ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำไมเศรษฐกิจไทยชะลอเร็วกว่า “อาเซียน”? จนกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ท่ามกลางกระแสโลกขาลง

ทำไมเศรษฐกิจไทยชะลอเร็วกว่า “อาเซียน”? จนกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ท่ามกลางกระแสโลกขาลง

25 กรกฎาคม 2019


เรียกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังส่งสัญญาณย่ำแย่ต่อเนื่อง ภายหลังจาก “ไอเอ็มเอฟ” ปรับลดจีดีพีของโลกลงจาก 3.3% เป็น 3.2% ขณะที่ “คนป่วยแห่งเอเชีย” คนใหม่อย่าง “เศรษฐกิจไทย” จากการประมาณการช่วงที่ผ่านมา นอกจากเติบโตต่ำกว่าภูมิภาค “อาเซียน” แล้วยังพบว่าจีดีพีกลับชะลอตัวลงเร็วกว่าและไม่สอดคล้องกับเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด อาจจะสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมาในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย และเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่จะแถลงนโยบายและปฏิบัติหน้าที่ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมว่าควรจะปรับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจอย่างจริงจังหรือไม่?

  • เศรษฐกิจไทย ป่วยหรืออ่อนแอ?
  • ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกกำลังส่งสัญญาณอะไร?
  • คนป่วยแห่งเอเชีย : The Sick Man of Asia เป็นโรคร้ายเรื้อรัง หรือ แค่เป็นหวัด
  • ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?
  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือไอเอ็มเอฟ ออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 (World Economic Outlook 2019, July 2019) ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงเซื่องซึม ตั้งแต่การประมาณการครั้งที่ผ่านมาในเดือนเมษายน สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มกำแพงภาษีในสินค้านำเข้าของจีนและจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีในสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาบางประเภท แม้ว่าการขึ้นภาษีการค้าเพิ่มเติมจะถูกชะลอลงภายหลังการประชุมจี 20 นอกจากนี้ ห่วงโซ่การผลิตเทคโนโลยีโลกยังคงถูกคุกคามจากการคาดการณ์คว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ความไม่แน่นอนในประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ยังคงดำเนินต่อไป และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น

    ภายใต้บริบทต่างๆ เหล่านี้ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโตได้ 3.2% ในปี 2562 และ 3.5% ในปี 2563 ซึ่งลดลงจากการประมาณการในครั้งก่อนหน้า 0.1% ในทั้ง 2 ปี อนึ่ง การคาดการณ์จีดีพี รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอ่อนแอ สะท้อนไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาด การลงทุนและบริโภคของเอกชนโดยเฉพาะสินค้าคงทนยังคงเซื่องซึมเช่นเดียวกันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายในระยะยาวออกไป ทำให้การค้าโลกที่ขึ้นอยู่กับการค้าขายเครื่องจักรและสินค้าคงทนยังชะลอตัวต่อเนื่อง

    “การฟื้นตัวในปี 2563 จากประมาณการยังคงไม่แน่นอนและเสี่ยงที่จะชะลอตัวต่อไป โดยขึ้นอยู่กับความมีเสถียรภาพของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่จะรับมือกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รวมไปถึงความคืบหน้าของทางออกเกี่ยวกับนโยบายการค้าในปัจจุบัน” รายงานระบุ

    ความเสี่ยงของการประมาณการยังคงเป็นไปในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นตั้งกำแพงภาษีและสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้น, ความตึงเครียดทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงและชะลอการลงทุนของเอกชนต่างๆ ออกไป, ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ยาวนานยังจะทำให้ตลาดการเงินสะสมความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง, แรงกดดันของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้การชำระหนี้คือมีความยากลำบากมากขึ้น, สุดท้ายคือพื้นที่นโยบายการเงินที่จำกัดในการต่อสู้กับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ภาวะการชะลอตัวอาจจะเกิดขึ้นยาวนานกว่าปกติที่เคยเป็นมา

    นโยบายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศยังคงเป็นตัวชี้ขาดในการทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกแข็งแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดความตึงเครียดด้านเทคโนโลยีและการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการลดความไม่แน่นอนที่อยู่รอบข้อตกลงทางการค้าต่างๆ เช่น ระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป แต่ละประเทศไม่ควรจะให้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือที่มุ่งเป้าไปที่ดุลการค้าระหว่างประเทศหรือเป็นข้อต่อรองกดดันประเทศอื่นๆ

    ด้วยเงินเฟ้อที่ชะลอลงและอุปสงค์ที่ชะลอลง นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงเหมาะสมสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมไปถึงประเทศตลาดเกิดใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนาที่การคาดการเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ นโยบายการคลังควรจะถูกใช้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายหลายประการ เช่น ชดเชยอุปสงค์การขาดหายไปอย่างเหมาะสม, ป้องกันความเสี่ยงต่างๆ, เพิ่มศักยภาพในการเติบโตผ่านการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และสร้างกรอบการคลังที่ยั่งยืนในระยะกลาง

    “ถ้าการเติบโตยังคงเติบโตต่ำกว่าที่คาด นโยบายเศรษฐกิจมหภาคจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายมากขึ้นแต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ และนโยบายที่สำคัญสำหรับทุกประเภทคือการเพิ่มการมีส่วนร่วมและเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนกลุ่มต่างๆ ความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจที่จะรองรับภาวะชะลอตัว และให้ความใส่ใจกับข้อจำกัดที่มีต่อศักยภาพของการเติบโต” รายงานระบุ

    “คนป่วย”กับความท้าทายของรัฐบาล?

    อย่างไรก็ตาม หากเทียบเศรษฐกิจระหว่างโลก, ภูมิภาคอาเซียน และไทยแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยถือว่ารุนแรงกว่าอย่างชัดเจน โดยในเดือนเมษายน 2561 หรือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็ง ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ที่ระดับ 4% ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน-5 ประกอบด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย โดยรวมเติบโตได้ 5.4% โดยแต่ละประเทศยังเติบโตได้ในระดับที่สูง เช่น ไทยเติบโตได้ 3.8% สูงสุดในรอบหลายปี, เวียดนามเติบโตได้ 6.5% ฟิลิปปินส์เติบโตได้ 6.8% เป็นต้น

    ต่อมาเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงในเดือนตุลาคม โดยไอเอ็มเอฟลดประมาณการเติบโตของโลกลงเหลือ 3.7% และปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนลงเหลือ 5.2% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเข้มแข็งและรักษาแรงส่งของเศรษฐกิจไว้ได้ดีและได้รับการปรับประมาณการขึ้น 0.1% เป็น 3.9% ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างฟิลิปปินส์และมาเลเซียกลับถูกลดประมาณการเศรษฐกิจไป 0.4% เหลือ 6.6% และ 4.6% ตามลำดับ

    เมื่อสงครามการค้าปะทุขึ้นอย่างรุนแรงและชัดเจนในช่วงสิ้นปี 2561 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันจนกระทบกับเศรษฐกิจไปทั่วโลก ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณเศรษฐกิจของโลกลงในเดือนมกราคม 2562 เหลือ 3.5% และลดลงอีกในเดือนเมษายน 2562 เหลือ 3.3% และล่าสุดเหลือ 3.2% ในไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยถือว่าเป็นการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง 4 ครั้งรวมกันกว่า 0.7% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอาเซียนยังคงรักษาแรงส่งได้ต่อเนื่องโดยไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการเหลือ 5.1% ในเดือนมกราคม 2562 และคงการประมาณการไว้ในเดือนเมษายน 2562 ก่อนจะลดลงเหลือ 5% ในไม่กี่วันที่ผ่านมา

    หากหันมาดูแยกตามรายประเทศจะพบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ต่อไป โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจจากการค้าโลกที่ปั่นป่วนและสะท้อนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นหลักและไม่สามารถยืนได้ด้วยรากฐานของตัวเองหรือเติบโตจากภายในได้อย่างที่รัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายมาตลอด 5 ปี ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนกลับสามารถต้านทานกระแสสงครามการค้าโลกได้ค่อนข้างดีกว่าอย่างชัดเจน โดยไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการของไทยลงในเดือนเมษายนลงถึง 0.4% เหลือเพียง 3.5% ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้ปรับการเติบโตขึ้น 0.1% เป็น 5.2%, ประเทศเวียดนามยังคงการเติบโตไว้ที่ 6.5% มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561, ฟิลิปปินส์ถูกปรับลดการเติบโตลง 0.1% เป็น 6.5% และสุดท้ายมาเลเซียที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% เป็น 4.7%

    ขณะที่การประมาณการล่าสุดในภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันของ The ASEAN+3 Macroeconomic Research Office ซึ่งเป็นรายงานประเมินเศรษฐกิจประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ระบุความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในลักษณะเดียวกัน โดยเศรษฐกิจไทยถูกปรับลดจาก 3.8% ในการประมาณการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 เป็น 3.3% หรือลดลงไปกว่า 0.5% ขณะที่อินโดนีเซียไม่ถูกปรับลดและเติบโตได้ที่ระดับ 5.1%, มาเลเซียถูกปรับลดลง 0.1% เหลือ 4.5%, ฟิลิปปินส์ถูกปรับลดลง 0.1% เหลือ 6.3% และเวียดนามคงที่ที่ 6.6%

    คำถามต่อมาคือ รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังแถลงนโยบาย ณ รัฐสภา ได้ตระหนักและเตรียมรับมือกับพายุทางเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้าสู่ “คนป่วยแห่งเอเชีย” หรือไม่ รวมไปถึงว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 5 ปีของการบริหารงานได้เตรียมความพร้อมไว้เพียงพอหรือเดินมาถูกทางหรือไม่ และควรจะต้องทบทวนแนวนโยบายเศรษฐกิจอย่างจริงจังอีกครั้งหรือไม่