ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > UNESCO GEM โชว์โครงการ iSEE ของกสศ.หนึ่งในตัวอย่างบนเวทีโลก

UNESCO GEM โชว์โครงการ iSEE ของกสศ.หนึ่งในตัวอย่างบนเวทีโลก

18 กรกฎาคม 2019


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับเชิญจากคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO Global Education Monitoring Report: GEM) เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการเปิดตัวรายงานพิเศษ “มากกว่าคำมั่นสัญญา” (Beyond Commitments) สรุปผลงานเด่นของโลกในรอบ 5 ปีแรกของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเวทีระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2562 (High-Level Political Forum on Sustainable Development – HLPF 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-18 กรกฎาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยได้รับเกียรติจากอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) นางเฮเลน คลาร์ก ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกให้แก่องค์การยูเนสโก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประเทศไอร์แลนด์ และประเทศกานา รวมทั้ง เอกอัคราชทูตแอนติกาและบาร์บูดา ประจำ UN และ Dr.Robert Jenkins รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ร่วมอภิปรายผลด้วย

Dr.Manos Antoninis ผู้อำนวยการคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring Report: GEM) ซึ่งเป็นคณะทำงานวิชาการอิสระภายใต้การสนับสนุนของ องค์การยูเนสโก ได้สรุปที่มาและสาระสำคัญของรายงานฉบับพิเศษที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสการประชุม HLPF 2019 ครั้งนี้ว่า ปี 2019 นี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เดินทางมาถึง 1 ใน 3 ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) แล้ว คณะทำงานจึงได้จัดทำรายงานพิเศษฉบับนี้ขึ้นเพื่อทบทวนสถานการณ์การศึกษาทั่วโลกตามเป้าหมายตัวชี้วัดของ SDG4 รวมทั้งความสำเร็จ ความพยายาม และความท้าทายที่แต่ละประเทศได้แสดงให้องค์การสหประชาชาติและประชาคมโลกได้เรียนรู้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นต้นทุนในการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย SDG4 ได้ครบถ้วนภายในปี 2030 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีเท่านั้น

โดยสาระสำคัญของรายงานพิเศษ “มากกว่าคำมั่นสัญญา” ฉบับนี้ได้สรุปและจัดกลุ่มความก้าวหน้า และนวัตกรรมการทำงานที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความพยายามในการทำงาน “มากกว่าคำมั่นสัญญา” ของพันธสัญญาตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ของ 72 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลให้แก่คณะทำงาน รวมทั้งจุดเน้นของการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG4 ออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

ประเทศที่เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลให้แก่คณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก 72 ประเทศ

1. “มากกว่าค่าเฉลี่ย” ระบบการศึกษาควรพิจารณาทบทวนการกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาให้ไปถึง “เป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับประชากรทุกคน” ทั้งในและนอกระบบการศึกษา จากเดิมที่ระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ มักสนับสนุนการจัดการศึกษาและการจัดสรรงบประมาณโดยการใช้เพียง “ค่าเฉลี่ย” เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดการในด้านต่างๆ ทำให้มีประชากรผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนมากที่อยู่ “ใต้ค่าเฉลี่ย” ทั้งในแง่เศรษฐสถานะ และพัฒนาการทางการเรียนรู้ จะประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการสำรวจของคณะทำงานพบว่าปัจจุบันมีประเทศจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกที่ยังไม่มีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เสมอภาคและตอบสนองความต้องการของประชากรเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากการขาดข้อมูลและเครื่องมือในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสประเภทต่างๆ ตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค และโรงเรียน

รายงานพิเศษฉบับนี้จึงได้นำเสนอนวัตกรรมการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “มากกว่าค่าเฉลี่ย” ของประเทศต่างๆ เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ ที่มีนโยบายคัดกรองความยากจนและความด้อยโอกาสประเภทต่างๆ ของนักเรียนทุกคนเพื่อสนับสนุนการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาตามอุปสงค์เป็นรายบุคคล (Demand-side Financing) รวมทั้งตัวอย่างจากประเทศไทยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ในการสนับสนุนการคัดกรองความยากจนเป็นรายครัวเรือนเพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณด้วยหลักความเสมอภาคด้วยมาตรการการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (CCT) ให้ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง

  • กสศ. ใช้ iSEE เครื่องมือชี้เป้าเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ชวนเอกชนร่วมสมทบหวังขจัดความยากจนข้ามชั่วคนให้ได้
  • 2. “มากกว่าโอกาสทางการศึกษา” จากการสำรวจของคณะทำงานพบว่า ปัจจุบัน แม้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะมีความก้าวหน้าในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศอย่างมากแล้ว แต่เมื่อพิจารณารายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในระบบการศึกษาในประเทศส่วนใหญ่กลับพบว่ายังมีนักเรียนมากว่า 2 ใน 3 ในระบบการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนาที่ยังขาดทักษะการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขขั้นพื้นฐานอยู่

    คณะทำงานจึงเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ อย่าหยุดเพียงแค่พาเด็กเยาวชนวัยเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องไปให้ถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ คณะทำงานได้นำเสนอตัวอย่างที่น่าสนใจจากประเทศฟิลิปปินส์และสเปน ที่ทุ่มเทพัฒนาระบบการประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียน เพื่อเป็นเครื่องมาสนับสนุนมาตรการระบุปัญหาและสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนในระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบ

    3.“มากกว่าการเรียนรู้ทั่วไป” หนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของ SDG4 คือการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สันติศึกษา และความเป็นพลเมืองโลก เป็นต้น แต่ปัจจุบันยังมีประเทศจำนวนมากที่ยังมิได้บรรจุสาระการเรียนรู้ในประเด็นที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศนี้เอาไว้ในหลักสูตรการศึกษาระดับต่างๆ ของประเทศ คณะทำงานได้นำเสนอนวัตกรรมและตัวอย่างที่โดดเด่นจากประเทศโปรตุเกสและเกาหลีใต้ ในเรื่องนี้

    4. “มากกว่าการศึกษาในโรงเรียน” สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในตลาดแรงงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมในยุคศตวรรษที่ 21 อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และปัญหาโลกร้อน ทำให้การศึกษาที่สิ้นสุดในโรงเรียนอาจไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดและการประสบความสำเร็จของเด็กและเยาวชนในอนาคต

    คณะทำงานฯ จึงเสนอให้ทุกประเทศให้ความสำคัญแก่นโยบายสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของ SDG4 ให้มากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงการเรียนรู้ในโรงเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในรายงานคือประเทศเอสโตเนีย ญี่ปุ่น แคนาดา และอัฟกานิสถาน

    5. “มากกว่าระบบการศึกษา” คณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกได้นำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศนอร์เวย์ เอกวาดอร์ ไอซ์แลนด์ และโคลัมเบีย ที่แสดงมิติใหม่ในการทำงานของระบบการศึกษาที่สามารถบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างความสำเร็จที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้นำเสนอแสดงให้เห็นว่า ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวทำงานร่วมกับภาคีนอกภาคการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศที่มีการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลางได้จริง

    6. “มากกว่าระดับประเทศ” ด้วยตัวอย่างที่คณะทำงานได้นำเสนอมา 5 กลุ่มข้างต้นแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งความร่วมมือระดับภูมิภาค และระดับประเทศ จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์การทำงานที่ประสบความสำเร็จ และบทเรียนจากความท้าทาย เพื่อสนับสนุนการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมาย SDG4 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตัวอย่างที่ถูกนำเสนอในรายงานพิเศษฉบับนี้คือการทำงานของกลุ่มสหภาพยุโรป และกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิก และการทำงานของ Technical Cooperation Group ในเรื่องการการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการติดตามความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมาย SDG4

    ในระหว่างการสัมมนา นางเฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้อภิปรายในฐานะประธานคณะทำงานของรายงานพิเศษฉบับนี้ว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านที่ได้สรุปเอาไว้ในรายงานนี้แทบทุกเรื่องล้วนต้องการงบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนานาที่มิอาจพึ่งพาเงินภาษีภายในประเทศได้แต่เพียงลำพัง มีการประเมินว่าช่องว่างทางการการเงินดังกล่าว (Financial Gap) ต้องการเม็ดเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศรวมกันมากกว่าร้อยละ 1.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จึงจะเพียงพอให้ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ สามารถบรรลุเป้าหมาย SDG4 ได้ทันในปี 2030 ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า

    นอกจากนั้น เอกอัคราชทูตแอนติกาและบาร์บูดาได้นำเสนอให้คณะทำงานได้พิจารณาให้ความสำคัญเพิ่มเติมแก่บทบาทของเทคโนโลยีในการสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ของคนพิการทั่วโลก รวมทั้งบทบาทของภาคเอกชนที่จะช่วยให้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้มีราคาที่ถูกลงและช่วยให้เด็กเยาวชนผู้พิการในครอบครัวยากจนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึงยิ่งขึ้น

    ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.(กลาง)

    ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. ได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ของ กสศ. ในฐานะกรณีศึกษาในรายงานพิเศษฉบับนี้ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

    (1) ความสำคัญของการมีเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ (EdTech) ในการบริหารจัดการข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นรายบุคคลทั้งเพื่อการสนับสนุนงบประมาณจาก กสศ. และการสนับสนุนนวัตกรรมการระดมทุน (Innovative Financing) จากภาคเอกชนมาช่วยเหลื่อมกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

    (2) การลงทุนในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานข้ามหน่วยงานและข้ามระบบ เช่น การบูรณาการทำงานด้านข้อมูลและงบประมาณร่วมกับ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ของ กสศ. เป็นต้น

    และ (3) ความสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ซึ่งทาง กสศ.ยินดีร่วมงานกับทุกหน่วยงานที่มีภารกิจเพื่อความเสมอภาคในทุกระดับ

    Dr.Manos Antoninis ผู้อำนวยการ GEM กล่าวว่า คณะทำงานมีความชื่นชมการสนับสนุนวาระความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยที่มีต่อประชาคมโลกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปฏิญญาการศึกษาเพื่อปวงชน (ปฏิญญาจอมเทียน) เมื่อปี 1990 จนถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยในปี 2561 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งทางคณะทำงานมีความยินดีที่ได้นำเสนอกรณีศึกษา กสศ.ในรายงานพิเศษฉบับนี้ให้เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของโลกในรอบ 5 ปีที่ “มากกว่าคำมั่นสัญญา” ของรัฐบาลไทยที่มีต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) และหวังว่าประเทศต่างๆ จะได้นำความสำเร็จของรัฐบาลไทยนี้ไปขยายผลการดำเนินงานในประเทศของตนต่อไปในอนาคต