ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ประเพณี หรือ ทารุณกรรม? การฆ่าหมู่โลมากว่า 1,400 ตัว

ประเพณี หรือ ทารุณกรรม? การฆ่าหมู่โลมากว่า 1,400 ตัว

17 กันยายน 2021


ที่มาภาพ:https://seashepherd.org/2021/09/15/1428-dolphins-slaughtered-in-the-faroe-islands-sunday-night/

ในคืนวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน ฝูงโลมาสายพันธุ์แอตแลนติกข้างขาว (Atlantic white-sided dolphin) 1,428 ตัวถูกไล่ต้อนนานหลายชั่วโมงและเป็นระยะทางถึง 45 กิโลเมตร โดยเรือเร็วและเจ็ตสกีให้มารวมกันในเขตน้ำตื้นที่หาดสกาลาบอตนูร์ในหมู่เกาะแฟโรของเดนมาร์ก ก่อนที่โลมาแต่ละตัวจะถูกฆ่า Sea Shepherd รายงานพร้อมภาพถ่ายบนเว็บไซต์

Sea Shepherd เชื่อว่า การล่าโลมาปีนี้ เป็นการฆ่าหมูโลมาหรือวาฬนำร่อง(pilot whales )ในครั้งเดียวที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของแฟโร นับตั้งแต่การฆ่าหมู่วาฬ 1,200 ตัวในปี 1940 และอาจเป็นการฆ่าหมู่สัตว์จำพวกวาฬที่มากที่สุดภายในหนึ่งครั้งของโลก

Sea Shepherd เป็นองค์กรอนุรักษ์ทางทะเลระดับนานาชาติที่ไม่แสวงกำไร และดำเนินการรณรงค์โดยตรงเพื่อปกป้องสัตว์ป่า อนุรักษ์ และปกป้องมหาสมุทรของโลกจากการแสวงประโยชน์อย่างผิดกฎหมายและการทำลายสิ่งแวดล้อม

Sea Shepherd ได้ต่อสู้เพื่อให้ยกเลิก ประเพณีล่าวาฬ หรือ “Grindadrap” ที่จัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980
การฆ่าหมู่โลมาครั้งล่าสุดนี้โหดร้ายและเลวร้ายมาก จนไม่แปลกใจที่การล่าหมู่ครั้งนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อของแฟโรและแม้แต่ในกลุ่มผู้สนับสนุนการล่าปลาวาฬ (Pro-Whaling) ที่พูดตรงไปตรงมาและ นักการเมืองในหมู่เกาะแฟโรเอง

ชาวบ้านที่แชร์วิดีโอและภาพถ่ายกับ Sea Shepherd มองว่า การล่าครั้งนี้ละเมิดกฎหมายแฟโรหลายฉบับที่กำกับ “Grindadrap ข้อแรก ผู้ควบคุม Grindadrap ของเมืองไม่ได้รับแจ้ง ดังนั้นจึงไม่เคยอนุญาตการล่าครั้งนี้ แต่เป็นการอนุญาตจากผู้ควบคุมของเขตอื่นแทน โดยไม่มีอำนาจที่ถูกต้อง

ข้อสอง ผู้เข้าร่วมการล่าจำนวนมากไม่มีใบอนุญาต ตามที่กำหนดไว้ในหมู่เกาะแฟโร เนื่องจากต้องผ่านการฝึกอบรมแบบเฉพาะสำหรับการฆ่าวาฬนำร่องและโลมาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ภาพวิดีโอแสดงให้เห็นว่าโลมาหลายตัวที่ถูกโยนขึ้นฝั่งไปรวมกับฝูงนั้นยังมีชีวิตอยู่และเคลื่อนไหวได้

ข้อสาม ภาพถ่ายยังแสดงให้เห็นว่ามีการแล่นเรือยนต์ทับโลมาหลายตัวและถูกฟาดด้วยใบพัด ซึ่งทำให้โลมาตายอย่างทรมานด้วยความเจ็บปวด ชาวบ้านบอกว่า การล่าโลมาครั้งนี้ได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดยปกติแล้วเนื้อวาฬกับโลมาจาก grindadrap จะแจกจ่ายในหมู่ผู้เข้าร่วม ส่วนที่เหลือจะแบ่งให้ชาวบ้านในพื้นที่ อยางไรก็ตามเนื้อโลมายังเหลือมากเกินความต้องการ จนต้องถามพื้นที่อื่นๆ เพื่อไม่ให้ต้องทิ้งไป

ที่มาภาพ:https://seashepherd.org/2021/09/15/1428-dolphins-slaughtered-in-the-faroe-islands-sunday-night/

หนังสือพิมพ์ Ekstra Bladet ของเดนมาร์กรายงานการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ซึ่งขอให้ปิดชื่อเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ว่า ชาวแฟโรโกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่า “เดาว่า โลมาทั้งหมดน่าจะถูกทิ้งลงถังขยะหรือลงหลุมฝัง” ส่วนอีกรายบอกว่า” เราควรกำหนดโควตาต่อเขต และเราไม่ควรฆ่าโลมา” ขณะที่อีกคนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เมตเต เฟรเดอริคเซ่น สอบสวนเรื่องนี้ “หากเธอออกมาให้ความเห็น ก็จะทำให้ชาวบ้านที่ต้องการให้ยกเลิกประพณีนี้ทำงานง่ายขึ้น” ส่วนคนอื่นเกรงว่าหากสื่อนานาชาติเผยแพร่ภาพโลมาถูกฆ่าออกไปจะกระทบการส่งออก เพราะหมู่เกาะแฟโรส่งออกปลาแซมอนไปยังอังกฤษ สหรัฐและรัสเซีย

แม้แต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Faroese press ที่ปกติมักจะไม่ค่อยตีพิมพ์ข่าวที่ต่อต้านการล่าวาฬมากนัก ก็ยังรายงานความเห็นของ จาคอบ เฮอร์แมนเซ่น อดีตประธานงาน Grindadrap ที่ว่า การฆ่าวาฬไม่มีความจำเป็น

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าการล่าโลมาที่สกาลาบอตนูร์มีมากแค่ไหน Sea Shepherd ได้เปรียบเทียบ การล่าโลมาสายพันธุ์แอตแลนติกข้างขาว จำนวน 1,428 ตัวครั้งนี้กับโควตาที่กำหนดโดยรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับการโลมาในช่วง 6 เดือน ซึ่งรวมทั้งการฆ่า การจับที่อ่าวอันโด่งดังที่เมืองไทจิ และมากกว่าจำนวนที่ฆ่าจริงในฤดูล่าโลมาประจำปีของไทจิในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ

การล่าที่โหดร้ายและไม่จำเป็นนี้มีไปถึงช่วงปลายฤดูร้อน ซึ่งชาวแฟโรได้ฆ่าวาฬนำร่องครีบยาว 615 ตัว ส่งผลให้จำนวนสัตว์จำพวกวาฬที่ถูกฆ่าในปี 2564 ในหมู่เกาะแฟโรทั้งหมดมีจำนวนมากจนน่าตกใจถึง 2,043ตัว

ประเพณี หรือ ทารุณกรรม?

Euronews Green รายงานเรื่องนี้เชิงตั้งคำถามว่าTradition or torture? 1,500 dolphins slaughtered in ‘unnecessary’ Faroe Islands hunt

มีการถกเถียงกันมากว่างานล่าสัตว์ของชนพื้นเมืองเป็นการกระทำที่โหดร้าย อย่าง “น่ากลัว” หรือเป็นประเพณีปฏิบัติสำคัญที่ทำให้ชาวเกาะสำนึกถึงอัตลักษณ์และการอยู่ร่วมกันของชาวแฟโร รวมไปถึงการมีเนื้อสัตว์เป็นอาหาร

แม้การรายงานข่าวเกี่ยวกับ Grindadrap มักมีการพาดหัวเกี่ยวกับภาพทะเลสีเลือด ผู้คนโห่ร้อง และการเชือดสัตว์ บรรดาผู้ที่สนับสนุนการล่าสัตว์ ก็ยังคงไว้ให้เป็นกิจกรรมในชุมชนที่มีรากฐานมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 16

จนปัจจุบันนี้ ประเพณีนี้ทำให้หมู่เกาะแฟโรสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางกฎหมายได้

เนื้อสัตว์ที่ได้เพื่อการเลี้ยงครอบครัวในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการฆ่าหมู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะมีมากเกินพอที่จะเลี้ยงชาวเกาะ 53,000 คน ซึ่งหมายความว่าส่วนใหญ่อาจทิ้งไปอย่างเสียเปล่า

PETA องค์กรพิทักษ์สัตว์ ได้แย้งมานานแล้วว่าการบริโภคเนื้อวาฬบนเกาะเป็น “ประเพณี” ที่สาบสูญไปนานแล้ว และมีเพียง 17%ของชาวเกาะเท่านั้นที่ยังกินเนื้อวาฬนำร่องและใช้ไขปลาวาฬเป็นประจำ

ร็อบ เร้ด ซีโอโอของ Sea Shepherds กล่าวกับ Euronews Green ว่า “การล่าวาฬยุคนี้ต่างจากการล่าเพื่อยังชีพแบบเดิมในศตวรรษที่ผ่านๆมา”

“ Grindadráp ปัจจุบันมีการใช้เรือที่พลังสูงและเจ็ตสกี และเป็นมากกว่ากีฬาที่จัดขึ้นตามประเพณี อีกทั้งชุมชนที่มีเงินของแฟโร ก็ไม่ได้ต้องการเนื้อสัตว์ และใช้วิธีการล่าแบบไม่แยกแยะเลย ฆ่าทุกตัวในฝูง”

อย่างไรก็ตาม ความแวดไวทางวัฒนธรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การล่าวาฬในภูมิภาคอาจพิสูจน์ได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมกับประเด็นนี้

เร้ดกล่าว ว่า เขาหวังที่จะจัดตั้งทีมภายในในหมู่เกาะแฟโร ซึ่งสามารถทำงานเพื่อช่วยหาทางออกจากความซับซ้อนเพื่อการยกเลิกประเพณีปฏิบัตินี้

หมู่เกาะแฟโร จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับญี่ปุ่น นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ จากการฆ่าวาฬขนาดใหญ่เกือบ 40,000 ตัว นับตั้งแต่มีการห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในปี 2529

ที่มาภาพ: https://seashepherd.org/2021/09/15/1428-dolphins-slaughtered-in-the-faroe-islands-sunday-night/

ด้านผู้นำหมู่เกาะแฟโร ระบุว่า จะต้องมีการตรวจสอบการล่าโลมาครั้งนี้ หลังมีเสียงวิจารณ์

รัฐบาลแฟโร ได้กล่าวว่า จะทบทวนว่าการล่าโลมาแอตแลนติดข้างขาวมีส่วนอย่างไรในสังคมหลังจากมีการการวิพากษ์วิจารณ์การฆ่าหมู่โลมาอย่างกว้างขวาง

การเปิดเผยภาพวิดีโอที่น่าสยดสยองแสดงให้เห็นการฆ่าโลมาเกือบ 1,500 ตัวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาทำให้มีเสียงวิจารณ์จากทั่วโลก

ขอบเขตของการฆ่าหมู่โลมานั้นทั้งกว้างและมีจำนวนสูงกว่าปีที่แล้วอย่างมาก และดูเหมือนว่าผู้ที่เข้าร่วมไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อลดความทรมานของสิ่งมีชีวิตได้

ในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี นายกรัฐมนตรี Barour a Steig Neisen แห่งหมู่เกาะแฟโร กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“แม้ว่าการล่าสัตว์เหล่านี้ถือว่ามีมานาน แต่เราจะจับตาดูการล่าโลมาอย่างใกล้ชิดและว่าควรอยู่ในส่วนไหนของสังคมชาวแฟโร ”

ประชากรที่อาศัยใน 18 เกาะ ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสกอตแลนด์และไอซ์แลนด์ ฆ่าโลมาข้างขาวและวาฬนำร่องเพื่อใช้เนื้อและไข แม้ทั้งโลมาข้างขาวและวาฬนำร่อง ไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่นักเคลื่อนไหวก็ต่อต้านการปฏิบัติบนพื้นฐานของความโหดร้าย