ThaiPublica > คอลัมน์ > คดี Ripple: เงินดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์?

คดี Ripple: เงินดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์?

9 พฤษภาคม 2018


พิเศษ เสตเสถียร

ที่มาภาพ: https://cryptocurrencynews.com/daily-news/crypto-news/payment-services-companies-are-showing-confidence-in-ripples-xrapid-product/

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้เกิดการฟ้องร้องเกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่ชื่อ Ripple ที่สหรัฐอเมริกา และคดีนี้กำลังเป็นที่สนใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเงินดิจิทัล

เงินดิจิทัลที่ชื่อว่า Ripple นี้เป็นเงินดิจิทัลที่มีลักษณะพิเศษ เป็นเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงเครือข่าย (network) มากยิ่งกว่าการที่จะเป็นเงินในการชำระหนี้เหมือนเงินดิจิทัลอื่นๆ โดยเครือข่ายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่าน Blockchain อย่างเช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำได้รวดเร็วกว่าระบบปัจจุบันหลายเท่า ดังนั้น จึงมีสถาบันการเงินเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายนี้เป็นจำนวนมาก อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ก็เข้าร่วมกับเครือข่ายนี้ และเปิดให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายของ Ripple

คดี Coffey v. Ripple Labs Inc. เป็นเรื่องนาย Ryan Coffey ได้ฟ้องบริษัท Ripple Labs Inc. และนาย Bradley Garlinghouse ซึ่งเป็น CEO ของบริษัทต่อศาลรัฐแคลิฟอร์เนียในข้อหาว่า บริษัท Ripple กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ของรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยการขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

เรื่องมีอยู่ว่านาย Coffey ได้ซื้อเงินดิจิทัล (ที่เป็น token) ของ Ripple ที่มีตัวย่อว่า XRP จำนวน 650 token ราคา 2.60 ดอลลาร์ต่อ token รวมเป็นเงิน 1,690 ดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนมกราคมของปีนี้ และขายออกไปในไม่กี่สัปดาห์ถัดมาโดยขาดทุนทั้งหมด 551 ดอลลาร์หรือประมาณ 32% จากที่ลงทุน

เรื่องก็ดูเหมือนนักลงทุนที่ไปเทรดหุ้นแล้วหุ้นมันลงก็เลยขาดทุน ถามว่าขาดทุนแล้วฟ้องได้หรือ? ก็ต้องบอกว่านาย Coffey แกก็มีประเด็นเหมือนกัน กล่าวคือ โดยทั่วไป เงินดิจิทัลทั่วไปนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการ “ขุด” (Mine) หรือที่เรียกกันเป็นภาษาเทคนิคว่า “Proof-of-Work” โดยบรรดานักขุดที่ได้ออกแรงขุดมานั้นจะได้เงินดิจิทัลเป็นรางวัล ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขุด นี่ว่ากันแบบง่ายๆ นะครับ

แต่ Ripple มีวิธีการซึ่งแตกต่างออกไป คือ บริษัทจะขุดเหรียญขึ้นมาก่อน จำนวน 100 พันล้าน token โดย 80% ของ token ที่ขุดได้ถือโดยบริษัท Ripple เอง และส่วนที่เหลือถือโดยผู้ก่อตั้งบริษัท คราวนี้ก็มีบางส่วนของ token ที่บริษัทเป็นเจ้าของได้ถูกนำออกขายเสนอขายมาตั้งแต่ปี 2556 ถึงมือนักลงทุนทั่วไปเพื่อเป็นเงินทุนในการทำวิจัยและใช้จ่ายในกิจการของบริษัท ตรงนี้แหละ ทำให้รายได้หลักของบริษัท Ripple คือการขายเหรียญ (หรือ token) XRP ให้แก่นักลงทุนทั้งที่เป็นรายใหญ่และรายย่อยโดยผ่านศูนย์ซื้อขายเงินคริปโตต่างๆ

ท่านผู้อ่านคงยังจะจำได้ว่า SEC ของสหรัฐอเมริกาได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า การขายเงินดิจิทัลต่างๆ ถือเป็นการขายหลักทรัพย์ และจะต้องกระทำการตามกฎหมายว่าด้วยการขายหลักทรัพย์

นาย Coffey ก็เลยบอกว่า การขายเหรียญของ Ripple เป็นการขาย ICO ที่ต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น (“never-ending ICO”) ในแง่ของกฎหมายก็แปลว่า จำเลยยังทำการขายอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการขายหลักทรัพย์ที่จะต้องไปจดทะเบียนเสียก่อน

ในคำฟ้องของนาย Coffey บอกว่า “จำเลยได้รับผลกำไรจำนวนมหาศาลโดยการขายเหรียญ XRP อย่างเงียบๆ แก่ประชาชน …เพื่อที่จะทำให้ความต้องการเหรียญ XRP มีมากขึ้น และก็ทำกำไรได้มากขึ้น บริษัท Ripple ได้สร้างภาพของการลงทุนในเหรียญ XRP ว่าเป็นการลงทุนที่ดี จะเหรียญมีราคาสูงขึ้น และจูงใจให้ลูกค้าของบริษัท Ripple ใช้เงินเหรียญ XRP ดังกล่าว”

เพราะฉะนั้น นาย Coffey จึงกล่าวว่า “XRP เป็นหลักทรัพย์ จำเลยเองก็แสดงทราบดีว่า นักลงทุนในเหรียญ XRP ต่างก็มุ่งหวังผลกำไร บริษัทจึงได้ทำเหตุการณ์ซึ่งเป็นการสร้างราคาให้เหรียญ XRP ในโอกาสต่างๆ หลายโอกาส” โดยในคำฟ้องมีหลักฐานของการที่ผู้บริหารของ Ripple ได้ให้ข่าวทางสื่อโซเชียลและเว็บไซต์ข่าวต่างๆ มาประกอบด้วย

อันที่จริง ทาง SEC นั้นก็ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยโดยตรงเกี่ยวกับเหรียญ XRP (รวมทั้งเหรียญของ Etherium ด้วย) เพราะความที่ขั้นตอนทางคอมพิวเตอร์ของเหรียญดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างไปจากเหรียญเงินดิจิทัลทั่วไป ซึ่งหลักที่ทาง SEC ใช้ในการบอกว่าเงินดิจิทัลใดเป็นหลักทรัพย์นั้นคือหลักที่เรียกกันว่า “Howey test” ซึ่งมาจากคดี Securities and Exchange Commission v. W. J. Howey Co. ซึ่งตัดสินในปี พ.ศ. 2489 โดยในคดีดังกล่าวศาลได้วางหลักในการดูว่าสิ่งใดเป็นหลักทรัพย์ก็คือ

    1. มีการลงทุนด้วยเงิน
    2. มีการคาดหวังถึงผลกำไร
    3. การลงทุนด้วยเงินนั้นได้ลงทุนในกิจการ
    4. ผลกำไรที่ได้เป็นผลจากการดำเนินงานของผู้เริ่มก่อการของบริษัทหรือจากบุคคลที่สาม

ซึ่งตามความเห็นของนาย Coffey การขายเหรียญ XRP เข้าองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อดังกล่าว ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ศาลจะเห็นด้วยหรือไม่

คดีเงินเหรียญ Ripple นี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับวงการเงินดิจิทัลว่า เงินดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่างนั้นจะถือว่าเป็นหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่