ThaiPublica > คนในข่าว > ข้อกล่าวหา “ความไม่โปร่งใส” ของ กทม. ยุค “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก่อนพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ ต้นปี 2560

ข้อกล่าวหา “ความไม่โปร่งใส” ของ กทม. ยุค “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก่อนพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ ต้นปี 2560

15 สิงหาคม 2016


รวมข้อกล่าวหา กทม.ยุคสุขุมพันธุ์1

เหลืออีกเพียงครึ่งปีเศษ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) สมัยที่สอง ในเดือนมีนาคม 2560(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

แม้จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างถล่มทลาย ถึง 1.2 ล้านเสียง มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ตลอดเวลาเกือบ 8 ปี ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั่งทำงานอยู่ในทำเนียบเสาชิงช้า การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. คนนี้ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รวบบรวมข้อกล่าวหาในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่ามีเรื่องใดบ้าง ผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงอย่างไรและปัจจุบันสถานะของข้อกล่าวหาเหล่านั้นไปอยู่ที่ใด

หากยังจำได้ในสมัยแรก (ระหว่างปี 2552-2556) ของการดำรงตำแหน่ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มุ่งไปที่ปัญหาการบริหารงานมากกว่า ยังไม่ค่อยมีเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเรื่องติดกล้องวงจรปิด CCTV ครบ 2 หมื่นตัว และทำงานได้จริงหรือไม่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างสนามฟุตบอลบางกอกอารีน่าที่ล่าช้า

จนมาสมัยที่สอง (ระหว่างปี 2556-2560) เริ่มต้นมาก็เจอกับวิกฤติ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลืองกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกรณีที่ผู้สนับสนุนปราศรัยใส่ร้ายคู่แข่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัยสอง กระทั่งต้องพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 4-5 เดือน โดยระหว่างนั้นได้มอบหมายให้นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. รักษาการ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องเมื่อไม่ปรากฏว่ามีความผิด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เผชิญกับวิกฤติจริงๆ หลังเกิดเสียงต่อว่า กรณีที่มีฝนตกลงมาแล้วหลายพื้นที่ใน กทม. ระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหารถติด ทั้งที่อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ก็เพิ่งสร้างเสร็จ แต่แทนที่ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงไปตามปกติ กลับหลุดวรรคทองออกมาว่า “เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ” จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องออกมาขอโทษคนกรุงแทน และมีแรงกดดันจากภายในพรรคเก่าแก่นี้ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนด้วยเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเกิดการแตกหักระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับ ปชป.

หลังจากนั้นผู้ว่าฯ กทม. รายนี้ถูกเริ่มต้นตรวจสอบอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 เป็นต้นมา ทั้งจากประชาชนทั่วไป องค์กรอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ “คนกันเอง” อย่างสมาชิก ปชป. อาทิ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร

วิลาศ
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้ที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ กทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อย่างเข้มข้น ทั้งๆ ที่อยู่พรรคเดียวกัน ที่มาภาพ: news.voicetv.co.th

เรียกรับเงินแต่งตั้ง ขรก.-บินต่างประเทศถี่

ต้นพฤศจิกายน 2558 นายวิลาศออกมาเปิดเผยเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของ กทม. โดยพุ่งเป้าไปที่รองผู้ว่าฯ กทม. บางคน ทั้งเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยด้วยตั๋วเครื่องบินชั้นเฟิสต์คลาส รวมถึงเข้าไปเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้าย

การออกมาเปิดเผยดังกล่าวของนายวิลาศ ทำให้รองผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 2 คน ได้แก่ “นายจุมพล สำเภาพล” และ “นายอมร กิจเชวงกุล” ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ส่วนอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายของ กทม. หากเป็นระดับซี 9 ขึ้นไปเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง แต่ถ้าต่ำกว่าระดับซี 9 ก็จะเป็นอำนาจของปลัด กทม. รองผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายวิลาศได้เดินทางไปยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว โดยรองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคำร้องก็คือนายจุมพล ปัจจุบัน คดียังไม่มีความคืบหน้า

แม้การออกมาเปิดข้อมูลครั้งแรกของนายวิลาศจะพุ่งเป้าไปที่รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นหลัก แต่ก็เป็นปฐมบทของการเดินหน้าตรวจสอบเรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ซื้อเครื่องดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด กทม. อย่างไม่จำเป็น

นายวิลาศยังเดินหน้าตรวจสอบ กทม. อย่างต่อเนื่อง โดยต้นเดือนธันวาคม 2559 ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีความไม่ชอบมาพากลในจัดซื้อเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียนในสังกัดของ กทม. ระหว่างปี 2552-2557 มูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 1.3 พันล้าน อาจมีความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการจัดซื้อเปียโน 400 หลัง แก่โรงเรียนจำนวน 197 แห่ง รวมเป็นเงิน 585 ล้านบาท ทั้งที่บางโรงเรียนไม่มีครูสอนดนตรี

“โครงการนี้จึงมีปัญหาในเรื่องความเหมาะสม ในเมื่อโรงเรียนในสังกัด กทม. เกินครึ่งไม่มีครูดนตรี เมื่อซื้อมาแล้วใครจะสอน ทั้งยังไม่มีการสำรวจหรือให้แต่ละโรงเรียนเสนอว่าต้องการเครื่องดนตรีนั้นๆหรือไม่ รวมถึงหลายโรงเรียนยังไม่มีความพร้อมเรื่องสถานที่ เช่น ห้องดนตรีเพื่อใช้จัดเก็บ” นายวิลาศกล่าว

ด้านนายจรูญ มีธนาถาวร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวชี้แจงว่า การจัดซื้อเปียโนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมทักษะทางดนตรีให้นักเรียนในสังกัด กทม. ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของ กทม. ที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดนตรีและพัฒนายกระดับทางจิตใจของนักเรียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพราะจัดซื้อโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และก่อนเปิดประมูลก็ได้สืบราคามาก่อน และในขั้นตอนการประมูลก็มีบริษัทเข้ามาแข่งขัน 7-8 ราย เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ นายวิลาศได้เดินทางไปยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว แต่ปัจจุบัน คดียังไม่มีความคืบหน้า

พิรุธประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี 39.5 ล้าน

กรณีอื้อฉาวนี้ไม่ได้มีใครมาเปิดประเด็น แต่เกิดจากการตั้งข้อสังเกตของประชาชน หลังจากช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ว่า กทม. ได้ทุ่มงบกว่า 39.5 ล้านบาท ประดับไฟแอลอีดีกว่า 5 ล้านดวง เปลี่ยนลานคนเมืองให้เป็นสวนสวรรค์ คืนความสุขให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่

หลายๆ คนก็ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดต้องใช้งบสูงถึง 39.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่หลายประเทศก็มีการประดับไฟในลักษณะใกล้เคียงกันด้วยงบที่น้อยกว่า

กรณีนี้นำไปสู่การตรวจสอบโดย สตง. ซึ่งมีข้อสังเกตทั้งการเขียน TOR ที่ใช้เวลาเขียนเพียงวันเดียว รวมถึงการเลื่อนวันประมูลให้เร็วขึ้นทำให้บริษัทเอกชนที่สนใจอื่นๆ ยื่นประมูลไม่ทัน ไม่รวมถึงบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลเป็นเพียงบริษัทรับจ้างจัดทัวร์ที่ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ มาก่อน

กระทั่งกลางปี 2559 นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ก็ออกมาระบุว่า โครงการนี้น่าจะมีการฮั้วประมูล และได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ลงโทษ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้เกี่ยวข้อง

นำไปสู่การตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า โครงการนี้มีความจำเป็นต้องทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ใช่โครงการแรกและโครงการสุดท้าย ยืนยันว่าการจัดจ้างทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

โดยผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ส่งทนายความยื่นฟ้องผู้ว่าฯ สตง. ฐานหมิ่นประมาทในเวลาต่อมาด้วย

สำหรับความคืบหน้าทางคดี ปัจจุบัน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้แล้ว มีจำนวนผู้ถูกกล่าวหารวม 14 คน แต่ไม่มีชื่อของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

สตง. ได้สรุปว่าการจัดจ้างประดับอุโมงค์ไฟแอลอิดีของ กทม. น่าจะเข้าข่ายการฮั้วประมูล ขณะที่ ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ที่มาภาพ : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/250463
สตง. ได้สรุปว่าการจัดจ้างประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดีของ กทม. วงเงิน 39.5 ล้านบาท น่าจะเข้าข่ายการฮั้วประมูล ขณะที่ ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบการกระทำผิดของผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้แล้ว ที่มาภาพ: daily.bangkokbiznews.com/detail/250463

จ้างตกแต่งห้องทำงาน ทั้งที่ทำเสร็จไปแล้ว

กลางเดือนพฤษภาคม 2559 สื่อมวลชนได้เปิดประเด็นกรณีที่มีการเปิดประมูลจัดจ้างหาบริษัทเอกชนมาปรับปรุงห้องทำงานของผู้ว่าฯ กทม. และทีมงาน รวมเป็นเงิน 16.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ห้องทำงานดังกล่าวไปปรับปรุงเสร็จสิ้นและใช้งานมากว่าปีแล้ว โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงการเปิดประมูลเพื่อจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาที่ดำเนินการไปเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่ง สตง. ก็เข้ามาตรวจสอบในเวลาต่อมา

นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัด กทม. กล่าวยอมรับว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวผิดขั้นตอนและระเบียบของ กทม. เนื่องจากมีการดำเนินการก่อนเบิกงบประมาณ ซึ่งมีบุคคลในระดับผู้อำนวยการสำนักการโยธาเป็นผู้เซ็นอนุมัติ โดยจะต้องรอผลสรุปจาก สตง. อีกครั้ง แต่ยืนยันว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากดำเนินการระหว่างที่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อปี 2557 หลังถูก กกต. ให้ใบเหลือง

ปัจจุบัน กทม. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายพิชญา นาควัชระ ผู้ตรวจราชการ กทม. เป็นประธาน ขณะที่ผลการตรวจสอบจาก สตง. ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

จัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กในราคาแพงเกินจริง

กลางเดือนกรกฎาคม 2559 นายวิลาศ สมาชิก ปชป. กลับมาตรวจสอบ กทม. อีกครั้ง โดยครั้งนี้เปิดประเด็นเรื่องการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก จำนวน 20 คัน คันละ 8 ล้าน รวม 160 ล้านบาท โดยมีการตั้งข้อสังเกตทั้งเรื่องบริษัทที่ยื่นประมูลอยู่ในเครือเดียวกัน อุปกรณ์ดับเพลิงในรถกู้ภัยน่าจะมีราคาแพงเกินจริง นอกจากนี้ รถกู้ภัยดังกล่าวยังใช้พวงมาลัยซ้าย แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปในประเทศไทยที่ใช้พวงมาลัยขวา

นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกผู้ว่าฯ กทม. กล่าวชี้แจงว่า เหตุที่ต้องมีการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก ก็เพื่อให้สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในซอยต่างๆ ของ กทม. ที่มีจำนวนกว่า 5 พันซอยและมีขนาดแคบ ที่ระบุว่าอุปกรณ์ดับเพลิงในรถกู้ภัยน่าจะมีราคาสูงเกินจริง อยากถามว่าเอาอะไรมาวัดว่าสูงหรือไม่สูง และที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องใช้พวงมาลัยซ้าย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่ผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก

ทั้งนี้ นายวิลาศได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สตง. และ ป.ป.ช. ให้เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กของ กทม. แล้ว

นี่คือ 5 ตัวอย่างของเรื่องกล่าวหาว่า กทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์บริหารงานไม่โปร่งใส ซึ่งผลจากการถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะจาก สตง. ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ครั้งหนึ่งว่า “ที่ผ่านมาผมบริหาร กทม. เป็นไปตามกฎหมาย ตามนโยบายที่ได้หาเสียง จะไม่มีวันที่จะบริหาร กทม. ตามความเห็นของ สตง. เพราะว่าพี่น้องประชาชนกว่า 1.2 ล้านคน เป็นคนเลือกผมมาให้ดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ แม้ว่าผมจะเคารพ สตง. แต่ต้องขออภัยที่ผมเคารพพี่น้องประชาชนมากกว่าเคารพ สตง.”

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังระบุว่า จะขออยู่ในตำแหน่งจนครบเทอมในปี 2560 และหลังพ้นจากตำแหน่งจะขอกลับไปพักผ่อน

น่าสนใจว่าวิบากกรรมต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงปลายชีวิตการเมือง จะทำให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ได้กลับไปพักผ่อนหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่