ThaiPublica > คอลัมน์ > เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

3 มิถุนายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ประธานาธิบดี Joko Widodo ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b9/Jokowi_blusukan.jpg/1200px-Jokowi_blusukan.jpg

ข่าวหนึ่งที่ดูจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อไทยมากนักทั้งๆ ที่เป็นข่าวใหญ่ของภูมิภาคและมีผลกระทบกว้างไกลต่อไทย ประเทศที่เป็นข่าวนี้มีขนาดเศรษฐกิจและประชากรที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนเพิ่งเลือกตั้งกันเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

อินโดนีเซีย ดินแดนแห่ง 17,000 กว่าเกาะ ประชากร 260 ล้านคนซึ่งเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีการเลือกตั้งที่มีนักวิชาการระบุว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่สุดของโลกเพราะมีคนลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ รวม 245,000 คน เพื่อที่นั่งกว่า 20,000 ตำแหน่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้คน 193 ล้านคน ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนผู้แทนในระดับท้องถิ่นพร้อมกันทั้งประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ลองจินตนาการดูว่าคนจัดการเลือกตั้งจะปวดหัวแค่ไหนในการพิมพ์บัตร การบริหารจัดการลงคะแนนและนับคะแนน การยืนยันผลการเลือกตั้ง ฯลฯ มีรายงานว่าใช้เจ้าหน้าที่รวม 7 ล้านคน และกว่า 500 คนเสียชีวิตจากการดูแลการเลือกตั้งและนับคะแนน

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอินโดนีเซียที่มีประชากรหลากหลายภาษาและวัฒนธรรมน่าสนใจมาก เพียง 2 วันหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 Sukarno และ Hatta ก็ประกาศอิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ซึ่งในที่สุดต้องยอมรับอย่างเป็นทางการเพราะแรงกดดันจากนานาชาติในปลายปี 1949

ประธานาธิบดี Sukarno ครองอำนาจต่อเนื่องจนเสื่อมความนิยม และถูกแทนที่โดยนายพล Suharto ในปี 1967 ผู้ใช้อำนาจเผด็จการ ไม่มีการเลือกตั้ง และถูกพิษภัยเศรษฐกิจในเวลาใกล้เคียงกับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ของไทย หลุดจากอำนาจในปี 1998

อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกในปี 2004 อดีตนายพล Susilo Bambang Yudhoyono (เรียกกันสั้นๆ ว่า SBY) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี 2 สมัย คือระหว่าง 2004-2014 และตามมาด้วยประธานาธิบดี Joko Widodo (อีกชื่อที่เรียกกันคือ Jokowi) “ม้ามืด” เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ 2014 จนถึงปี 2019 จึงครบวาระแรก และมีการเลือกตั้งในปีนี้ ดังที่กล่าวมาแล้ว

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นการต่อสู้ระหว่าง “อำนาจเก่า” ที่ครองกันมายาวนานตั้งแต่สมัย นายพล Suharto กับ “ของใหม่” ผู้เป็นตัวแทน “อำนาจเก่า” คือนายพล Subianto (อดีตลูกเขยของนายพล Suharto) ส่วนตัวแทน “ของใหม่” คือ Jokowi อดีตผู้ว่าการเมืองจาการ์ตา ผลการเลือกตั้งชนะกันด้วยคะแนน 53.2% กับ 46.9%

ถึงแม้จะเลือกตั้งแพ้แต่คนไม่แพ้ นายพล Subianto ต่อสู้ทุกทางทั้งในศาลและนอกศาลเพื่อให้ตนชนะให้ได้ (กล่าวหาว่า “โกงเลือกตั้ง” “เลือกตั้งไม่เป็นธรรม”) แต่ในที่สุดก็แพ้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้หยุดการหาเสียง ทำงานตลอดจนได้ลงแข่งขัน “รีแมทช์” อีกครั้งกับประธานาธิบดี Jokowi ผู้ประสงค์จะเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นได้อีกเพียงสมัยเดียวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

การเลือกตั้งเป็นไปอย่างตื่นเต้นในตอนก่อนการเลือกตั้ง Jokowi เลือก Ma’ruf Amin วัย 76 ปี ผู้อาวุโสทางศาสนาซึ่งมีคนนับถือกว้างขวางของกลุ่มมุสลิมใหญ่สุดเป็นผู้ร่วมแข่งตำแหน่งรองประธานาธิบดี ส่วน Subianto เลือกเศรษฐีนักลงทุนสมัยใหม่วัย 49 ปี ชื่อ Uno ขวัญใจคนรุ่นใหม่เป็นคู่เข้าชิง

เมื่อ 7-8 เดือนก่อนเลือกตั้ง Jokowi (พรรคพันธมิตร 10 พรรคสนับสนุน) นำ Subianto เกือบ 20% แต่เมื่อเวลาผ่านไปคะแนนนำก็ลดลงเป็นลำดับ จนในเดือนมีนาคมเหลือเพียง 8% โดยมีผู้ยังไม่ตัดสินใจ 14%

ในวันเลือกตั้ง โมเมนตัมอยู่ฝ่าย Subianto–Uno แต่ผลงาน 5 ปีของ Jokowi-Amin ช่วยต้านไว้ได้จนคะแนนออกมาอย่างไม่เป็นทางการของหลายฝ่ายที่นับคะแนนตรงกันว่าประธานาธิบดี Jokowi ได้เป็นต่ออีกสมัยด้วยคะแนน 55.6% กับ 44.4% ชนะกันกว่า 10% ส่วนคะแนนดิบชนะกันเกือบ 16 ล้านคะแนน (ครั้งที่แล้วชนะกันประมาณ 8 ล้านคะแนน)

การประกาศผลอย่างเป็นทางการคาดว่าเป็นอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดี Subianto ออกมาประกาศแล้วว่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของทางการเพราะเป็น “การเลือกตั้งที่สกปรก”

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่ Jokowi ประสบก็คือการต่อสู้นอกเวทีที่ไม่จบของฝ่ายตรงข้ามคือ “อำนาจเก่า” ที่น่าหวาดหวั่นก็คือการโหมไฟความรู้สึกใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นหนุ่มสาวที่มีอยู่ประมาณ 40% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นก็คือกระแสความเคร่งในศาสนา

อินโดนีเซียโดยทั่วไปไม่ใช่ประเทศที่คลั่งไคล้การเคร่งในศาสนาอย่างต่างไปจากมาเลเซีย หากแต่เกิดปรากฏการณ์ “hijrah” ซึ่งหมายถึง born-again muslims กล่าวคือการเปลี่ยนสไตล์การดำเนินชีวิตแบบสบายๆ ของคนรุ่นใหม่มาเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดเปรียบเสมือน “การเกิดใหม่”

ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางการอินโดนีเซียพยายามไม่ส่งเสริมการเป็นสังคมที่เคร่งครัดจนเกินไปในด้านศาสนา หากแต่กระแสศาสนาเช่นนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในสังคม จนน่ากลัวว่าการเมืองจะหาประโยชน์ และทำให้สังคมแตกแยกเพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังคงดำรงชีวิตแบบมุสลิมเดิมของอินโดนีเซีย

ปัญหาที่หนักอกเหมือนเพื่อนบ้านในอาเซียนก็คือปัญหาคอร์รัปชันที่ดาษดื่น แก้ไขได้อย่างยากเย็น ถึงแม้จะพยายามตลอด 5 ปีที่ผ่านมา Corruption Perceptions Index ของ Transparency International ในปี 2015 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 88 ตกมาเป็นอันดับที่ 89 ในปี 2018 จาก 180 ประเทศ โดยได้คะแนน 38 จาก 100 (ไทยในปี 2018 อยู่อันดับที่ 99 ได้คะแนน 36 จาก 100)

Jokowi ได้รับความนิยมสูงเพราะไม่มีชื่อเสียในด้านคอร์รัปชัน เขาเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แก้ไขกฎหมายสร้างความคล่องตัวในด้านเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ฯลฯ จนใน 5 ปีเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีประชาชนยอมรับและให้การสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเขา

การมีจำนวนมากขึ้นของคนชั้นกลางวัยหนุ่มสาวเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดแนวคิดด้านศาสนาที่แตกต่างกันมากขึ้นในสังคม

ยักษ์ใหญ่ของอาเซียนตัวนี้ถึงแม้จะมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าไทยค่อนข้างมากแต่ก็มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าไทยหนึ่งเท่าตัว ประชาคมอาเซียนที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาปัจจุบันเงียบสงบไม่มีบทบาทระหว่างประเทศมายาวนาน บัดนี้อาจมีความคึกคักมากขึ้นเมื่อ “พี่ใหญ่” มองออกไปข้างนอกมากกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 28 พ.ค. 2562