ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “เจ้าชายวิลเลียม” ทรงสัมภาษณ์ “เซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์” เจาะแนวคิดดูแลโลกในที่ประชุม WEF – ชี้ อุตสาหกรรม คน ธรรมชาติเป็นโลกเดียวกัน

“เจ้าชายวิลเลียม” ทรงสัมภาษณ์ “เซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์” เจาะแนวคิดดูแลโลกในที่ประชุม WEF – ชี้ อุตสาหกรรม คน ธรรมชาติเป็นโลกเดียวกัน

23 มกราคม 2019


ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting/sessions/an-insight-an-idea-with-david-attenborough

การประชุมเศรษฐกิจโลก World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเสมอ การประชุมในปี 2562 นี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Globalization 4.0: Shaping a New Architecture in the Age of the Fourth Industrial Revolution” ระหว่างวันที่ 22-25 มกราคม 2562 มีนักธุรกิจ ผู้นำทางการเมือง บุคคลสำคัญทางวัฒนธรรม จำนวนนับพันคนจากหลายร้อยประเทศเข้าร่วม

ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เช่น นางคริสทีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นางเจซินดา อาร์เดน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เพื่อเข้าร่วมเสวนาในหลายวง เช่น วงเสวนาด้านสุขภาพจิต วงเสวนาการคุ้มครองโลก รวมไปถึงนายชาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งเป็นการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในต้นปีที่ผ่านมา นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ผันตัวมามีบทบาทด้านสิ่งแวดล้อม นำการรณรงค์เรื่องโลกร้อน ในปีนี้จะร่วมเสวนาในหัวข้อ Ocean Economy

นอกจากนี้ยังมี ดยุกแห่งเคมบริดจ์ เจ้าชายวิลเลียม เข้าร่วมเพื่อทำหน้าที่พิธีกรสัมภาษณ์ เซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้นำด้านการสื่อสาร การกระจายเสียง และแพร่ภาพโทรทัศน์ มีบทบาทสำคัญด้านการสร้างจิตสำนึกผู้คนให้ตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นสัมภาษณ์จะเน้นไปที่ชีวิตการทำงาน ความดิบของธรรมชาติ การแบ่งปันคำแนะนำต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้นำในการดูแลโลกให้ดีขึ้น

เซอร์เดวิดเข้าร่วมประชุม WEF มาหลายครั้ง สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ในชื่อ A Conversation with Sir David Attenborough and HRH The Duke of Cambridge

ในการประชุมประจำปีนี้ เซอร์เดวิดได้นำเสนอซีรีส์ใหม่ Our Planet ซึ่งร่วมมือกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF), Netflix และ Silverback Films

ศาตราจารย์เคลาส์ ชวาบ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งและประธานของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ขึ้นเวทีกล่าวนำเข้าการสัมภาษณ์ว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่การประชุม WEF 2019 เริ่มต้นด้วยการสนทนาในเรื่องธรรมชาติ พร้อมกับขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมปรบมือต้อนรับดยุกแห่งเคมบริดจ์ เจ้าชายวิลเลียม และเซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์

เจ้าชายวิลเลียมทรงเริ่มการสัมภาษณ์ด้วยการแสดงความยินดีที่เซอร์เดวิดได้รับรางวัลเกียรติยศ Crystal Aawards และตรัสว่า โดยส่วนพระองค์แล้วทรงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ จากปกติที่ต้องทรงเป็นฝ่ายให้สัมภาษณ์ และทรงรู้สึกดีที่ได้สลับตำแหน่งบ้าง “It’s a personal treat for me. It’s nice to be turning the tables for once”

ดยุกแห่งเคมบริดจ์ เจ้าชายวิลเลียม ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting/sessions/an-insight-an-idea-with-david-attenborough

คำถามแรกของเจ้าชายวิลเลียม คือ คุณทำหน้าที่พิธีกรรายการ Zoo Quest มายาวนานตั้งแต่ปี 1950 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงธรรมชาติมากขึ้น แล้วธรรมชาติในช่วงที่คุณเริ่มต้นผลิตรายการทีวีในปี 1950 นั้น กับตอนนี้แตกต่างกันอย่างไร

เซอร์เดวิดตอบว่า ธรรมชาติในช่วงนั้น เป็นโลกที่ยังดิบ ไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน ผมได้ไปแอฟริกา และเป็นสถานที่ที่มหัศจรรย์มาก แค่ออกจากเส้นทางเดินก็พบกับป่าดงดิบที่ไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจมาก่อน น่าตื่นเต้นมาก ไม่ว่าจะหมุนตัวไปทางไหนก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น แต่ในตอนนั้นประชากรมนุษย์มีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรโลกขณะนี้ ซึ่งทำให้รู้สึกราวกับว่ากำลังอยู่ในสวนสวรรค์ที่พระเจ้าสร้างขึ้น (Garden of Eden)

คำถามต่อมาคือ รายการของคุณมีผู้ชมนับพันล้านคนทั่วโลก บอกได้ไหมว่าทำไมถึงได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมาย โลกเปลี่ยนไปเร็ว ความสนใจของคนที่จะชมอะไรสักอย่างสั้นมาก

เซอร์เดวิดกล่าวว่า ผมไม่แปลกใจแม้แต่น้อย ผมจำได้ว่าเคยนำเด็กๆ อายุ 5-6 ปีไปทัศนศึกษาในตอนกลางของอังกฤษ เด็กเห็นตัวสล็อต ก็พูดกันว่า ดูนั่น นี่คือขุมทรัพย์ ทุกอย่างที่ปรากฏแก่สายตาเด็กทำให้เด็กฉงนว่ามันเคลื่อนไหวได้อย่างไร ทำไมมันต่อสู้กัน เรื่องที่น่าพิศวงมาก และเป็นอย่างนี้เรื่อยมาตลอดเวลา จนกระทั่งมีบางสิ่งเกิดขึ้น ทั้งยุคอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี ซึ่งก็ควรไปด้วยกัน

“ถ้าคนเราไม่มีความประทับใจครั้งแรกเสียแล้ว ก็จะสูญเสียความสุขใจ ความเพลิดเพลิน ที่มีต่อความสวยงามของโลกทั้งใบ โลกที่สวยแบบธรรมชาติ ดังนั้น ควรใส่ใจต่อสิ่งที่นำความสุขใจและความหยั่งรู้ที่ไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความสุขในชีวิต หากสูญเสียไปก็จะไม่มีสิ่งที่จะมาสร้างความสุขใจให้ได้”

เจ้าชายวิลเลียมทรงตั้งคำถามต่อมาว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนแค่ไหนในการผลิตสารคดีธรรมชาติ ซึ่งเซอร์เดวิดตอบว่า แน่นอน และเป็นสิ่งยอดเยี่ยมมาก เพราะใน 50-60 ปีที่แล้ว มีคนในอังกฤษ ในยุโรป ไม่กี่ล้านคนที่ได้ชมชีวิตสัตว์ การถ่ายทำสารคดีในช่วงทศวรรษ 1950s-60s เมื่อเทียบกับช่วงนี้แล้วง่ายกว่าเยอะ เรานำเสนอชีวิตสัตว์ป่าที่คนไม่เคยเห็นมาก่อน นับเป็นเรื่องใหม่ แต่วันนี้เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น เครื่องมืออุปกรณ์ที่เราใช้ก้าวหน้ามาก ทำให้เราไปไหนก็ได้ ลงไปใต้ท้องทะเลก็ได้ บินขึ้นไปในท้องฟ้าได้ หรือใช้โดรนเป็นเครื่องมือได้ ใช้เฮลิคอปเตอร์ได้ รวมทั้งยังทำภาพเคลื่อนไหวเร็วหรือภาพช้าได้ โดยรวมแล้วธรรมชาติไม่เคยมีการนำเสนอมากแบบนี้มาก่อน

เทคโนโลยีนำเสนอรายละเอียดได้มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ สำหรับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เพราะไม่ต้องใช้ภาษาใด แต่ไปได้ทั่วโลก ผู้ชมทั่วโลกได้รับความพอใจ ความเพลิดเพลินความสุขใจเหมือนกัน ตื่นเต้นเหมือนกัน เพียงแค่ชมสารคดี ตราบใดที่ผู้บรรยายไม่คั่นกลางระหว่างสัตว์กับผู้ชมมากนัก

คำถามต่อมาจากเจ้าชายวิลเลียม คือ พิธีกรรายการโทรทัศน์หลายรายเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม อะไรทำให้คุณออกมาพูดและกล้าพูดถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เซอร์เดวิดตอบว่า เมื่อผมเริ่มทำสารคดี 60 ปีก่อน และต้องยอมรับความจริงว่าในช่วงทศวรรษ 1950s นั้นไม่มีใครจะคิดหรอกว่าเป็นเรื่องอันตรายที่เราจะทำลายธรรมชาติไปส่วนหนึ่ง แน่นอนว่าสัตว์เป็นอันตราย แต่หากเราไม่ทำอะไรเลยเราก็จะสูญพันธุ์ได้ ความคิดที่ว่ามนุษย์อาจจะกำจัดทุกสายพันธุ์ได้เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่เคยนึกถึง ซึ่งเป็นสัญญานเตือน และหากเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องข้อยกเว้น

เซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting/sessions/an-insight-an-idea-with-david-attenborough

“ปัจจุบัน เราตระหนักดีกว่าโลกธรรมชาติอยู่ในมือเรา เราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างที่จะทำลายธรรมชาติได้ เพราะคนอาศัยในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ห่างไกลธรรมชาติ เลยไม่ได้สัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ”

และนี่คือเหตุผลที่ผมทำสารคดีเชิงอนุรักษ์ เราเริ่มตระหนักว่าสัตว์บางอย่างหายไป สิ่งที่คนเห็นจากสารคดีก็นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา ขณะเดียวกันคนที่ดูรายการเกี่ยวกับธรรมชาติจากทีวีก็เห็นภาพรวมของโลกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนใน 100 ปีที่ผ่านมา 100 ปีที่ผ่านคนไม่รู้จักโลกเลย คนก็รู้จักสิ่งใกล้ตัว อ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันทีวีนำคนไปชมใต้ท้องทะเลได้ ขึ้นชมบนฟ้า ขึ้นไปเหนือยอดเขาหิมาลัย เพื่อชมสิ่งต่างๆ

คำถามต่อมา คือ จากการที่คุณเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ร่วมรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คิดว่าโลกกำลังประสบปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนหรือไม่

เซอร์เดวิดกล่าวว่า ยากที่จะกล่าวเกินจริง แต่เราทุกวันนี้มีประชากรจำนวนมาก มีพลัง และกระจายไปทั่ว เรามีกลไกที่สามารถทำลายไปราบคาบและน่าสะพรึงกลัว และสามารถที่จะกำจัดระบบนิเวศโดยรวมได้อย่างแท้จริงโดยที่ไม่สังเกตเห็นแม้แต่น้อย ดังนั้นเราต้องตระหนักอย่างจริงจังถึงผลทางลบมหาศาลของสิ่งที่เรากำลังทำ และเรารู้ดีว่าปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกำลังทำลายชีวิตในทะเล และยังสร้างผลกระทบอีกมากมายที่เรายังไม่รู้

เจ้าชายทรงตรัสถามต่อว่า ทำไมผู้นำทั่วโลกตอบสนองต่อเรื่องนี้ช้า และไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ

เซอร์เดวิดกล่าวว่า เพราะว่าความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ กับเมือง กับสังคมมนุษย์ นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถูกทำให้ห่างกันและมีช่องว่างมากขึ้น เราไม่ตระหนักถึงผลกระทบในสิ่งที่เราทำ แต่เรากำลังเห็นว่าสิ่งที่เราทำมีผลกระทบสะท้อนกลับ มีผลซ้ำๆ และมีนัยต่อธรรมชาติ เราต้องระวังในสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ เราอาจจะกำจัดหลายสิ่งหลายอย่าง

”ธรรมชาติที่เราเป็นส่วนหนึ่งนั้นมีความซับซ้อนอย่างคาดไม่ถึง และมีความเชื่อมโยงไปทั่วกับทุกแห่ง หากเราทำลายที่หนึ่ง เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าความเสียหายนั้นจะสิ้นสุดตรงไหน เนื่องจากเป็นความเชื่อมโยงที่ไม่ต่อกัน แต่หากเราทำลายทุกส่วน ทุกอย่างก็จะพังทลาย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือหายนะของระบบนิเวศ”

เจ้าชายวิลเลียมทรงตรัสถามต่อว่า คุณจะให้คำแนะกับคนรุ่นใหม่อย่างไร โดยเฉพาะคนรุ่นข้าพเจ้าที่จะขึ้นก้าวสู่ผู้นำโลกในวันข้างหน้า

เซอร์เดวิดกล่าวว่า ไม่เคยมีเวลาไหนที่คนห่างไกลธรรมชาติเหมือนในทุกวันนี้มาก่อน เราต้องตระหนักไว้ว่าทุกอณูอากาศที่เราหายใจเข้าไป อาหารทุกคำที่รับประทานเข้าไป มาจากธรรมชาติ และหากเราทำลายธรรมชาติ เราทำลายตัวเราเอง เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และไม่ใช่แค่คำถามต่อความสวยงาม ความสนใจหรือความมหัศจรรย์ แต่เป็นส่วนที่จำเป็นของชีวิตมนุษย์ โลกที่อุดมสมบูณ์ใบนี้ เรากำลังทำร้ายโลก เรากำลังทำร้ายธรรมชาติ ด้วยตัวของเราเอง

ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting/sessions/an-insight-an-idea-with-david-attenborough

คำถามต่อมา คือ คุณจะฝากอะไรให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

เซอร์เดวิดกล่าวว่า “ใส่ใจกับธรรมชาติ ไม่เพียงใส่ใจธรรมชาติเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความเคารพและนับถือ ยำเกรง” เราผูกพันด้วยกัน และอนาคตของธรรมชาติอยู่ในมือเรา ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ผมใส่ใจคือไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเสียเปล่า ไม่เฉพาะพลังงาน แต่สัมผัสธรรมชาติด้วยความเคารพ ไม่โยนอาหารทิ้งเปล่า หรือไม่ประหยัดพลังงาน

หายนะกำลังคืบคลานเข้ามากลืนกินโลก เริ่มต้นจากที่อังกฤษ ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในประเทศกำลังพัฒนา ดูราวกับว่ากำลังจะยึดครองธรรมชาติ

“เรายังไม่ยังไม่ทิ้งความคิดที่ว่า เราอยู่ตรงข้ามกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด อุตสาหกรรม คน ธรรมชาติเป็นโลกเดียวกัน เราต้องตระหนัก เรามีพลัง มีความรู้ ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้”

คำถามในช่วงท้ายการสัมภาษณ์คือ ทำไมเราต้องใช้ความร่วมมือทั่วโลกในการจัดการกับธรรมชาติ เช่น ข้อตกลงปารีส

เซอร์เดวิดกล่าวว่า ข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement มาจากการตระหนักร่วมกันของประเทศทั่วโลกว่า ธรรมชาติกับมนุษย์ต่างพึ่งพาอาศัยกัน เป็นการตระหนักร่วมกันว่าเราเป็นต้นเหตุของการเสื่อมลงของโลกและการหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ มีความสำคัญ และเป็นการยอมรับร่วมกันของส่วนใหญ่ของโลก เราต้องเชื่อมั่น

คำถามปิดท้ายคือ ในที่ประชุม WEF มีการเปิดตัวสารคดี ชุดใหม่ Our Planet ที่คุณร่วมกับ WWF, Netflix และ Silverback Films ซึ่งเป็นสารคดีมุ่งอนุรักษ์สิ่งมีชิวิตในโลก ทำไมถึงเลือกเผยแพร่ผ่าน Netflix

เซอร์เดวิดกล่าวว่า การที่ร่วมผลิตสารคดี เพราะประเด็นนี้ไม่เคยได้รับการตระหนักมากแบบนี้มาก่อน ที่สำคัญ การเผยแพร่ผ่าน Netflix สามารถสร้างการตระหนักรู้ได้ทั่วไม่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก การนำเสนอผ่าน Netflix โลกสามารถเห็นได้ทันที ตอนที่ทำรายการทีวีในอังกฤษช่วงแรกมีคนดูไม่กี่ล้านคน แต่ Netflix มีคนเห็นทั่วโลกหลายร้อยล้านคน

เซอร์เดวิดยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทำสารคดีชุดนี้ด้วยว่า ช่างภาพต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินไปถ่ายทำธารน้ำแข็ง เพื่อให้ได้ภาพที่สะท้อนความเป็นจริงของธรรมชาติที่กำลังถูกทำลาย

จากนั้นเป็นการนำเสนอสารคดีชุดนี้ต่อผู้เข้าร่วมการประชุม ก่อนปิดการสัมภาษณ์

ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting/sessions/an-insight-an-idea-with-david-attenborough

เซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ นำธรรมชาติมาสู่คน

เซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ ในวัย 92 ปี ได้รับรางวัลเกียรติยศ คริสตัล อวอดส์ (Crystal Awards) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับศิลปินชั้นนำ และผู้นำด้านวัฒนธรรม ที่ประสบความสำเร็จและความเป็นผู้นำได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ในวันเปิดการประชุม ซึ่งการมอบรางวัลปีนี้เป็นการมอบรางวัลครั้งที่ 25

เซอร์เดวิดได้รับรางวัลจากการเป็นผู้นำในด้านการนำพาไปสู่การฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม เซอร์เดวิดมีประสบการณ์ด้านอาชีพด้านการกระจายเสียงและแพร่ภาพมากกว่า 6 ทศวรรษ มีบทบาทที่โดดเด่นในการสร้างสิ่งใหม่และพัฒนาสื่อกลางด้านโทรทัศน์ให้เชื่อมกับคน ให้เข้าใจถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติผ่านการนำเสนอชีวิตผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ชีวิตสัตว์และสิ่งมีชีวิตจากทั่วโลกถึงบ้าน

ในฐานะผู้ผลิตรายการและผู้บริหารของบีบีซี เซอร์เดวิดมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายการทีวีรูปแบบใหม่และตารางออกอากาศใหม่ ซึ่งมีผลให้ทุกวันนี้รายการทีวีทั่วโลกยึดเป็นแบบอย่าง งานที่เซอร์เดวิดสร้างสรรค์ จนเป็นสัญญลักษณ์เริ่มต้นจากซีรีส์ Zoo Quest มาจนถึง Life on Earth, The Living Planet, The Trials of Life, The Private Life of Plants, Life of Mammals และ Planet Earth

เซอร์เดวิดมีชื่อเต็มว่า เดวิด เฟรเดอริก มีประสบการณ์ด้านอาชีพด้วยการสื่อสาร มากกว่า 6 ทศวรรษ จากการเริ่มงานกับบีบีซีในปี 1952 หลังจากสมัครเข้าทำงานด้านวิทยุ ซึ่งขณะนั้นเขายังไม่มีโทรทัศน์สักเครื่องและดูทีวีอยู่รายการเดียว

เซอร์เดวิดเกิดวันที่ 8 พฤษภาคม 1926 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เติบโตที่เมืองเลสเตอร์ เพราะพ่อเป็นอาจารย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยท้องถิ่น มีพี่ชายชื่อริชาร์ด ซึ่งประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์

เซอร์เดวิดมีชื่อเสียงจากการทำงานด้านการกระจายเสียง เป็นนักเขียน และได้รับการขนานนามว่า เป็นนักธรรมชาตินิยม จากการทำรายการโทรทัศน์ที่มุ่งให้ความรู้ผู้ชมเกี่ยวกับธรรมชาติ

ความสนใจของเซอร์เดวิดต่อธรรมชาติ ในช่วงที่ศึกษาที่ แคลร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทปี 1947 เริ่มงานกับสำนักพิมพ์ตำราเรียนปี 1949 ต่อมาปี 1952 เมื่อผ่านโครงการฝึกอบรมกับสำนักข่าวบีบีซี ก็ได้เริ่มทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการกับบีบีซีในปีเดียวกัน

ปี 1954 ได้ร่วมกับ แจ๊ก เลสเตอร์ นักอนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลานผลิตซีรีส์รายการโทรทัศน์ Zoo Quest ถ่ายทำชีวิตสัตว์ในป่าและสวนสัตว์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากและทำให้บีบีซีขยายรายการด้านการให้ความรู้มากขึ้น

ปี 1965 เซอร์เดวิดรับผิดชอบช่องBBC 2 ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ใหม่ของบีบีซี มีส่วนสนับสนุนการผลิตรายการใหม่ๆ เช่น ละคร The Forsyte Saga รวมทั้งซีรีส์ความรู้ด้านวัฒนธรรม The Ascent of Man Civilisation และซีรีส์คอเมดี Monty Python’s Flying Circus

เซอร์เดวิดอำนวยการผลิตรายการโทรทัศน์ที่บีบีซีช่วงปี 1968-1972 ต่อมาได้ลาออกแต่ยังเขียนและผลิตรายการในฐานะผู้ผลิตรายการอิสระ จากนั้นได้เขียนและให้เสียงบรรยายรายการหลายรายการที่ได้รับรางวัลที่เกี่ยวกับมนุษย์ ธรรมชาติ และชีวิต Life on Earth ปี 1979, The Living Planet ปี 1984, The Trials of Life ปี 1990, Life in the Freezer ปี 1993, The Private Life of Plants ปี 1995, The Life of Birds ปี 1998, The Life of Mammals ปี 2002–2003, Life in the Undergrowth ปี 2005, and Life in Cold Blood ปี 2008

ส่วนรายการทีวีอื่นได้แก่ The Blue Planet ที่สำรวจโลกใต้ทะเล ซึ่งเซอร์เดวิดให้เสียงเองแต่ไม่ได้เขียนบทบรรยาย, State of the Planet และ Are We Changing Planet Earth? ที่เน้นหนักด้านประเด็นสิ่งแวดล้อม การให้เสียงทำให้เซอร์เดวิดได้รับรางวัล Emmy Award นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเกียรติยศจำนวนมาก เช่น BAFTA Awards, Peabody Award ปี 2014

ปี 1985 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน ทำให้ได้ใช้ยศเซอร์