กสิกรไทย มุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 เตรียมเดินหน้าบุกตลาดเวียดนามที่กำลังมาแรงอย่างเต็มที่ ยกระดับเปิดสาขาโฮจิมินห์ ศูนย์กลางทางการค้าการลงทุนของเวียดนาม เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน ให้บริการกับลูกค้าในเวียดนามผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม คาดปี 65 มียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาทและสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค ตั้งเป้า 5 ปี สร้างฐานลูกค้า 8 ล้านราย พร้อมเฟ้นหาทีมงานใหม่ และยกระดับการทำงานรองรับการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดเวียดนาม กว่า 500 อัตรา
วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันครบการก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ครบรอบ 76 ปี หรือวันชาติเวียดนาม นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ฉายภาพ “อำนาจทางเศรษฐกิจของเวียดนาม” ว่า “ขนาดและอำนาจของเศรษฐกิจเวียดนามกำลังพุ่งทะยาน และเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในทุกด้าน จากการปฏิรูปมาตลอด 35 ปีตามนโยบาย Doi Moi หรือ โด่ย-เหม่ย ที่เปิดกว้างและบูรณาการ”
นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโด่ยเหม่ย (Doi Moi Revolution)
การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามนโยบายโด่ยเหม่ย ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1986 และการวางนโยบายเปิดประเทศมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1989-1991 ส่งผลให้เวียดนามเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศที่ทันสมัย มีความสามารถในการแข่งขัน มีการพัฒนารวดเร็ว เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7.5% ต่อปีต่อเนื่องนานหลายสิบปี
ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภายใต้นโยบายโด่ยเหม่ยมีด้วยกัน 6 ข้อ คือ 1) การกระจายอำนาจบริหารแก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น 2) ระบบเศรษฐกิจเสรี 3) อัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด 4) นโยบายเกษตร ให้สิทธิครอบครองที่ดินในระยะยาวและเสรีการซื้อขายสินค้าเกษตร 5) เพิ่มบทบาทภาคเอกชน และ 6) เปิดเสรีด้านลงทุน
ในปี ค.ศ. 1992 เวียดนามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ต่อมาปี ค.ศ. 1995 ได้เข้าเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations – ASEAN) หรืออาเซียน ในปี ค.ศ. 2000 มีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ และหนึ่งปีให้หลังได้ลงนามในข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา (US-Vietnam Trade Bilateral Agreement) หรือ US-BTA
ปัจจุบันเวียดนามเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) 14-15 ฉบับ ซึ่งครอบคลุม 53 ประเทศ นอกจากนี้เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งเป็นความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง และยังเป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) อีกด้วย
เปิดเสรีลงทุนดึง FDI ไหลเข้า
นับตั้งแต่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) ในปี 2007 เป็นต้นมา ได้ทยอยเปิดเสรีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สาขาธุรกิจต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น จนกระทั่งเปิดเสรีเต็มรูปแบบ (นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100 %ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) ในหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ การผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจบริการ เช่น ก่อสร้าง การขนส่งทางน้ำ และค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นต้น
สภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เปิดกว้างและการผ่อนคลายระเบียบด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง จึงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอย่างมาก และเวียดนามยังได้รับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นอีก จากการย้ายฐานการลงทุนในช่วงที่จีนกับสหรัฐฯมีความขัดแย้งทางการค้า
นอกจากนี้ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ด้านการค้าและการลงทุนให้แก่เวียดนาม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เพราะเวียดนามได้เปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า ครอบคลุมการเปิดเสรีการบริการและการลงทุนในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นความตกลงแรกที่เวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ ลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้
ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2021 กระทรวงวางแผนและการลงทุนรายงานว่า มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเวียดนามจำนวน 23.74 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งในโครงการใหม่ โครงการเดิม ซึ่งอยู่ในรูปการณ์เพิ่มทุนและการซื้อหุ้น
กสิกรไทยเปิดสาขาโฮจิมินห์ เดินหน้าสู่ธนาคารแห่งภูมิภาค
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม ที่กำลังถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทชั้นนำของโลก และบริษัทจากประเทศไทย จากการที่เปิดให้บริการแก่ลูกค้าเวียดนามผ่านสำนักงานผู้แทน 2 แห่ง ณ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์มาตั้งแต่ปี 2558
โดยเวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้มาตรการล็อกดาวน์อาจกระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ไปบ้าง แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งนำไปสู่การส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ถูกกระทบมากนัก จึงเป็นปัจจัยหนุนช่วยภาคเศรษฐกิจอื่นของเวียดนาม และยังมีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตเกิน 5% ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งเอเชียและตะวันตกเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2020 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของเวียดนามมีมูลค่า 343 พันล้านดอลลาร์ แซงหน้าสิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ในอาเซียน ขณะที่การประชุมสภาแห่งชาติเวียดนาม เดือนพฤศจิกายนปี 2021 ได้ให้ความเห็นชอบ ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ(GDP)ปี 2022 ไว้ที่ 6-6.5% และรายได้ต่อหัว(per capita income) ที่ 3,900 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินเฟ้อจะไม่เกิน 4%
จากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจนี้
ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ยกระดับการให้บริการจากสำนักผู้แทนนครโฮจิมินห์ เป็นธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นสาขาแรกในประเทศเวียดนาม และเป็นสาขาที่ 10 ในต่างประเทศ เปิดตัวสาขาอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้พันธกิจของการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ (Regional Bank of Choice) เพื่อยกระดับศักยภาพของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แบงกิ้งที่พัฒนาใช้ในระดับภูมิภาคของธนาคาร (Regional Digital Banking) เป็นกลยุทธ์หลักในการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยตั้งเป้าผลประกอบการภายในปี 2565 มียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาทและสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท พร้อมคาดในอีก 5 ปีจะสามารถสร้างฐานลูกค้าในเวียดนามได้ถึง 8 ล้านคน
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้เฟ้นหาทีมงาน ขยายกำลังคนเพื่อบุกตลาดเวียดนามอย่างจริงจัง เปิดรับบุคลากรที่มีศักยภาพ หลากหลายทักษะมากกว่า 500 ตำแหน่ง ทั้งในประเทศไทยและทีมงานที่อยู่ประจำสาขานครโฮจิมินห์ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาให้กับพนักงานปัจจุบัน ทั้งการรีสกิล ทักษะด้านภาษา เทคโนโลยี บวกกับวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นการผนึกกำลังสร้างบริการทางการเงินให้พร้อมรับกับตลาดดิจิทัล และบริบทของธุรกิจในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
หนุนธุรกิจรายใหญ่ขยายการค้าการลงทุน
สำหรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ในช่วงแรกของการเปิดสาขา จะเน้นไปที่บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Lending) เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ในเวียดนาม (Local Large Corporate) โดยมุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้าและอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ให้บริการแก่บริษัทของไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ต้องการขยายธุรกิจไปเวียดนามเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ยังมีโอกาสอีกมากในเวียดนามสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากเวียดนามได้จัดทำแผนพัฒนาถนนแห่งชาติปี 2021-2030 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทางด่วนมากกว่า 9,000 กิโลเมตร ภายในปี 2050 ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณ 5,000 กิโลเมตร ภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางแม่น้ำในช่วงปี 2021-2030 ซึ่งมีเป้าหมายว่าภายในปี 2050 จะมีการคมนาคมทางน้ำ 55 สายหลักเชื่อมโยงแม่น้ำและลำคลองรวม 140 สายมีความยาวรวมกันราว 7,300 กิโลเมตร
เวียดนามยังมีเส้นทางรถไฟบรรทุกสินค้าจากฮานอยไปยุโรป เป็นการเดินรถไฟจากสถานีรถไฟเยน เวียน ในฮานอย เข้าสู่เมืองเจิ้งโจวของจีน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟเอเชีย-ยุโรปที่มุ่งหน้าสู่เมืองลีแยฌของเบลเยียม โดยการเดินทางจะใช้เวลา 25-27 วัน
ในปีค.ศ. 2019 สื่อจากสหรัฐฯ US News and World Report ได้ จัดให้เวียดนามอยู่อันดับที่ 8 จาก 29 เขตเศรษฐกิจของประเทศที่น่าลงทุน เพิ่มขึ้นจากอันดับ 23 ในปีก่อนหน้า
ผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินงานใน 11 ประเทศและเขตปกครอง ของพาโซนา กรุ๊ป อิ้งค์ เมื่อต้นปีนี้ พบว่า เวียดนามเป็นตลาดที่บริษัทญี่ปุ่นมีแผนการขยายธุรกิจมากที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ในปี 2020 บริษัท 37 รายจาก 81 บริษัทของญี่ปุ่นที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้ย้ายโรงงานออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ได้เลือกลงทุนที่เวียดนาม
สภาแห่งชาติของเวียดนามเมื่อต้นปีได้อนุมัติแผนเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีในช่วงปี 2021-2025 โดยให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” FDI ในอุตสาหกรรมไฮเทคแทนที่จะเป็น “ปริมาณ” ในภาคที่ใช้แรงงานสูง ขณะที่มีรายงานว่านักลงทุนจำนวนมากกำลังมองหาพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัด ฮึงเอียน และหายเซือง ทางภาคเหนือ เพื่อขยายการผลิต
เจาะรายย่อยด้วยดิจิทัลแบงกิ้ง
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเป้าหมายขยายการให้บริการไปสู่ลูกค้ารายย่อยท้องถิ่นของประเทศเวียดนาม ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และโมบาย แบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทย ผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และร่วมมือกับเทคสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ด้วยการร่วมลงทุนของ KVision เข้ามาช่วยในการให้พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งต่างจากการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศ AEC+3 อื่น ๆ ที่จะเน้นให้บริการธุรกิจระหว่างประเทศเป็นหลัก
โดยขณะนี้มีกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ระดับโลกที่สนใจเข้ามาหารือในการเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารเพื่อสร้างอีโคซีสเต็มของการขยายธุรกิจในเวียดนาม ทั้งยังจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (Unbank) และกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีโอกาสเติบโตได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังพร้อมทยอยส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเข้าสู่โลกของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบผ่านสินเชื่อดิจิทัล โดยภายในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 25,000 ราย ที่มาใช้บริการขอเงินกู้ (KBank Biz Loan) หรือร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการต่อยอดธุรกิจ
อีกทั้ง ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อหนุนศักยภาพทางธุรกิจในระดับภูมิภาคร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น เช่น การร่วมมือกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีความเข้าใจในตลาดอย่างลึกซึ้ง เช่น IPOS VN., Haravan และ KiotViet ที่จะมาช่วยส่งมอบบริการได้ตรงใจลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึง Sendo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อสร้างโซลูชั่นทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ลูกค้าที่ใช้บริการกับพันธมิตรให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางธุรกิจได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วด้วยข้อมูลธุรกรรมจากพันธมิตร ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือประมาณ 150,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน
นายพิพิธ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจธนาคารในเวียดนามไม่ได้เน้นธุรกรรมการเงินพื้นฐาน (Traditional Banking) เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของธนาคารในธุรกรรมการเงินยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัล แบงกิ้ง (Disruptive Banking / Digital Banking) เพราะประชากรของเวียดนามเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีความคุ้นเคยและพร้อมในเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยมีรายงานผลสำรวจว่า ประชาชนเวียดนามได้หันมาใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น ในปี 2021 การใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งของเวียดนามเพิ่มเป็น 82% ขณะที่การใช้บริการฟินเทคและกระเป๋าเงินอิเลกทรอนิคส์เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 56% และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 54% ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) ในเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้ง 73% ของผู้บริโภคเวียดนามมีการใช้บริการธนาคารหลายช่องทาง(multi-channel banking users) ทั้งจากสาขาและผ่านช่องทางดิจิทัล
รายงานที่จัดทำโดย United Overseas Bank, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association ระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามติดอันดับที่ 3 ที่ดึงดูดเงินทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคสูงสุด ด้วยเงิน 375 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันดิจิทัล อีโคซิสเต็มในเวียดนามยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในท้องถิ่น รวมถึงการให้สินเชื่อระหว่างประเทศแก่บริษัทในท้องถิ่นในเวียดนาม โดยอาศัยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ
ทั้งนี้
ยุทธศาสตร์หลักของธนาคารกสิกรไทย ในการก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบจะสามารถเชื่อมต่อการให้บริการผ่านเครือข่ายของธนาคารในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเป็นธนาคารท้องถิ่น สาขาของธนาคาร สำนักงานผู้แทน และสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรของธนาคาร
โดยปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง และพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน และยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป