ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > กลยุทธ์บุกจีนแบบตัวเล็กที่สุดของ “กสิกรไทย” เพื่อก้าวเป็น “เอเชียนแบงก์”

กลยุทธ์บุกจีนแบบตัวเล็กที่สุดของ “กสิกรไทย” เพื่อก้าวเป็น “เอเชียนแบงก์”

25 กรกฎาคม 2013


คำถามว่า 10 ปี ที่ Kbank หรือธนาคารกสิกรไทยเข้าไปลงทุนในประเทศจีนกับผลลัพธ์ที่ได้รับ ถือว่าช้าไปหรือเร็วไป “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าไม่ช้าไม่เร็วเกินไปเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีน

เกือบ 10 ปี ที่ “บัณฑูร” ใช้เวลาในการสร้างสัมพันธ์และเรียนรู้วิถีและวิธีของคนจีน โดยมีโจ ฮอร์น พัธโนทัย เป็นที่ปรึกษาการลงทุนในจีน จนวันนี้เส้นทางของธนาคารกสิกรไทย ในประเทศจีนเริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2537 – เปิดสำนักงานตัวแทนแห่งที่ 1 ที่เซินเจิ้น

ปี 2538 – เปิดสำนักงานตัวแทนแห่งที่ 2 และ 3 ที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และ 4 ที่คุนหมิง

ปี 2539 – ยกระดับสำนักงานตัวแทนเซินเจิ้นเป็นสาขาเซินเจิ้น

ปี 2548 – เริ่มความร่วมมือกับไชน่า หมินเซิง แบงก์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ

ปี 2549 – โครงการปล่อยกู้ร่วมกับไชน่า หมินเซิง แบงก์ จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีจีน ผ่านสาขาเซินเจิ้น

ปี 2553 – จับมือกับไชน่า หมินเซิง แบงก์ ร่วมมือเปิดพรมแดนทางการเงินจีน-ไทย ขยายความร่วมมือไปสู่การผนึกเครือข่ายบริการ ผ่านเครือข่ายสาขา เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างลูกค้าของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจไร้ขีดจำกัด”

ปี 2556 – เปิดสาขาเฉิงตู ซึ่งเป็นสาขาแห่งที่ 2 ในจีนแผ่นดินใหญ่

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารกสิกรไทย สาขาเฉิงตู สาขาที่ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจจีนตะวันตก-ไทย-อาเซียน
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารกสิกรไทย สาขาเฉิงตู สาขาที่ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจจีนตะวันตก-ไทย-อาเซียน

ทั้งนี้ เป้าหมายการทำธุรกิจในจีนของธนาคารกสิกรไทย ในระยะสั้น เปิดสาขาอีก 2-3 แห่ง ในประเทศจีน รวมถึงเปิด sub-branch ที่ Longgang ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ขณะเดียวกัน พัฒนาขีดความสามารถการให้บริการ เตรียมพร้อมรับสถานะการเป็นธนาคารท้องถิ่นของประเทศจีน (LII: Locally Incorporated Institution) โดยเพิ่มปริมาณธุรกิจ (scale) ให้มากขึ้น ทั้งการขยายฐานสินเชื่อและฐานเงินฝาก และขยายขอบข่ายการทำธุรกิจ/การให้บริการ ทั้งด้าน trade finance และ supply chain financing

ระยะกลาง ได้รับการอนุมัติเป็นธนาคารท้องถิ่นของประเทศจีน (LII) ภายในปี 2558 ซึ่งการได้สถานะเป็นธนาคารท้องถิ่นของประเทศจีน จะทำให้ธนาคารฯ สามารถทำธุรกิจได้กว้างและเร็วขึ้น ทั้งนี้ การจะเป็น LII จะต้องสร้างขีดความสามารถ ต่างๆ ให้พร้อมทั้งทางด้านไอที, โครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน เพื่อรองรับการพัฒนา

ส่วนระยะยาว ตั้งเป้าให้กสิกรไทยเป็นเอเชียนแบงก์ (Asian Bank) อาศัยความได้เปรียบของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ใจกลาง AEC สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี และมุ่งชูไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมจีนตะวันตก–เชื่อมไทย–เชื่อมอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยคาดหวังว่า จะสร้างความแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศจีน โดยมองว่า

1. ธนาคารกสิกรไทยมีความได้เปรียบในแง่ของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีความคล่องตัวในการให้บริการ ซึ่งจะตอบโจทย์ช่องว่างตลาด SME financing ในจีนได้โดยตรง

2. ธนาคารมีทั้งแหล่งข้อมูลข่าวสาร ฐานลูกค้าที่เข้มแข็ง รวมถึงเครือข่ายธนาคาร ซึ่งสังเคราะห์ออกมาช่วยให้ลูกค้าประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

3. จุดนี้เมื่อรวมกับความเข้าใจลูกค้าจีนจากประสบการณ์ของธนาคารที่ได้ดำเนินงานในจีนมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้กสิกรไทยมีข้อได้เปรียบในการให้บริการเป็นอย่างมาก

4. เมื่อรวมกับการเปิดประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2015 ซึ่งน่าจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน ทำให้กสิกรไทยได้เปรียบมากยิ่งขึ้นในฐานะธนาคารสัญชาติไทย (ในจีน) ที่จะเป็นสะพานให้แก่นักลงทุนจีน เพื่อเชื่อมต่อจีน–เชื่อมไทย–เชื่อมอาเซียน

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ของธนาคารในการเชื่อมอาเซียนและจีน คือ 1. โจทย์ของธนาคารในการก้าวไปสู่ความเป็นเอเซียนแบงก์ (Asian Bank) ที่ให้บริการครอบคลุมทั้งด้านเงินทุน บริการทางการเงิน การให้คำปรึกษา และเป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ (Global Business Matching) โดยอาศัยความแข็งแกร่งของธนาคารที่มีธนาคารพันธมิตรอยู่ในภูมิภาคเอเชีย จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

2. การเปิดสาขาเฉิงตู สาขาแห่งที่ 2 ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ โดยธนาคารจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้กับนักลงทุนจีนไปยังไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยมุ่งชูไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมจีนตะวันตก–เชื่อมไทย–เชื่อมอาเซียน โดยอาศัยเครือข่ายของธนาคารและฐานลูกค้าผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทย ทั้งในไทยและจีน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ในประเทศจีน ในกลุ่ม High-technology, Green Innovation ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่ มีโอกาสเติบโตสูง 2.ผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมนำเข้า–ส่งออกระหว่างไทยและจีน ได้แก่ กลุ่มสินเค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์), อุปกรณ์ Hardware (เครื่องมือการเกษตร เครื่องตัดโลหะ), เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมส่งออกอาหาร 3.กลุ่มนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2555 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีนทั้งสิ้น 44 โครงการ เงินลงทุน 12,829 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากยาง โลหะภัณฑ์

สนามบินนครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน
สนามบินนครเฉิงตู เมืองเอกของ มณฑลเสฉวน

อย่างไรก็ตาม ผลจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่จะปลุกปั้นภาคตะวันตกให้เจริญเติบโตไม่แพ้ภาคอื่นๆ ดังนั้น นโยบายมุ่งสู่ตะวันตก Go-West Policy จึงทำให้ปัจจุบัน มณฑลเสฉวนซึ่งมีเฉิงตูเป็นเมืองเอก กลายเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

รัฐบาลจีนจึงมุ่งสร้างเฉิงตูให้เป็นหนึ่งใน “ศูนย์กลางพาณิชยกรรมแห่งภาคตะวันตก” เป็นดินแดนการพัฒนาใหม่ของจีน โดยตั้ง เขตเศรษฐกิจเฉิงตู–ฉงชิ่ง และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการลงทุนเป็นพิเศษ ทำให้ปัจจุบัน เฉิงตูสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทใน Fortune 500 ได้มากถึง 238 บริษัท

ดังที่นายไต้ เส้าฉวน รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน มณฑลเสฉวน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดธนาคารกสิกรไทย สาขาเฉิงตู เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาว่า เสฉวนมีคำขวัญว่า “ลงทุนตะวันตก ต้องเลือกเสฉวน ลงทุนในเสฉวน แผ่รังสีทั่วพื้นที่ตะวันตก” และคณะกรรมการประจำมณฑลและรัฐบาลมณฑลเสฉวนได้ตั้งเป้าระดับชาติว่า จะสร้างสังคมอยู่ดีกินดีให้สำเร็จพร้อมกันทั่วประเทศในปี 2020 หรืออีก 8 ปีจากนี้เป็นต้นไป โดยในปลายปีที่แล้ว (2012) มีบริษัทของไทยลงทุนในมณฑลเสฉวน 92 บริษัท โดยมีเงินลงทุนตามสัญญาของไทย 182 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เงินลงทุนที่ใช้จริง 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในแง่การค้า อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของมณฑลเสฉวน รองลงมาจากอเมริกาและอียู ปี 2012 มูลค่านำเข้า-ส่งออกรวม ระหว่างเสฉวนและอาเซียนสูงถึง 8,363 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากปี 2011

นายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจจีน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
นายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจจีน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจจีน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เฉิงตูเป็นสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก เป็นสาขาแรกของเราในฝั่งตะวันตก แต่ไม่ได้เป็นสำนักงานใหญ่ของกสิกรไทยในจีน โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซิ่นเจิ้น ใกล้กับฮ่องกง และฮ่องกงถือเป็นห้องทดลองเศรษฐกิจทุนนิยมในการบริหารจัดการของจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยตะวันตกได้วางรากฐานในเรื่องกฎหมายระบบการเงินไว้อย่างดีมาก เมื่อจีนโตวันโตคืน ฮ่องกงเลยได้อานิสงส์ไปด้วย

“หากใครติดตามข่าว จีนมีการประกาศให้เซี่ยงไฮ้เป็น International Financial Center ในปี 2020 ซึ่งเหลืออีก 7 ปี นั่นหมายถึงว่าโอกาสที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์อย่างเสรีในจีนมีมากขึ้น หรือถ้าหยวนสามารถขึ้นมาเป็นอีกสกุลที่เป็น International Settlement Currency ได้ ตอนนี้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่ ก็จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ถามว่าตอนนี้รัฐบาลจีนกลัวว่าหากดอลลาร์เข้ามา เขาต้องเปิดประเทศเปิดสถาบันการเงินให้เปิดเสรีจริงๆ ความสามารถในการจัดการมันต้องปรับขึ้นมาอีก”

ถามว่า ถ้าเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินอีกแห่ง แล้วกสิกรไทยจะได้อะไร กลยุทธ์ที่จะไปอยู่ตรงนั้น สิ่งที่ยากมากที่สุด คือเรียนรู้ที่จะเข้าใจ real practice ของที่นั่น แล้วสร้างองค์กรให้มีความรู้ความสามารถในการที่จะเข้าสู่และปรับตัวให้กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

ตอนที่กสิกรไทยทำแผนกลยุทธ์อันใหม่ ทีมงานอ่านแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทุกเล่มเพื่อให้รู้ว่าจีนจะเดินไปทางไหน

“เมื่อก่อนคุณบัณฑูรทดลองทำคือเอาคนที่พูดภาษาจีนมาทำโครงการจีน พอผมมาทำ ผมเอาคนทำธุรกิจมาเรียนภาษาจีน มองกลับกัน เดิมมองว่าภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ผมเอาอาชีพเป็นเรื่องสำคัญ แล้วภาษามาใส่และประกบคนจีน เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย”

นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้กสิกรไทยมี Economy of Scale ที่ใหญ่อยู่แล้วให้ใหญ่ขึ้น ขยายให้มีพลังต่อไปอีก เราคิดว่าเราจะทะลุไปไม่ได้หากเราไม่เปลี่ยนทัศนคติ แต่การเปลี่ยนทัศนคติมันเปลี่ยนยาก เราต้องคิดว่าถ้าเราเล็กที่สุด เราจะทำอย่างไรให้เราเด่น ก็มาคิดว่าถ้าเราจะสร้างแบรนด์ สร้างยี่ห้อในจีน เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของทีมใหม่ทั้งหมด ไม่งั้นเราทำไม่ได้ ต้องคิดดูว่าแบงก์ต่างประเทศในจีนมีส่วนแบ่งการตลาดแค่ 1.8% หากคิดว่าเราใหญ่ ก็จะไม่มีทางออก

“เราดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของจีน คุยกับผู้เชี่ยวชาญ ดูว่าทิศทางเป็นอย่างไร เราเช็คตลอดเวลาว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะทุกอย่างในจีนขับเคลื่อนด้วยนโยบายรัฐบาล ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยตลาดทุนเสรีที่เห็นๆ กันในบ้านเรา จีนเขากลัวเรื่องความไม่สงบในสังคมมากๆ อันนี้จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนแม่แบบ ทุกอย่างจะไม่พลาด ต้องดันการพัฒนาให้ทุกๆ สิ่งเกิดขึ้นให้ได้ เพราะจีนมีหลายชนเผ่า คนมีแนวโน้มที่จะแตกกันอยู่แล้ว”

พอเราเห็นอย่างนี้ เลยสร้างกลยุทธ์ตามนโยบายจีน ที่ว่าคนจีนกำลังมาลงทุนในต่างประเทศ เราไปดูว่าเขาไปลงทุนในประเทศไหน 70% ลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียกลางเป็นประเทศที่จีนลงทุนเยอะมาก จากการวิเคราะห์ของไทม์และดิอีโคโนมิสต์บอกว่าจีนสนใจ 2 เรื่อง คือ อาหารและพลังงาน อะไรที่เป็นเรื่องอาหารและพลังงานมีอนาคตหมด อย่างประเทศไทย จีนมองเห็นศักยภาพแร่โพแทซ และมองว่านี่คือยุทธปัจจัยที่จะเอาไปใช้ในการทำปุ๋ย ซึ่งเกี่ยวกับอาหาร เกษตรกรรม

ดังนั้น หากเรามองเห็นทิศทางของจีน เราจะมองเห็นว่าอุตสาหกรรมอะไรจะเริ่มมีอนาคต และจีนจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมไหน ทั้งนี้เพื่อ 1. ความปลอดภัยในเรื่องพลังงานและอาหาร 2. เอาสินค้ามาระบายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อจีนกำลังเดินไปสู่เส้นทางนี้ จึงสนับสนุนให้คนจีนออกมาลงทุนในต่างชาติ

“พอเห็นภาพนี้แล้ว ในช่วงจาก 5 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างทีมรองรับนักลงทุนจาก เราเห็นความเป็นไปของวัฏจักรจีนชัดมากขึ้น กลยุทธ์ของกสิกรไทยคือหาพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่างๆ เรามี 3 กลยุทธ์ 1. เราลงทุนในเอสเอ็มอี เป็นธุรกิจอันเดอร์เซิร์ฟมาร์เก็ตในจีน เอสเอ็มอีของจีนไม่มีใครสนใจ เถ้าแก่ใช้ระบบชาโดว์แบงก์กิง ทำให้มีชาโดว์แบงก์กิงเยอะในจีน ทำให้จีนโตได้เร็ว โดยระบบเถ้าแก่ชาร์ตกันเดือนละ 20% ก็ต้องทำ เพราะเงินที่มีในระบบบนดินหมุนเวียนอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ๆ ให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้สังคมปลอดภัย ความมั่นคง และไม่อยากให้มีการประท้วง ความไม่สงบในสังคม”

2. International Trade ด้วยกลยุทธ์ Low Hanging Fruit เปรียบเสมือนผลไม้ต่ำที่พร้อมจะเก็บได้แล้ว กล่าวคือกสิกรไทยมีพื้นฐานต่างๆ พร้อมแล้ว เดิมทีนักธุรกิจจีนเขาทำธุรกรรมผ่านแบงก์จีน ฮ่องกง ตอนนี้ผ่านกสิกรไทย ผ่านพาร์ทเนอร์ของเรา ให้แบงก์กับแบงก์คุยกันเอง รับความเสี่ยงกันเอง ระหว่างจีนกับไทย และจีนกับเออีซี ซึ่งกลยุทธ์เออีซีกับจีนเริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้ว

ผลจากการจัดงาน Next Decade Asia โดยเชิญ 30 แบงก์มาร่วมทำเรื่อง Chain Factoring International เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างไทยกับจีน เพราะจากการถามลูกค้าคนไทย ทุกคนอยากไปจีน แต่ไปแล้วก็กลัวโกง ก็ให้นายหน้าฮ่องกงมากินค่าหัวคิว เงินจึงไหลมาที่ฮ่องกง แต่สินค้าไหลระหว่างไทยกับจีน นี่คือตัวเลขความเป็นจริง

“ผมเคยหาตัวเลข Value Movement of Goods เป็น 100 แต่ Value Movement of Money มีแค่ 70 และพบว่าเงินไปที่ฮ่องกงกับสิงคโปร์ แปลว่าคนไทยปล่อยให้ฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นนายหน้า เพราะเขาค้ากับจีนเป็น เขามีวิธีการ คนไทยเชื่อใจเขามากกกว่าคนไทยด้วยกัน เพราะคนไทยไม่มีคอนเนคชัน เราไม่รู้วิธีการทำการค้ากับจีน ซึ่งจีนเขาสร้างระบบของเขาขึ้นมา และผมเชื่อว่าเขาจะสร้างระบบกฎกติกาการทำการค้าโลกขึ้นมาแทนอเมริกา ไม่ได้สร้างระบบใหม่นะ แต่เป็นการปรับระบบ เช่น ระบบวีซ่า มาสเตอร์ที่จีนไม่ยอมรับ แต่ถามว่ายูเนียนเพย์ที่เขาสร้างขึ้นมาเหมือนไหม เหมือนเป๊ะ ทางกสิกรไทยจับมือกับไชน่ายูเนียนเพย์ เพื่อรับนักลงทุนจีนไม่นานนัก นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยก็จะเข้ามา ซึ่งเข้ามาเร็วกว่าที่คิดไว้ เพราะมีหนัง Lost in Thailand ดังในเมืองจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยมากขึ้น”

3.ยุทธศาสตร์ที่คนจีนมาลงทุนในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นบาท ยูเอสดอลลาร์ หยวน เราวางพื้นฐานไว้แล้ว ถามว่าถ้าปรัชญาการทำธุรกิจคิดว่าเราใหญ่ หาก ICBC มาทำธุรกิจกับเรา ก็รับๆ ไป เพราะเขาตัวเล็กที่นี่ (เมืองไทย) แต่เมื่อเรามีปรัชญาว่าเราตัวเล็กที่สุด เรายินดีต้อนรับเขาโดยเรามองว่า ICBC จะมีอิทธิพลกับกลยุทธ์ของกสิกรไทยมากกว่า

“ประกอบกับพื้นฐานที่เป็นแบงเกอร์ ผมพูดคุยกับผู้บริหารแบงก์จีนอาทิตย์ละครั้ง เราคุยกันภาษาจีน นี่คือความสัมพันธ์ จากเดิมเคยหารือผ่านล่าม การพูดคุยสาระก็เป็นเรื่องงาน ความสนิทสนมส่วนตัวไม่มี ตอนนี้เมื่อพูดภาษาจีนได้ มีอะไรยกหูคุยกัน และนโยบายของแบงก์ได้ส่งผมไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยชิงหัว โรงเรียนบิสซิเนสสคูลที่เซี่ยงไฮ้ ไปเรียนฮาร์เวิร์ดในหลักสูตรจีนเพื่อหาคอนเนคชัน และเผอิญมีคลาสเมทเป็นกรรมการรองผู้จัดการ CIBC ที่ปักกิ่ง”

นายพิพิธกล่าวว่า“ในจีน “ความสัมพันธ์” มีความหมาย มีมูลค่า คุณบัณฑูรพยายามทำในเรื่องความสัมพันธ์ ผมทำด้านธุรกิจ ที่ผ่านมาเรามีแผนการขับเคลื่อนทั้งสองเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเราถือเราเป็นตัวเล็ก เราต้องรู้ว่าเราจะไปที่ไหน เพราะอะไร ทั้งการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ 3 กลยุทธ์นี้ มันจะฟิตกันตรงไหน ซึ่งคำว่า connectivity ทุกอย่างมันต้องเชื่อมกันในเชิง geography เพราะเราวางตำแหน่งตัวเองเป็น AEC ในแง่ของจีน เขามองประเทศไทยคือตำบล แต่เป็นตำบลที่มีทรัพยากรในเชิงที่เขาต้องการลงทุนและระบายสินค้า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ความต้องการบริโภค เป็น middle income country แล้ว”