ThaiPublica > คอลัมน์ > อคติของการไม่อยากรับรู้ข่าวสารที่เราไม่อยากได้ยิน: Information Avoidance

อคติของการไม่อยากรับรู้ข่าวสารที่เราไม่อยากได้ยิน: Information Avoidance

28 กรกฎาคม 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

ตอนที่ผมเริ่มเขียนคอลัมน์ในตอนแรกๆให้กับไทยพับลิก้าเมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว มีอคติทางด้านความคิด (cognitive bias) อยู่อย่างหนึ่งที่ผมมักจะยกขึ้นมาเขียนเป็นประจำ นั่นก็คือ confirmation bias หรือการที่คนเรามักจะมองหาแต่ข้อมูลที่รองรับในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชียร์พรรคการเมือง X เราก็จะเปิดรับฟังแค่ข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนพรรคการเมือง X อยู่อย่างเดียว เป็นต้น

มาวันนี้ ผมขอเอา cognitive bias ที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกันกับ confirmation bias มาเล่าให้ฟัง cognitive bias นี้ก็คือ information avoidance หรือการที่คนเราหลีกเลี่ยงข้อมูลบางอย่างที่เราไม่อยากจะได้ยิน

จะว่าไปคนที่ตกเป็นเหยื่อของ confirmation bias ก็มักจะตกเป็นเหยื่อของ information avoidance อยู่แล้ว เพราะการที่เราค้นหาแต่สิ่งที่เราอยากได้ยิน ในเวลาเดียวกันเราก็กำลังหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราไม่อยากจะได้ยินไปโดยปริยาย

แต่ information avoidance อาจจะมีผลกระทบกับชีวิตของเราในทางที่ลบในชีวิตประจำวันมากกว่าผลกระทบของ confirmation bias เยอะ

ยกตัวอย่างเช่น การที่คนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบไปหาหมอเพราะไม่อยากจะได้ยินอะไรที่อาจจะทำให้เราไม่สบายใจ (“เราได้ทำการตรวจเลือดของคุณแล้ว หมอขอโทษด้วยแต่คุณเป็นมะเร็งนะครับ”) อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสของการได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

หรือการที่เราไม่อยากที่จะรับรู้ negative feedback จากเจ้านายหรือจากลูกค้า เพราะไม่อยากฟังแล้วไม่สบายใจ อาจจะส่งผลให้เราไม่สามารถนำ feedback นั้นๆมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

Russell Golman นักเศรษฐศาสตร์ของ CMU ได้เอ่ยถึง information avoidance ว่า มันเป็น cognitive bias ที่ตลกดี เพราะการข้อมูลข่าวสารที่เราสามารถหยิบมาช่วยพัฒนาตัวเราเองได้ควรที่จะเป็นอะไรที่มีคุณค่ามหาศาล ไม่ใช่เป็นอะไรที่เราควรจะหลีกเลี่ยง และองค์กรส่วนใหญ่ที่ประสบกับความสำเร็จนั้นมักจะเป็นองค์กรที่มีระบบในการรับฟัง negative feedback ที่ดี และเป็นองค์กรที่สามารถนำเอา negative feedback นี้ไปศึกษาและนำไปปรับปรุงให้การบริหารองค์กรดีขึ้นได้

ว่าแล้วผมก็หวังว่าเพื่อนๆจะไม่ตกเป็นเหยื่อของทั้ง confirmation bias และ information avoidance นะครับ เพราะการมี “สมองที่เปิด” รับรู้ข้อมูลจากหลายๆด้านนั้น ทั้งข้อมูลที่อาจจะทำให้เราสบายใจและไม่สบายใจเมื่อได้ยิน นับว่าเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ดีไม่ว่าจะเป็นผู้นำของครอบครัว ขององค์กร หรือของสังคมก็ตาม