ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองสูงสุด สั่งรัฐโดย รฟท.จ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” 1.18 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน

ศาลปกครองสูงสุด สั่งรัฐโดย รฟท.จ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” 1.18 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน

22 เมษายน 2019


สภาพทิ้งร้างของตอม่อโครงการโฮปเวลล์ ริมถนนวิภาวดีรังสิต

วันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำร้อง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระเงินจำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562ระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้อง กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

คดีดังกล่าวนั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธไม่รับคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่าการที่ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีนับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้าน(โฮปเวลล์)ยื่นคำเสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ และศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรพิจารณาคดีในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป โดยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญา ห้ามผู้คัดค้านเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ริบเงินค่าตอบแทนสัญญาและริบหลักประกันสัญญาประกัน แสดงว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น และก่อนเสนอข้อพิพาทผู้คัดค้านได้ขอให้ผู้ร้องทั้งสองระงับข้อพิพาทโดยเจรจาประนีประนอมยอมความ

แต่ผู้ร้องทั้งสองเพิกเฉย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธินำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี คำชี้ขาดในประเด็นที่ว่าผู้คัดค้านเสนอให้ระงับข้อพิพาทภายในอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

ส่วนคำชี้ขาดที่ว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อผู้คัดค้านทันทีโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญาคือต้องให้ดำเนินการแก้ไขก่อน เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิ จึงไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือยืนยันหลายครั้งและผู้คัดค้านขนย้ายออกและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ พฤติการณ์ของผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาจะเลิกสัญญากับผู้คัดค้านอันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญา และการที่ผู้คัดค้านยืนยันปฏิบัติตามจนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของผู้ร้องทั้งสอง สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจำต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,850,000,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำชี้ขาดที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะตัวที่เป็นอยู่เดิม ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำชี้ขาดที่ว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายสัญญานั้น เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองในประเด็นต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยการปฏิบัติตามสัญญารวมทั้งความรับผิดต่อกันซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญา ไม่ได้มีลักษณะเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่ปรากฏเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ทั้งนี้ จากคำพิพากษาดังกล่าว มีผลบังคับให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 คืนแก่บริษัทโฮปเวลล์ จำนวน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โครงการโฮปเวลล์

โครงการโฮปเวลล์ หรือ “โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร” เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท โดยบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ สัญชาติฮ่องกง เป็นผู้ชนะ

โครงการนี้ได้มีการลงนามในสัญญาโดยนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของนายกอร์ดอน วู เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 อายุสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า Railways Mass Transit (Community Train) and Urban Free System (RAMTUFS)

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด และได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาดำเนินการแทน เมื่อ พ.ศ. 2535

ต่อมาในรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 ได้พยายามยามผลักดันโครงการโฮปเวลล์ต่อ แต่ยังประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและแบบก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ก็เนื่องมาจากไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัทโฮปเวลล์มีสิทธิอันชอบทำที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

ต่อมาในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540

โครงการการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ สิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 13.77% กระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541

ภายหลังจากบอกเลิกสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยถือว่าโครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และได้มีความพยายามนำโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วมาพัฒนาต่อ จากผลการศึกษาสรุปว่าจะนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต

ต่อมาบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้กับบริษัทโฮปเวลล์

ต่อมากระทรวงคมนาคมและ รฟท.นำเรื่องร้องศาลปกครองกลาง โดยเห็นว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาทได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาฯ หลังจากนั้นวันที่ 30 กันยายน 2551 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

แต่ต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาในวันนี้

คำพิพากษาคดีโฮปเวลล์ ศป.สูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223-2562 by thaipublica on Scribd