ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ยูนิลีเวอร์ไทยกับการประกาศ “ปฏิวัติพลาสติก”

ยูนิลีเวอร์ไทยกับการประกาศ “ปฏิวัติพลาสติก”

31 พฤษภาคม 2019


โรเบิร์ต แคนดิโน  ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา

ในระดับโลก “ยูนิลีเวอร์” ยักษ์ใหญ่ของสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของโลก  ถือเป็นผู้นำในธุรกิจยั่งยืน โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนที่ “พอล โพลแมน” อดีตซีอีโอ หนึ่งในผู้นำธุรกิจที่ได้รับการยกย่องในการเป็นผู้นำธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนในระดับต้นๆ ของโลก ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะพลิกโฉมธุรกิจ ภายใต้ “แผนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของยูนิลีเวอร์” (Unilever Sustainable Plan) ภายใต้วิสัยทัศน์  “เราจะสร้างธุรกิจให้เติบโตเป็นสองเท่าในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม”

ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ถูกจับตาโดยเฉพาะพันธกิจด้านความยั่งยืน เมื่อ “พอล โพแมน” เกษียณอายุและมีการแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ “อลัน โจฟ” เข้ามานั่งกุมบังเหียนธุรกิจตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา และนั่นเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย

“มีคำถามที่ท้าทายว่า ในฐานะธุรกิจ เราจะเติบโตไปในทิศทางไหน การวางตำแหน่งแบบไหนที่จะทำให้เราเติบโตในอนาคต เรามีซีอีโอคนใหม่คือ อลัน โจฟ เขากับทีมใช้เวลาและการทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะตอบคำถามว่า หนทางในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป” โรเบิร์ต แคนดิโน  ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ประเทศไทย และมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา กล่าวเรื่องนี้ในงานแถลงข่าวประจำปี 2562 ของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

“คำตอบวันนี้คือเป้าหมายของเรายังเหมือนเดิม เรายังต้องการสร้างความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่เราจะทำจากนี้คือการทำให้ทุกอย่างสามารถจับต้องได้มากยิ่งขึ้น”

ภายใต้จุดมุ่งหมายของยูนิลีเวอร์ ในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน  ตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐาน 3 ประการ ที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจต่างๆ โดยบริษัทเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แบรนด์ที่มีวัตถุประสงค์จะเติบโต (Brands With Purpose Grow) บุคลากรที่มีเป้าหม่ายจะเติบโต (People With Purpose Thrive) และบริษัทที่มีเป้าหมายจะอยู่ได้ยาวนาน (Companies With Purpose Last)

“เราเชื่อว่าแบรนด์ที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนจะเติบโต โดยเราตั้งเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่จะเติบโตในระยะยาว แต่จุดต่างของเรา เราไม่สามารถพูดได้ว่าเราจะทำได้เพียงเพราะจุดมุ่งหมาย ความเชื่อหรือการที่สนใจแต่ผลกำไรแค่อย่างเดียว เพราะนั่นมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”

ในโมเดลใหม่ เราไม่ได้มองแต่เฉพาะการตอบสนองผลกำไรผู้ถือหุ้น หรือการตอบสนองส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างจำกัด แต่เราเชื่อว่าภาพรวมที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งใจได้ ต้องตระหนักถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง เราต้องตอบสนองความหลากหลายและตอบคำถามให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะตอบสนองผู้บริโภคและทำให้เขาใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา หรือทำอย่างไรพนักงานจึงจะรู้สึกมีความมั่นคง ฯลฯ และนั่นทำให้ โมเดลธุรกิจใหม่ตอบสนองต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายครอบคลุม ผู้บริโภค ลูกค้า พนักงาน สังคม โลก และผู้ถือหุ้น ภายใต้แผนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ที่ถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ

และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับทิศทางและโฟกัสของยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย หนึ่งในตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้

ซันไลต์ และคอมฟอร์ท แบรนด์ที่เป็นธงนำในการ “ลดขยะพลาสติก” โดยบรรจุภัณฑ์ที่เปลี่ยนใหม่ทำมาจาก พาสติครีไซเคิล 100%

แคนเดลิโนกล่าวว่า ในปี 2561 ยูนิลีเวอร์ประเทศไทย ได้นำแผนดำรงชีวิตที่ยั่งยืน มาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนดังกล่าวกลยุทธ์หนึ่งในทิศทางที่สำคัญคือการ “ปฏิวัติพลาสติก” (Plastic Revolution) โดยยูนิลีเวอร์ประเทศไทยมีนโยบายที่จะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิล (recyclable) นำกลับมาใช้ใหม่ (reusable) และย่อยสลายได้ (compostable) กับผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตามเป้าหมายของยูนิลีเวอร์ทั่วโลกในการทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของยูนิลีเวอร์ สามารถรีไซเคิลได้ นำกลับมาใช้ใหม่และย่อยสลายได้ภายในปี ค.ศ. 2025

“ในประเทศไทยเรามีโรดแมปที่ชัดเจนและเราเชื่อว่าจะเป็นไปได้เร็วกว่าเป้าหมายระดับโลก”

“เราเริ่มแล้วและถ้าทำได้ด้วยขนาดของยูนิลีเวอร์ สิ่งนี้จะเป็นการปฏิวัติการแก้ปัญหาพลาสติก ในประเทศไทยเราพยายามเร่งให้เร็วที่สุด โดย 2 ผลิตภัณฑ์ที่เราเลือกที่จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ก็เป็นสินค้าที่มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายที่สูงมาก อย่างน้ำยาล้างจานซันไลต์ในไทยมียอดขายเป็น 100 ล้านขวด เราเลือกในสิ่งที่จะสามารถไปสู่เป้าหมาย”

ขณะเดียวกัน ในปี 2562 ยูนิลีเวอร์มีแบรนด์ที่มีวัตถุประสงค์ (Brand with Purpose) ใหม่ 2 แบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่วางตลาดในไทย คือ แบรนด์ “เลิฟ บิวตี้ แพลเน็ต” ผลิตภัณฑ์ความงาม ที่ทำมาจากวัตถุธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน ใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล 100% และสามารถนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ และแบรนด์ “เซเว่น เจเนเรชั่น” ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้า และน้ำยาล้างจาน ที่ทำมาจากธรรมชาติ 97% และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจาก เวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ที่มีแนวคิดของแบรนด์ว่า ในการตัดสินใจของแบรนด์ในทุกการกระทำต้องคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับคน 7 รุ่น

Love beauty and planet 1 ใน 2 แบรนด์ที่มีวัตถุประสงค์ของยูนิลีเวอร์ ที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาบางประการ ทั้งในเรื่องสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% และนำกลับมารีไซเคิลได้ 100%

เมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิลีเวอร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม Thai-Dutch Dialogue ซึ่งริเริ่มโดยสถานฑูตเนเธอแลนด์ ประจำประเทศไทย ในการสร้างความร่วมมือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยยูนิลีเวอร์ เป็นผู้นำในการเจรจาระหว่างผุ้ประกอบการในประเทศไทย เพื่อจะหาทางออกใหม่ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาพลาสติก (Plastic Pollution) ซึ่งพึ่งเริ่มการประชุมนัดแรกระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องไปไม่นานมานี้เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก

“ปัญหาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นปัญหาระดับโลก ไม่มีรัฐบาลใด บริษัทแห่งใด หรือคนใดคนหนึ่งแก้ปัญหาได้ แต่การแก้ปัญหาจะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

ตามที่ แคนเดลิโน กล่าวในตอนต้นของการแถลงข่าว เมื่อเขานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของยูนิลีเวอร์ในระดับโลกที่ปัจจุบันเป็นบริษัทสินค้าอุปโภค บริโภคชั้นนำใน 190 ประเทศ มีสินค้ากว่า 400 ชนิด ตั้งแต่ผงซักฟอก ผลิตภัณฑฑ์บำรุงผิวและเส้นผม น้ำยาล้างจาน และอาหาร ในปี 2561 บริษัทมีรายได้มากถึง 51,000 ล้านยูโร

“ทุกวันมีคนมากกว่า 2.5 พันล้านคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา หรือจะเรียกได้ว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก เราพูดแบบนี้ไม่ได้เป็นการโอ้อวด แต่เป็นการเตือนตัวเองสำหรับเราเสมอว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่เมื่อเราจะตัดสินใจอะไรไป”

และนี่เป็นความมุ่งหมายของยูนิลีเวอร์ และความเชื่อในการสร้างผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงซึ่งหากครั้งนี้ทำสำเร็จจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับ “ปฏิวัติการแก้ปัญหาพลาสติก” ทั้งในประเทศไทยและในโลก