ThaiPublica > เกาะกระแส > ครบรอบ 1 ปี เขื่อนแตกในลาว ชาวบ้าน 5,000 คน ยังไร้ที่อยู่ถาวร ใช้ชีวิตยากลำบาก ไม่มีใครรับผิดชอบ

ครบรอบ 1 ปี เขื่อนแตกในลาว ชาวบ้าน 5,000 คน ยังไร้ที่อยู่ถาวร ใช้ชีวิตยากลำบาก ไม่มีใครรับผิดชอบ

25 กรกฎาคม 2019


ที่มาภาพ: เพจ LaoFAB

ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 สันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 410 เมกะวัตต์ ในทางตอนใต้ของประเทศลาว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แตก เกิดน้ำท่วมกะทันหันที่เมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 6,600 คน หลายร้อยคนสูญหาย มีผู้เสียชีวิต 71 ราย บ้านเรือนถูกกระแสน้ำพัดพาจมหายไป ระดับน้ำในหลายพื้นที่สูงจนมิดหลังคาเรือน และได้ไหลไปไกลจนถึงทางตอนเหนือของกัมพูชา

รายงานที่จัดทำโดย Inclusive Development International และ International Rivers ที่จัดทำในโอกาสครบรอบ 1 ปี เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวแตก ระบุว่า ชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตกในลาวมากที่สุดจำนวนราว 5,000 คนยังไร้ที่อยู่และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ภายในค่ายพักพิงชั่วคราว

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อาศัยในค่ายพักพิงในการเดินไปทางไปเยี่ยมครั้งล่าสุด พบว่า ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หลังจากเขื่อนแตกต้องพักพิงในเต็นท์นานนับเดือน จากการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินขององค์กรระหว่างประเทศ

ปัจจุบันชาวบ้านพักอยู่ในค่ายพักพิงที่ก่อสร้างด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูปที่มีขนาดเล็ก และไม่มีพื้นที่พอให้ทำอาหาร ทานอาหาร และเป็นที่นอน เป็นที่พักที่แออัด ไม่มีที่ระบายอากาศ และแคบ ทำให้ครอบครัวไม่มีพื้นที่ส่วนตัว

นอกจากนี้ชาวบ้านยังบอกว่า ค่ายพักพิงยังร้อนแทบทนไม่ได้ในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในหน้าร้อน อีกทั้งไม่มีน้ำใช้ ทำให้ชาวบ้านบางรายต้องซื้อน้ำดื่มด้วยตัวเอง

ภายใต้กฎหมายการตั้งถิ่นฐานใหม่และการประกอบอาชีพ (Resettlement and Vocation Law) ประชาชนที่ไร้ที่อยู่หรือพลัดถิ่นจะต้องพักพิงในค่ายพักจนกว่ารัฐบาลจะจัดสรรพื้นที่แห่งใหม่ให้ได้ และต้องมีการสร้างที่อยู่อาศัยพร้อมโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่าจะใช้เวลาราว 4-5 ปีกว่าที่พักถาวรแห่งใหม่จะพัฒนาเสร็จสิ้นในพื้นที่ตามที่รัฐกำหนด

รัฐบาลได้ทำการรังวัดที่ดินในพื้นที่แห่งใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว แต่การก่อสร้างบ้านและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เริ่มขึ้น ซึ่งพื้นที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่นี้แห่งหนึ่งเคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่นี้เป็นเพียงที่ดินพร้อมตัวบ้านเพื่อพักอาศัยเท่านั้น แต่ไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรม

ที่มาภาพ: https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/reckless_endangerment_final_for_web.pdf

ชาวบ้านบางส่วนในศูนย์พักพิงไม่เข้าใจว่า ทำไมที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่จึงมีแค่ตัวบ้าน ทำไมไม่ใช่หมู่บ้านที่เคยพักอาศัยเดิม เพราะบางคนต้องการกลับไปถิ่นเดิม ซึ่งชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายกลับไปแล้ว โดยเฉพาะคนที่มีบ้านหรือหมู่บ้านที่ยังใช้อาศัยได้ส่วนหนึ่ง

ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่ต้องการกลับไป เพราะเสียหายหมดแล้ว และไม่อยากพบเจอกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเศร้าและการสูญเสีย และอีกส่วนหนึ่งเกรงว่าเขื่อนอาจจะแตกอีกก็ได้

ในเดือนพฤษภาคม ชาวบ้าน 49 ครัวเรือนจากบ้านใหม่ หมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่ ได้ย้ายออกจากศูนย์พักพิงกลับไปบ้านเดิม และช่วงนั้นชาวบ้านที่บ้านใหม่ได้ให้ข้อมูลว่า ยังมีบ้านบางหลังที่ไม่เสียหายจนเกินไป และบางคนได้สร้างบ้านหลังใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมในหมู่บ้านเดิม

แม้วิถีชีวิตจะไม่มีความมั่นคง แต่ชาวบ้านยังคงกลับไปที่บ้านเดิมเพื่อหาปลายังชีพ และในต้นเดือนกรกฎาคม แม่น้ำเซเปียนก็เกิดภาวะน้ำเอ่อล้นอย่างฉับพลัน ชาวบ้านที่บ้านใหม่เล่าว่า ตัวแทนจากโครงการได้มาแจ้งให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ในทันทีเพราะเขื่อนมีความเสี่ยงที่อาจจะแตกได้อีก ด้วยความหวาดกลัว ชาวบ้านจึงย้ายกลับไปศูนย์พักพิง

สำหรับชาวบ้านจำนวนมาก การที่ต้องอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน โดยไม่มีอาหารและน้ำที่เพียงพอ ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกให้หดหู่และสิ้นหวัง

ที่มาภาพ: https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/reckless_endangerment_final_for_web.pdf

จากการพูดคุยกับชาวบ้าน รายงานระบุว่า ชาวบ้านบางคนบอกว่า รู้สึกเหมือนกับถูกขังคุก ขณะที่ผู้หญิงบางคนบอกว่า บางทีการตายไปพร้อมกับคนอื่นก็น่าจะดีกว่าการมีชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะที่ยากลำบาก

นอกจากนี้ ชาวบ้านที่สูญเสียทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง พื้นที่การเกษตร ครอบครัวที่รับผลกระทบก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชย ไม่มีกระบวนการที่โปร่งใสหรือกลไกในการประเมินความเสียหาย และเสนอเงินชดเชย

รายงานข่าวจากสื่อระบุว่า รัฐบาลลาวกำลังเจรจากับผู้พัฒนาโครงการเกี่ยวกับจำนวนเงินชดเชยการสูญเสียทรัพย์สิน หลังจากภัยพิบัติผ่านพ้นไป ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้รับเงินสดครัวเรือนละ 60-75 ดอลลาร์หรือราว 500,000-700,000 กีบ ต่อมาต้นปี 2019 ครอบครัวที่สูญเสียญาติพี่น้องจากการเสียชีวิตในเหตุการณ์ซึ่งมีจำนวน 71 ชีวิตได้รับเงินเยียวยารายละ 10,000 ดอลลาร์

สำหรับ 6 หมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ทางการได้จ่ายเงินเดือนละ 5,000 กีบต่อหัวต่อวัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย และมีเงินรายเดือนให้อีก 100,000 กีบ รวมแล้วคิดเป็นเงินราว 30 ดอลลาร์ต่อเดือน

ในการพูดคุยกับชาวบ้านในเดือนมีนาคม เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน ในเดือนกรกฎาคม ชาวบ้านแจ้งว่าไม่ได้รับเงินมาแล้ว 2 เดือน แต่เงินประจำเดือนมิถุนายนยังได้รับเต็ม

เงินยังชีพที่รัฐบาลจ่ายให้นี้เป็นการจ่ายตามหลังไม่ได้จ่ายล่วงหน้า จึงทำให้การจ่ายเงินไม่เป็นไปตามกำหนด

สำหรับชาวบ้านในทุกหมู่บ้านที่ประสบกับเขื่อนแตกและกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ รัฐบาลได้จัดสรรข้าวสารให้คนละ 20 กิโลกรัมต่อเดือน แต่จากการรายงานของชาวบ้าน ข้าวที่ได้รับเป็นข้าวคุณภาพต่ำ แทบจะกินไม่ได้ และไม่ใช่ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารประจำของชาวบ้าน

ตอนนี้ชาวบ้านได้รับข้าวจากรัฐ และจะทยอยลดลงหลังจากเดือนธันวาคมปี 2019 ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านอย่างไร ชาวบ้านบางส่วนได้รับเครื่องมือไถนาและพันธุ์ข้าวแล้ว แต่ไม่มีที่ให้ปลูกข้าว มีบางส่วนเท่านั้นที่ปลูกข้าวในที่นาเดิม เพราะที่นาส่วนใหญ่ยังคงมีเศษขยะดินโคลนและตะกอนทับถม และยังไม่รู้ว่าจะจัดการฟื้นฟูที่นาอย่างไร ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ หมู่บ้านท่าแสงจัน มีที่นาเพียง 67 เฮกตาร์เท่านั้นที่ยังใช้ทำนาได้จากทั้งหมด 386 เฮกตาร์

ชาวบ้านจากบ้านใหม่ให้ข้อมูลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนจากโครงการได้ลงพื้นที่และหารือเกี่ยวกับการจ่ายชดเชยให้กับทรัพย์สินที่สูญเสีย ในช่วงแรกของการลงพื้นที่ ตัวแทนโครงการได้เสนอจ่ายเงินชดเชยทรัพย์สินบางรายการ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถแทร็กเตอร์ และรถประเภทอื่นๆ ซึ่งหักค่าเสื่อมไปมากแล้วจากการใช้งานมานาน ดังนั้นชาวบ้านจึงปฏิเสธข้อเสนอนี้ เพราะเงินไม่มากพอที่จะนำไปซื้อรถใหม่แทนคันเก่า และยังไม่นับวิถีชีวิตที่หายไปจากการสูญเสียทรัพย์สิน

รายงานและจากการสัมภาษณ์บ่งชี้ว่า บริษัทที่ดำเนินโครงการได้กลับไปที่ศูนย์พักพิง และเสนอเงินชดเชยที่มากขึ้นให้กับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็ยังคงยืนยันว่าเงินน้อยเกินไป นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับการเสนอให้ลงชื่อข้อตกลงยินยอมรับเงิน 50% ของเงินชดเชยทั้งหมดไปก่อน ส่วนที่เหลืออีก 50% จะจ่ายในภายหลังแต่ไม่ได้กำหนดเวลาชัดเจน แต่จากรายงานข่าว บริษัทรับผิดชอบโครงการจะรับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยโดยจะจ่ายตรงเข้าบัญชีธนาคารให้กับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

ที่มาภาพ: https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/reckless_endangerment_final_for_web.pdf

ให้ชาวบ้านเป็นแรงงานบริษัทต่างชาติ

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมมีรายงานข่าวว่า ที่ดินซึ่งได้มีการปรับพื้นที่โดยภาครัฐเพื่อเตรียมชดเชยให้ชาวบ้านในหมู่บ้านสะมงไต้ เพื่อใช้เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนนี้ ได้นำไปอนุญาตให้บริษัทจีนใช้ประโยชน์ปลูกกล้วยแทนเสียแล้ว และยังได้ว่าจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นแรงงานให้บริษัท

ชาวบ้านจากบ้านใหม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางการยังได้เตรียมพื้นที่ให้กับชาวบ้านแต่ได้รับการแจ้งว่าจะต้องทำงานให้กับบริษัทเวียดนามที่จะใช้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย และไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกพืชอย่างอื่นนอกเหนือจากที่บริษัทกำหนด อีกทั้งชาวบ้านจะได้รับค่าตอบแทนจากเงินที่เหลือหลังบริษัทหักค่าใช้จ่ายแล้ว

แต่ชาวบ้านบอกว่า พวกเขาได้ยืนยันที่จะไม่เข้าร่วม เพราะเห็นว่าจะไม่ได้อะไรเลยหากผลผลิตน้อยกว่าที่คาด และบางคนเกรงว่าจะตกเป็นทาสบริษัท

ชาวบ้านซึ่งไร้ที่อยู่นี้เริ่มไม่พอใจมากขึ้น และมีความรู้สึกว่าถูกลืม องค์กรด้านสิทธิมนุษยนชนที่ให้ความช่วยเหลือในช่วงแรกได้ออกจากพื้นที่หมดแล้ว

รายงานระบุว่า ขณะที่ทีมงานลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำรายงาน ชาวบ้านแสดงออกถึงความไม่วางใจความรับผิดชอบในการดูและการบรรเทาความเดือดร้อน และรู้สึกว่า การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือและแม้แต่การจ่ายเงินเยียวยามาไม่ถึงมือพวกเขา

ชาวบ้านหลายคนหงุดหงิดกับการที่ต้องพึ่งพาการบริจาคและต้องจัดการกับการขาดแคลนยาและสิ่งอื่นๆ การที่ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ ไม่มีการขนส่ง หรือแม้แต่รถไถแบบเดินตาม ทำให้รู้สึกเหมือนกับถูกกักบริเวณ ชาวบ้านจำนวนมากบอกว่าการสามารถเดินทางหรือมีการคมนาคมบ้าง ความรู้สึกพึ่งพาตัวเองก็จะกลับมา ทำให้สามารถจับปลา หาอาหาร หรือเดินทางไปตลาดได้

ในหมู่บ้านอื่นนอกเหนือจาก 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนี้แล้วก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือมากนัก นอกจากข้าวสารที่ได้รับทุกเดือน แต่กระนั้นข้าวที่ปันส่วนนี้ก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องหลังจากที่สูญเสียผลผลิตที่เก็บเกี่ยวก่อนน้ำท่วม

ชนเผ่าโอย (Oi) ในหมู่บ้านท่าอวน ประท้วงสำเร็จจนได้ข้าวปันส่วนเพิ่มเป็น 18 กิโลกรัม จาก 12 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน

กลุ่มชาติพันธ์ยาหวน (Nya Heun) เป็นอีกกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ช่วง 20 ปีก่อนหน้าที่มีการวาง แผนสร้างเขื่อน กลุ่มชาติพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในกลุ่มคน 3,000 คนที่ต้องโยกย้ายไปพื้นที่ใหม่ ที่เตรียมไว้แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและไม่ได้รับการจัดสรรให้ถือครองที่ดินในพื้นที่ใหญ่พอที่จะทำการเกษตรได้ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างจริงจังและมากพอ

ชาวบ้านจึงต้องกลับไปที่เดิมเพื่อทำการเกษตรให้พอกับการเลี้ยงชีพในบริเวณใกล้แม่น้ำเซน้ำน้อย และใกล้พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนดินและอ่างเก็บน้ำ

ในเดือนพฤษภาคม มีบางคนได้ย้ายกลับไปอยู่ที่เดิม มี 72 ครัวเรือนที่ไม่ยอมย้ายออกจากที่ทำกินซึ่งเป็นบ้านเกิด อาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยวัสดุเท่าที่หาได้ และยังคงมีวิถีชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอยกับเก็บของป่า

แม้ทุกหมู่บ้านจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม แต่ที่ดินที่ได้ปลูกกาแฟ ปลูกข้าว พืชผัก และผลไม้ เสียหายและไร้ประโยชน์จากน้ำท่วม ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา

โครงการมีประกันภัยรับผิดต่อบุคคลภายนอก

การพัฒนาโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงอย่างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยนี้ได้ทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในลาวและกัมพูชาสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้ แต่ชาวบ้านไม่มีใครรู้ว่าโครงการมีประกันความรับผิดอยู่ เพราะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ และถึงแม้รู้ว่ามีประกันภัยรับผิดต่อบุคคลภายนอกอยู่ แต่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในประเทศที่ระบบยุติธรรมยังไม่มีอิสระและมีการปราบปรามอย่างกว้างขวาง ก็อาจจะเป็นอันตรายได้

ที่ปรึกษาด้านการประกันภัยโครงการ บริษัท เอออน (ประเทศไทย) รับผิดชอบในการจัดการทำประกันให้กับโครงการในหลายด้านรวมไปถึงประกันการรับผิด

กรมธรรม์ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์นี้แบ่งออกเป็น 2 กรมธรรม์ โดยกรมธรรม์แรกมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองการก่อสร้างภายใต้บริษัทผู้รับเหมา เอสเค เอนจิเนียริงและคอนสตรักชัน ส่วนอีกกรมธรรม์มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์เป็นการประกันภัยต่อแบบส่วนเพิ่มโดยบริษัทเซเปียนเซน้ำน้อย พาวเวอร์

บริษัทประกันภัยที่รับคุ้มครองตามกรมธรรม์นี้มี 3 ราย ได้แก่ เอไอจีจากสหรัฐอเมริกา ที่คุ้มครองหลัก ส่วนอีก 2 รายมาจากเกาหลีใต้ คือ โคเรียน รี และซัมซุงประกันวินาศภัยและประกันขนส่งทางทะเลนั้นรับคุ้มครองในส่วนที่เหลือ ทำประกันภัยต่อให้กับ เอเชีย แคปปิตอล จากสิงคโปร์

Inclusive Development International ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ได้ข้อมูลจากแหล่งข่าว แต่เมื่อสอบถามไปยังบริษัทประกันภัยเหล่านี้ ก็ไม่ได้รับการตอบสนองยืนยันข้อมูลประกันภัยนี้

ยังไม่มีใครรับผิดชอบ

ปัจจุบันยังไม่มีใครแม้แต่คนเดียวแสดงความรับผิดชอบต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แม้มีข้อมูลที่ชี้ชัดขึ้นว่า บริษัทก่อสร้างเกาหลี เอสเค เอนจิเนียริงแอนด์คอนสตรักชัน อาจจะเป็นสาเหตุของเขื่อนแตกด้วยการก่อสร้างแบบประหยัดเพื่อทำกำไร

คณะกรรมการสืบสวนอิสระของรัฐบาลลาวได้ตัดเหตุสุดวิสัย เช่น ภัยธรรมชาติ ออกไปจากสาเหตุเขื่อนแตก ขณะที่สื่อเกาหลีรายงานว่า เอสเค เอนจิเนียริงแอนด์คอนสตรักชัน ได้ปรับแบบโครงการ รวมทั้งลดระดับความสูงของกำแพงของทางระบายน้ำล้นเพื่อประหยัดต้นทุน และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าเขื่อนสร้างขึ้นบนที่ดินยุบตัวลงเป็นหลุมลึก แต่เอสเค เอนจิเนียริงแอนด์คอนสตรักชัน ปฏิเสธความรับผิดชอบ

สำหรับผู้ลงทุนในโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในมูลค่ารวมอีก 306 ล้านดอลลาร์ อีก 3 รายได้แก่ โคเรียน เวสทิร์น พาวเวอร์, บริษัท ราชบุรี อิเลกทริกซิตี้ เจนเนอเรติ้ง โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจลาว คือ ลาว สเตท โฮลดิง เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งบริษัทราชบุรี อิเลกทริกซิตี้ เจนเนอเรติ้ง โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) นอกจากเป็นผู้พัฒนาโครงการแล้วยังมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาก่อสร้างด้วย ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงในการดูแลงานก่อสร้างของเอสเค เอนจิเนียริงแอนด์คอนสตรักชัน

ส่วนรัฐบาลลาวซึ่งไม่ใช่เพียงผู้พัฒนาโครงการผ่าน ลาว สเตท โฮลดิง เอ็นเตอร์ไพรส์ ก็ยังมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลโครงการที่ตั้งอยู่ภายในแขตแดนตนเอง ขณะเดียวกันรัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลไทยก็สนับสนุนโครงการนี้ผ่านนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแล

รัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนเงินกู้แก่รัฐบาลเพื่อพัฒนาโครงการ และถือหุ้นส่วนหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการ ส่วนรัฐบาลไทยเป็นเจ้าของผู้ซื้อกระแสรายใหญ่จากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยและถือหุ้นในผู้พัฒนาโครงการฝ่ายไทย

การที่โครงการมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทำให้โครงการนี้มีความแน่นอนมากขึ้น ทุกฝ่ายจะได้รับผลตอบแทนในอีกหลายปีข้างหน้า แต่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกรอบดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เกี่ยวข้องนี้ต้องรับผิดชอบจากเขื่อนแตก

ที่มาภาพ: https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/reckless_endangerment_final_for_web.pdf

ข้อเสนอแนะ

รายงานได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและจะได้รับผลตอบแทนจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ดังต่อไปนี้
• รัฐบาลลาวและรัฐบาลเกาหลี ต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรม หรือกลไกการร้องทุกข์ที่ไม่เข้าสู่ศาล ตามความเหมาะสม รวมทั้งรัฐบาลลาวต้องปรับปรุงสภาวะความเป็นอยู่ภายในศูนย์พักพิงของชาวบ้านไร้ถิ่นในทันที และเปิดให้ชาวบ้านกลับคืนถิ่นที่อยู่และที่ทำกินได้ตามความต้องการ

• รัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลไทยต้องมีมาตรการให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าถึงการเยียวยาทั้งระบบยุติธรรม และความรับผิดชอบของบริษัทภายใต้กฎหมายแต่ละประเทศต้องมีการดำเนินการ

• เอสเค เอนจิเนียริงแอนด์คอนสตรักชัน บริษัทราชบุรี อิเลกทริกซิตี้ เจนเนอเรติ้ง โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ควรร่วมกันจัดตั้งกองทุนและกระบวนการเข้าถึงการเรียกร้องสินไหมทดแทนให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในลาว และกัมพูชาได้รับการชดเชยที่เพียงพอ รวมทั้งซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากเขื่อน ตลอดจนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชน

• บริษัทเซเปียน-เซน้ำน้อย พาวเวอร์จำกัด และเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ควรจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนและช่วยในการตั้งกระบวนการเรียกร้องเงินชดเชย

• บริษัท เอออน (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาด้านการประกันภัย รวมทั้งเอไอจีจากสหรัฐฯ ที่ โคเรียน รี, ซัมซุงประกันวินาศภัยและประกันขนส่งทางทะเล และเอเชีย แคปปิตอล ควรร่วมกับลูกค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกัน ผู้พัฒนาโครงการ ริเริ่มตั้งกระบวนการเรียกร้องเงินชดเชย ทำให้เงินประกันมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์จ่ายตรงให้กับผู้เสียหาย

• ผู้ถือหุ้นของผู้พัฒนาโครงการเขื่อนทั้ง 4 ราย ควรใช้พลังผู้ถือหุ้นกดดันให้บริษัทมีการดำเนินแก้ไขให้มากพอ