ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เยอรมนีทดสอบทางด่วนไฟฟ้า รถบรรทุกไฮบริดชาร์จไฟได้ตลอดทาง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ – การใช้พลังงาน

เยอรมนีทดสอบทางด่วนไฟฟ้า รถบรรทุกไฮบริดชาร์จไฟได้ตลอดทาง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ – การใช้พลังงาน

17 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ : https://mobil.hessen.de/ELISA

ในสัปดาห์แรกของดือนพฤษภาคม เยอรมนีได้มีการเปิดทดสอบทางด่วนไฟฟ้า (electric highway) หรือ eHighway ที่รถบรรทุกไฮบริดสามารถเชื่อมต่อกับสายส่งไฟฟ้าด้านบน ซึ่งจะทำให้มีการชาร์จไฟไปตลอดเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศ

เอกสารข่าวกรมการขนส่ง (Hessen Mobil) ของรัฐเฮสส์ ระบุว่าทางด่วนไฟฟ้าของเยอรมนีมีความยาว 10 กิโลเมตร หรือราว 6 ไมล์ เป็นเส้นทางทางใต้ของแฟรงก์เฟิร์ตบนทางด่วน 4 เลนสาย A5 ไปยังดาร์มสตัดท์

การทดสอบได้นำรถบรรทุกไฮบริดคันแรกที่มีการดัดแปลงหลังคาเป็นพิเศษให้ติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถคล้องสายกับสายไฟฟ้าด้านบนเพื่อชาร์จไฟไปตลอดเส้นทางขณะที่วิ่งด้วยความเร็ว 56 ไมล์ต่อชั่วโมง

ระบบไฟฟ้าบนทางด่วนพัฒนาโดยบริษัทซีเมนส์ที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงกับที่ใช้รถไฟหรือรถราง ไฟจึงไปเลี้ยงแบตเตอรี่ตลอดเวลา ทำให้รถสามารถวิ่งไปได้อีกระยะหนึ่งก่อนที่ระบบจะปรับมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่หมด

ทั้งนี้การทดสอบจะมีทั้งขาไปและขากลับไปจนถึงปี 2022 โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนักวิจัยด้านการจราจรแห่งมหาวิทยาลัยเทคนิคดาร์มสตัดท์จะประเมินผลด้านเศรษฐกิจและระบบนิเวศในช่วงระยะเวลาการทดสอบนี้

สำหรับรถบรรทุกที่ใช้ในการทดสอบอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัทโฟล์คสวาเกน ที่ดัดแปลงให้ติดตั้งแบตเตอรี่และแหนบรับไฟ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะใช้รับกระแสไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้าด้านบนเสาไฟที่มีจำนวนมากในเลนด้านในสุด รวมทั้งใต้สะพาน

สายส่งไฟฟ้าที่มีแรงดันกระแสไฟฟ้าตรง 670 โวลต์จะหยุดจ่ายไฟอัตโนมัติในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และในช่วงหน้าหนาวจะมีระบบป้อง กันน้ำแข็งเกาะเพื่อให้จ่ายไฟได้ต่อเนื่อง

โดยราวกลางปี 2020 จะมีรถบรรทุกไฮบริดจำนวน 5 คันปะปนไปกับรถบรรทุกทั่วไปที่วิ่งอยู่บน eHighway นี้ทุกวัน ทั้งนี้ทางด่วน A5 ระหว่างแฟรงค์เฟิร์ตกับดาร์มสตัดท์มีรถวิ่งเฉลี่ย 135,000 คันต่อวัน โดยที่ 10% เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่

ที่มาภาพ : https://mobil.hessen.de/ELISA

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 70 ล้านยูโรหรือราว 77 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนารถบรรทุกให้สามารถใช้ระบบนี้ได้ ขณะที่ซีเมนส์ระบุว่าเจ้าของรถบรรทุกจะประหยัดเงินได้ราว 20,000 ยูโรจากการใช้เชื้อเพลิงในการวิ่ง 100,000 กิโลเมตรหรือ 62,137 ไมล์

กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังได้จัดสรรเงินงบประมาณ 15 ล้านยูโรหรือ 16 ล้านดอลลาร์ สำหรับการทดสอบระยะแรก ซึ่งไม่รวม 14.6 ล้านยูโรที่ลงทุนในการติดตั้งเสาไฟ สายส่งไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐาน

หากการทดสอบนี้ได้ผลและมีความเป็นไปได้สูง ก็จะขยายโครงการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าออกไปรวมระยะทาง 1,000 กิโลเมตร จากทางด่วนที่มีระยะทางทั้งหมด 13,000 กิโลเมตร

Hessen Mobil อ้างผลการศึกษาของกระทรวงคมนาคมว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุกราว 80% สามารถปรับไปสู่การใช้ไฟฟ้าได้

เยอรมนียังได้ทดสอบและประเมินผลการใช้รถบรรทุกไฮบริดไฟฟ้าในการขนส่งจากเส้นทางคมนาคมในเขตเมืองไปยังท่าเรือ ที่คัปเปนไฮม์ ในทางใต้ของรัฐบาเดิน-เวิร์ทเทมแบร์ก กับลูเบก ทางตอนเหนือของรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์

ที่มาภาพ : https://www.dw.com/en/germany-tests-first-ehighway-autobahn/a-48632817

ซีเมนส์เริ่มโครงการทางด่วนไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2010 กับเส้นทางทดสอบนอกกรุงเบอร์ลิน รวมทั้งประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางด่วนไฟฟ้าและเปิดใช้เป็นครั้งแรกในปี 2016 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม สวีเดน และกำลังทดสอบเส้นทางในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

ซีเมนส์ระบุในแถลงการณ์ของว่า ทางด่วนไฟฟ้าที่พัฒนาโดยซีเมนส์ทำให้มีความเป็นไปได้ในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและต้นทุนการใช้รถบรรทุก ขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์

“ระบบ eHighway ยังประยุกต์ใช้ได้กับหลายด้าน เส้นทางสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เช่น จากท่าเรือไปยังศูนย์กระจายสินค้า มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ระบบ eHighway จะช่วยลดมลพิษและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถคำนวณได้ง่ายจากปริมาณการขนส่ง อีกทั้งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”

ซีเมนส์ระบุว่า ระบบนี้มีความปลอดภัยสูงและสามารถป้อนพลังงานต่อเนื่องให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และเป็นเทคโนโลยีเดียวกับระบบจ่ายไฟฟ้าแก่ทางรถไฟ (railroad electrification)

ที่มาภาพ: https:// www.dailymail.co.uk/news/article-7003989/The-electric-autobahn-Germany-unveils-e-highway-trucks-60m-test-project.html

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอ้างข้อมูลจาก International Transport Forum ซึ่งอยู่ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ว่า การขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นภาคที่มีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การขนส่งสินค้าทางบกมีสัดส่วนถึง 15% ของการประมาณการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปจนถึงปี 2050

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งทั้งรวมการขนสินค้าทางเรือเป็นองค์ประกอบหลักของข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายจะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

โครงการทางด่วนไฟฟ้าในเยอรมนีสามารถเป็นหนึ่งในแนวทางที่ครอบคลุมถึงการใช้รถไฟและรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น

Rita Schwarzelühr-Sutter จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รถบรรทุกไฟฟ้าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพของการใช้ถนนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์

เรียบเรียงจาก dw, cnn, bloomberg