เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน โดย ทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย
และวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ทอท.ประกาศผลคะแนนรวมสูงสุดของผู้ยื่นข้อเสนองานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ คือบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
เป็นที่ทราบว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ใช้พื้นที่ของ ทอท.ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ ทอท.ขณะนั้นไม่ได้เปิดประมูลใหม่ แต่เป็นการขอต่อสัญญาต่อเนื่อง จากการย้ายสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำอ้างว่าเวลาเหลือ 1 ปี 9 เดือนอาจจะไม่ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 จึงทำสัญญา 10 ปีจนถึงปี 2558 จากนั้นได้รับการต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยอ้างว่าความไม่สงบทางการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ได้รับการขยายสัญญาจนสิ้นสุดปี 2563 รวมเวลา 14 ปี
ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว

ในที่สุดการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินนานาชาติ ทั้งสุวรรณภูมิ หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ไปทั้งหมด
หากรวมสัมปทานเดิมที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ไปด้วยการต่อสัญญาในสมัยปี 2547 อายุสัมปทาน 10 ปี และร้องขอว่าได้รับความเสียหายจากการปิดสนามบินอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมได้สัมปทานดิวตี้ฟรี 14 ปี และครั้งนี้อีก 10 ปี 6 เดือน นั่นหมายความว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้รับสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรียาวนานถึง 24 ปี 6 เดือน เพียงรายเดียว ทั้ง 4 สนามบินหลักๆ ของประเทศ
การได้รับคัดเลือกในครั้งนี้กลุ่มคิงเพาเวอร์ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ทำไมการให้ผลตอบแทนแก่รัฐไม่ได้สูงสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ทั้งที่คู่แข่งถ้าหากได้รับการคัดเลือกคู่แข่งจะต้องลงทุนอีกจำนวนมากพอสมควร เป็นเหตุให้ ทอท.ต้องเจรจาเพื่อให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ขยับ “ราคา” ผลตอบแทนรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้น แม้จะปรับขึ้นแต่ก็ยังไม่เท่ากับคู่แข่งขันที่ให้สูงสุด
ต่อประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ตั้งคำถามต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2562 เพื่อถามย้ำในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่าการประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรี “คำนึงรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ และไม่เอื้อประโยชน์ใคร” (ข่าวนสพ.กรุงเทพธุรกิจ)
นายกรัฐมนตรีตอบคำถามหลังประชุม ครม.ว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของบริษัท ท่าอากาศยานไทย ดำเนินการ ได้ให้นโยบายไปว่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ดังนั้นต้องติดตาม เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว อะไรที่จบไปแล้วต้องดูให้ดีว่าเขาใช้เหตุผลอะไร บางทีพูดกันไม่ตรง ดังนั้นต้องไปดูที่เขาชี้แจง โดยยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกาทั้งหมด”
เมื่อผู้สื่อข่าวจะถามต่อ นายกรัฐมนตรีก็ปิดการให้สัมภาษณ์ เดินกลับเข้าทำเนียบรัฐบาลทันที
นี่คือคำถามที่นายกรัฐมนตรีไม่ตอบ ว่าทำไมการประมูลครั้งนี้ผู้ที่เสนอรายได้ให้รัฐสูงสุดกลับไม่ใช่ผู้ชนะ ถ้าหากนโยบายของรัฐคำนึงถึงรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ!!! และทำไมการกำหนด TOR การประมูลจึงกลับหัวกลับหาง ให้น้ำหนักทางด้านราคาแค่ 20 % ส่วนน้ำหนักทางเทคนิคกลับให้สูงถึง 80%
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปสัญญาณที่ ทอท.ประกาศครั้งแรก ชัดเจนว่าต้องการรวบทั้ง 4 สนามบินให้ “รายเดียว”
โดยเมื่อ 11 มีนาคม 2562 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ออกประกาศ 2 ฉบับผ่านเว็บไซด์ของ ทอท. ฉบับแรก ประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวม 4 แห่ง และฉบับที่ 2 ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
การประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 4 แห่งตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ทาง ทอท.มีความประสงค์ที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดีเพียงรายเดียว ให้เข้ามารับสัมปทานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน
จึงเป็นที่มาของการพาดหัวข่าว “ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้”
หลังจากนั้น 3 วัน “นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี-รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน”
จากนั้น ทอท.จึงออกมาแถลงข่าวทบทวน โดยแยกการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินนานาชาติในภูมิภาค (ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่)
ในตอนนั้นนายกรัฐมนตรีสั่งย้ำว่า รัฐบาลจะหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปติดตามกำกับดูแลและร่วมหาแนวทางที่ดีที่สุดกับ ทอท.โดยเร่งด่วน ซึ่งในวันเดียวกันกระทรวงคมนาคมออกมาแถลงข่าวให้ ทอท.ทบทวนตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ
แต่ในที่สุด “ทอท.เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1-18 เม.ย.นี้”
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องนี้จากกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลกลับได้รับคำตอบว่า “คมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลไม่สามารถสั่งการใดๆ ได้ เพราะมีผู้สั่งการที่มีอำนาจมากกว่า” พร้อมกับย้ำว่า “คุณก็รู้ว่าใคร”
โดยวันที่ 28 มีนาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 5/2562 หรือ “บอร์ด ทอท.” ได้มีมติเห็นชอบให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งให้แนวทางในการคัดเลือก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและผู้ถือหุ้น ดังนี้
-
1. โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร แยกเป็น 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1 สัญญา โดยให้กำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ (brand name) สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้ และผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน
2. โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สัมปทานแบบรายเดียว (master concession)
พร้อมคำพูดสวยๆ จากคณะกรรมการ ทอท.ที่ว่า “การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานของ ทอท. ที่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้วยเกณฑ์การให้คะแนนที่ ทอท.กำหนดขึ้น
1. คะแนนทางเทคนิค 80 คะแนน โดยแบ่งเป็น
- ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจของผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน 15 คะแนน
- แผนการดำเนินงาน 40 คะแนน
- แผนธุรกิจ 25 คะแนน
2. คะแนนราคาหรือผลตอบแทน/รายได้เข้ารัฐ 20 คะแนน
จากการประกาศผลคะแนนกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดคือกลุ่มคิงเพาเวอร์ จึงมีประเด็นถามหาความโปร่งใสจากผู้ร่วมประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ถามหาความโปร่งใส ทอท.ไม่ประกาศ “ราคาผลตอบแทนให้รัฐ – คะแนนเทคนิค” ของผู้ยื่นซองทุกราย
คำถามก็คือ เมื่อธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับ 1 อันดับ2 ของโลก ที่เข้าร่วมประมูล แพ้ดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของเมืองไทยที่ครอบครองสัมปทานดิวตี้มาอย่างยาวนาน และครั้งหนึ่งดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของไทยเคยขอให้ “ดูฟรี” ดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของโลกเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพราะดูฟรีมีผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมที่เป็นพันธมิตรมากมาย สามารถที่จะสั่งผลิตสินค้าพิเศษขายเฉพาะสนามบินใดก็ได้ ไม่นับรวมแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี และโนฮาวที่ปรับได้กับแต่ละสนามบิน ที่สำคัญสามารถตรวจสอบยอดขายได้เรียลไทม์ ว่ารายได้ที่จะเข้ารัฐเป็นเท่าไหร่
ดังนั้น การประมูลครั้งนี้นักลงทุนไทยจึงได้ชักชวนนักลงทุนต่างชาติที่ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับ 1 และ 2 มาร่วมทีม โดยหวังว่าจะเข้ามายกระดับและสร้างรายได้จากนักเดินทางกว่า 100 ล้านคนต่อปี โดยเสนอรายได้เข้ารัฐสูงสุดที่สุด และเพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประมูลและสอดรับกับเจตนารมณ์ของ ทอท.ที่ว่า …การกำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้
ประเด็นนี้ ทอท.ต้องตอบคำถามและกางข้อเท็จจริงในการให้คะแนนว่า ทำไมผู้เข้าแข่งขันที่มีพันธมิตรผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมมากที่สุดและเป็นอันดับ 1และ 2 ของโลกกลับสอบตก
รวมทั้งเรื่องที่ว่า…ผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดสัญญา)
หากดูจากตารางด้านล่างนี้คือผลตอบแทนที่ ทอท.ได้รับขั้นต่ำตลอดการต่อสัมปทานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ในประเด็นนี้ที่ว่าผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน จากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสำรวจผลประกอบการทั้งด้านการบริการและด้านการเงินของ ทอท.ย้อนหลัง 14 ปีตั้งแต่ 2548-2561 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาส่วนใหญ่สัมปทานเดิมว่า จากผลของสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้ ทอท.และประเทศไทยได้หรือเสียอะไรไปบ้าง
เริ่มต้นสำหรับผลดำเนินการด้านการให้บริการ ทอท.ดำเนินกิจการท่าอากาศยานในประเทศไทยทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเชียงราย โดยในช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 47,338,682 คนในปี 2548 เป็น 139,518,488 คนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 330,346 เที่ยวในปี 2548 เป็น 874,999 เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 เท่า คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.8%
คงต้องถามย้ำแล้วย้ำอีกว่าแล้วรายได้ที่รัฐควรจะได้เป็นเท่าไหร่ หากมีนักเดินทางและมีเที่ยวบินแต่ละปีเยอะเช่นนี้ และทำไมรายได้ที่ผ่านมาจึงมีรายได้เข้ารัฐดังตารางข้างบน
รวมทั้งคำประกาศที่ว่า… “ทาง ทอท.มีความประสงค์ที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดีเพียงรายเดียว ให้เข้ามารับสัมปทานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร”
ดังนั้น การประมูลสัมปทานครั้งนี้ แม้ ทอท.จะไม่เรียกว่า “ผูกขาด” แต่การที่มีผู้ได้รับสัมปทานต่อเนื่องเพียงรายเดียวทั้ง 4 สนามบินนานาชาติ ยาวนานถึง 24 ปี 6 เดือน ก็เป็นคำถามต่อ ทอท.ว่า ระยะเวลานานขนาดนี้สามารถเรียกว่าเป็นสัมปทานประเภทไหน อย่างไร
และ ทอท.ได้มีการเปรียบเทียบธุรกิจดิวตี้ฟรีทั่วโลกหรือไม่ว่า มาตรฐานของไทยอยู่ในระดับไหนของโลก หากทอท.มีโอกาสที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ตามนิยามของความยั่งยืนที่แท้จริง จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้นได้อีกแค่ไหน อย่างไร
เพราะถ้าถามนักวิเคราะห์ก็จะได้คำตอบว่า ทำไมสนามบินสุวรรณภูมิของไทยจึงคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคนี้ทุกเกณฑ์
ดังนั้น ปมคำถามที่กล่าวมาข้างต้น ฤาจะตอกย้ำว่านี่คือคำพูดสวยๆ จากคณะกรรมการ ทอท.ที่ว่า “การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานของ ทอท. ที่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
เพราะถ้าการดำเนินงานของ ทอท.อย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติแล้ว รายได้ขั้นต่ำที่ได้รับจากการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี กับอัตราการเพิ่มของนักเดินทางและเที่ยวบินดังข้อมูลข้างบน คงไม่กลับหัวกลับหางเช่นนี้
จึงต้องถามว่าใครกันที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง!!!
…
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/06/จม.คิงเพาเวอร์ขอต่อสัญญา_stp.pdf”]ข้อเท็จจริงธุรกิจดิวตี้ฟรีโลก-ไทยควรมีรายได้ 5 แสนล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี
ก่อนหน้านี้สมาคมค้าปลีกได้เปรียบเทียบการบริหารจัดการสนามบินนานาชาติใหญ่ๆ ของโลกว่าดำเนินการในรูปแบบไหนกันบ้าง เพื่อให้รายได้เข้ารัฐสูงที่สุดและการบริการนักเดินทางที่ดีที่สุด