ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยันไม่อยู่ตรงข้ามใคร วอน “อย่าดึงต่างชาติเป็นเครื่องมือ” – มติ ครม. สร้างรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-มหาสารคาม-นครพนม” 6.6 หมื่นล้าน

“บิ๊กตู่” ยันไม่อยู่ตรงข้ามใคร วอน “อย่าดึงต่างชาติเป็นเครื่องมือ” – มติ ครม. สร้างรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-มหาสารคาม-นครพนม” 6.6 หมื่นล้าน

28 พฤษภาคม 2019


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 28 พฤศภาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

แจงพรรคร่วม ฯ ยื่นเงื่อนไขแก้ รธน.ให้ไปว่ากันในสภาฯ “อย่ามาต่อรอง”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถึงความเห็นกรณีพรรคการเมืองยื่นเงื่อนไขเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญในการร่วมรัฐบาล ว่า นี่ไม่ใช่เงื่อนไขกับตน เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไปเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายบ้างอะไรบ้าง เป็นเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมาย ในสภาฯ ไปว่ากันตรงนู้นอย่ามาต่อรองกับตน

ต่อคำถามพร้อมร่วมศึกกับรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ผมว่ามันต้องแยกแยะ จะร่วมไม่ร่วมอะไรต่างๆ เพราะเราต้องทำให้บ้านเมืองเราสงบเรียบร้อย รัฐบาลมีเสถียรภาพพอสมควร เพราะว่าประเทศชาติมาก่อนเสมอ ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองกันบ้าง”

ยันไม่เคยอยู่ตรงข้ามใคร วอน “อย่าดึงต่างชาติเป็นเครื่องมือ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มสภาชิกรัฐสภาอาเซียนร้องขอให้ทางการไทยยุติการคุกคามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยถามกลับว่า ตรงข้ามกับใคร ตนอยู่ตรงข้ามกับใครหรือ พร้อมกล่าวต่อไปว่า หากทุกคนทำตามกฎหมายก็ไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ฉะนั้นตนคิดว่าเรื่องดังกล่าวมีกระบวนการในการสร้างความเข้าใจผิด ใช้เวทีต่างประเทศเป็นโล่ให้กับตนเอง

“เราต้องมองพื้นฐานว่าทุกคดีความนั้นเป็นคดีตามกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น กฎหมายเขียนไว้หมดแล้ว แต่เมื่อกระทำความผิดแล้วก็พยายามบิดเบือนว่าเป็นเรื่องทางการเมืองนั้นไม่ใช่ การกระทำของคนเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นคนอย่างไร ฉะนั้นหากทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือกฎหมายก็ไม่มีปัญหา เพราะกระบวนการยุติธรรมให้โอกาสในการต่อสู้คดีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลและ คสช.เองก็ไม่เคยเข้าไปก้าวก่าย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องที่เป็นคำสั่ง คสช.วันนี้อะไรที่ไม่จำเป็นก็ได้ยกเลิกไปหมดแล้ว มีใช้เท่าที่จำเป็น ฉะนั้นขอร้องว่า พอได้แล้ว อย่าดึงต่างชาติเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการในประเทศของเราเลย เหมือนการชักศึกเข้าบ้านไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก ไม่ว่าอย่างไรกฎหมายก็เป็นหลักการอยู่แล้ว ไม่ว่าต่างชาติจะเข้ามากดดันอย่างไรก็ตาม หากไม่เคารพกฎหมายไทยแล้วจะเคารพกฎหมายใคร

สานต่องาน “ป๋าเปรม” – ชูวลี “เกิดมาต้องแทนคุณแผ่นดิน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงคุณูปการของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่มีต่อบ้านเมือง ในด้านต่างๆ ว่า ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่า พล.อ. เปรม ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีใน 2 รัชกาล และเป็นรัฐบุรุษ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านที่เข้ารับราชการทหารก็ผ่านศึกสงครามมามากมายหลายศึก ในเรื่องของการเมืองท่านก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย และเป็นผู้ริเริ่มนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมาจนทำให้ไทยมีจีดีพีที่สูงขึ้น

ในด้านสังคมท่านได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างในเรื่องของความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์สุจริต และมีวลีประจำตัวคือ “เกิดมาต้องทดแทนคุณแผ่นดิน” ซึ่งตนคิดว่า วลีนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยึดมั่นไปด้วยกัน คือ ไม่ว่าจะยากดีมีมีจนอย่างไร เรามีพื้นดินที่เราอิสระเสรีมาโดยตลอด ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เราเหยียบ อยู่อาศัย ตาย และกินอยู่ทุกวันนี้

“เราต้องคำนึงถึงแผ่นดิน ฉะนั้นการที่เราจะไปพูดเอาคนนี้มาโยงไปมา เข้าบ้านเข้าเมืองเราเอาต่างชาติเข้ามา อย่าลืมว่าแผ่นดินนี้แผ่นดินไทยของบรรพบุรุษเราเอาเลือดเนื้อ ชีวิต ต่างๆ ถมทับกันมายาวนานแล้ว ฉะนั้นอย่าทำเลยขอร้องเถอะ ผมไม่อยากให้ทุกคนมองว่าเป็นศัตรูกันไปมาจนบ้านเมืองเสียหาย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนในนามนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันยืนไว้อาลัยก่อนการประชุม ครม. ให้กับ ฯพณฯ ท่าน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ กำหนด 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศภาคม 2 มิถุนาย 2562 ขอให้ทุกคนได้รำลึกถึงท่านในสิ่งที่ท่านทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย

“ผมยืนยันว่าจะสานต่อสิ่งที่ท่านทำมาในทุกประเด็น เรื่องจิตสำนึกอะไรต่างๆ ก็พยายามจะปลูกฝัง ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา ผมคิดว่าการศึกษาสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นการศึกษาต้องวางรูปแบบให้กับคนไทยทุกคนได้มีหลักคิดที่ถูกต้อง ในเรื่องของการรักชาติบ้านเมือง เสียสละเพื่อบ้านเมือง เมื่อโตขึ้นไปทำงานก็สามารถที่จะดำเนินการต่อไปในชีวิตของเขาได้ หากเขาไม่มีหลักของตนเองเลยก็จะเป็นเช่นนี้ รักใครชอบใครก็ใช้ความรู้สึกมาตัดสินทั้งหมด มันไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่หลายท่านบอกว่ารัฐบาลนี้ลดความขัดแย้ง จะลดได้อย่างไร เมื่อวันนี้กระแสของสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามากมาย ซึ่งคนวิพากษ์วิจารณ์บางคนก็ไม่มีข้อมูล ไม่รู้ข้อเท็จจริง เขียนไปแล้วก็จบไป เมื่อมีการชี้แจงก็ไม่ได้ทำการชี้แจงต่อ ไม่ทำความเข้าใจ ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ก็ตาม สื่อจะขยายความอย่างไรก็ขอให้คำนึงถึงพื้นฐานข้อเท็จจริงด้วย รัฐบาลนี้พยายามแก้ทุกๆ อย่าง

ยอมรับจัดโผ ครม.เอง – ชี้ตั้ง “บิ๊กป้อม” นั่งที่เดิม ต้องดูท่าทีพรรคร่วม

ต่อคำถามความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาล หลังพรรคพลังประชารัฐเดินสายทาบทามพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ ปชป. ไม่พอใจ การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ ได้ย้อนถามกลับว่า “คุณเห็นไหม จะมาถามผมแล้วเห็นไหม ถ้าคุณเห็นว่ามันวุ่นผมก็เห็นว่ามันวุ่น ถ้าคุณเห็นว่ามันไม่วุ่น ผมก็ว่ามันไม่วุ่น ก็อยู่ที่คนนั่นแหละ”

เมื่อถามว่า ในฐานะที่ตนเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวคงต้องหารือกันต่อไป ซึ่งตนคิดว่าเป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีท่านต่อไปจะต้องแก้ปัญหา และทุกพรรคจะต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาตรงนี้ มาพูดคุยกันว่าจะมีทางออกไปได้อย่างไร ซึ่งตนเข้าใจว่าการเมืองก็คือการเมือง แต่จะทำให้การเมืองดีขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้นการปฏิรูปทางการเมืองก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองและนักการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็กลับไปที่เก่าทั้งหมด อันนี้ขอเวลาหน่อยทั้งหมด

เมื่อถามว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ตอบกลับว่า จะบอกถ้าไม่ได้ ซึ่งตนคิดว่าการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นตัวกำหนดว่าจะเอาอย่างนู้นอย่างนี้ สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดคือนายกฯ ต้องถือกฎหมายทุกตัว และอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ต้องทำให้ครบถ้วนกระบวนความทั้งหมด และไม่ใช่เสนอมาแค่กระดาษ 4-5 หน้า อันนี้ก็ให้ไม่ได้ รวมถึงต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทให้ได้ ใช้วงเงินให้อยู่ในกรอบพระราชบัญญัติการเงินการคลังด้วย

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับบรรยากาศการประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่า ถ้ามองจากมุมมองคนเก่า ที่ก่อนหน้าจะเป็นนายกฯ ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง บรรยากาศรัฐสภาไทย ก็เป็นเช่นนี้ ไม่ได้กลุ้มใจอะไรเพราะยังไม่ได้ไปอยู่กับเขา

เมื่อถามว่าในขณะนี้ ชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ถือว่ามาเป็นลำดับหนึ่งในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พล.อ. ประยุทธ์ ตอบกลับว่า ต้องดูว่าเมื่อมาแล้วจะทำงานได้หรือไม่ และต้องเคารพกฎกติกาบ้านเมือง เมื่อมาใหม่ ก็ต้องเคารพกติกาซึ่งกันและกัน ซึ่งตนก็ต้องเคารพกฎกติกาการเมืองของเขา และนักการเมืองก็ต้องเคารพกฎกติกาของกฎหมาย ส่วนที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องรักษากติกาตรงนี้ไว้ เพราะหากเกิดความเสียหายคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะมาร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองหรือไม่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็จะต้องดูเอง และแต่ละพรรคก็ต้องเสนอมา จากนั้นก็จะต้องนำไปหารือร่วมกัน

ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐให้ตนเป็นผู้ตัดสินว่า จะนำ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เช่นเดิมหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าพรรคอื่นเขาว่าอย่างไร ซึ่งยังไม่ทราบถึงกระแสข่าวต่างๆ ทำไมถึงจะต้องยกชื่อคนนั้นคนนี้ขึ้นมา

“คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องดูอยู่แล้วว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี เพราะพรรคร่วมเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้านำทุกพรรคที่เสนอมารวมกัน ก็มีคณะรัฐมนตรีมากกว่า 60 คนแล้ว ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เชื่อว่าจะสามารถคุมสถานการณ์ในสภาไหว หลักการที่สำคัญไม่ว่าจะสภาใดก็ตาม อะไรที่เป็นประโยชน์ให้ชาติและทำประโยชน์ให้ถูกต้องนั่นคือหลักการสำคัญของสภา ส่วนที่มีการถกเถียงกันไปมานั้นก็เป็นบทบาททางการเมืองในสภา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังถามสื่อมวลชนในช่วงท้าย พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สะกิดนายกฯ พร้อมบอกว่า “นายกฯ กลับดีกว่าครับ” พล.อ. ประยุทธ์ ได้ตอบกลับว่า “นี่ก็จะให้กลับบ้านตลอด” จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ยุติการให้สัมภาษณ์พร้อมโบกมือให้กับผู้สื่อข่าว

ประณามคนป่วนชายแดนใต้ – สั่งตรวจ CCTV ต้องพร้อมใช้งานได้ทุกเวลา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลต่อกรณีเหตุระเบิดที่ จ.ปัตตานี และเหตุป่วนในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลมีมาตรการเข้มงวดอยู่แล้วในกรณีภาคใต้ และในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยง พื้นที่อัตราย และพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยเส้นทางคมนาคม ฉะนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจยานพาหนะ อาจทำให้ประชาชนไม่สะดวก ประชาชนบางพื้นที่จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือ แต่อย่าลืมว่าจะมีผลกระทบไปสู่พื้นที่อื่น เพราะเส้นทางเชื่อมโยงกันจากข้างนอกเข้าไปข้างใน จึงต้องเข้มงวดเป็นชั้นๆ เข้าไปมากขึ้น

“ประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือนะ ผมไม่อยากจะโทษประชาชน เพราะทุกคนก็ต้องการความสะดวก ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของเทศกาลถือศิลอด ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอีกฝ่ายต้องการสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาทุกครั้งไป เพราะฉะนั้นเราก็เสียใจกับผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็มีความเสียงด้วยแต่เขาต้องไปดูแลประชาชน ทำอย่างไรจะลดความสูญเสียเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกส่วนทุกฝ่าย ในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจตรายานพาหนะต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้เน้นย้ำไปแล้วว่ากล้อง CCTV ต่างๆ นั้นต้องอยู่ในสภาพที่ดีใช้งานได้ตลอดเวลา อย่าให้เสียหาย เพื่อจะได้ติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษให้เร็วที่สุด และต้องประณามคนเหล่านี้

หนุนผลิต “รถไฟฟ้า” ในประเทศ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลได้ให้แนวทางในการสนับสนุนเรื่องรถไฟฟ้า ซึ่งต้องเดินทีละขั้นตอนทยอยดำเนินการไป ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค วันหน้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ต้องค่อยๆ ทีละขั้น

“แค่ประกาศให้รถหมดอายุยังไม่ได้เลย แต่ก็ต้องทำในอนาคต เพราะเราเดือดร้อนเรื่องคุณภาพอากาศ ซึ่งเรื่องรถไฟฟ้า 3 ล้อ ผมเห็นมานานแล้ว และผมอยากให้มันมี แต่เราจะขยายไปทั้งหมดในขั้นตอนแรกเลยก็คงลำบาก ต้องค่อยๆ ดูว่าจะสนับสนุนการเปลี่ยนได้อย่างไร ที่ผ่านมาที่มีปัญหาวิ่งบนถนนไม่ได้ ขอทะเบียนไม่ได้ โดยได้ให้มีการหารือร่วมกันกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงานแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับปัญหาที่เติมไป ที่ยังคงเป็นปัญหา ได้มีแนวคิดให้ชาร์จไฟที่บ้านประมาณ 6-7 ชั่วโมงแล้วสามารถวิ่งได้ 100 กิโลเมตรต่อวัน ก็น่าจะเพียงพอกับการใช้งานในเมืองหรือการบริหารต่างๆ สิ่งเหล่านี้ตนได้สั่งการไปทั้งหมดแล้ว เพื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศด้วย จะได้มีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวในประเทศเสียที

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และพล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนัก
ที่มาภาพ : www.thaipublica.go.th

สร้างรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-มหาสารคาม-นครพนม” 6.6 หมื่นล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-นครพนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมตะวันออกและตะวันตกตอนบนของไทยฝั่งขวา โดยจะวิ่งผ่านจังหวัดขอนแก่น, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดยโสธร, จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม โดยมีวงเงินรวม 66,848.33 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินจำนวน 7,100 แปลง จำนวน 12,065.33 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 8 ปีตั้งแต่ 2561-2568 ระยะทางรวม 335 กิโลเมตร 30 สถานี มีชุมทางรถไฟ 1 แห่งและลานกองเก็บและสถานที่เก็บสินค้าอีก 6 แห่ง เพื่อสนับสนุนการคมนาคมและโลจิสติกส์ของประเทศ

“ทั้งนี้ โครงการรถไฟนี้เป็นโครงการที่ศึกษามา 30 ปี หรือเมื่อปี 2532 และเป็น 1 ใน 2 โครงการที่เป็นทางรถไฟใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งอีกทางหนึ่งที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้คือรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงของ โดยจะสร้างเป็นรถไฟทางคู่ปกติ และเมื่อรถไฟส่วนนี้สร้างเสร็จและไปเชื่อมกับเส้นทางส่วนตะวันตกจะสามารถเชื่อมโยงประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยไปจนถึงเมืองดานัง ประเทศเวียดนามได้ ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเปิดใช้งานในปี 2567 จะมีจำนวนผู้โดยสารเบื้องต้น 3.8 ล้านคนต่อปีและมีจำนวนสินค้า 700,000 ตัน และในปี 2599 จะมีจำนวนผู้โดยสาร 8.3 ล้านคนต่อปีและมีจำนวนสินค้า 1 ล้านตัน โดยคาดว่าจะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ 5,000 ล้านบาท” นายณัฐพรกล่าว

รับทราบผลประชุมรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน – ตั้งงบผูกพัน ทยอยจ่าย 10 ปี 149,650 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.รับทราบกผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ คณะกรรมการอีอีซี ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณประจำปีด้วยวิธีผูกพันงบประมาณ กรอบวงเงิน 149,650 ล้านบาท

โดยจะแบ่งจ่ายรายปีปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้เดิม บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPH ในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เป็นเอกชนที่ชนะการประมูลที่วงเงินเสนอให้รัฐอุดหนุนที่มูลค่าปัจจุบัน 117,226 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบราคากลาง 2,198 ล้านบาท และจะเป็นผู้รับความเสี่ยงของค่าก่อสร้างและรายได้ค่าโดยสารทั้งหมด ทั้งนี้ มูลค่าปัจจุบันที่ต้องลงทุนรวมทั้งหมดของโครงการอยู่ 224,500 ล้านบาท และเมื่อหมดสัญญาสัมปทานในอีก 50 ปีและโอนกลับมาเป็นของรัฐคาดว่าโครงการทั้งหมดจะมีมูลค่ารวมประมาณ 300,000 ล้านบาท

ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใน EEC ไม่เกิน 14 วัน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องการกำหนดระยะเวลาปลอดอากรของกิจการพาณิชย์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อีอีซี โดยจะให้สามารถชำระค่าอากรที่เกิดจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 14 วันนับตั้งแต่ออกเลขที่ใบขนสินค้า และหากมีการส่งสินค้ากลับคืนมาให้ในระหว่างนั้น อนุญาตให้ยกเลิกรายการดังกล่าวเสมือนไม่เคยได้นำเข้ามาได้ และไม่มีภาระจ่ายภาษีอากรอีก

“เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากปัจจุบันการค้าขายแบบ e-commerce มักจะมีระบบส่งคืนสินค้าได้ แต่ระเบียบของศุลกากรจะต้องจ่ายภาษีอากรทันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ประกาศนี้จึงเปิดช่องรองรับการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ในพื้นที่อีอีซีด้วย” นายณัฐพรกล่าว

คาดงบฯ ปี 63 ล้าช้า 3 เดือน ยันไม่กระทบเบิกจ่าย

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานภาวะหนี้สาธารณะประจำเดือนมีนาคม 2562 โดยในเดือนดังกล่าวรัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ระดับ 41.78% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2561 หรือ 6 เดือนที่แล้วที่ 41.7% โดยมีภาระหนี้ต่อรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 19.17% เป็น 27.16% ซึ่งเป็นเพราะภาระการจ่ายหนี้คืนในช่วงเดือนดังกล่าวตามแผนของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ต่างประเทศต่อรายได้อยู่ที่ 3.59% ลดลงจาก 3.86% และหนี้ต่างประเทศต่อการส่งออกอยู่ที่ 0.21% ลดลงจาก 0.22% โดยการที่หนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยส่วนหนึ่งสะท้อนถึงต้นทุนของเงินทุนภายในประเทศที่ต่ำและการไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงแผนหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 2 โดยปรับลดลง 17,094.47 ล้านบาท เหลือ 1.834 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ใหม่ที่ปรับลดลง เนื่องจากความล่าช้าของโครงการ เช่นโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 6,899.7 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 4,242.85 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร 6,214.89 ล้านบาท เป็นต้น

“ขณะที่กรอบปฏิทินงบประมาณประจำปี 2563 ตามปกติจะต้องแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 แต่เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็คาดว่าจะล่าช้าไป 3 เดือน หรือ แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2563 จะเหมือนช่วงปี 2557 ที่รัฐบาล คสช.เข้ามา แต่ตามหลักการจะยึดงบประมาณของปีก่อนหน้าไปก่อน ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงว่าส่วนใหญ่จะเป็นงบประจำอยู่แล้ว รวมไปถึงงบสวัสดิการต่างๆก็จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงรวมไปถึงสามารถกันเงินสำรองจ่ายต่อเนื่องได้ครึ่งหนึ่ง ก็คาดว่าจะไม่กระทบมาก” นายณัฐพรกล่าว

ผ่านกฎกระทรวง ขออนุญาตผลิตกัญชาได้ 7 ประเภท

พล.ต. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ พร้อมจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรียร้อยแล้ว

โดยร่างกฎกระทรวงนี้ ได้กำหนดให้การขออนุญาตผลิตได้ 7 ประเภท ได้แก่

    1. เพื่อการบริหารยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ที่ใช้ในทางการแพทย์ในประเทศ
    2. เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยทางด้านการแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์ เภสัชกรรม
    3. เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด และความร่วมมือระหว่างประเทศ
    4. เพื่อการผลิตเพื่อส่งออก และส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา
    5. เพื่อการผลิตซึ่งกระทำโดยการปรุงยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา สำหรับคนไข้เฉพาะราย ของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
    6. เพื่อรักษาโรคกรณีจำเป็น สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย
    7. กรณีผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ นำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ติดตัวเข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักร สำหรับการรักษาเฉพาะตัวภายใน 90 วัน

“อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ได้มีการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น กระทรวงพาณิชย์ เสนอให้มีกลไล ในการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบกรณีที่มีการนำกัญชาไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรให้มีการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้ทราบถึงหลักเกณฑ์ ประโยชน์ และโทษของกัญชา ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งนี้ จะนำร่างกฏกระทรวงดังกล่าวเสนอกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป พร้อมส่งความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาด้วย” พล.ต. อธิสิทธิ์ กล่าว

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เพิ่มเติม