ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมศุลฯ เตรียมติดตั้งเครื่อง X-ray กระเป๋า 23 จุด สกัด “พรีออเดอร์” หิ้วแบรนด์เนมโพสต์ขายผ่านเน็ต

กรมศุลฯ เตรียมติดตั้งเครื่อง X-ray กระเป๋า 23 จุด สกัด “พรีออเดอร์” หิ้วแบรนด์เนมโพสต์ขายผ่านเน็ต

16 กันยายน 2019


กรมศุลฯ เตรียมติดตั้งเครื่อง X-RAY กระเป๋า 23 จุด สกัด “พรีออเดอร์” หิ้วแบรนด์เนมโพสต์ขายผ่านเน็ต

การซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างมาก ที่ผ่านมามีพ่อค้า แม่ค้ากลุ่มหนึ่งเปิดให้ลูกค้าสั่งจองซื้อสินค้าแบรนด์เนมล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า “พรีออเดอร์” จากต่างประเทศ โพสต์ขายบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม โดยไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศแอบซุกซ่อนในกระเป๋าเดินทาง หิ้วผ่านด่านศุลกากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อีกกลุ่มหนึ่งนำเข้าผ่านไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยแจ้งราคาสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อชิ้น เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี การกระทำดังกล่าวนอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อตัวแทนจำหน่ายที่เสียภาษีถูกต้อง ขายสินค้าไม่ได้

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กรมศุลกากร เปิดเผยว่า เรื่องการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ขณะนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญของกรมศุลกากร จากอดีตมียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศปีละไม่ถึง 1 ล้านชิ้น ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10 ล้านชิ้น ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่นำเข้ามาตามช่องทางปกติ ชำระภาษีถูกต้อง และกลุ่มลักลอบนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ผ่านด่านศุลกากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในระยะหลังนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถตรวจค้นและจับกุมได้เกือบทุกวัน

สำหรับมาตรการป้องกันและปราบปรามกลุ่มพรีออเดอร์ที่ลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศนั้น นายชัยยุทธกล่าวว่า แนวทางการตรวจสอบของกรมศุลกากรในขณะนี้ก็จะใช้ข้อมูล big data มาช่วยในการวิเคราะห์หากลุ่มบุคคลและเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงตามหลักสากลที่ศุลกากรทั่วโลกปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบทุกราย เพราะแต่ละวันมีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 60,000 คนต่อวัน ไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกราย ด้วยอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการสุ่มตรวจที่หน้าด่านศุลกากร โดยสังเกตจากจำนวนกระเป๋าสัมภาระ หรือข้อมูลของผู้โดยสารว่าเดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงบ่อยครั้งแค่ไหน ในเร็วๆกรมศุลกากรกำลังดำเนินการติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ (X-ray) คร่อมบนสายพานลำเลียงกระเป๋าระหว่างประเทศ ก่อนที่กระเป๋าจะถูกส่งขึ้นมาที่จุดรับกระเป๋า จำนวน 23 สายพาน คาดว่าจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 และเริ่มใช้งานจริงช่วงต้นปี 2563

“วัตถุประสงค์ของการติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์บนสายพานลำเลียงกระเป๋าครั้งนี้ ไม่ได้นำมาใช้เพื่อป้องกันการลับลอบขนสิ้นค้าแบรนด์เนมเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์หลักคือ ปกป้องสังคม สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ยาเสพติด อาวุธยุทธภัณฑ์ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ตามสนธิสัญญาไซเตส และความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร เราเน้นตรงนี้เป็นหลัก โดยข้อมูลจากเครื่องเอ็กซเรย์กระเป๋าจะถูกส่งมาที่ด่านศุลกากรสุวรรณภูมิ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้ในการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง” นายชัยยุทธกล่าว

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า ปกติการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาบริโภคตามหลักการของกฎหมายศุลกากรแล้วต้องเสียภาษีทั้งหมด ยกเว้นของใช้ส่วนตัวที่นำติดตัวเข้ามาในประเทศที่มีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท สุราไม่เกิน 1 ลิตร บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หากเป็นของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่าเกินกว่านี้ก็ต้องเสียภาษี ยกตัวอย่าง หากเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจพบในกระเป๋ามีรองเท้ามากผิดปกติ กรณีนี้คงต้องขอเปิดดู ถ้าเป็นเบอร์เดียวกันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเบอร์ต่างกัน กรณีนี้อาจไม่เข้าข่ายเป็นของใช้ส่วนตัว ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องเสียภาษี ส่วนวิธีการประเมินมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามามีมูลค่าเกิน 20,000 บาทหรือไม่ กรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบข้อสงสัยก็จะขอดูใบเสร็จ หรือ ตรวจสอบราคาจากเว็บไซต์ของร้านค้าในต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ราคาซื้อ-ขายในประเทศไทยเป็นเกณฑ์ในการประเมินราคา แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นคงไม่ได้ใช้หลักนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว บางครั้งก็ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ด้วย

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า ส่วนการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศส่งมาทางไปรษณีย์แบบธรรมดา หรือพัสดุเร่งด่วน (express consignment) ก่อนที่สินค้าจากต่างประเทศจะถูกส่งเข้ามาในประเทศไทย ผู้ส่งจะแจ้งข้อมูลประเภทและมูลค่าของสินค้าให้ “ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่” ทราบล่วงหน้าก่อน เพื่อนำมาคัดแยกและผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท (รวมค่าขนส่งและประกันภัย) หรือสิ่งพิมพ์ กลุ่มนี้ได้รับยกเว้นภาษี กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้ามีมูลค่าเกิน 1,500 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท กลุ่มนี้ต้องเสียภาษีตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากรตามปกติ แต่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบง่าย ไม่ต้องกรอกรายละเอียดอะไรมากนัก และกลุ่มสุดท้ายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 40,000 บาท ต้องปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้าตามปกติ กรณีที่ต้องเสียภาษีนั้น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะออกจดหมายเชิญให้ผู้สั่งซื้อสินค้ามาเสียภาษีที่ศูนย์บริการไปรษณีย์แจ้งวัฒนะ หรือหัวลำโพง

“สำหรับสินค้าแบรนด์เนมหนีภาษีที่รอดพ้นจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาได้ ทางกรมศุลกากรก็ยังมีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจค้นและจับกุมผู้ที่นำมาขายได้อีก ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจับกุมแหล่งเก็บสินค้าแบรนด์เนมได้หลายแห่ง ยึดสินค้าเป็นของกลางได้จำนวนมาก ส่วนกรณีพรีออเดอร์นำสินค้ามาโพสต์ขายทางอินเทอร์เน็ตนั้นค่อนข้างจับยาก เพราะโชว์แต่รูปภาพ ไม่มีของกลาง ต้องสั่งออเดอร์มาก่อน เมื่อสินค้ามาถึงก็นัดส่งมอบของ การตรวจจับจึงเน้นที่หน้างาน” นายชัยยุทธกล่าว

อ่าน ซีรีส์ข่าวจับ…สินค้าแบรนด์เนมเพิ่มเติมที่นี่