ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์พาณิชย์ในเดนมาร์กปล่อยกู้บ้านดบ.ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แบงก์พาณิชย์ในเดนมาร์กปล่อยกู้บ้านดบ.ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์

17 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.euronews.com/2019/08/14/need-a-cheap-mortgage-rate-try-this-danish-bank-it-s-less-than-0

ธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์กพากันเสนอสินเชื่อบ้านที่ให้ดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.5% ต่อปี

จุสเก แบงก์(Jyske Bank) ธนาคารใหญ่อันดับสามของเดนมาร์กประกาศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า ได้เปิดตัวสินเชื่อบ้านระยะยาว 10 ปี ดอกเบี้ยติดลบ 0.5% ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม ธนาคารนอร์เดียแบงก์ประกาศนำเสนอสินเชื่อบ้านระยะยาว 20 ปีอัตราดอกเบี้ย 0% และสินเชื่อบ้านระยะยาว 30 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 0.5%

จุสเก แบงก์ระบุว่า ผู้กู้ที่ได้ดอกเบี้ยติดลบนี้ยังชำระหนี้ตามปกติทุกเดือน แต่ยอดหนี้คงค้างจะลดลงในแต่ละเดือนมากกว่าที่ผู้กู้ชำระคืน

มิกเกล โฮเอจห์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัย ของจุสเกแบงก์ อธิบายว่า ธนาคารไม่ได้ให้เงินแก่ลูกค้าโดยตรงแต่ทุกเดือนยอดหนี้จะลดลงมากกว่าที่ผู้กู้ชำระคืนมา

นอกจากนี้ ธนาคารระบุว่า สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยติดลบนี้ยังเป็นสินเชื่อระยะสั้น จึงไม่สามารถนำไปผ่อนบ้านได้หมด ดังนี้นจึงเป็นเพียงสินเชื่อที่เสริมเข้ามาเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านหรือชำระหนี้บางส่วนซึ่งเป็นเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูง

จุสเกแบงก์ยังได้จัดทำคู่มือเพื่อให้ลูกค้ามีความเข้าใจเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น

การให้สินเชื่อดอกเบี้ยติดลบดูเหมือนกับว่าผู้กู้จะได้เงินติดมือกลับไปด้วยจากการขอสินเชื่อบ้าน แทนที่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารตามปกติ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะผู้กู้ยังต้องมีภาระค่าธรรมเนียมการใช้เงินกู้ ยังเป็นหนี้จากสินเชื่อ ไม่ใช่ได้รับเงิน อีกทั้งจ่ายคืนมากกว่าที่กู้มาเล็กน้อย

การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบดูเหมือนว่าแบงก์หรือผู้ให้กู้ไม่สามารถทำกำไรได้เลย แต่อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะเดนมาร์กเป็นตลาดใหญ่ของตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน หรือ Mortgage-Backed Bonds(MBB)ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 ปี และเป็นแหล่งกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนสถาบัน

ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันต่างจากตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDOs) หรือ หนี้จากสินเชื่อที่นำมารวมกันแล้วแปลงเป็นหลักทรัพย์และผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับเพื่อขายต่อให้นักลงทุน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติการเงินในปี 2008 เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่นำมารวมบางครั้งเป็นการให้เงินกู้ก้อนที่ผ่านกระบวนการพิจารณาไม่โปร่งใส จึงมีตราสารหนี้ CDOs จำนวนมากที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือที่ดี แต่ข้างในเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทำให้ล่มสลายในที่สุด

แต่ในเดนมาร์กการออกตราสารหนี้สอดรับกับเงินที่มาลงทุน สินเชื่อบ้านทุกก้อนที่ปล่อยไปมีนักลงทุนรายตัวโดยส่วนใหญ่เป็นสถาบัน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ จะเข้ามาให้กู้ซึ่งจะได้รับข้อมูลทางการเงินของผู้กู้ก่อนตัดสินใจลงทุน

ภายใต้แนวปฏิบัติที่ใช้กันในขณะนี้ ผู้กู้ซื้อบ้านเดนมาร์กจึงกู้เงินโดยตรงจากนักลงทุนผ่านธนาคาร แต่ผู้กู้จะไม่ได้รับเงินกู้เต็มจำนวน เช่น ผู้กู้ขอกู้จำนวน 100,000 ดอลลาร์ก็จะได้เงินกู้ไป 95,000 ดอลลาร์ และยังคงเป็นหนี้ที่ต้องชำระคืนในจำนวน 100,000 ดอลลาร์ นักลงทุนจึงได้ส่วนต่าง 5,000 ดอลาร์และได้รับเงินคืนเต็มจำนวน 100,000 ดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

นอกเหนือจากที่ต้องชำระหนี้คืนเต็ม 100,000 ดอลลาร์แล้ว ผู้ซื้อบ้านยังต้องจ่ายดอกเบี้ย 0.3%และค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อให้กับธนาคาร ซึ่งนี่คือจุดที่ธนาคารทำกำไร แต่นักลงทุนจ่าย 0.5% ของเงินกู้ให้กับผู้กู้ตลอดระยะเวลาของสัญญาซึ่งหมายความว่านักลงทุนขาดทุน

สำหรับผู้กู้ที่ได้รับดอกเบี้ย 0.5% จากนักลงทุน ผู้กู้จึงได้กำไร 0.2% จากการกู้เงิน ขณะที่ธนาคารได้ดอกเบี้ย 0.3% กับค่าธรรมเนียม ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้กำไรเลยคือนักลงทุน ที่ต้องจ่าย 0.5% ของเงินที่ปล่อยกู้ไป

ทำไมนักลงทุนสถาบันจึงยอมลงทุนในสิ่งที่เห็นว่าขาดทุนแน่นอน คำตอบก็คือ กังวลว่าจะสูญเงินทั้งหมดจากการลงทุนในด้านอื่นๆ

อันที่จริงนักลงทุนสถาบันเดนมาร์กสามารถลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯได้แทนที่จะลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้อัตราผลตอบแทนจะลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ 1.74% จาก 1.90% ในช่วงวันที่ 1-9 สิงหาคม 2562 แต่ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์สหรัฐฯกับเงินโครนเดนมาร์ก มีความผันผวนสูง ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินโครนมากขึ้นในการซื้อพันธบัตร

นักลงทุนสถาบันของเดนมาร์กวิตกว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจะเป็นภาวะชั่วคราว และหากมูลค่าพันธบัตรในสกุลเงินของตัวเองลดลง ก็ยิ่งทำให้ขาดทุนมากกว่า 0.5% ที่จ่ายไปให้กับการลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ที่มาภาพ: https://www.visitdenmark.com/denmark/explore/jyske-bank-bank-and-atm-gdk686000

ลิเซ่ ไนทอฟ เบิร์กแมน หัวหน้านักวิเคราะห์จากธนาคารนอร์เดีย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสบายใจนักเมื่อมีนักลงทุนที่เต็มใจจะให้กู้ยาว 30 ปีและได้ผลตอบแทนเพียง 0.5% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนวิตกต่อสถานการณ์ของตลาดการเงินในขณะนี้อย่างมาก และคงจะใช้เวลาอีกนานกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ดอกเบี้ยติดลบโดยทั่วไปเป็นสัญญานว่าผู้ให้กู้ระมัดระวังกับทิศทางตลาด บางธนาคารพร้อมที่จะรับผลขาดทุนเล็กน้อยในช่วงนี้ด้วยการนำเสนอดอกเบี้ยต่ำหรือดอกเบี้ยติดลบมากกว่าที่จะเสี่ยงให้ผู้กู้ได้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง แต่ผู้กู้ไม่มีความสามารถที่จะชำระคืนได้ในอนาคต

การปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยติดลบสามารถทำได้ในเดนมาร์ก รวมทั้งสวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลงมาในระดับที่ทำให้ภาคธนาคารสะเทือนได้

เมื่อเร็วๆนี้ในสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารยูบีเอสได้แจ้งลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งว่า จะเริ่มเก็บเงินค่าฝากเงินในอัตรา 0.6% ต่อปี หากฝากเงินเกิน 500,000 ยูโร

สำหรับในเดนมาร์ก อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของจุสเกแบงก์ ลดลงมาอยู่ที่ 0% และธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์กกำลังพิจารณาว่าจะใช้ดอกเบี้ยเงินฝากติดลบตามธนาคารสวิตเซอร์แลนด์หรือไม่ ที่สำคัญไม่มีธนาคารใดอยากเป็นธนาคารแรกที่นำตลาดในการใช้ดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษซึ่งอยู่ที่ 0.75% และดอกเบี้ย 0% ของธนาคารสหภาพยุโรป (European Central Bank:ECB)แล้ว ดอกเบี้ยในเดนมาร์กก็ติดลบแล้ว 0.4% เนื่องจากเดนมาร์กแม้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้อยู่ในยูโรโซนไม่ได้ใช้เงินยูโร แต่ใช้เงินโครนของตัวเอง

เดนมาร์กผูกค่าเงินโครนกับเงินยูโร ดังนั้นเมื่อ ECB ปรับดอกเบี้ย เดนมาร์กก็ต้องปรับดอกเบี้ยตามเพื่อรักษาค่าเงิน

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB ติดลบ 0.4% อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเดนมาร์กก็ติดลบ 0.65% ทำให้นักลงทุนไม่นำเงินมาพักไว้ที่ตลาดการเงินเดนมาร์ก เพราะการฝากเงินที่เดนมาร์กมูลค่าของเงินฝากจะลดลง

ประเทศในยูโรโซนเป็นกลุ่มแรกที่นำเสนอดอกเบี้ยติดลบเมื่อกว่า 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นแนวทางระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหลายประเทศก็ยังคงใช้ดอกเบี้ยต่ำอยู่ในปัจจุบัน

ในทางทฤษฎีดอกเบี้ยติดลบจะจูงใจให้ธุรกิจกู้เงินเพื่อนำไปลงทุน เงินก็จะกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเงินที่ใช้จ่ายออกไปนั้นจะมีการหมุนเวียนหลายรอบ ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในทางกลับกันดอกเบี้ยติดลบอาจจะมีผลตีกลับ เมื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 0% ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล หรือสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ รวมทั้งเงินสด เงินฝากธนาคารที่ไม่เก็บดอกเบี้ย ผู้คนก็จะถือเงินสดและไม่ใช้จ่าย เงินก็จะไม่เข้าระบบเศรษฐกิจ

อ่านเพิ่มเติม

  • ดอกเบี้ยติดลบ: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
  • เรียบเรียงจาก: bloomberg,theguardian,cnbc,fortune