ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 มิ.ย. 2562: “‘ประยุทธ์’ นั่งนายกฯ ต่อ” และ “จีนเตือนประชาชนตนเองในสหรัฐฯ ระวัง จนท.คุกคาม”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 มิ.ย. 2562: “‘ประยุทธ์’ นั่งนายกฯ ต่อ” และ “จีนเตือนประชาชนตนเองในสหรัฐฯ ระวัง จนท.คุกคาม”

8 มิถุนายน 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 มิ.ย. 2562

  • “ประยุทธ์” นั่งนายกฯ ต่อ
  • “อภิสิทธิ์-คน ปชป.” ลาออก หลังมติ ปชป.สนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ
  • ประกันสังคมยัน “ยังไม่ล้มเลิก” แผนเก็บเพิ่มเป็น 1,000 บาท
  • พบ รพ.เอกชนบางแห่งบวกค่ายาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16,000 เปอร์เซ็นต์ จ่อเจรจาให้ปรับให้เป็นธรรม
  • จีนเตือนประชาชนตนเองในสหรัฐฯ ระวัง จนท.คุกคาม
  • ‘ประยุทธ์’ นั่งนายกฯ ต่อ

    ที่มาภาพ: http://www .khaosodenglish.com/politics/2019/03/24/live-blog-thailand-2019-election-day/

    เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ณ หอประชุมใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้มีการการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ซึ่งเป็นการประชุมร่วมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีวาระสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ

    อนึ่ง สถานที่ประชุมดังกล่าวเป็นสถานที่ชั่วคราว เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ยังไม่เสร็จสิ้น

    รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการนำเสนอในสภานั้นมีสองคนจากสองขั้วตามที่คาดกันไว้ นั่นคือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ขณะที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.

    หลังการอภิปรายถึงความเหมาะสมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนที่ใช้เวลานาน 10 ชั่วโมง นายชวน หลีกภัย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภา ได้ประกาศปิดการอภิปรายในเวลา 21.37 น. และเปิดให้สมาชิกของทั้งสองสภาได้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผยด้วยการขานชื่อตามตัวอักษรเป็นรายบุคคล โดยผู้ที่จะที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา หรือ 375 เสียง จากองค์ประชุม 748 เสียง โดยมีสมาชิกมาร่วมประชุม 747 คน แบ่งเป็น ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 497 คน

    อนึ่ง ในบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมรัฐสภา 747 คนนั้น มีผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม 3 คน ได้แก่ 1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 2. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และ 3. จุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ลาป่วยตั้งแต่ก่อนเปิดประชุมสภา

    หลังจากการขานชื่อที่ยาวนานเกือบ 2 ชั่วโมง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244 เสียง โดยมีผู้งดออกเสียง 3 ราย คือ 1. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา/ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2. พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา/ประธานวุฒิสภา และ 3. สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย

    ทั้งนี้ คะแนนเสียง 500 คะแนนของ พล.อ. ประยุทธ์ มาจาก

  • ส.ว. 249 เสียง (พรเพชร วิชิตชลชัย งดออกเสียง เนื่องจากเป็นรองประธานวุฒิสภา)
  • พลังประชารัฐ 116 เสียง
  • ประชาธิปัตย์ 51 เสียง
  • ภูมิใจไทย 50 เสียง
  • ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง
  • รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
  • ชาติพัฒนา 3 เสียง
  • พลังท้องถิ่นไทย 3 เสียง
  • รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
  • พลังชาติไทย 1 เสียง
  • พรรคเล็กอื่นๆ อีก 10 เสียง
  • ขณะที่คะแนนเสียง 244 คะแนนของธนาธรมาจาก

  • เพื่อไทย 136 เสียง
  • อนาคตใหม่ 79 เสียง
  • เสรีรวมไทย 10 เสียง
  • ประชาชาติ 7 เสียง
  • เศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง
  • เพื่อชาติ 5 เสียง
  • พลังปวงชนไทย 1 เสียง
  • สามารถดูรายละเอียดการลงคะแนนเป็นรายบุคคลว่าใครเลือกใครได้ที่นี่ http://bit.ly/2Wjv66R

    “อภิสิทธิ์-คน ปชป.” ลาออก หลังมติ ปชป.สนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/

    วันที่ 4 มิ.ย. 2562 ที่ประชุมกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีมติเป็นทางการว่าจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยเห็นควรให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ 61 เสียง ไม่เห็นควรให้เข้าร่วม 16 งดออกเสียง 2 เสียง และบัตรเสีย 1 เสียง

    จากการรายงานของเว็บไซต์ไทยพีบีเอส เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐนั้นมีอยู่ 5 ประการ คือ

      1. ต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้
      2. ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้
      3. ให้ประเทศสามารถที่จะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก อันได้แก่ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด รวมทั้งชาวประมง ได้สามารถมีหลักประกันในเรื่องรายได้ในการนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฎผลเป็นรูปธรรมต่อไปได้
      4. การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในอีกนัยหนึ่งก็เสมือนกับการหยุดอำนาจ หรือการปิดสวิตช์ คสช. เพราะว่า คสช.จะหมดอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
      5. เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเสนอเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น นั่นก็คือการสะท้อนให้เห็นว่าเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประสงค์จะให้มีการปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้

    มติดังกล่าว ทำให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่างออกมาประกาศยุติบทบาทที่มีในพรรคประชาธิปัตย์ในหลากหลายสถานะ ได้แก่

    • สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
    • พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศยุติทุกบทบาททางการเมืองในนามพรรค และลาออกจากสมาชิกพรรค
    • นัฏฐิกา โล่ห์วีระ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดชัยภูมิ ประกาศยุติบทบาททางการเมืองกับพรรค
    • ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 15 มีนบุรี คันนายาว ประกาศยุติบทบาททางการเมืองกับพรรค
    • ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
    • กฤชกุศล ส่องแสง ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดปทุมธานี ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
    • พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

    และที่สำคัญที่สุดก็คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์

    “จะให้ผมเดินเข้าไปแล้วออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีก คือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” อภิสิทธิ์กล่าว

    อ่านคำแถลงลาออกของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นี่

    ประกันสังคมยัน “ยังไม่ล้มเลิก” แผนเก็บเพิ่มเป็น 1,000 บาท

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 4 มิ.ย. 2562 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการพิจารณาเก็บเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด จากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ว่า สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวนจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย

    ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ค่าทันตกรรม ค่าคลอดลูก ค่าทำศพ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น และปัจจุบันยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน

    นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส.ได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ข้อดี คือ ทำให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณด้วย แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้ว พบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้น จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ต้องมีการทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้งหมด

    อย่างไรก็ตาม หลังจากตนเข้ารับตำแหน่ง ได้ให้นโยบายว่าต้องมีการปรับอัตราเงินสมทบเพิ่มแน่นอน แต่เพื่อให้ไม่กระทบกับแรงงาน ควรทำในลักษณะเป็นขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ เช่น จาก 15,000 บาท เก็บเงินสมทบเดือนละ 750 บาท ปีต่อไปขยายเพดานเป็น 16,000 บาท เก็บสมทบเป็น 800 บาทต่อเดือน ปีถัดไปเพิ่มเป็น 17,000 บาท เก็บสมทบเพิ่มเป็น 850 บาท โดยในระยะเวลา 5 ปี ก็สามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย ผู้ประกันตนก็จะได้ไม่รู้สึกว่า ต้องจ่ายแบบก้าวกระโดด สปส.เองแม้จะไม่สามารถเก็บได้ 1,000 บาทต่อเดือนตั้งแต่แรก ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าออกกฎหมายไปแล้วไม่ได้รับการยอมรับ

    “ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ ให้มีการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได หากเสร็จแล้วจะมีการนำมารับฟังความเห็นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตรงนี้อาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ และรัฐบาลเช่นกัน ส่วนคณะกรรมการประกันสังคมชุดนี้ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้ต่อไป จนกว่าจะมีการยกเลิกคำสั่ง” นายอนันต์ชัยกล่าว

    พบ รพ.เอกชนบางแห่งบวกค่ายาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16,000 เปอร์เซ็นต์ จ่อเจรจาให้ปรับให้เป็นธรรม

    เว็บไซต์ข่าวช่อง 3 รายงานว่า กรมการค้าภายในเตรียมเชิญโรงพยาบาลเอกชนหารือขอความร่วมมือปรับลดราคายาให้มีความเป็นธรรม หลังพบโรงพยาบาลร้อยละ 30 คิดค่ายาสูงเกินจริง โดยในจำนวนนี้ มียา 150 รายการ ที่โรงพยาบาลบวกกำไรสูงกว่าราคาเฉลี่ยถึง 16,000 เปอร์เซ็นต์

    นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากเริ่มใช้มาตรการให้โรงพยาบาลส่งรายการ ราคาซื้อขาย ยารักษาโรค มาให้พิจารณา พบว่า มีโรงพยาบาล 353 แห่งให้ความร่วมมือ ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่คิดราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค อีก 40 เปอร์เซ็นต์ คิดราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยเล็กน้อย และอีก 30 เปอร์เซ็นต์ มีการตั้งราคายาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ตั้งแต่ 300-8,000 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งบวกเพิ่มถึง 16,000 เปอร์เซ็นต์ ในบัญชียา 150 รายการ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดใหญ่

    ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะเชิญผู้แทน ร.พ.เอกชน มาเจรจาให้ปฎิบัติตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาอย่างเคร่งครัด จากนั้นจะให้เวลาปรับตัว 15 วัน ในการกำหนดค่ายาให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยขณะนี้ยังมีโรงพยาบาล 52 แห่ง ส่งข้อมูลค่ายาคาดเคลื่อน กรมได้ขอให้ส่งกลับมาใหม่ ภายในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะครบกำหนดแจ้งราคายาตามกฎหมาย เชื่อว่าหลังจากนี้การคิดค่ายาจะมีความเป็นธรรมมากขึ้น

    จีนเตือนประชาชนตนเองในสหรัฐฯ ระวัง จนท.คุกคาม

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า สำนักข่าวเอพีรายงานข่าวทางการจีนออกคำเตือนไปถึงประชาชนชาวจีนและหน่วยงานทั้งหลายของจีนในสหรัฐอเมริกา ขอให้กระตุ้นเตือนเรื่องมาตรการความปลอดภัยและตอบโต้อย่างเหมาะสม เพราะชาวจีนอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายของสหรัฐฯ กระทำการอันเป็นคุกคาม เช่น ทำการซักไซ้และสอบถาม คำเตือนนี้ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนและยังเผยแพร่ผ่านสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของจีนในประเทศสหรัฐอเมริกา

    คำเตือนของจีนมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และยังใช้มาตรการเข้มงวดในการขอวีซ่าเข้าเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

    ขณะเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนก็ได้ออกคำเตือนเช่นกันไปถึงประชาชนชาวจีนในสหรัฐอเมริกา แจ้งให้ทราบถึงเหตุการณ์กราดยิง ปล้นสะดม และลักขโมย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกา และยังขอให้นักเรียนนักศึกษาของจีนประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการขอวีซ่าเข้าเมืองอย่างเข้มงวดในสหรัฐอเมริกา นายจิ้ง ฉวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ต้องรับรู้ถึงอุปสรรคและผลกระทบที่จะเกิดจากการกระทำเช่นนี้