ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารไทยแกร่งฝ่าความท้าทายทางเศรษฐกิจ กำไรปี’62 ยังโต พร้อมรุกบริการดิจิทัลปีนี้

ธนาคารไทยแกร่งฝ่าความท้าทายทางเศรษฐกิจ กำไรปี’62 ยังโต พร้อมรุกบริการดิจิทัลปีนี้

22 มกราคม 2020


ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่งและสามารถทำผลกำไรได้ดีในปี 2562 แม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกที่ลดลง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าที่คาด ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าคาดจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2563

ธ.กรุงเทพกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1.4%

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในปี 2562 จำนวน 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อนท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น กอปรกับการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมสอดคล้องกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 52.3 % จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว

ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชีซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อย 0.4% จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับดีที่ 41.1%

ฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,061,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3.0% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อทุกกลุ่ม สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.4% ขณะที่เงินสำรองของธนาคารคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 220.2% ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 86.9% นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนให้โครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 20.0% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 17.0% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 17.0 % ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ธ.กสิกรไทยกำไร 38,727 ล้านบาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนนัก โดยภาคการส่งออกยังคงหดตัวลงท่ามกลางผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าและสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 และได้ลงนามข้อตกลงดังกล่าวในเดือนมกราคม 2563 ก็ตาม นอกจากนี้บรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนและรัฐบาลก็ยังคงมีทิศทางชะลอตัว ขณะที่แม้การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีผลช่วยประคองกำลังซื้อในประเทศได้บางส่วนในช่วงปลายปี

ผลการดำเนินงานปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 38,727 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 268 ล้านบาท หรือ 0.70% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,150 ล้านบาท หรือ 4.21% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.31%

นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 858 ล้านบาท หรือ 1.51% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 4,381 ล้านบาท หรือ 6.41% หลัก ๆ เกิดจากกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ และกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของธนาคาร ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 45.32% ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 8,802 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,149 ล้านบาท หรือ 11.55% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 526 ล้านบาท หรือ 2.02% ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.25% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 385 ล้านบาท หรือ 2.44% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,374 ล้านบาท หรือ 18.95% ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล รวมถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ และกิจกรรมทางการตลาด โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของธนาคาร ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.75% นอกจากนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงจากไตรมาสก่อน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,293,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 จำนวน 138,798 ล้านบาท หรือ 4.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% ขณะที่สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% โดยสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 160.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 19.62% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.19%

ธ.ไทยพาณิชย์จ่ายเงินปันผลพิเศษ 0.75 บาทต่อหุ้น

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองของปี 2562 จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ทั้งนี้ธนาคารมีการตั้งสำรองพิเศษในปี 2562 ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) จำนวน 40,436 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารประกาศเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดจ่ายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3% จากปีก่อนเป็นจำนวน 99,402 ล้านบาท แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในขาลง และยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ธนาคารยังคงสามารถขยายฐานรายได้จากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน เป็นจำนวน 66,696 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกำไรของเงินลงทุนที่เกิดจากการขายหุ้นของธนาคารในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 2% จากปีก่อน โดยรายได้ประเภท recurring ปรับตัวดีขึ้น และในไตรมาสที่สี่ธนาคารมีการรับรู้รายได้ใหม่จากความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรด้านประกันชีวิต

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนเป็นจำนวน 70,538 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงการ Transformation ทั้งนี้จากการเติบโตของรายได้รวมที่ 20% จากปีก่อน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในปี 2562 ปรับลดลงมาเป็น 42.5%

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 3.41% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3% ในครึ่งแรกของปี การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพสะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและการที่ธนาคารใช้นโยบายระมัดระวังในการจัดชั้นลูกหนี้

จากแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อในปัจจุบันและความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 36,211 ล้านบาท ในปี 2562 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 134%

เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.1% ดังนั้น ภายหลังการขายหุ้นของธนาคารในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เงินปันผลปกติจากการดำเนินงานของธนาคารประจำปี 2562 จะได้รับการพิจารณาและอนุมัติในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในเดือนเมษายน 2563

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “จากความผันผวนของเศรษฐกิจธนาคารใช้หลักความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ จากการคาดการณ์ว่าสินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตในระดับปานกลาง ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญต่อการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่ธุรกิจที่ให้อัตราผลตอบ แทนสูง การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และธุรกิจการบริหารจัดการความมั่งคั่ง พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ จากความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ผ่านโครงการ Transformation ธนาคารกำลังนำขีดความสามารถดังกล่าวมาใช้ในเชิงรุกยิ่งขึ้น และทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและฟินเทคชั้นนำในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว”

ทีเอ็มบีขนาดเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากรวมกิจการกับธนชาต

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการ 12 เดือน ปี 2562 โดยนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า “ปี 2562 นับว่ามีความท้าทายไม่น้อยทั้งในเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอุตสาหกรรมธนาคาร ขณะที่ทีเอ็มบีเองก็มีโครงการรวมกิจการ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ตลอดทั้งปีทีเอ็มบีจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ มุ่งปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-Rate ของทั้งสองธนาคารให้อยู่ในระดับเดียวกัน การเตรียมสภาพคล่องไว้ขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ การขายหุ้นใน บลจ.ธนชาต เพื่อตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการกองทุนรวม Open Architecture ของทีเอ็มบี จากการเตรียมการต่างๆ เหล่านี้ จึงมั่นใจว่าธนาคารมีความพร้อมสำหรับก้าวใหม่ในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 และการดำเนินการรวมกิจการตามแผนที่ได้วางไว้”

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ในงบการเงินรวมของทีเอ็มบี จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในฐานะบริษัทย่อยเข้ามา โดยด้านงบดุลจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต ณ สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2562 ขณะที่งบกำไรขาดทุนนั้น จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตเฉพาะช่วงวันที่ 4-31 ธันวาคม 2562

ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 ทีเอ็มบีมีสินทรัพย์ ตามงบการเงินรวม จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 0.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.6 ล้านล้านบาท จากผลของการรวมกิจการและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากที่เป็น Flagship Product ของทีเอ็มบี โดยเฉพาะจากเงินฝากบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี และทีเอ็มบี โนฟิกซ์ ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.7 ล้านล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตที่รวมเข้ามา ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยของทีเอ็มบีก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในส่วนของรายได้จากการดำเนินงานรอบ 12 เดือน ปี 2562 ตามงบการเงินรวม อยู่ที่ 39,821 ล้านบาท ลดลงจาก 48,042 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 2561 ซึ่งในปีดังกล่าว ทีเอ็มบีมีการบันทึกรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TMBAM ออก 65% จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จึงทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (งบการเงินรวม ) ในปี 2561 อยู่ที่ 23,545 ล้านบาท สูงกว่า 12,956 ล้านบาท ในปี 2562 ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.7% YoY มาอยู่ที่ 26,865 ล้านบาท จากรายได้จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากธนาคารธนชาต จะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น 10% โดยประมาณ

ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกรรมการขายหุ้น บลจ.ธนชาต หรือ TFUND นั้น สำหรับทีเอ็มบีจะรับรู้รายการขายดังกล่าวจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูก แต่ทีเอ็มบีจะไม่มีการบันทึกกำไรจากรายการนี้ เนื่องจากในการรวมกิจการ ทีเอ็มบีดำเนินการบันทึกและรับรู้มูลค่าของ TFUND เข้ามาด้วย Fair Value แล้ว ดังนั้น การที่ธนาคารธนชาตขายหุ้น TFUND ออกไป 25.1% ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 นั้น จึงไม่มีการบันทึกกำไร โดยสำหรับ TFUND ส่วนที่เหลือ 49.9% ที่ธนาคารธนชาตถืออยู่ ทีเอ็มบีจะรับรู้รายได้เข้ามาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (Profit sharing from associate company)

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (งบการเงินรวม) อยู่ที่ 20,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายของธนาคารธนชาต ประกอบกับในปี 2562 มีค่าใช้จ่าย one-time หลายรายการ เช่น ค่าใช้จ่าย Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการรวมกิจการ (Advisory Fee) เป็นต้น

โดยทั้งปี 2562 ทีเอ็มบีดำเนินการตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 10,337 ล้านบาท ตามแผนการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2562 จำนวน 7,222 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับ 11,601 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า จากผลของการบันทึกรายได้พิเศษในปี 2561 และค่าใช้จ่าย one-time ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นตามแผน โดยในส่วนของทีเอ็มบี (งบการเงินเฉพาะ) สามารถลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ที่ 2.33% จาก 2.76% ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ที่ 140% (งบการเงินเฉพาะ) เป็นไปตามเป้าหมายที่ทีเอ็มบีตั้งไว้ สำหรับงบการเงินรวม สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.30% และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 120%

ท้ายสุดในส่วนของระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ในเบื้องต้นอัตราส่วน CAR และ Tier I (งบการเงินรวม) ณ สิ้นปี 2562 ประมาณการณ์ว่าจะอยู่ที่ 17% และ 13% ซึ่งยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ

นายปิติ ตัณฑเกษม กล่าวว่า “สำหรับปี 2563 นี้ ผู้บริหารชุดใหม่ที่เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างผู้บริหารจากทั้งสองธนาคาร พร้อมเดินหน้าสานพันธกิจการรวมกิจการ เพิ่มศักยภาพของธนาคารในการให้บริการและส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 10 ล้านราย และในส่วนของเป้าหมายทางการเงินปี 2563 นี้ อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในปลายสัปดาห์นี้”

ซีไอเอ็มบี ไทย ผลประกอบการสูงสุดรอบ 10 ปี

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลลัพธ์จากความมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์และส่งมอบบริการทางการเงินที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนออกมาในผลประกอบการประจำปี 2562 ที่ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,501.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,494.7 ล้านบาท หรือ 216 เท่า ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่กำไรก่อนหักภาษี เติบโตจาก 271 ล้านบาท เป็น 1,943 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 617% รายได้จากการดำเนินงาน เพิ่มจาก 12,896 ล้านบาทเป็น 14,032 ล้านบาทหรือเติบโต 8.8% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.02% เป็น 4%

ปัจจัยหลัก คือ การปรับปรุงกระบวนการเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ส่งผลให้ภาระในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 2562 ลดลง 48.7% จาก 4,919 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,522 ล้านบาท

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 160.6 ล้านบาท จากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 362.3 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้

ด้านเงินให้สินเชื่อสุทธิจำนวน 2.42 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% ในจำนวนนี้มาจากสินเชื่อรายย่อยซึ่งเติบโต 12.3% ด้านเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์การเงินบางประเภท) จำนวน 2.42 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% ในฝั่งของรายได้รวม มีสัดส่วนมาจากธุรกิจรายย่อย 66% ธุรกิจขนาดใหญ่ 13% ธุรกิจบริหารเงิน 7% เอสเอ็มอี 8% ลูกค้าธนบดีธนกิจ (PRIVATE BANKING) 1% และรายได้อื่นๆ 5%

“ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ผ่านการวางรากฐาน ปรับโครงสร้าง ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และได้ผ่านการปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมาหลายครั้ง รวมถึงโครงการ FAST FORWARD ล่าสุด กับการวางโครงสร้างพื้นฐานและทำงานเกี่ยวกับ DIGITAL อย่างเต็มที่ เมื่อผสานกับจุดแข็งด้าน ASEAN จึงเกิดเป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่เรียกว่า ‘DIGITAL BANK WITH ASEAN REACH’ และถ้าต้องปักธงลงแข่งขันในสนามที่ธนาคารเชี่ยวชาญ ธนาคารตั้งเป้าจะเป็นผู้นำ 4 ด้าน ได้แก่ DIGITAL, ASEAN, WEALTH และ CUSTOMER EXPERIENCE (CX)” นายอดิศร กล่าว

บริการใหม่ในปีนี้คือ MOBILE LENDING ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถสมัครขอสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ด้วยตัวเองผ่านมือถือ โดยใช้เวลาสมัครเพียง 5 นาที รู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และกรณีพนักงานประจำ จะใช้เวลาติดตามผลการสมัครภายใน 6 ชั่วโมง ปล่อยสินเชื่อได้สูงสุด 120% ของราคาประเมินรถยนต์ พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สามารถนัดหมายเจ้าหน้าที่เดินทางไปรับเอกสารหรือจะยื่นเอกสารด้วยตัวเองก็ได้ ชำระค่างวดสะดวกด้วย QR Code

นอกจากนี้ ธนาคารจะเปิดให้บริการ DEBT CONSOLIDATION เป็น APPLICATION รวมหนี้ เพื่อให้ประชาชนบริหารจัดการหนี้ โดยรวมหนี้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล จากสถาบันการเงินต่างๆ แล้วทำการรีไฟแนนซ์หนี้มาที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้น 11.84% ซึ่งถูกลง ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้และช่วยให้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น สามารถปิดหนี้ก่อนครบกำหนด หลัง 12 เดือน ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายปิดก่อนกำหนด สามารถเลือกผ่อนรายเดือนน้อยลง โดยเลือกผ่อนชำระสบายๆ 24 เดือน 36 เดือน หรือ 60 เดือน ลดต้นลดดอกทันที เป็นความร่วมมือของธนาคารกับ NEO MONEY พร้อมเปิดตัวภายในไตรมาสแรกปีนี้