการห้ามการจ่ายเงินปันผล”

    อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ในออสเตรเลียได้ปรับลดเงินปันผลลง โดยธนาคารเวสต์แพกแบงกิง คอร์ป ธนาคารใหญ่อันดับสองเมื่อวัดจากมูลค่าตลาด ได้เลื่อนการจ่ายเงินปันผลไตรมาสแรกออก คิดเป็นเงิน 3.39 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์ หรือเทียบเท่าเกือบ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

    กลุ่มการธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้เลื่อนการจ่ายเงินปันผลออกไปเช่นกัน คิดเป็นเงิน 2.26 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์ ขณะที่เนชันแนลออสเตรเลียแบงก์ลดเงินปันผลลง 75% มาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ และประหยัดเงินได้ 1.58 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์

    ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการตัดเงินปันผลลงมากที่สุดในโลกในปีนี้ ทั้งการเลื่อนและการยกเลิกจากบริษัทเพื่อถือเงินสดรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

    ที่มาภาพ: https://www.forexnewsnow.com/education/glossary/reserve-bank-new-zealand/

    นิวซีแลนด์ปรับเงื่อนไขหยุดจ่ายตั้งแต่ มี.ค.

    ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (Reserve Bank of New Zealand) โดยนายเจฟฟ์ บาสกันด์ รองผู้ว่าการ ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 26 มีนาคม 2020 ถึงซีอีโอของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศทุกราย เพื่อแจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจดทะเบียน

    โดยได้ปรับเงื่อนไขที่ใช้บังคับเมื่ออัตราการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มลดต่ำกว่าระดับ 2.5% ซึ่งเดิมทีนั้นเมื่อเงินกองทุนลดลงต่ำกว่า 2.5% ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดทำแผนเพิ่มทุนและจำกัดการจ่ายเงินปันผล แต่เงื่อนไขใหม่ให้หยุดจ่ายเงินปันผล อีกทั้งยังห้ามไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุน เงื่อนไขใหม่นี้มีผลบังคับใช้ทันที

    ธนาคารกลางยังได้ลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำ (minimum requirement) จาก 75% เป็น 50% เพื่อให้ธนาคารมีเงินกองทุนมากพอภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือดูแลและให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องได้ เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของไวรัสจะหยุดเมื่อไร

    อินเดียสั่งระงับ-ทบทวน ก.ย.

    ในเอเชีย ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India) ได้มีหนังสือเวียนขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2020 เพราะความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ที่สูงขึ้น การรักษาเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์จึงมีความสำคัญเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและรองรับความเสียหาย

    ธนาคารกลางจะพิจารณาทบทวนคำสั่งเมื่อได้เห็นรายงานผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาสงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2020