ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > K Capstone 2 ต่อยอดโครงการฝึกงานแนวใหม่ เมื่อโลกยุคดิจิทัล “เทคโนโลยี” เป็นเพียงสินค้า

K Capstone 2 ต่อยอดโครงการฝึกงานแนวใหม่ เมื่อโลกยุคดิจิทัล “เทคโนโลยี” เป็นเพียงสินค้า

5 สิงหาคม 2019


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ธนาคารกสิกรไทยจัดงาน K Capstone 2: Pitching Day เป็นโครงการฝึกงานในรูปแบบใหม่ที่ต้องการสร้างเวทีเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสคิด ทดลองลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมบ่มเพาะให้เกิดสิ่งใหม่ ในปีนี้ K Capstone 2 มาในแนวคิด “Start from Scratch” โดยโจทย์ในปีนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้สร้างและพัฒนา online community platform เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และแพสชันของกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ในปัจจุบัน

ในปีที่ 2 นี้ K Capstone ได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ทั้งในและต่างประเทศ ที่สมัครร่วมโครงการกว่า 800 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 60% สุดท้ายมีนิสิตนักศึกษาผ่านเข้ารอบจำนวน 49 คนในสาขาต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2562 – 26 กรกฎาคม 2562 ผู้เข้าร่วมโครงการจะเรียนรู้แนวทางการทำธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย ตลอดจนหลักสูตรพัฒนาอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคใหม่ โดยแบ่งผู้ร่วมโครงการเป็น 8 กลุ่มเพื่อร่วมโครงการกับเพื่อนๆ ต่างสาขาวิชา ต่างสถาบันในรูปแบบของสตาร์ทอัปเพื่อสร้างโครงการใหม่ๆ ตามแนวคิด และเครื่องมือของ design thinking และ agile ตลอดจนได้รับคำปรึกษาจากพี่ๆ ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางอย่างใกล้ชิดจากสายงานต่างๆ ของธนาคาร วิทยากรภายนอกหมุนเวียนมาให้ความรู้และการแนะแนวการทำโครงการในด้านต่างๆ เช่น design thinking, data science, team building and leadership, pitching workshop

รวมไปถึงประสบการณ์ดีๆ ที่จะได้จากการพูดคุยกับผู้ก่อตั้งของบริษัทสตาร์ทอัปชั้นนำแบบสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ไม่ว่าจะเป็น EventPop สตาร์ทอัปจัดงานอีเวนต์ของคนไทยที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานแบบครบวงจร Globish ธุรกิจสตาร์ทอัปที่เป็นกึ่งๆ โซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์ขายคอร์สเรียนภาษาอังกฤษที่ฝึกฝนตรงกับชาวต่างชาติบนแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเน้นการสนทนาเป็นหลัก รวมไปถึง Readme.me แหล่งรวบรวมข้อมูลและการรีวิวต่างๆ จากบล็อกเกอร์ที่ชอบในการเดินทางไปค้นหาสิ่งใหม่ๆ และทุกความประทับใจหรือประสบการณ์ต่างๆ ถูกนำมาถ่ายทอดให้กับทุกคนได้รับรู้

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีนี้กิจกรรมแตกต่างจากปีที่แล้วที่จะเน้นไปในทางการเงินค่อนข้างมาก แต่ปีนี้จะเป็นลักษณะของคอมมูนิตี้แพลตฟอร์ม ซึ่งกว้างออกไปจากงานหลักของธนาคาร ในด้านหนึ่งนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงานจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ จากศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น และจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาออกไปในชีวิตการทำงานในอนาคต อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ธนาคารเห็นอะไรใหม่ๆ ที่กว้างกว่าเดิมค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ในมุมของธนาคารที่พยายามหาทางรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โครงการนี้เป็นเหมือนการทดสอบทดลองความเป็นไปได้ในหลายๆ ด้าน เช่น รูปแบบการทำงานแบบนี้เหมาะสมหรือใช้งานได้กับคนไทยหรือไม่ ซึ่งจาก 2 ปีที่ทำมาคำตอบคือใช้งานได้ ดังนั้นแปลว่าที่ธนาคารยังเปลี่ยนไม่ได้เป็นทัศนคติของคนที่ทำงานอยู่ปัจจุบันนี้ เวลาเขาเห็นตัวเลขเป็นกำไร เขาก็ถามว่ากำไรก็ดีอยู่แล้วจะทำไปทำไม ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่ไม่ได้เห็นตัวเลขเหล่านี้ก็ช่วยพิสูจน์ว่าทำได้

นายพิพิธกล่าวต่อว่าที่ผ่านธนาคารพยายามทดลองหาวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อสร้างอะไรใหม่อยู่แล้ว แต่ถ้ามองกลับไปในอุตสาหกรรม ก็จะเห็นว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการเอานวัตกรรมเข้ามาใช้งานทั้งหมดเป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งในมุมหนึ่งพอจะเอามาปรับใช้กับธนาคารก็เจอว่าบริษัทเทคโนโลยีไม่ได้มีของหรือวัฒนธรรมการทำงานเก่าๆ ทำให้เขาสร้างอะไรก็ได้ ไม่มีต้นทุนเหมือนกับบริษัทใหญ่ที่อยู่มาแต่เดิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสจะถูกทำลายหรือ disrupt มากที่สุด แต่พอศึกษาลงไปดูว่าทำไมเขาถึงสำเร็จ คำตอบกลับไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยีขนาดนั้น วันนี้ไม่มีใครพูดถึงเทคโนโลยี เทคโนโลยีในปัจจุบันคือสินค้าอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จเกิดจาก 2 อย่างเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเล็ก อย่างแรกคือวิธีการทำงานหรือวัฒนธรรมแบบ agile ที่จะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ และ talents หรือคนที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ที่จะสามารถสสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้

“ซึ่งจากโครงการ K Capstone นี้เราเริ่มเห็นว่าวิธีการทำงานแบบนี้ที่พยายามนำเข้ามา และศักยภาพของคนหรือของเด็กไทย มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเอามาใช้จริงๆ”

ทั้งนี้ 8 ทีมได้นำเสนอโครงการตามลำดับดังนี้

1. Team Worklab แอปพลิเคชันสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะสร้างประสบการณ์การหางานที่ดีที่สุดให้คุณ โดยจะช่วยให้คุณเข้าใจงานก่อนใคร และได้งานที่ตรงใจด้วยเวลาที่ไม่ต้องรอ โดยมีฟีเจอร์หลักๆ คือการให้นิสิตนักศึกษาสามารถเข้ามาโพสต์ประวัติ รวมทั้งเปรียบเทียบกับผู้สมัครอื่นๆ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีการติดตามขั้นตอนของการสมัครงานและคอมมูนิตี้ให้คำปรึกษาหรือคอร์สเรียนเพิ่มทักษะต่างๆ โดยแหล่งรายได้จะมาจากรายได้ 1% ของคนที่ได้งานจากแพลตฟอร์มดังกล่าว

2. Team Share-Kun แชร์กัน เพื่อนที่รู้ใจ เพื่อหาเมทที่ใช่กับหอที่ชอบสำหรับคุณ สามารถคว้าอันดับ 3 โดยแพลตฟอร์มจะทำงานด้วยการให้ผู้ใช้งานเข้ามาสร้างโปรไฟล์ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลานอนหรือตื่น การสูบบุหรี่ การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ หลังจากนั้น เมื่อเจอรูมเมทที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ก็จะสามารถส่งคำขอไปและรอให้อีกฝ่ายตอบกลับ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังรวมส่วนของหอพักต่างๆ รวมทั้งการรีวิวของผู้ใช้งานจริง มีมาร์เก็ตเพลสให้ตกลงซื้อขายสัญญาหอพัก ซึ่งมักจะเป็นปัญหาเวลาผู้ใช้งานจะย้ายหอพักแต่ยังติดสัญญาอยู่ และสุดท้ายจะมีบริการเสริมทำความสะอาดและบริการขนย้าย โดยจะเป็นหุ้นส่วนกับบริษัททำความสะอาดและขนย้ายภายนอก โดยแหล่งรายได้จะมาจากหอพักที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มและบริษัททำความสะอาดและย้ายหอพักเป็นหลัก

3. Team MU daily คว้าอันดับ 2 จากแนวความคิดการสร้างแพลตฟอร์มศูนย์รวมการดูดวงทุกรูปแบบที่มาพร้อมกับผู้ช่วยให้คำปรึกษาที่ช่วยเสริมความมั่นใจในทุกก้าวของชีวิต นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณได้สนุกสนานกับการพบเพื่อนใหม่ที่พร้อมจะมูไปด้วยกันในทุกๆ วัน โดยมีฟีเจอร์หลักที่จะเชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพื่อส่งคำแนะนำเกี่ยวกับดวงในทุกๆ วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจ นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมลายแทงสถานที่ไหว้ขอพรต่างๆ อย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีบริการจัดส่งของไหว้ให้ด้วย ขณะที่บริการส่วนที่ต้องเสียเงินเพิ่มจะเป็นบริการดูดวงส่วนตัว ซึ่งจะเป็นรายได้หลักของแพลตฟอร์ม

4. Team Readmore แหล่งรวมข้อมูลและรีวิวการเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพที่คุณสนใจ จากผู้มีประสบการณ์จริงพร้อมแนะนำแนวทางเพื่อสร้างโอกาสที่ดีและความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานในอนาคต โดยจะมีแบบทดสอบออนไลน์ที่จะนำไปวิเคราะห์แผนการอ่านหนังสือ หลังจากนั้นจะเป็นการลงทะเบียนเรียนตามที่ผู้ใช้งานต้องการ ซึ่งจะเป็นรายได้หลักของแพลตฟอร์ม อีกด้านหนึ่งจะมีบริการมาร์เก็ตเพลสสำหรับซื้อขายหนังสือติวสอบและคอมมูนิตี้สำหรับตอบคำถามจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

5. Team Share-mily Sharing Platform คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อสินค้าโปรโมชั่นจากแบรนด์ชั้นนำเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์วัยรุ่น ด้วยความรวดเร็วและน่าเชื่อถือ โดยมีฟีเจอร์หลักเป็นการรวบรวมโปรโมชั่นจากทั่วประเทศก่อนจะให้ผู้ใช้งานเข้ามาจับคู่จ่ายเงิน เช่น กรณีสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่ผู้ใช้ต้องการเพียงชิ้นเดียว แล้วรอรับสินค้าอยู่ที่บ้านได้ โดยแพลตฟอร์มจะเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อของและคืนเงินในกรณีที่ไม่สามารถไปซื้อได้ ขณะที่ร้านค้าจะสนใจที่จะเข้ามาร่วมค่อนข้างง่าย เนื่องจากคนส่วนใหญ่เมื่อหาคนหารไม่ได้มักจะไม่ซื้อ ทำให้ร้านค้าเสียโอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์

6. Team Feedbag Platform ที่จะตอบโจทย์นิสิต นักศึกษา ที่ต้องการมองหากิจกรรมที่ใช่ผ่าน feedback ที่มีคุณภาพและตัวช่วยในการจัดงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้จัดงานผ่านแอปฯ โดยมีฟีเจอร์หลักคือการออกแบบคำถามสำหรับเฉพาะบุคคล เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนจะตอบทุกคำถาม และไม่ใช่ทุกคำถามจะต้องตอบทุกคน

7. Team Profind ได้รางวัลปอปปูลาร์โหวตเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีทักษะการทำงานที่ควรมีในยุคปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีในอนาคตหรือที่เราเรียกทักษะน้ันว่า tomorrow’s skills

8. Team Trendi แอปพลิเคชันดีไซน์บุคคลิกภาพกับไลฟ์สไตล์ แหล่งรวมเทรนด์ที่ถูกคัดสรรมาแล้วเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ใช่สำหรับคุณ เนื่องจากสไตล์ที่ใช้อยู่ที่อาจจะไม่เหมาะกับตัวเอง สถานที่ และช่วยประหยัดเวลาในการหา โดยแพลตฟอร์มจะสัมภาษณ์จริงจังว่าแต่ละคนสนใจในเรื่องอะไร แล้วไปหาว่าไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไหน แต่งกายแบบไหน จากตัวอย่างที่มีให้จะโยงให้ไปยังสไตล์ที่คิดว่าผู้ใช้งานน่าจะสนใจ หลังจากนั้นผู้ใช้งานจะตอบกลับมาว่าเขาโอเคหรือไม่ ก่อนจะปรับสไตล์ให้เหมาะสมในแต่ละวัยหรือวัน