ในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งได้ทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย ลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวที่ตอบสนองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่งภายหลังจากคงดอกเบี้ยไว้ครั้งล่าสุด ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยเริ่มจากธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่เผยแพร่ประกาศลดดอกเบี้ยของธนาคารช่วงเที่ยงวัน โดยนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว จึงพร้อมที่จะตอบสนองต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้ารายย่อย เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวใช้เป็นส่วนใหญ่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป (ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2562 MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.12%)
ต่อมาในช่วงบ่ายธนาคารกรุงไทยได้ปรับลดอกเบี้ยเป็นธนาคารรายที่สอง โดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจ SME ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเผชิญกับภาวะความผันผวนของค่าเงินและสงครามการค้า พร้อมทั้งตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการ SME รวมทั้งลูกค้ารายย่อย ให้ประคองตัวและฟื้นตัวจากผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ของธนาคารเหลือ 6.87% ต่อปี
จากนั้นในเวลาราว 17.00 น. ธนาคารกรุงเทพได้เผยแพร่ประกาศลดดอกเบี้ยเป็นรายที่สาม โดยนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
“ธนาคารกรุงเทพ มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ” นายสุวรรณ กล่าว
ขณะเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยหลังธนาคารกรุงเทพในเวลาที่ไม่ห่างกันมาก โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีเจตนารมย์ที่จะช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงขานรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745%
ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงมาอยู่ที่ 6.745% และ อัตราดอกเบี้ย MLR ยืนอยู่ที่ 6.025% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยผลักดันการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้าของธนาคาร และเสริมสร้างการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม เป็นต้นไป