ThaiPublica > เกาะกระแส > สหภาพแรงงานทอท. ออกหน้าตอกย้ำข้อกล่าวหา “โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ”

สหภาพแรงงานทอท. ออกหน้าตอกย้ำข้อกล่าวหา “โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ”

29 สิงหาคม 2019


ต่อกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” นำแบริเออร์มาปิดกั้นทางเข้า – ออกของโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต” ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN พร้อมติดป้ายประกาศว่า “พื้นที่ในความครอบครองของทอท. ห้ามผู้ใดบุกรุกมิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด” พร้อมระบุว่า ทอท. ตรวจสอบพบการก่อสร้างโครงการดังกล่าว อาจมีการรุกล้ำที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. เป็นเหตุให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมตอบข้อซักถามสื่อมวลชนทุกประเด็นเมื่อวานนี้(28 สิงหาคม 2562)

  • CPN ดับเครื่องชน AOT ร้องศาลปกครองเปิดทางเข้า-ออกโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ”
  • หลังจาก CPN แถลงข่าววันรุ่งขึ้น (วันที่ 29 สิงหาคม 2562)ในช่วงเช้าได้มีข้อความส่งมาในไลน์สื่อมวลชนคมนาคม ระบุว่า
    เรียน พี่ๆสื่อมวลชน สหภาพแรงงาน ทอท. (สร.ทอท.) ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวการลงพื้นที่ของ สร.ทอท.บริเวณพื้นที่ของ ทอท.หน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ส.ค.62 เวลา 11.30 น. โดย ทอท.จะจัดรถรับส่งบริเวณหน้าอาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (AOB) ไปยังพื้นที่หน้าโครงการศูนย์การค้าฯ ซึ่งรถจะออกจาก AOB เวลา 11.00 น.

    เวลา 11.30 น. ทอท. โดยนายณัฐวุฒิ ทาอินต๊ะ ประธานสหภาพแรงงาน ทอท. (สร.ทอท.) ได้เชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่หน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากสหภาพฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากสมาชิกเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมาว่ามีผู้บุกรุกพื้นที่ที่ ทอท. ดูแล จึงได้รีบศึกษาข้อมูล และออกแถลงการณ์ เพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจได้รับรู้และแก้ไข โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลใดบุกรุกพื้นที่ ทอท. จริงหรือไม่

    ทั้งนี้จากการตรวจสอบพื้นที่ พบว่ามีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ ทอท.รับผิดชอบอยู่ อ้างอิงจากการอ่านเอกสารของกรมธนารักษ์ที่ติดอยู่บริเวณพื้นที่ที่ลงมาดูก็ระบุชัดเจนว่า เป็นที่ราชพัสดุ ทอท. เป็นผู้ดูแล

    อย่างไรก็ตามทางสหภาพฯ จะทำหนังสือสอบถามไปยังฝ่ายบริหารของ ทอท. เพื่อขอทราบมาตรการแก้ไขปัญหา เพราะหากมีการบุกรุกพื้นที่จริง และเกิดผลกระทบต่อการให้บริการ จะผลกระทบต่อประเทศชาติ และผู้ที่จะต้องถูกกล่าวโทษ คือ ทอท.ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่

    พร้อมกันนี้สหภาพฯ จะทำหนังสือถึงสมาคมนักบิน ทั้งในและต่างประเทศ สอบถามถึงผลกระทบจากโครงการนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสนามบิน เป็นพื้นที่ที่อากาศยานจะต้องขึ้น – ลง จึงต้องการให้ทางสมาคมนักบินประเมินผลกระทบประเด็นความปลอดภัยทางการบิน ว่ากิจกรรมต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อการบิน ตามกฎการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หรือไม่

    สหภาพแรงงาน ทอท.พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ของ ทอท.หน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ

    อนึ่งก่อนหน้านี้ ทอท. ได้โพสต์แถลงการณ์สหภาพแรงงานกรณีการก่อสร้างห้างเซ็นทรัลวิลเลจ อย่างเป็นทางการในเฟซบุ๊ก AOT Officialโดยนายณัฐวุฒิระบุว่า ทอท. อยู่ในสถานะผู้ได้ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2558) มาตรา 60/15 ที่มีการระบุถึงการรักษาสนามบินดูแลการบริการภายในสนามบินอนุญาตให้เป็นไปมาตรฐานที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ประกอบกับกฎหมายอื่นที่ประกาศกำหนดให้มีหน้าที่ตามคู่มือการดำเนินงานสนามบินที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และรายงานตามที่ระบุไว้ในคู่มือ การดำเนินงานสนามบินทั้งภายในเขต หรือ บริเวณใกล้เคียงสนามบิน อันจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยสนามบิน รวมทั้งใช้การดำเนินการตามเงื่อนไขท้ายใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ที่สนามบินต้องดำเนินการตามกระบวนการที่รัฐกำหนดตามกรณีที่ระบุ เช่นกรณี Air display นอกจากนี้ ทอท.ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายในฐานะสนามบินรับรองสาธารณะใช้ดำเนินการ ได้แก่

      1.พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558) มาตรา 60/15 หน้าที่ผู้ได้ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และมาตรา 58 , 59 , 60 เรื่องเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ

      2.เงื่อนไขและข้อจำกัดประกาศท้ายใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะทุกแห่ง

      3.ข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่อง

      4.Standard and recommend practices ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) ที่รัฐยังออกกฎหมายมาบังคับใช้ไม่ครอบคลุม ก็จะบูรณาการกับผู้เกี่ยวข้อง

    ดังนั้น กรณีการก่อสร้างห้างเซ็นทรัล วิลเลจ ในเขตความปลอดภัยทางการบินที่ ทอท.มีอำนาจทางกฎหมายทางการบิน ทอท.จะต้องรับผิดชอบ หากไม่ดำเนินการใด ๆ เพราะหากมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการการบินแล้ว พบว่าการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยไม่เป็นไปตามที่กำหนด หรือ มาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทยมีข้อบกพร่อง (ติดธงแดง) จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติมากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาการตรวจสอบไม่ใช่เฉพาะเรื่องความสูงเท่านั้น แต่ยังมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง

    ถึงแม้ว่า พื้นที่ของเซ็นทรัล วิลเลจ จะอยู่นอกเขตสนามบิน แต่ก็เป็นบริเวณใกล้เคียงสนามบิน (vicinity of Aerodrome) ที่แม้ว่าไม่ได้อยู่ในการกำกับของสนามบินโดยตรง แต่การที่จะมีผู้ใดที่มีพื้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสนามบิน โดยเฉพาะในแนวบินร่อนลง (take off & approach ) จะมีกิจกรรมใดๆ หรือ ใช้พื้นที่ก่อสร้างจะอยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบจากรัฐ (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย:กพท.) ที่จะต้องตรวจสอบกิจกรรมดังกล่าว ว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบินหรือไม่

    นอกจากการตรวจสอบสิ่งก่อสร้างอันเป็นสิ่งกีดขวางในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศแล้ว ต้องพิจารณาประเด็นต่าง ๆดังนี้

      1. การรบกวนสัญญาณเครื่องช่วยในการเดินอากาศ

      2. แสงไฟภายนอกสนามบิน (non aeronautical light ) อันส่งผลต่อการปฏิบัติการบิน ที่ต้องมีการควบคุมตามข้อกำหนด ICAO

      3. กิจกรรมที่อาจเกิดมีควัน ที่ส่งผลให้ทัศนวิสัยสนามบินลดลง โดยเฉพาะการมองเห็นทางวิ่งในแนวร่อนลง

      4. กิจกรรมที่อาจนำไปสู่การนำนกมาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

      5. Laser emission free zone ที่ต้องมีการควบคุมออกไปภายนอกสนามบิน ตามข้อกำหนด ICAO

      6. กิจกรรมอันส่งผลต่อแผนแม่บท และแผนพัฒนาสนามบิน โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบหลักที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ Access Capacity ที่เกิดได้จากบริเวณภายนอกใกล้เคียงสนามบินที่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในการทำแผนแม่บทและถูกกำกับจากรัฐ ตามข้อกำหนด

    ประธานสหภาพแรงงาน ทอท. กล่าวว่า การก่อสร้างห้างเซ็นทรัล วิลเลจ อาจส่งผลกระทบต่อสนามบินของ ทอท. อันเกิดจากกิจกรรมภายนอกสนามบิน แต่ใกล้เคียงสนามบินที่อยู่นอกเหนือภายใต้การกำกับของทอท. จึงขอเสนอให้มีการประชุมหารือในระดับนโยบายสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยเร่งด่วน เพราะหากไม่ดำเนินการใดๆ อาจเข้าข่ายว่า ทอท.ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ราชพัสดุบริเวณดังกล่าว ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และอาจส่งผลให้ประเทศไทยติดธงแดงอีกครั้ง แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

    นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่าการก่อสร้างห้างเซ็นทรัล วิลเลจ มีการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ผังเมืองหลายประการ อาทิ การถมลำรางสาธารณะ การปลูกสร้างอาคารในพื้นที่สีเขียวที่มีพื้นที่ใช้สอยมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดย พ.ร.บ.ผังเมืองกำหนดให้อาคารมีพื้นที่ใช้สอยได้ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร และหากเป็นพื้นที่ตาบอดดังเช่นกรณีนี้จะปลูกสร้างได้เพียง 200 ตารางเมตร ต่อ 1 ใบอนุญาต อย่างไรก็ตามพื้นที่ใช้สอยสูงสุดของข้อกฎหมายกำหนดไว้ว่าสิ่งปลูกสร้างรวมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ ซึ่งในกรณีนี้มีพื้นที่ รวมประมาณ 100 ไร่

    นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากการแถลงข่าวของเซ็นทรัล ทราบว่าห้างเซ็นทรัล วิลเลจ จะมีพื้นที่ใช้สอยราว 4 หมื่นตารางเมตร คิดเป็น 25 ไร่ หรือ ร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเกินเพดานกฎหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวแปลงดังกล่าว ยังอยู่ในข้อบังคับที่ห้ามให้มีการก่อสร้างโรงแรม และยังมีการดำเนินการที่เข้าข่ายผิดกฎ ICAO อีกหลายประการตามที่ได้กล่าวข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้เซ็นทรัลชี้แจงประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจน เพราะ ทอท.ไม่สามารถ เป็นผู้สนับสนุนผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองได้ ทั้งนี้สหภาพแรงงาน ทอท.กำหนดให้มีการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจะนำคณะกรรมการลงตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างต่อไป

    อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ทอท.กล่าวอ้างนั้น ประเด็นเหล่านี้นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)หรือ CPN แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ได้ให้ข้อมูลในประเด็นเหล่านี้ไว้ดังนี้

    ประเด็นแรก พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้า-ออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ดินราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด ยืนยัน “CPN ได้ตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว พบว่าสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ได้ตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฯ และที่ดินติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอด ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.

    พร้อมให้รายละเอียดความเป็นมาของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ว่า เดิมเป็นที่ดินราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7(2) แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมา เพื่อสร้างสนามบินที่ทอท.ดูแล โดยโครงการนี้ได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง เป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึงเขตทางและไหล่ทางที่ติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการ จึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด

    ส่วนรายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิที่ดินหน้าโครงการ ระหว่างกรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ทาง CPN ได้ชี้แจงโดยระบุว่า ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุและมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล เป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ดูแล อีกทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะกล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้

    โดยที่ดินด้านหน้าโครงการมีความเป็นมาดังนี้ กล่าวคือ ในปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน ปี 2544 ครม.มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้า-ออกด้านใต้ของสนามบิน คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง

    พร้อมระบุว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้า-ออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย ซึ่ง ทอท.เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใดเคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท.เลย

    สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ.เวนคืนฯ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท.กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการไม่น่าจะเป็นการกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะเป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก

    ประเด็นที่ 2 บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด โดยโครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

    และประเด็นที่ 3 CPN ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยโครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฎใด ๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบินหรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง ซึ่งทาง CPN ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป