ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ตอนที่ 17ดังนี้ (*การสะกดเป็นไปตามต้นทาง)
มีหลายท่านถามผมถึงตอนที่ผ่านมาว่าทำไมใน 2-3 บทความที่ผ่านมา ผมถึงเขียนเน้นไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ผมขอตอบทุกท่านว่า ในขณะนี้ กระบวนการที่ธนาคารกรุงไทยนั้นได้จบสิ้นลงแล้วเหลือเพียงขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์เท่านั้น ผมได้ตั้งคำถามมากมายไปยังธนาคารกรุงไทย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบทุกคำถาม ผมเห็นว่าหากเรื่องที่ผมถามไม่จริง การออกมาปฏิเสธนั้นน่าจะเป็นทางที่ง่ายที่สุด และทำให้สังคมได้ทราบว่าเรื่องที่ผมถามนั้นไม่จริง แต่ถ้าธนาคารกรุงไทยยังเงียบ มันหมายความว่าอย่างไรครับ ขณะนี้ผู้มีอำนาจหลายฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คอยฟังอยู่ว่า การดำเนินการต่างๆของธนาคารกรุงไทยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด และในกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้มีอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำผลสรุปจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้มาตัดสินผมนั้น เป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งผมในฐานะที่เป็นผู้เสียหายก็คงต้องดำเนินการทางกฎหมายตามสิทธิของผมในเรื่องที่ผมถูกละเมิดครับ
ที่ผมเขียนถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นผู้กำกับดูแล มีอำนาจในการออกคำสั่งเรื่องต่างๆที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ผมขอลงจดหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งให้ผมตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2562 จนปัจจุบัน ผ่านมาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ธนาคารกรุงไทยได้ให้ผมเกี่ยวกับรายละเอียดข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอ และให้ผมเข้าถึงเอกสารที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานต่างๆ อย่างที่ผมเคยเขียนครับ ผมก็ตีความตามจดหมายได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีโอกาสดูเอกสารต่างๆที่ผมส่งไปแล้ว และมีความเห็นไม่ต่างกับผมว่า ผมไม่เคยได้รับรายละเอียดข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนเพียงพอในการแก้ข้อกล่าวหาหรือชี้แจงรายละเอียด รวมถึงไม่เคยได้รับเอกสารต่างๆที่อ้างเป็นหลักฐาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีการแจ้งให้ธนาคารกรุงไทยดำเนินการดังกล่าว แต่เวลาผ่านมาจนปัจจุบัน ผมก็ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ จากธนาคารกรุงไทยที่เป็นพยานหลักฐานที่อ้างว่าผมกระทำความผิด ผมจึงตั้งคำถามว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง หากผู้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ผมเคยตั้งคำถามไว้หลายเรื่อง ผมไม่ทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเคยได้รับคำตอบอะไรจากธนาคารกรุงไทยหรือไม่ เพียงใดครับ ดังนั้น ผมขอทวนคำถามพวกนี้อีกครั้งนะครับ ทุกท่านน่าจะเห็นเหมือนผมว่า คำถามเหล่านี้ไม่น่าต้องใช้เวลานานในการตอบ และถ้าจนบัดนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้รับคำตอบจากธนาคารกรุงไทย ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ ว่าควรจะตีความว่าอย่างไรกันแน่จึงจะเหมาะสม
คำถามมีดังนี้ครับ
-
1. ธนาคารกรุงไทยมีสิทธิในการดำเนินการทางวินัยกับผมหรือไม่ เมื่อพิจารณาตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารกรุงไทย
2. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดพิเศษ ที่ไม่ตรงตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารกรุงไทยหรือไม่ เพียงใด
3. มีการแก้ระเบียบของธนาคารกรุงไทยตามหลังหรือไม่ และมีการพยายามที่จะให้คณะกรรมการรับรองการแต่งตั้งกรรมการที่ผิดระเบียบเป็นเวลากว่า 4-5 เดือนตามหลังหรือไม่ เพียงใด
4. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ เพียงใด ผิดกฎหมายหรือไม่
5. คณะกรรมการวินัยประกอบไปด้วยบุคคลจากคณะกรรมการบริหารที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ เพียงใด ผิดกฎหมายหรือไม่
6. กระบวนการดำเนินการทางวินัยทั้งหมดได้ทำตามกำหนดเวลาตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารกรุงไทยหรือไม่ เพียงใด
7. จริงหรือไม่ ที่ธนาคารกรุงไทยได้ส่งเรื่องของผมไปให้สำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว ทั้งที่กระบวนการอุทธรณ์ยังไม่ยุติ ถ้าจริง การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
อย่างที่ผมเคยเขียนครับ คำถามพวกนี้เป็นคำถามที่ตอบได้เพียง ใช่ หรือไม่ใช่ น่าจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการตอบ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะตอบ หรือเพิกเฉยเท่านั้นครับ
ผมเห็นว่า ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเคยได้รับทราบข้อมูลเฉพาะด้านเดียวก่อนหน้านี้ แต่ในขณะนี้หากได้เห็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง และเป็นที่ยุติแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไขเรื่องผิดให้เป็นเรื่องให้ถูกต้อง คนเราคงไม่เคยมีใครไม่เคยตัดสินใจพลาดหรอกครับ เพราะเราไม่ได้อยู่บนโลกที่มีความ perfect ในเรื่องของข้อมูล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีข้อมูลใหม่ที่ทำให้รู้ว่าการตัดสินใจก่อนหน้านี้อาจมีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง จะมีความกล้าพอที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ หรือจะยังพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สิ่งที่ตนเองตัดสินใจพลาดไปกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพียงเพราะไม่อยากเป็นคนที่ตัดสินใจผิดพลาด หรือไม่อยากเสียหน้า แต่ถ้ายืนยันทำสิ่งที่ผิดพลาดต่อไป คนคิด คนทำก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำนะครับ มันจะคุ้มไหมครับ? วันนี้ยังไม่สายที่จะยืนข้างความถูกต้อง และการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ
ผมจำได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเน้นย้ำเรื่องจริยธรรมมาโดยตลอด เพื่อความชัดเจน ผมเลยไปค้นคว้าหาความหมายของคำว่าจริยธรรม จริยธรรม มาจากคำ 2 คำคือ จริย กับธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ แล้ว จริยธรรม หมายถึง การแยกสิ่งถูกจากผิด ดีจากเลว
ผมหวังว่าถึงวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย คงได้เห็นพฤติกรรมและข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทย คำถามสำคัญที่ผมตั้งมาตลอดคือ มันถูกต้องตามกฎหมายไหมครับ หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะนำผลของการทำผิดกฎหมายมาตัดสินคุณสมบัติผู้บริหารของผมหรือไม่ครับ ผมว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ผมในฐานะผู้ถูกกระทบและได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มีสิทธิถามนะครับ และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่สามารถวัดเรื่องจริยธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยแยกแยะเรื่องที่ถูกและผิดอย่างไร
ผมเชื่อนะครับว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่วัดมาตรฐานเรื่องจริยธรรมของผู้กำกับดูแล มีคนคอยติดตามดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ไม่เฉพาะในแวดวงธนาคาร และธุรกิจ แต่รวมถึงคนในธนาคารแห่งประเทศไทยเองด้วยที่ติดตามเรื่องดังกล่าวผ่านสื่อสาธารณะ ผมเชื่อว่าความสง่างามไม่ได้อยู่ที่ไม่เคยตัดสินใจพลาด แต่อยู่ที่หากรู้แล้วว่าผิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องต่างหากครับ
ในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีกีฬาระดับโลก 2 รายการที่ผมได้มีโอกาสติดตาม คือฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก และ เทนนิสวิมเบิลดัน ทั้งสองรายการนั้นมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การตัดสินนั้นเที่ยงธรรมและชัดเจน ในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกคราวนี้มีการนำเอาเทคโนโลยี VAR หรือ Video Assisted Referee มาใช้เป็นครั้งแรก และผลของการนำ VAR มาใช้นั้น มีจำนวนลูกโทษที่ได้จากการใช้ VAR ถึง 11 ลูก และในเกมรอบก่อนรองชนะเลิศระหว่าง บราซิล และ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพนั้น มีจำนวนประตูที่ถูกตัดสินว่าไม่เป็นประตูถึง 3 ลูกด้วยกัน
เรื่องนี้แม้จะนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า VAR เป็นประโยชน์ เพราะทุกคนสามารถเห็นข้อเท็จจริงได้ ก่อนมีการตัดสินอย่างชัดแจ้ง คำพูดหนึ่งโดยประธานของคณะผู้ตัดสิน FIFA Mr. Pierluigi Collina นั้นพูดได้น่าฟังครับ ว่า “VAR cannot be blind and cannot be ignored. If you have a tool that offer you a possibility to check, you have to check.” หากผมแปลง่ายๆคือ เมื่อมีเครื่องมือที่สามารถให้ข้อเท็จจริงได้ ในฐานะผู้ตัดสินก็ต้องตรวจสอบ ไม่สามารถละเลยได้
ในกีฬาอย่างเทนนิสนั้น มีการให้สิทธิ์กับผู้แข่งขันที่จะ challenge คำตัดสินของกรรมการโดยนำเอาหลักฐานที่เป็นภาพจำลองวีดีโอมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันมานานแล้ว และมีคำตัดสินหลายครั้งถูกกลับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ เรื่องเหล่านี้แม้จะทำให้การแข่งขันช้าลงเล็กน้อย แต่นำมาซึ่งความถูกต้องของการตัดสิน แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นทำให้ผู้ตัดสินนั้นตกอยู่ภายใต้ความกดดันมากขึ้น แต่หากมองในแง่ดีคือมีเครื่องมือมาช่วยให้เปลี่ยนคำตัดสินที่อาจผิดพลาดให้ถูกต้องได้
นอกจากเรื่องกีฬา ช่วงที่ผ่านมามีหนังเรื่อง Spider-Man เข้าฉายในโรง ผมเห็นลูกชายสองคนไปดูกับเพื่อนก็ทำให้นึกถึงสมัยตัวเองเด็กๆที่ติดตามดูหนังและอ่านหนังสือ Superhero ต่างๆ ผมจำได้ว่ามีวลีเด็ดซึ่งดังขึ้นมาจากเรื่อง Spider-Man คือวลีที่ว่า “With great power comes great responsibility” หรือหากแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆคงแปลได้ว่า พลังหรืออำนาจที่ได้มานั้น มาพร้อมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ จริงๆวลีนี้ก็มีความคล้ายเรื่องความหมายของคำว่าจริยธรรมในความเห็นผมครับ ว่าผู้ซึ่งมีพลังหรืออำนาจ จะสามารถนำพลังหรืออำนาจนั้น ทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ นี่เป็นภาระและความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง
ผมก็อดที่จะนำเอาเรื่องทั้งสองเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของตัวเองไม่ได้ครับ ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีบทบาทคล้ายกับผู้ตัดสิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการตัดสินผมไปก่อนหน้านี้ ผมได้ทำการอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว จนถึงวันนี้ผมนำส่งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการตั้งคำถามต่างๆ หากเปรียบเทียบกับบทบาทผู้ตัดสินและผู้ที่มีซึ่งพลังหรืออำนาจนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงเพิ่มเติม มาตัดสินอย่างเป็นธรรมและถูกต้องได้หรือไม่
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปอธิบายกับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่า เพราะเหตุใดผมถึงต้องขอให้ทางธนาคารกรุงไทยเปิดเผยข้อมูลที่ผมร้องขอให้ผม ก่อนผมไป ผมก็ได้มีโอกาสดูเอกสารที่ผมเคยติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อเตรียมตัวอธิบายว่าผมได้ร้องขอความเป็นธรรม และร้องเรียนถึงการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกับหน่วยงานใดบ้าง และผมก็สะดุดตากับเอกสารตอบรับเรื่องที่ผมส่งไปร้องเรียนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินครับ ตอนท้ายของจดหมายเขียนไว้ว่า “ความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรม” ซึ่งต้องเรียนว่าเป็นเหตุการณ์ซึ่งผมกำลังเผชิญอยู่ และเห็นด้วยกับข้อความนี้ครับ
เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผมได้ออกมาแถลงข่าว และตามด้วยการอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินคุณสมบัติของผมด้วยวาจาของธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไปกว่า 7 เดือนแล้ว แต่ผมก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบในเรื่องนี้ว่าอุทธรณ์ผมฟังขึ้นหรือไม่ นอกจากตอบว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ผมก็แปลกใจครับว่า การตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เวลานานขนาดนั้นเชียวหรือ? ซึ่งคล้ายๆกับของธนาคารกรุงไทยที่ใช้เวลาเกือบ 18 เดือน แถมยังมีข่าวว่าได้นำส่งเรื่องของผมนี้ไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ด้วยแล้ว (ซึ่งถ้าจริง ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมมีคำถามว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการอุทธรณ์ยังไม่จบสิ้น หรือว่าเรื่องนี้มีธงอยู่แล้วครับ แต่ถ้าข่าวที่ผมฟังมาผิดพลาด ก็ถือว่าผมเข้าใจผิดเองครับ)
ผมสงสัยครับว่า วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับเอกสารต่างๆหรือคำตอบในเรื่องนี้จากธนาคารกรุงไทยแล้วหรือยัง และผมขอถามต่อนะครับว่าหลักฐานที่อ้างว่าผมกระทำผิดนั้นมีจริงหรือไม่ เพียงใด ฟังขึ้นไหมครับ ผมอยากรู้เพราะผมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำครั้งนี้นะครับ ผมคอยอยู่ครับว่าใครจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของผม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด เพื่อผมก็จะใช้สิทธิตามกฎหมายตอบโต้กับผู้ละเมิดผมอย่างถึงที่สุดเช่นกันครับ

#จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี ทำจริงหรือเพียงพูดให้ดูดี