ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติของ Jet Airways สะท้อนภาพสายการบินเป็นธุรกิจที่ “เติบโตแบบไม่มีกำไร”

วิกฤติของ Jet Airways สะท้อนภาพสายการบินเป็นธุรกิจที่ “เติบโตแบบไม่มีกำไร”

28 เมษายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : theclinic.cl

เมื่อวันที่ 17 เมษายน Jet Airways สายการบินเอกชนรายใหญ่ และเก่าแก่สุดของอินเดีย ได้ประกาศยุติการให้บริการบินเป็นการชั่วคราว Jet Airways เป็นสายการบินต้นทุนเต็มที่ ให้บริการเต็มรูปแบบ ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 25 ปี ลักษณะเดียวกับสายการบินดั้งเดิมทั้งหลาย สายการบินนี้ก่อตั้งโดยนายนเรศ โกยาล (Naresh Goyal) ที่เคยทำธุรกิจเป็นตัวแทนขายให้กับสายการบินต่างๆ การยกเลิกทำการบิน ทำให้ Jet Airways เป็นสายการบินที่ 7 ของอินเดีย ที่เลิกกิจการในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

Jet Airways เป็นสายการบินระดับชั้นนำของอินเดีย การขาดทุนสะสมต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ ให้กับเจ้าหนี้แทบทุกประเภท ตั้งแต่ธนาคาร บริษัทให้เช่าเครื่องบิน ไปจนถึงเงินเดือนของพนักงาน 2 หมื่นกว่าคน ที่ค้างมาแล้วหลายเดือน เมื่อ Jet Airways ประกาศยุติการให้บริการ มีเครื่องบินในครอบครองเหลืออยู่แค่ 5 ลำ ทั้งๆที่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีถึง 123 ลำ เหตุที่ต้องยุติบริการการบิน เพราะสถาบันการเงินไม่ยอมให้เงินกู้ฉุกเฉิน ทำให้สายการบินไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมัน และค่าบริการอื่นๆ ที่จำเป็นในการทำการบิน

ลักษณะธุรกิจที่ “เติบโตแบบไม่มีกำไร”

หากมองดูจากภายนอก การบินพาณิชย์ของอินเดียเป็นธุรกิจที่กำลังบินขึ้นสูง เป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก ปี 2018 ตลาดการบินพาณิชย์อินเดียมีผู้โดยสาร 138 ล้านคน เพิ่มจาก 51 ล้านคนในปี 2010 ในปี 2020 คาดว่า ตลาดการบินของอินเดีย จะใหญ่อันดับ 3 ของโลก ปัจจุบัน อินเดียมีเครื่องบินพาณิชย์ให้บริการกว่า 600 ลำ และกำลังสั่งซื้อเครื่องบินอีก 859 ลำ

แม้ตลาดการบินจะกำลังเติบโต แต่สายการบินของอินเดียก็ประสบปัญหา ปี 2013 สายการบิน Kingfisher Airlines เลิกกิจการ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลอินเดียยกเลิกแผนการที่จะขาย Air India ที่มีหนี้สิน 8 พันล้านดอลลาร์ เพราะไม่มีนักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อ กรณีล่าสุดที่ Jet Airways ยุติการทำการบิน หมายความว่า ฝูงบินกว่า 20% จะหายออกไปจากตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร โดยเฉพาะค่าโดยสารจะสูงขึ้น

นักวิเคราะห์เห็นว่า สิ่งที่เป็นวิกฤติของอุตสาหกรรมการบินในอินเดีย คือ ปัญหาในเชิงโครงสร้าง สายการบินเป็นธุรกิจที่มีส่วนต่างของกำไรที่ต่ำ ต้องเผชิญปัญหาราคาน้ำมันที่แปรปรวน แต่กลับมีอัตราค่าโดยสารที่ต่ำ สายการบินต่างก็แข่งขันกันทุกทาง ที่จะหาผู้โดยสารมาขึ้นเที่ยวบิน โดยยอมแลกกับการมีผลกำไร เวลาเดียวกัน สายการบินก็สั่งซื้อเครื่องบินใหม่ๆ

ในอุตสาหกรรมการบินนั้น จึงมีแต่สายการบินเท่านั้น ที่มีการแข่งขันกันรุนแรง ส่วนระบบนิเวศการบิน (airline ecosystem) จะไม่มีการแข่งขัน ไม่ว่าจะเช่น สนามบิน หรือ บริการของวิทยุการบิน นักวิเคราะห์ชื่อ Bhavesh Agarwal กล่าวกับ BBC ว่า “สายการบินจึงเป็นธุรกิจ ที่มีลักษณะเติบโตแบบไม่มีกำไร (profitless growth)”

ที่มาภาพ : https://twitter.com/jetairways/status/1103908742293151746/photo/3

ทำไม Jet Airways จึงไปไม่รอด

ในบทความชื่อ Why India’s Jet Airways Lost Its Wingsที่เผยแพร่ในเว็บไซด์ของ Wharton Business School กล่าวว่า การที่สายการบินนี้ผิดนัดชำระหนี้ให้กับบริษัทให้เช่าเครื่องบิน ทำให้เครื่องบิน 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด 121 ลำ ที่มีอยู่ในเดือนมีนาคม ต้องจอดอยู่กับภาคพื้นดิน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 สายการบินมีรายได้ 911 ล้านดอลลาร์ แต่ขาดทุน 86 ล้านดอลลาร์

เวลาเดียวกัน รัฐบาลอินเดียก็ปฏิเสธที่จะเข้ามากอบกู้ Jet Airways เพราะถือว่าจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ กรณีของ Jet Airways จึงคล้ายกับการปิดกิจการของสายการบิน Kingfisher Airlines ในปี 2012 ที่เคยเติบโตกลายเป็นสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย ก่อนที่จะประสบปัญหาการเงิน และปิดกิจการในที่สุด

Saikat Chaudhuri จาก Mack Institute for Innovation Management ของ Wharton กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติแก่ Jet Airways คือ อินเดียเป็นตลาดที่อ่อนไหวในเรื่องราคา สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง Indigo และ SpiceJet รุกล้ำเข้าสู่ตลาดการบิน ราคาน้ำมันเครื่องบินพุ่งขึ้น และเงินรูปีของอินเดียมีค่าอ่อนค่าลงเมื่อปีที่แล้ว ทำให้สายการบินของอินเดีย ประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้นทุนดำเนินงานของสายการบินจะอยู่ในรูปเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ

เพราะเหตุนี้ สภาพแวดล้อมด้านต้นทุน และสภาพแวดล้อมด้านราคา ล้วนไม่เป็นผลดีต่อ Jet Airways การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสายการบิน ยิ่งสร้างแรงกดดันต่ออัตราค่าโดยสารให้ต่ำลง ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว บางสิ่งบางอย่างจะต้องเกิดขึ้น ในที่สุด สิ่งนั้นก็คือการยุติการดำเนินงานของ Jet Airways

Kenneth Button จาก George Mason University กล่าวว่า เมื่อสายการบินต้นทุนต่ำเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ก็จะกดดันให้อัตราค่าโดยสารลงมาอยู่ที่ระดับต้นทุนส่วนที่เพิ่ม (marginal cost) ของสายการบิน ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว สายการบินจึงไม่สามารถจะมีรายได้พอ ที่จะคุ้มกับรายจ่ายด้านสินทรัพย์ที่ใช้ดำเนินงาน (capital expenditure) ในที่สุด บางสายการบินก็ต้องถอนตัวออกไปจากตลาด

ศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

Saikat Chaudhuri กล่าวว่า การบินพาณิชย์ของอินเดีย เป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตมากที่สุดของโลก จากประชากรที่มีมากกว่า 1 พันล้านคน และคนส่วนใหญ่ก็ไม่เคยโดยสารเครื่องบินมาก่อน ดังนั้น ตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำ จึงเป็นธุรกิจที่มีคุณค่าที่จะเข้ามาดำเนินการ เส้นทางบินสำคัญๆ จึงมีสภาพแออัด เพราะเวลาบินระหว่างเมืองสำคัญๆ จะอยู่ราวๆ 2 ชั่วโมง เช่นจากมุมไบ นิวเดลลี กัลกัตต้า และเชนไน

นักวิเคราะห์ของ Wharton Business School คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินของอินเดีย จะเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มสายการบินยักษ์ใหญ่ ในโมเดลธุรกิจแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ประกอบด้วยกลุ่มสายการบินใหญ่ 3 กลุ่ม คือ American Airlines, United Airlines และ Delta Airlines รูปแบบธุรกิจนี้ ยังปล่อยให้มีที่ว่างสำหรับสายการบินขนาดเล็ก แต่เข้มแข็ง อย่างเช่น Southwest Airlines, JetBlue และ Alaska Airlines

การเติบโตของการบินพาณิชย์ ยังเกิดจากปัจจัยที่มาจากการเติบโตของเมือง รายได้ของประชากรสูงขึ้น และคนในรุ่นหนุ่มสาว ที่มีความคล่องตัวและสะดวกในการเดินทางด้วยเครื่องบิน ในสภาพที่ตลาดการบินมีการเติบโตดังกล่าว ตารางบินขึ้นลง (slot) ของสายการบิน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มีมูลค่ามาก แต่ตารางบินเป็นปัญหาคอขวด (bottleneck) ในตลาดการบินพาณิชย์ เพราะสนามบินต่างๆ มีจำนวนตารางบินที่จำกัดแน่นอน ในยุโรป มีการขายตารางบินเป็นเงินหลายล้านยูโร ดังนั้น เมื่อความต้องการเดินทางโดยเครื่องบิน เติบโตรวดเร็วกว่าความสามารถในการให้บริการของสนามบิน ตารางเที่ยวบินก็จะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้น

ที่มาภาพ : https://simpleflying.com/could-jet-airways-be-saved/

อะไรคืออุปสรรคปัญหา

แม้ตลาดการบินของอินเดียจะมีศักยภาพสูง แต่ก็มีอุปสรรคปัญหา สายการบินในอินเดีย มีต้นทุนดำเนินงานที่สูง เพราะรัฐต่างๆเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน ตั้งแต่ 5-30% ดังนั้น แม้ค่าแรงในอินเดียจะถูก แต่ระบบภาษีน้ำมันเครื่องบินดังกล่าว ทำให้เกิดปัจจัยพื้นฐานในด้านต้นทุนที่สูง ซึ่งแตกต่างจากกรณีของสิงคโปร์

การเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำในอินเดีย ก็ทำให้ Jet Airways ไม่สามารถเพิกเฉยหรือมองข้ามโมเดลธุรกิจนี้ โดย Jet Airways กระจายออกจากโมเดลธุรกิจแบบสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (full-service) และไปขยายโมเดลธุรกิจแบบสายการบินต้นทุนต่ำ โดยการไปซื้อสายการบิน Air Sahara ในปี 2007 แล้วต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสายการบิน JetLite

แล้วสองปีต่อมา Jet Airways ก็ตั้งสายการบินต้นทุนต่ำขึ้นมาอีกสายหนึ่งชื่อ Jet Konnect นักวิเคราะห์ของ Wharton Business School บอกว่า การดำเนินงานทั้งหมดดังกล่าว ทำให้เกิด “ความสับสน” ในตราสินค้า โดย Jet Airways มีส่วนหนึ่งที่เป็นสายการบินให้บริการแบบต้นทุนต่ำ และอีกส่วนหนึ่งเป็นสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ

จุดอ่อนอีกประการหนึ่งก็คือ Jet Airways ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องบินทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินที่มาจากการเช่า ทำให้เกิดจุดอ่อนที่บริษัทให้เช่าเครื่องบิน จะสั่งห้ามไม่ให้นำเครื่องขึ้นบิน หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุสำคัญที่ Jet Airways ต้องยุติการทำการบิน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าเครื่องบิน และบริษัทให้เช่าเครื่องบิน ก็นำเครื่องคืนกลับไป

ที่มาภาพ : https://www.deccanherald.com/business/business-news/jet-airways-pilots-appeal-to-sbi-for-funds-728716.html

โอกาสการฟื้นตัว

ปัจจุบัน สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้กำลังเจรจาหานักลงทุนหลายราย ที่สนใจจะเข้ามาซื้อกิจการของ Jet Airways เช่น สายการบิน Etihad Airways ที่มีหุ้นอยู่แล้ว 24% ใน Jet Airways และกองทุนความมั่งคั่งของอินเดีย National Investment and Infrastructure Fund นักลงทุนเหล่านี้มีเวลายื่นข้อเสนอทางการเงิน ได้จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

นักวิเคราะห์ของ Wharton Business School ให้ความเห็นว่า เรื่องการฟื้นฟูกิจการ Jet Airways ทำให้เกิดคำถามหลายอย่าง ที่คำตอบไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เช่น “ตรายี่ห้อ Jet Airways ยังมีค่าอยู่หรือไม่?” แต่หาก Jet Airways มีโอกาสเป็นครั้งที่สอง สายการบินนี้จะต้องตำแหน่งว่า ตัวเองเป็นสายการบินของอินเดีย และแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆในอินเดีย โดยมีเส้นทางบินระยะใกล้ และมีบริการด้วยต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หรือ Jet Airways อาจวางตำแหน่งเป็นสายการบินแบบกึ่งๆต้นทุนเต็มที่ (full-cost carrier) ที่จะมีเครื่องบินหลายแบบ และมีเส้นทางบินที่ซับซ้อน รวมทั้งให้บริการในเที่ยวบิน 2 แบบ ที่แตกต่างกันสิ้นเชิง คือบริการแบบต้นทุนเต็มที่ กับบริการแบบต้นทุนต่ำ แต่ที่ผ่านมา สายการบินส่วนใหญ่ดำเนินการได้ไม่ประสบความสำเร็จเลย จากโมเดลธุรกิจที่เป็นลูกผสมแบบนี้

เอกสารประกอบ
Why India’s Jet Airways Lost Its Wings, April 25, 2019, knowledge.wharton.upenn.edu
Jet Airways: India’s aviation boom runs into turbulence, April 18, 2019, bbc.com