ThaiPublica > เกาะกระแส > Lifelong Learning สร้างทักษะอนาคต รับ Digital Future (ตอน 2): Re-skill ฝึกฝนตลอดเวลา

Lifelong Learning สร้างทักษะอนาคต รับ Digital Future (ตอน 2): Re-skill ฝึกฝนตลอดเวลา

3 พฤษภาคม 2018


ต่อจากตอนที่ 1 Lifelong Learning สร้างทักษะอนาคต รับ Digital Future

Re-skill ทักษะเพื่ออนาคต

รายงานข่าวจาก techgoondu เปิดเผยว่า สิ่งที่เป็นประเด็นความท้าทายของภาครัฐและองค์กรธุรกิจคือ การช่วยให้พนักงานพัฒนา ยกระดับทักษะ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ เพราะแรงงานที่มีทักษะที่เหมาะสมจะมีงานทำ แต่ก็มีคำถามว่า ทักษะที่มีการพูดถึงกันมาขึ้นนั้นเป็นทักษะแบบไหนด้านไหน ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นหลักพื้นฐาน นั่นก็คือ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความคาดหวังของลูกค้า และความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี

CA Technologies บริษัทซอฟต์แวร์ เปิดเผยผลสำรวจผู้นำธุรกิจจำนวน 900 ราย ในเอเชียแปซิฟิก 9 ประเทศ พบว่า 76% ยอมรับกลายๆ ว่าองค์กรกำลังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล และยอมรับว่า เป็นการยากในการรับมือทั้งกับความคาดหวังของลูกค้า และกับการเปลี่ยนแปลงของแรงงานที่จะต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา (Re-skill)

แนวทางหลักที่ลดแรงกดดันเหล่านี้คือ การเสริมทักษะของแรงงานให้ทันสมัยขึ้น และ Re-skill เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของธุรกิจในอนาคตที่ต้องพึ่งพาระบบปฏิบัติการมากขึ้น แรงงานต้องได้รับการเทรนให้ใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็น เพื่อให้การทำงานของธุรกิจต่อเนื่อง

การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องก็มีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ mindset ของผู้นำในการกำหนดแนวทางเรียนรู้ที่องค์กรนำมาใช้ โดยต้องสร้างภาวะแวดล้อมที่พนักงานต้องการที่จะเรียนรู้ ผู้นำก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้รู้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล

CA Technologies ได้พัฒนาโครงการ SkillSET ขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยจะเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้เครื่องมือเทรนนิ่งบนระบบออนไลน์ของบริษัทได้ทั่วโลกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งทักษะชุดที่บริษัทเตรียมไว้ให้นี้ มีตั้งแต่การบริหารธุรกิจทั่วไป จนถึงหัวข้อที่ยากขึ้น เช่น อาชญกรรมไซเบอร์ บิ๊กดาต้า หรือ อินเตอร์เน็ตออฟทิง

โครงการนี้เป็นความร่วมมือที่ริเริ่มโดย World Economic Forum ภายใต้ชื่อ IT Industry Skills Initiative (SkillSet) ซึ่งมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมได้แก่ Accenture, PwC, Cisco, Hewlett Packard Enterprise and Salesforce ซึ่งทั้งหมดจะเปิดระบบออนไลน์ให้เข้ามารับการเทรนได้ SkillSet มีเป้าหมายที่จะเข้าถึง 1 ล้านภายในปี 2021

รัฐ-เอกชนสิงคโปร์จับมือสร้าง Digital Future

เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของที่ทำงานทั่วโลก เพราะเศรษฐกิจเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคที่เน้นความรู้มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบต่อธรรมชาติของงานด้วยการให้ความสำคัญต่อทักษะ การอยู่ร่วมกันผู้อื่น อยู่ในสังคม การสื่อสารและการวิเคราะห์มากกว่าเดิม และยังเป็นประเด็นที่ทำให้แรงงานต้องคิดที่ผูกมัดตัวเองตลอดชีวิตกับการที่จะเข้ารับการเทรนนิ่งการเพิ่มทักษะ ตลอดจนยังเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมตระหนักกันในวงกว้างว่า ทักษะที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องนี้เรียนรู้ได้จากที่ไหน และสถานศึกษาต่างจะมีบทบาทในเรื่องนี้ได้อย่างไร

ขณะนี้มีหลายประเทศกำลังหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้ประชาชนยกระดับการเรียนรู้เพิ่มทักษะด้วยความสมัครใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สิงคโปร์ ที่กำลังทดลองด้วยการสนับสนุนการเงินแก่ประชาชนภายใต้โครงการ Individual Learning Accounts ที่ผู้ใหญ่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนคอร์สอบรมตลอดชีวิต ขณะที่กระทรวงแรงงานและสังคมของเยอรมนีกำลังทดสอบโครงการในลักษณะเดียวกัน ด้วยการปรับมาจากรูปแบบการประกันการว่างงาน (Employment Insurance) ที่สนับสนุนการเงินการพัฒนาทักษะตลอดชีวิต

รัฐบาลที่ขับเคลื่อน Lifelong Learning มากที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ สิงคโปร์ ที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก dynamic future ด้วยการเสริมทักษะดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านโครงการ SkillsFuture โดยมีเป้าหมายหลักคือ การพัฒนายกระดับความรู้และเสริมทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับชาวสิงคโปร์มากกว่า 100,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี

SkillsFuture Singapore (SSG) คือคณะกรรมการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่วางนโยบายและจัดงบประมาณพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้กับแรงงานและประชาชนทุกคนในทุกวัย รวมทั้งเด็กนักเรียน ผู้ที่ทำงานในระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง และคนทำงานในระดับสูง

โดยโปรแกรมพัฒนาที่รู้จักกันดีคือ SkillsFuture Credit ที่ให้เงินงบประมาณอุดหนุนค่าเล่าเรียนจำนวน 500 เหรียญสิงคโปร์ให้กับพลเมืองทุกคนที่มีวัย 25 ปีขึ้นไป ที่ผ่านการอนุมัติให้เข้าคอร์ส และยังอุดหนุนการเรียนของคนทำงานในระดับกลางของอาชีพด้วย ในปี 2016 ได้จัดให้มีการเรียนถึง 18,000 คอร์ส มีผู้เข้าเรียนกว่า 126,000 คน

รัฐบาลสิงคโปร์ได้เปิดตัว SkillsFuture ในปลายปีก่อน โดยมีการอบรม 8 ด้าน ประกอบด้วย Data Analytics, Finance, Tech-enabled Services, Digital Media, Cyber Security, Entrepreneurship, Urban Solutions และ Advanced Manufacturing โดยมี Institutes of Higher Learning (IHL) เป็นองค์กรที่รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรได้ถึง 800 หลักสูตร ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 256 มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมแล้วมากกว่า 4,900 คน

งบประมาณประจำปีของ IHL คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 210 ล้านดอลลาร์อีก 100 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังได้ขยายโอกาสด้าน reskill และยกระดับทักษะ (upskill) ไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดหลักสูตรย่อยมากขึ้น

หลักสูตรเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินล่วงหน้าแล้ว 70% และมีหลายหลักสูตรที่ได้ปรับให้เป็น Professional Conversion Programmes (PCPs) ซึ่งมีเป้าหมายผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพในช่วงกลางของอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการสนทนา และขยับขึ้นไปสู่อาชีพใหม่หรือไปอยู่ในภาคธุรกิจใหม่ ที่มีโอกาสมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้า

Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (การศึกษาระดับสูงขึ้นและทักษะ) เปิดเผยว่า การสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วยเวลา 3-4 ปี ไม่ใช่เป็นจุดสิ้นสุดของการเรียนการศึกษา เพราะการเทรนนิ่งการเพิ่มทักษะมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคต มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่น จะมีบทบาทมากขึ้นในการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อส่งเสริมศิษย์เก่า

SkillsFuture ไม่ใช่เรื่องของการเก็บหน่วยกิต และไม่ใช่เพียงการจัดหลักสูตรของ IHL ให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ แต่เป็นการปฏิรูประบบการศึกษา ที่เปิดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ค้นหาความสนใจและความชื่นชอบของตัวเขาเองและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นระบบที่ให้นายจ้างเอกชนที่ให้การเทรน และ IHL ต่างทำหน้าที่ของของตัวเองในการส่งเสริมการเรียนรู้ รวมไปถึงสังคมที่จะตอบรับและตระหนักถึงผลสำเร็จ

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยที่เป็นอิสระก็ได้ขยายขอบเขตของการมอบประกาศนียบัตรเพื่อแสดงถึงการให้ยอมรับตระหนักถึงความสำเร็จในการเรียนรู้ของบุคคล โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียนแบบทางการเต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในปีหน้า

องค์กรจากภาครัฐและเอกชนก็ได้ส่งเสริม Lifelong Learing โดยมีสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University: NTU) ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไป

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ พัฒนาหลักสูตร NUS Lifelong Learners NUS L3 ให้กับศิษย์เก่าทุกคนไม่ว่าจะเรียนจบไปกี่ปีแล้วก็ตาม ได้มีโอกาสกลับมารื้อฟื้นความรู้ รวมทั้ง upskill และ reskill เพื่อให้มีความสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานอยู่ตลอด

NUS L3 ที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2560 ได้ขยายให้ศิษย์เก่าสามารถเรียนได้ 2 หลักสูตรโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งปรากฏว่าในช่วงแรกได้รับการตอบรับอย่างดี มีผู้สนใจสมัครถึงกว่า 8,000 คนสำหรับ 79 คอร์สและยังนับเวลาเรียนให้นานถึง 20 ปีหลังจากที่เริ่มเข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรี เพื่อให้สามารถ reskill และ upskill ได้ตลอดเวลา ตามทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน

โปรแกรมที่ NUS เตรียมไว้มีทั้งคอร์สการเสริมทักษะ คือ Continuing Education and Training (CET) ที่สอดคล้องกับทักษะ 8 ด้านของ SkillsFuture ขณะเดียวกันศิษย์เก่าจำนวน 288,600 ก็จะได้รับสิทธิเข้าเรียนในหลักสูตรเหล่านี้ด้วย ซึ่ง NUS จะมอบคูปองเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ NUS CET ให้กับผู้ที่เพิ่งเข้ามาสู่โครงการ Lifelong Learning เพราะการเข้ามาเรียนที่ NUS ผ่านโครงการ SkillsFuture จะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐบาล ซึ่งค่าใช้จ่าย CET มีความหลากหลายเริ่มตั้งแต่ 800 เหรียญสิงคโปร์ต่อวันขึ้นไป

สำหรับคอร์สที่เปิดให้ศิษย์เก่าของ NUS เข้าเรียนได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ หนึ่ง ชั้นเรียนที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายและได้รับหน่วยกิตด้วย จัดขึ้นโดย NUS สอง คอร์สที่รัฐบาลสนับสนุนเงินค่าเรียนให้ 70-90% โดยจะสนับสนุนค่าเล่าเรียน 70% สำหรับคนที่อายุ 40 ปีลงมา และ 90% สำหรับคนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และสาม คอร์สที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่หน่วยงานด้านพัฒนาทักษะแรงงานจะแจกบัตรส่วนลดค่าเล่าเรียน ซึ่งผู้เรียนต้องผ่านการสอบ เลือกได้ว่าจะเรียนประกาศนียบัตร ปริญญาตรีหรือโท

NUS คาดว่าจะเปิดการอบรม CET ได้ถึง 20,000 คนต่อปีภายในปี 2020 รวมทั้งจะเพิ่มหลักสูตรผู้นำและการบริหารจัดการแก่ผู้เรียนสูงวัย โดยจะเริ่มการสอนได้ในเดือนสิงหาคม 2561 และเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561

ช่วงแรก NUS กำหนดสัดส่วนผู้ใหญ่แต่ละห้องเรียนไว้ที่ 10% ของผู้เรียนทั้งหมด แต่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 50% ซึ่งการเรียนที่นำผู้ใหญ่กับเด็กรุ่นใหม่มาร่วมกันให้ผลดีมากกว่า เพราะผู้ใหญ่มีประสบการณ์และวุฒิภาวะ ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นเต็มไปด้วยพลังที่จะส่งต่อไปยังผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ได้ และการเรียนการสอนมีทั้งแบบที่มีการบรรยายในห้องและเรียนออนไลน์

NUS ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และริเริ่มโครงการเพื่อศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไป ด้วยการก่อตั้ง School of Continuing and Lifelong Education (SCALE) เมื่อปี 2015 ขยายการเรียนไปสู่ผู้ใหญ่ที่ยังทำงานอยู่ ซึ่งโครงการนี้มีทั้งการเรียนแบบไม่เต็มเวลา หลักสูตรที่ได้รับประกาศนียบัตร โปรแกรมพัฒนาผู้บริหาร รวมไปถึงหลักสูตรฟรีแก่ศิษย์เก่าที่ต้องการเสริมทักษะอยู่เสมอ

ทางด้านมหาวิทยาลัยหนานหยางประกาศอุดหนุนค่าเล่าเรียน 1,600 เหรียญสิงคโปร์ต่อหัวให้กับศิษย์เก่า ผู้ที่กลับเข้ามาเรียนคอร์สเสริมทักษะ ที่มีให้เลือกมากถึง 120 คอร์ส ตั้งแต่การเงินธุรกิจไปจนถึงการกราฟิกดีไซน์, data analytics, cloud computing, nanomaterials และ immunology

ในแต่ละปีคอร์สเสริมทักษะจะเปิดรับผู้เรียนราว 5,000 คน ซึ่งศิษย์เก่าสามารเข้ามาเรียนได้ 2 คอร์สต่อปี เลือกจากคอร์สระยะสั้นที่มี 63 คอร์ส ใช้เวลาเรียน 1 วันไปจนถึง 1 สัปดาห์ หรือคอร์สที่ใช้เวลาเรียนกันเป็นเทอม มีตั้งแต่ 13-15 สัปดาห์ต่อเทอมและให้เลือก 55 คอร์ส และยังมี 8 คอร์สระดับปริญญาโทสำหรับผู้ที่สนใจในหัวข้อระดับสูงขึ้นไป บางคอร์สเป็นการสอนแบบออนไลน์

หลายๆ โครงการช่วยให้พลเมืองสิงคโปร์มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม และปรับตัวเองใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดแรงงานโลก และรักษาตำแหน่งผู้นำของเอเชียในด้านการศึกษาธุรกิจและเทคโนโลยีได้