ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธนาธร” แจง “blind trust” …พรรคอนาคตใหม่คือ “political project”

“ธนาธร” แจง “blind trust” …พรรคอนาคตใหม่คือ “political project”

18 มีนาคม 2019


นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มาภาพ: พรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเรื่องการจัดการทรัพย์สินในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยระบุว่า นักธุรกิจเข้ามาทำงานการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ของทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ในแง่หนึ่ง คนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าในบางจังหวะ บางโอกาส มีพื้นฐานทางด้านธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งเข้ามาด้วยแล้ว ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยซ้ำ ที่จะสามารถใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถ ที่สาขาอาชีพอื่นไม่มี มาช่วยพัฒนาประเทศต่อไปได้

ดังนั้น นักธุรกิจกับการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ในต่างประเทศมีการสร้างมาตรฐานเพื่อให้สาธารณชนไว้วางใจนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่เป็นนักธุรกิจมาก่อน ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน และรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในประเทศตะวันตกก็คือรูปแบบของ “blind trust”

blind trust คือการโอนทรัพย์สินของบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นนักธุรกิจ โอนทรัพย์สินทั้งหมดเข้าไปอยู่ใน trust หรือในกองทุนที่ให้บุคคลที่สามเป็นผู้ดูแล เมื่อโอนไปให้ trust แล้วก็ยังไม่พอ ยังต้องทำให้มัน blind ด้วย หมายความว่าผู้ที่โอนคือเจ้าของทรัพย์สินมองไม่เห็น โอนไปแล้ว ก็ต้องมีกำแพงอันหนึ่งมากั้น ว่าเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ แล้วมองไม่เห็น

ทำไมการมองไม่เห็นจึงเป็นเรื่องสำคัญ สมมุติวันที่ผมโอนไป ผมโอนหุ้น a b c ไปให้ ที่เป็นทรัพย์สินของผม หลังจากนั้นอำนาจการบริหารงานจะอยู่ที่ trust หรือคนที่บริหารกองทุน ไม่ได้อยู่ที่เจ้าของทรัพย์สินแล้ว แต่ trust อาจจะขายหุ้น a b c ทิ้งไป แล้วไปซื้อหุ้น x y z ถ้าผมมองเห็นว่าคนที่จัดการกองทุนของของผมทิ้งหุ้น a b c ไปแล้ว แต่ถือหุ้น x y z ต่อให้ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ แต่ถ้าผมมองเห็น ผมก็ยังจะใช้อำนาจหน้าที่ของผมเอื้อประโยชน์ให้กับหุ้น x y z ได้อยู่ดี

ดังนั้น การ blind หรือว่าการมองไม่เห็น จึงสำคัญเท่าๆ กับการที่ไม่มีอำนาจสั่งการ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไทยฉบับนี้ระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือสูงกว่าโอนทรัพย์สินไปให้กองทุนส่วนบุคคลจัดการ แต่ไม่ได้บอกว่าให้มัน blind มองไม่เห็น

ดังนั้น blind trust ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมานานแล้วในประเทศโลกตะวันตก ในมาตรฐานสากล อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา มีการกำหนดจริยธรรมของนักการเมืองไว้อย่างชัดเจน เริ่มตั้งสมัยเรแกน ก็เอาทรัพย์สินไว้ใน blind trust, จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ก็อยู่ใน blind trust, บิลล์ คลินตัน ก็อยู่ใน blind trust, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็อยู่ใน blind trust, บารัก โอบามา ก็เอาทรัพย์ของเขาอยู่ใน blind trust, คนที่ไม่เอาคนเดียวในประธานาธิบดี 6 คนสุดท้ายของประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีแค่โดนัลด์ ทรัมป์

ในสหรัฐอเมริกา การเอาทรัพย์สินเข้าไปใน blind trust เป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ เป็นจริยธรรม เป็น code of conduct ที่ไม่ได้บังคับ แต่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลือกและตัดสินใจเอง อย่างในกรณีประเทศอังกฤษ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ทรัพย์สินของเธอก็อยู่ใน blind trust

ดังนั้นสิ่งที่ผมแถลงวันนี้ก็คือ รูปแบบของการจัดการทรัพย์สินของตัวผมเอง ผมเข้าใจว่ายังมีหลายคนในสังคมเคลือบแคลงสงสัย ยังมีหลายคนตั้งคำถาม ว่าเหตุผลที่ธนาธรเข้ามาทำงานการเมือง เป็นเพราะต้องการจะมาปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจตัวเองหรือเปล่า? ต้องการจะมาหาประโยชน์หรือเปล่า?

ประชาชนหลายคนเข็ดหลาบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ที่นักการเมืองไม่ได้มีการบริหารจัดการหุ้นและธุรกิจตัวเองอย่างโปร่งใส เมื่อครั้งมีอำนาจก็ออกสัมปทาน เอาบริษัทของตัวเองไปเป็นคู่สัญญา ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่น สัญญาก่อสร้างถนน สัญญาก่อสร้างอาคาร หรือว่าระดับประเทศ สัญญาสำคัญต่างๆ

ดังนั้น เพื่อที่จะลบข้อครหาต่างๆ เหล่านั้น เพื่อที่จะทำให้สังคมไม่เคลือบแคลงสงสัยในแรงจูงใจที่ทำให้ธนาธรมาทำงานการเมือง ผมก็อยากจะสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ ว่านักธุรกิจที่มาทำงานการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นไปได้ในสังคมไทย

นายธนาธรกล่าวว่า ข้อดีอันดับแรกของการแยกทรัพย์สินออกไปเมื่อมาทำงานการเมืองก็คือ จะได้ไม่ต้องว่อกแว่ก มีบุคคลมาดูแลให้ โดยที่เราไม่สามารถออกคำสั่งได้ จะทำให้เราสามารถทุ่มเทพละกำลัง ทุ่มเทเวลาของเราไปใช้ในการทำงานการเมือง ในการทำงานรับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่

ลำดับที่สอง การทำอย่างนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ผลักดันให้พวกเรามาทำงานการเมือง มันเป็นเรื่องของความฝัน มันเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของการทำให้ตัวเองรวยขึ้น หรือทำให้พวกพ้องตัวเองรวยขึ้น

มาตรฐานที่เราจะทำอย่างแรกที่สุดเป็นขั้นต่ำก็คือ ทำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่ากฎหมายกำหนดในชั้น ส.ส. หรือชั้นรัฐมนตรีขึ้นไป สิ่งที่ธนาธรจะทำก็จะทำภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด อันนั้นเป็นขั้นต่ำ แต่สิ่งที่เราจะทำให้มากไปกว่านั้นก็คือ สร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับความโปร่งใส มาตรฐานการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นนักธุรกิจมาก่อน ทำให้ไกลกว่ากฎหมาย

ที่มาภาพ: พรรคอนาคตใหม่

นายธนาธรอธิบายถึงแนวทางการจัดการทรัพย์สินว่า ทรัพย์สินที่ผมมี ที่เป็นสังหาริมทรัพย์กับอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านที่ผมอยู่ จะเก็บไว้ในนามส่วนตัว เพราะว่าใช้สอยทุกวัน ถ้ายกไปให้บุคคลที่สามบริหาร หากเขาเกิดเอาบ้านผมไปขาย ผมก็คงจะไม่มีที่อยู่ ดังนั้นอะไรที่ใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวัน ก็จะเก็บไว้กับตัว

ส่วนที่เป็นหุ้น ที่เป็นการลงทุนทั้งหมด ก็จะยกไปให้บริษัทจัดการกองทุนเป็นผู้ดูแล ซึ่งเมื่อยกไปแล้ว ก็จะทำให้มีมาตรฐานที่สูงกว่ากฎหมาย กฎหมายไทยระบุไว้อย่างเดียวว่าสั่งไม่ได้ เขาจะเอาหุ้นตัวไหนไปขายอย่างไร สั่งไม่ได้ แต่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุว่าให้มัน blind คือมองไม่เห็น สิ่งที่เราจะทำไปมากกว่ากฎหมาย ก็คือทำให้มันมองไม่เห็นด้วย

“เมื่อยกไปแล้ว ผมสั่งไม่ได้ ผมมองไม่เห็น เราจะมีสัญญาขึ้นมาฉบับหนึ่ง ว่าธนาธรต้องการความเสี่ยงเท่าไหร่ ต้องการลงทุนให้มันเสี่ยงเยอะหรือเสี่ยงน้อยต่างๆ ก็จะทำสัญญาขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยจะมีบุคคลที่สาม ซึ่งเราจะแต่งตั้งสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถืออีกหนึ่งสถาบันให้มากำกับดูแล ให้เป็นไปตามข้อสัญญา”

“ยกตัวอย่าง สมมุติผมบอกว่า ผมอยากจะได้ทองไว้ในทรัพย์สินของผมสัก 10% หุ้นสัก 50% พันธบัตรสัก 30% และอสังหาริมทรัพย์สัก 10% เมื่อจัดกรอบการบริหารทรัพย์สินอย่างนี้ บริษัทที่เป็นบุคคลที่สามก็จะมาดูแลว่าบริษัทดังกล่าวทำตามข้อตกลงไว้มั้ย แต่ผมจะไม่สามารถสั่งได้ทั้งสองฝ่าย ผมจะมองไม่เห็นว่าทั้งสองฝ่ายทำอะไรกัน เมื่อผมเอาทรัพย์สินไปวางไว้แล้ว ทุกอย่างจะจบกับผม ผมจะเจอทรัพย์สินของผมอีกทีก็ต่อเมื่อผมเลิกทำงานการเมือง”

“ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2562 น่าจะจัดสรรเรื่องตรงนี้เสร็จ ถ้าทำเสร็จ เราเชื่อว่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ ต้องบอกว่าในประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ blind trust ดังนั้นเราทำให้มันเป็น blind trust อย่างต่างประเทศไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำร่วมกับภัทร (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด) ต้องเรียกว่าเป็น innovation ของการบริหารทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นี่เป็น innovation แบบใหม่ คือใช้กฎหมายที่เป็น private fund แต่ทำให้มัน blind ด้วยความสมัครใจ”

นายธนาธรย้ำว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีใคร ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund แล้วทำให้มัน blind คือทำให้มองไม่เห็น สั่งการไม่ได้ ด้วยความสมัครใจมาก่อน นี่จะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สิ่งที่ทำอย่างนี้ ผมอยากจะเรียนให้ชัดอีกครั้งว่าเป็นความตั้งใจที่จะยกมาตรฐานการทำงานการเมืองของคนที่ทำธุรกิจมาก่อน ของคนที่มีทรัพย์สินเยอะ เพื่อแสดงความตั้งใจ แสดงความจริงใจให้กับสาธารณะได้เห็น

นายธนาธรกล่าวด้วยว่า นอกจากคำว่า blind มองไม่เห็น สั่งการไม่ได้ อย่างสมัครใจแล้ว เราจะไม่แตะต้องหุ้นไทยด้วย ในทางกฎหมายระบุว่าผู้มีตำแหน่ง ผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่สามารถเข้าไปซื้อหุ้น ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐได้ทุกทอดตลอดสาย

เพื่อที่จะแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงความตั้งใจของผม ผมไปไกลกว่านั้นอีกคือ จะไม่ซื้อหุ้นไทยทุกตัว ถ้าเราให้ความไว้วางใจกับบริษัทกองทุนที่มาจัดการ หนึ่งในข้อสัญญาที่จะเขียนไว้ ผมจะเขียนระบุไว้ชัดเจนในข้อสัญญาที่ให้กองทุนนั้น ก็คือ ไม่ซื้อหุ้นไทย

ถ้าจะลงทุนในหุ้น จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศอย่างเดียว เพื่อจะได้กำจัดข้อครหาทุกกรณีว่านโยบายที่ออกไปเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ผมถือหุ้นอยู่ ดังนั้นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นไทยทั้งหมดจะเขียนอยู่ในสัญญา ว่าไม่ให้คนที่ดูแลทรัพย์สินให้ธนาธรไปลงทุนในหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์รายตัว ไม่ใช่เฉพาะแค่หุ้นที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ

และอย่างสุดท้ายที่เราไปไกลกว่ากฎหมายคือ กฎหมายระบุไว้ว่าเมื่อใดก็ตามที่บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งมีอำนาจทางการเมืองหมดอำนาจแล้ว ก็จะสามารถยกทรัพย์สินเหล่านั้นกลับมาเป็นของตัวเอง บริหารเองได้อีก คือหลังจากที่ออกจากออฟฟิศมาแล้ว ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไรแล้ว เอาความเป็นเจ้าของกลับคืนมาบริหารเองได้ สิ่งที่ผมจะทำก็คือ หลังจากการหมดตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี ผมจึงจะได้กรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการกองทุนนี้กลับมาเป็นของตัวเอง ผมคิดว่านี่เป็นรูปแบบการจัดการทรัพย์สินของนักธุรกิจที่เข้ามาทำงานการเมือง ที่ไกลที่สุดที่มีอยู่ในประเทศไทยวันนี้

ผมทบทวนอีกครั้งว่า 1. blind มองไม่เห็น สั่งไม่ได้ โดยสมัครใจ ไกลกว่ากฎหมาย 2. ไม่มีหุ้นไทยเลย ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือไม่ก็ตาม จะไม่ลงทุนในหุ้นไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เลย และ 3. จะปลดล็อก จะยกกรรมสิทธิ์ในการดูแลทรัพย์สินกลับมาเป็นของผมอีกครั้ง ไม่ใช่หลังจากการหมดตำแหน่งทางการเมือง แต่หลังจากการหมดตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี

นายธนาธรกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทรให้มาดูแลทรัพย์สินว่า ผมได้เลือกบริษัทภัทร มาเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน โดยผมขอชี้แจงว่า ผมกับทางภัทรไม่มีธุรกิจส่วนตัวกันมาก่อน ไม่มีความชอบพอกันเป็นส่วนตัว ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ เป็นส่วนตัว เหตุผลที่เลือกภัทร เพราะว่าภัทรเป็นบริษัทที่พิสูจน์แล้วว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นแถวหน้าของอุตสาหกรรมการเงินในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใส หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรมในการดำเนินการในองค์กร

ด้วยเหตุที่ภัทรเป็นแถวหน้าของวงการอุตสาหกรรมการเงินไทย เราเชื่อใจในเกียรติภูมิ เราเชื่อใจในศักดิ์ศรีของภัทร ว่าภัทรจะไม่ยอมจำนน หากผมสั่งการให้เขาทำอะไรก็ตามที่ผิดกับเงื่อนไขสัญญาที่ผมตกลงไว้กับเขาตั้งแต่ทีแรก ผมเชื่อใจภัทร ว่าภัทรจะทำอย่างนั้น ถ้าหากอนาคตอำนาจทำให้ผมบิดเบี้ยวไป ผมเชื่อว่าภัทรจะไม่บิดเบี้ยวตาม

ที่มาภาพ: พรรคอนาคตใหม่

นอกจากนี้ นายธนาธรยังแถลงว่า “คุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ คุณแม่ของผม ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นมติชน (บริษัท มติชน จํากัด มหาชน) จะทำการขายหุ้นมติชนออกไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา เมื่อพูดถึงตรงนี้ ผมต้องพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจกับบริษัทมติชน”

“ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคุณสมพรที่จะเข้าไปถือหุ้นมติชน คุณสมพรเป็นผู้ตัดสินใจเอง เมื่อคุณสมพรเข้าไปซื้อหุ้นแล้ว ก็ได้มาขอให้ผมเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทมติชน ผมนั่งทำงานเป็นกรรมการบริษัทมติชนอย่างสุจริต ไม่เคยไปแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการ แล้วก็ใช้ความรู้ความสามารถ ให้คำแนะนำ นำเสนอทิศทางองค์กร ช่วยผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ในช่วงหลายปีที่ผมนั่งเป็นกรรมการ”

พฤษภาคมปีที่แล้ว เมื่อผมตัดสินใจลาออกจากการบริหาธุรกิจทุกตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งกรรมการบริษัทมติชน ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจไม่เคยส่งใครไปแทนผมตั้งแต่ตอนนั้น ดังนั้นในเชิงทิศทาง ในเชิงการปฏิบัติการ ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจไม่เคยเข้าไปยุ่งกับบริษัทมติชนตั้งแต่ผมออกมา ตำแหน่งกรรมการที่ผมออกมา ยังไม่มีการแต่งตั้งเพิ่ม ไม่มีกรรมการในโควตาของจึงรุ่งเรืองกิจเข้าไป

“ตั้งแต่ผมออกมา ผมไม่เคยใช้ความสัมพันธ์ในอดีตกดดันกองบรรณาธิการให้นำเสนอข่าวใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษกับเราหรือพรรคอื่นเลย ผมไม่เคยทำอย่างนั้นที่ผ่านมาในอดีต และจะไม่ทำอย่างนั้นในอนาคต ไม่ว่าจะถือหุ้นในมติชนหรือไม่ได้ถือหุ้นในมติชนก็ตาม แต่เพื่อให้สังคมสบายใจ เพื่อให้สังคมไม่มีข้อครหา คุณสมพรจะขายหุ้นมติชนที่ตัวท่านถืออยู่ออกไปในอนาคตอันใกล้”

นายธนาธรยังระบุถึงประเด็นของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทด้วยว่า การเข้ามาของผมหลายคนสงสัยว่าจะเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของไทยซัมมิทหรือเปล่า? อย่างแรกที่สุดผมก็ต้องบอกก่อนว่า กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปิดเสรี คู่แข่งของไทยซัมมิทในประเทศไทยแทบจะไม่มีคนไทยเลย เราไปไกลกว่านั้นแล้ว คู่แข่งของเราทั้งหมดแทบจะมีแต่บริษัทต่างชาติทั้งหมด ที่เราแข่งขันด้วย

เป็นธุรกิจที่เปิดเสรี ต่างชาติบริษัทไหนอยากจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจเรา ถือกระเป๋ามาใบเดียว จดทะเบียนบริษัท แล้วลงทุนได้เลย ไม่ต้องขอใบอนุญาต ไม่มีกฎหมายปกป้อง เป็นธุรกิจที่เปิดเสรีมาตั้งแต่ปี 2000 แต่ก็ต้องบอกว่าอย่างน้อยที่สุด ในช่วงเวลาที่ผมบริหารงานอยู่ ไทยซัมมิทไม่เคยเข้าไปเป็นคู่สัมปาทานกับรัฐ รับโครงการใหญ่ๆ เลย

แทบจะ 100% ของรายได้ของไทยซัมมิท มาจากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจีเอ็ม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทฟอร์ด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเบนซ์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโตโยต้า นี่คือลูกค้าของเรา ลูกค้าของเราไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการมาทำงานการเมืองของผม ผมไม่สามารถไปกำหนดให้ลูกค้าของเราให้งานกับไทยซัมมิทได้ อันนี้คือข้อเท็จจริง

ดังนั้นผมต้องบอกว่า ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทไทยซัมมิทไม่ได้มีรายได้หลักจากการเป็นคู่สัญญากับรัฐเลย รายได้หลักของบริษัทมาจากลูกค้าที่เป็นบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ และกลุ่มไทยซัมมิทจะดำรงการทำธุรกิจในรูปแบบนั้นต่อไป

แต่แน่นอนที่สุด ผมพูดแทนกลุ่มไทยซัมมิทไม่ได้ เพราะผมออกมาจากกรรมการแล้ว ออกจากการเป็นผู้บริหารแล้ว ตั้งแต่ผมลาออกในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ผมไม่เคยกลับเข้าไปยุ่งในบริษัทอีกเลย ไม่เคยกลับเข้าไปให้ความคิดเห็น หรือเข้าไปแทรกแซงการทำงานของผู้บริหารชุดใหม่อีกเลย ดังนั้น ผมพอจะทราบได้ว่า อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่ผมอยู่ บริษัทไทยซัมมิทไม่มีความคิดที่จะทำธุรกิจกับรัฐ และผมเชื่อว่าแนวคิดนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป หลังจากที่ผมออกมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตไทยซัมมิทจะเป็นคู่สัญญากับรัฐ ผมอยากเรียนให้ทุกท่านช่วยกันตรวจสอบ เพราะผมไม่สามารถมีอำนาจไปสั่งการไทยซัมมิทได้แล้ว หุ้นก็อยู่ที่ภัทรแล้ว กรรมการก็ไม่ได้เป็นแล้ว ไปประชุมผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้แล้ว ดังนั้นก็ต้องบอกว่า ถ้าไทยซัมมิทจะมาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบ

แล้วต้องบอกว่า หากผมมีอำนาจ เป็นผู้มีอำนาจ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในเวลานั้น ผมจะไม่เข้าไปตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ที่ไทยซัมมิทเข้ามาขอเสนอตัวเป็นคู่สัญญา เข้ามาในกระบวนการประมูลอะไรก็ตาม ผมจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ผมไม่มีความตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น แต่เนื่องจากผมไม่ใช่ไทยซัมมิทแล้ว ผมพูดแทนไทยซัมมิทไม่ได้ ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ด้วย

นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ ที่มาภาพ: พรรคอนาคตใหม่

นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ นำแถลง ขอสรุปให้ทุกท่านเข้าใจอีกครั้งว่า อันดับที่หนึ่ง เราต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ แล้วบอกว่านักธุรกิจที่เข้ามาทำงานการเมือง ไม่ได้เป็นเหมือนที่ทุกคนคิดเสมอไป ไม่ใช่ว่าจะต้องเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตัวเองและพวกพ้องเสมอไป

เราต้องการที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ ซึ่งมาตรฐานที่ผมกำลังจะทำกับภัทร จะเป็น innovation ของการบริหารทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไกลที่สุด ที่ประเทศไทยไม่เคยมี ไกลกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ 1. มัน blind สั่งไม่ได้ และมองไม่เห็น 2. เราตั้งใจจะไม่ลงทุนในหุ้นไทยเลย และ 3. ผมจะเอากรรมสิทธิ์กลับมาไม่ได้ จะเอากลับมาได้ก็ต่อเมื่อผมออกไปแล้ว 3 ปี ไกลกว่าที่กฎหมายกำหนด

ส่วนในเรื่องหุ้นสื่อมวลชนที่ครอบครัวเราถืออยู่ เราจะรีบขายออกไปในเวลาอันใกล้นี้ และไทยซัมมิท หากเป็นคู่สัญญากับรัฐในอนาคต ผมจะไม่เข้าไปเป็นส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งผมเชื่อว่าโอกาสมีคงจะน้อยมาก เพราะว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น และในอนาคตก็ไม่ได้คิดที่จะทำอย่างนั้น ถ้าหากมีเป็นคู่สัญญากับรัฐ มีความถี่ หรือจำนวนมูลค่าเกิดขึ้นมากกว่าปกติ คือผิดปกติ ก็อยากให้พี่น้องสื่อมวลชนตรวจสอบโครงการนั้น อย่างที่ตรวจสอบโครงการอื่น

นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ อยากจะแถลง เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของพรรคอนาคตใหม่ นี่ไม่ใช่พรรคของธนาธร ธนาธรเรียกร้องให้สังคมโปร่งใส สร้างการเมืองที่ดี เพื่อประเทศไทยจะได้ไม่ไปสู่จุดเดิมอีก แต่จะสร้างการเมืองที่ดีนั้น ไม่ต้องไปเรียกร้องหาคนอื่น ไม่ต้องไปทำที่อื่น เริ่มได้ที่พรรคของเราเอง เริ่มได้ที่ตัวของเราเอง

ทั้งนี้ เมื่อสื่อมวลชนถามว่ามูลค่าทรัพย์สินที่จะโอนให้ภัทรดูแลมีสักเท่าไหร่? นายธนาธรกล่าวว่า “เดี๋ยวก็รู้ครับ อีกเดือนเดียว”

  • ธนาธร-อนาคตใหม่ 1 ขวบ พิเคราะห์ “ทักษิณ” ถีบหัวเรือส่ง คนที่เขามองว่า “เขี้ยว มีไพ่หลายใบ” โยกทรัพย์สิน 5 พันล้านเข้า Blind Trust
  • สื่อมวลชนถามต่อว่า คุณธนาธรให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ Portrait ธนาธร ว่ามีทรัพย์สินที่ต้องจัดการประมาณ 5 พันล้านบาท?

    นายธนาธรกล่าวว่า “ผมพูดจริงๆ นะ เพิ่งจะมานั่งนับทรัพย์สินของตัวเองไม่กี่เดือนมานี้ ตอนนี้ก็ยังนับไม่เสร็จ ขอรอดูดีกว่า ผมว่าก็อยู่ในกรอบนั้น บวกลบนิดหน่อย เพราะว่ามันมีไอ้โน่นเพิ่มมา ไอ้นี่ขายให้ครอบครัว จะได้ตัดความสัมพันธ์อะไรกัน คือพยายามทำความสัมพันธ์กับครอบครัวให้เล็กที่สุด ให้ clean ที่สุด”

    “และไม่ใช่กับครอบครัวอย่างเดียว กับทุกคนนะ คือทำให้มันชัดเจน โปร่งใส clean ที่สุด ดังนั้นตัวไหนที่ดูแล้วมันน่าจะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในความตั้งใจของเรา จะพยายามขายทิ้ง ดังนั้นอยู่ในช่วงเวลาที่จัดอยู่ ตัวเลขสุดท้ายก็อีกไม่ไกลครับ ถ้าได้เป็น ส.ส. ยังไงก็ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว”

    เมื่อสื่อมวลชนถามว่า บุคคลที่สามที่เป็นสถาบันการเงิน ในการเข้ามาช่วยดูแลทรัพย์สิน สรุปแล้วเป็นธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทย?

    นายธนาธรตอบว่า “ยังไม่ได้ระบุธนาคารครับ แต่ก็คงเป็นประมาณนั้นล่ะครับ คือเป็นสถาบันที่สาธารณชนให้ความเชื่อถือ คงไม่ไปแต่งตั้งนาย ก. นาย ข. ไม่ใช่แน่ๆ ต้องเป็นคนที่สาธารณชนให้ความเชื่อถือ”

    ผู้สื่อข่าวยังตั้งคำถามว่า การโอนทรัพย์สินให้บริษัทจัดการทรัพย์สินดูแล เป็นความต้องการแก้บทเรียนในอดีตที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ถูกยึดทรัพย์ กรณีมีปัญหาทางการเมืองใช่หรือไม่

    นายธนาธรกล่าวว่า “ผมไม่ได้คิดว่ามีแต่คุณทักษิณเท่านั้น ผมคิดว่าอยากจะสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ให้กับนักธุรกิจที่มาทำการเมือง คงจะไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงว่าเป็นคุณทักษิณ”

    “ผมคิดว่าทุกพรรคมีคนที่เป็นลักษณะเหมือนผม ทรัพย์สินมากน้อยต่างกันไป เช่น ที่บ้านเป็นเจ้าของธุรกิจก่อสร้าง เป็นเจ้าของธุรกิจทำถนน เป็นเจ้าของธุรกิจอะไรต่างๆ เยอะแยะ ทุกพรรคต้องมีคนแบบผมหมด สเกลใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ต่างกันไป แต่เราอยากจะทำให้เป็นตัวอย่าง ว่าถ้าเราตั้งใจมาทำงานการเมืองแล้ว มันทำในรูปแบบนี้ได้”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการนำคุณธนาธรไปเปรียบเทียบกับคุณทักษิณในแง่นักธุรกิจ อะไรที่คุณธนาธรคิดว่าจะไม่ทำแบบคุณทักษิณหรือแตกต่างคุณทักษิณ ทั้งในแง่การบริหารจัดการธุรกิจและการบริหารการเมือง

    นายธนาธรกล่าวว่า “ก็ต้องชัดเจน ผมพูดอีกครั้ง ถ้าไม่เชื่อไปดูล็อกบุ๊กของ รปภ. ที่ไทยซัมมิทได้ ว่าตั้งแต่ผมลาออกมา ผมไม่เคยกลับเข้าไปอีกเลย เมื่อผมบอกว่าผมลาออกจากการทำงานที่บริษัทแล้ว ผมลาออกจริงๆ ไม่เคยกลับเข้าไปพบลูกค้า ไม่เคยกลับเข้าไปประชุม ไม่เคยกลับเข้าไปช่วยเหลือ”

    “ดังนั้นก็ต้องบอกว่า ผมเองก็เชื่อมั่นในเกียรติของตัวเองเพียงพอ ว่าเมื่อเราแบ่งเส้นระหว่างธุรกิจกับตัวเองออกมาชัดเจนแล้ว เราจะไม่ข้ามเส้นกลับไปอีก ผมคิดว่าภารกิจ หรือความฝันของผม มันใหญ่กว่านั้น มันไม่คุ้มพอที่จะกลับเข้าไปทำธุรกิจ หรือการที่จะทำให้ตัวเองรวยขึ้นอีกร้อยล้าน พันล้าน มันไม่คุ้มที่จะทำให้เรามีความด่างพร้อย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำให้ความฝันของเราไม่เป็นจริง ผมว่ารวยขึ้นอีกพันล้าน มันไม่คุ้มกับสิ่งที่เราต้องเสียไป ก็คือความฝันที่เราอยากจะเห็น”

    นายธนาธรกล่าวต่อว่า “ในส่วนเรื่องการเมืองผมก็คิดว่าต่างกัน พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเชิงประเด็น ยกตัวอย่างเช่น แก้ปัญหาชลประทานในภาคอีสาน การประมงในภาคใต้ ป่าไม้ในภาคเหนือ แก้ปัญหาการจัดการขยะ คือถ้าแก้ปัญหาเชิงประเด็นอย่างเดียว มันไปไกลกว่านี้เยอะแล้ว ดังนั้นข้อแตกต่างระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับพรรคการเมืองอื่นๆ ก็คือพรรคอนาคตใหม่ตระหนักว่าการแก้ปัญหาเชิงประเด็นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องจัดการปัญหาที่เป็นโครงสร้างด้วย”

    “สิ่งที่เป็นพันธนาการสังคมไทยไม่ให้ก้าวไปไกลกว่านี้ ไม่ให้เราใช้ศักยภาพที่เรามีอยู่ได้เต็มเปี่ยม ไม่ใช่เพราะเราไม่มีคนไม่มีความรู้ ไม่ใช่เพราะเราไม่มีทรัพยากรเพียงพอ แต่เป็นเพราะปัญหาโครงสร้างที่กดทับประเทศไทยอยู่ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เราหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ เราคิดถึงการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

    “เราไม่ได้ต้องการจะเข้ามาแก้ปัญหาเชิงประเด็นอย่างเดียว แต่เราต้องการแก้ปัญหาโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม อันได้แก่ กลุ่มทุนผูกขาด ผู้นำกองทัพที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย และระบบราชการที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง”

    สามอย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย และเราต้องการเข้าไปจัดการมัน ดังนั้นนี่คือข้อแตกต่าง พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่นโยบายเชิงประเด็น พรรคอนาคตใหม่คือ “political project” นายธนาธรกล่าว