
เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ เป็น “คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปท์” แนวคิดใหม่ร้านกาแฟต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
แก้วกาแฟพลาสติกจำนวนกว่า 5,000 ใบ ถุงบรรจุเมล็ดกาแฟที่ใช้แล้วกว่า 7,200 ถุง ถาดพลาสติกชนิด Polystylene กว่า 75,000 ชิ้น เยื่อกาแฟที่มาจากโรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน และแกลลอนนมพลาสติกกว่า 6,300 ขวด ซึ่งล้วนแต่เป็นวัสดุเหลือใช้จากห่วงโซ่อุปทานการผลิตและจำหน่ายกาแฟของ ร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ถูกนำกลับมา Upcycling “ชุบชีวิตใหม่” ให้กลายมาเป็นสารพัดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ในร้าน “คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลีฟวิ่ง คอนเซ็ปต์” (Café Amazon Circular Living Concept) ที่ พีทีที สเตชั่น สาขาสามย่าน เมื่อเร็วๆนี้
ร้านกาแฟดังกล่าวถือเป็นร้านต้นแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “คาเฟ่ อเมซอน” แห่งแรกที่พัฒนาขึ้นมาโดยให้ความสำคัญกับการนำทรัพยากรมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
กว่าจะเป็นร้านกาแฟต้นแบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน”
ที่มาของแนวคิดนี้นางสาว “จิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า “ คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปท์ สะท้อนเจตนารมณ์ของ โออาร์ ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในกลุ่มปตท.ในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ในการพัฒนาร้านกาแฟต้นแบบฯของ “คาเฟ่ อเมซอน” เป็นความร่วมมือระหว่าง โออาร์ สถาบันนวัตกรรม ปตท. และจีซี ที่ได้พัฒนาเฟอร์นิเจอร์และของออกแบบตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้ หลายอย่างถือเป็นนวัตกรรมและความริเริ่มที่สร้างสรรค์ของการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่ธรรมดา เช่น Upcycling Table โต๊ะที่ทำมาจากเยื่อกาแฟ ซึ่งเป็นของเสียจากโรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ถูกนำมาอบและบดเพื่อไล่ความชื้นและขึ้นรูป มีคุณสมบัติเบา แข็งแรง และทนต่อแรงขีดข่วน รวมไปถึง Upcycling Decorative Wall รูปนกมาคอร์ ที่ทำจากแก้วกาแฟพลาสติคโพลีโพรพิลีน หรือ PP ของคาเฟ่ อเมซอนกว่า 5,000 ใบ ซึ่งเกิดจากการนำแก้วพลาสติกไปบดอัด ให้ความร้อนและขึ้นรูป ก่อนจะนำมาจัดเรียงเป็นภาพนกมาคอร์ มาสคอทสำคัญของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอนฯลฯ


2 แนวทาง สร้างมูลค่าเพิ่ม – ลดการใช้พลาสติก
สำหรับร้านกาแฟต้นแบบ “คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์” มีแนวทางการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ สร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ได้อีก 2) ลดปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติก – บริหารจัดการขยะ โดยลดปริมาณการใช้อุปกรณ์พลาสติกและเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในปริมาณมากๆ อย่าง แก้วกาแฟ ถุง ฯลฯ มาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้โดยธรรรมชาติ
“ ในฐานะผู้นำการตลาดธุรกิจกาแฟที่มีจำนวนสาขาและยอดจำหน่ายที่สูงที่สุด การบริหารจัดการขยะที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการลดปริมาณการใช้พลาสติก เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก” นางสาวจิราพรกล่าว
อนาคตบนเส้นทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
การเลือกเปลี่ยนแปลงในจุดที่สำคัญที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากที่สุดจากการเปลี่ยนผ่านคือ “หัวใจสำคัญ” ในการขับเคลื่อนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของ “คาเฟ่ อเมซอน” โดยนอกจากการพัฒนา “คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปท์” ซึ่งเป็นร้านต้นแบบที่กำลังจะมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมในอนาคต
ปัจจุบัน คาเฟ่ อเมซอน ยังได้มีการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจภายในร้านคาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในร้านที่ใช้ปริมาณมาก ให้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบ 180 วัน อาทิ แก้วร้อน (Bio PBS) ที่เป็นแก้วเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายสู่ธรรมชาติได้ 100% แก้วเย็น (Bio PLA) ที่ทำจากพืช 100% และหลอด (Bio PBS + PLA) รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกใส่เบเกอรี่
“จากการดำเนินการที่ผ่านมาของเราคาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกของร้านได้มากถึง 645 ตันต่อปี นี่เป็นความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและทิศทางที่เราจะไป” จิราพรกล่าวและย้ำว่า
“การที่เราเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจกาแฟ นอกจากที่เราคิดถึงตัวเรา เรายังคิดถึงการเป็น Good Business ที่จะเป็นต้นแบบในการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ให้กับคนอื่นๆ ด้วย”
ภายใต้แนวคิด Taste of Nature” ของแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ที่เน้นถึงรสสัมผัสจากธรรมชาติ วันนี้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จะมาเป็นอีกส่วนสำคัญในอนาคต ที่จะช่วยต่อขยายมิติของรสสัมผัส เติมเต็มการดำรงอยู่ขององค์กรและการเชื่อมโยงกับผู้คน ด้วยการเคารพและเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ


