ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

7 มีนาคม 2019


ภายหลังจากที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้เวลาในการแถลงด้วยวาจา อภิปราย และลงมติในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลา กว่า 1.30 ชม. ในเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ เพื่ออ่านคำวินิจฉัยในคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักชาติเข้าข่ายกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ตามมาตรา 92 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่

โดยที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และเพิกถอนสมัครรับเลือกตั้งของกรรมบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคด้วยมติ 6 ต่อ 3 และมีมติเป็นเอกฉันท์ห้ามไม่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

  • พรรคไทยรักษาชาติเสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกฯ – “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ
  • “ในหลวงรัชกาลที่ 10” ทรงมีพระราชโองการ พระบรมราชวงศ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้
  • ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์รับคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ให้ชี้แจงใน 7 วัน นัดพิจารณาอีกครั้ง 27 ก.พ. นี้
  • ศาล รธน. มีมติ ไม่ไต่สวนพยานคดียุบ “ไทยรักษาชาติ” เพิ่ม นัดลงมติชี้ขาด 7 มี.ค. นี้
  • นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาประชุมครบทุกคน พร้อมมอบหมายให้นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย

    ทั้งนี้ สำหรับการวินิจฉัยตามมาตรา 92 วรรคสองนั้น ศาลระบุว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และหมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 11 บัญญัติว่า และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือการแต่งตั้งก็ตาม ย่อมที่จะดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงมีพระราชหัตถเลขา ที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2475 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎร ในระหว่างที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เห็นชอบด้วยทุกประการ

    “กล่าวโดยหลักการ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ย่อมอยู่ในฐานะที่เคารพ เหนือความที่จะพึงถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาทั้งพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงที่จะถูกตำหนิติเตียน และนำมาซึ่งความขมขื่น ในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน ดังนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อย สมัครสมาน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายและราษฎร ควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ซึ่งหลักการพื้นฐานดังกล่าวถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาการปกครองของไทยในรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มแรก”

    ถึงแม้ในสมัยรัชกาลที่ 8 จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทพระบรมวงศานุวงศ์ในทางการเมืองในรัฐธรรมนูญ แต่ได้หาให้หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับฐานะของพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไปไม่

    ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง ตามนัยของรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับหลักการที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่ไม่ได้ทรงปกครอง อันเป็นหลักการทางรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ธำรงความเป็นปึกแผนของคนในชาติ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย มีความแตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรงในการมีอำนาจทางการเมือง ดังเช่นในระบอบราชาธิปไตยเหมือนในบางประเทศ

    ดังนั้น การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ในการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งให้การปกครองไทยแปรเปลี่ยนเป็นสภาพการอันเดียวกับที่พระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการเช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ต้องถูกเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย

    ดังนั้น การปกป้องการถูกบั่นทอนจากการถูกทำลายของสถาบัน แม้พรรคไทยรักษาชาติมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ต้องตระหนักว่า การกระทำนั้นต้องไม่เป็นการอาศัยสิทธิเสรีภาพ ย้อนกลับมาทำลาย หรือหลักการพื้นฐาน คุณค่า เจตนารมณ์นั้นเสียเอง

    “ต้องระมัดระวังไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยถูกนำไปเป็นคู่แข่งทางการเมือง เพราะหากถูกกระทำใด สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองย่อมสูญเสียไป ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นสถาบันจะไม่อยู่ในฐานะศูนย์รวมของปวงชนชาวไทยอีกต่อไป เป็นการทำให้สถาบันเสื่อมโทรมหรือสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรเป็นไปเช่นนั้นไม่ จึงต้องไม่เปิดช่อง เปิดโอกาส ให้สถาบันนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการเมืองทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม”

    ดังนั้น พรรรคการเมืองต้องถูกลงโทษ ตามมาตรา 92 เพราะจะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็น ความเชื่อของตนมาให้หลุดพ้นไม่ได้ แม้นิยามศัพท์ไม่ได้ระบุคำว่า “ปฏิปักษ์” ไว้ แต่เป็นภาษาไทยที่รับรู้ว่า “ปฏิปักษ์” ไม่ถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรู แต่เป็นการกระทำขัดขวาง สกัดกั้นไม่ให้ เจริญ หรือ เซาะกร่อน บ่อนทำลายทำให้เสื่อมโทรมลง

    ดังนั้นการกระทำของไทยรักษาชาติ เป็นการกระทำที่ทำให้วิญญูชนรู้สึกว่า ทำให้สถาบันถูกนำมาใช้ให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะของการดำรงการเป็นกลางทางการเมือง เข้าลักษณะอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

    ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรมนูญ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำวินิจฉัยในประเด็นที่สองที่ระบุว่าศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลา 10 ปี นั้น หมายถึงเสียงฝ่ายข้างมากหกเสียงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลา 10 ปี ส่วนเสียงข้างน้อยสามเสียงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลาตลอดชีพ

    รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกตัดสิทธิ 10 ปี

    1. ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค

    2. นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 (ลูกชายนายพายัพ ชินวัตร)

    3. น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2

    4. นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3

    5. นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4

    6. นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค (ลูกนายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำพรรคเพื่อชาติ)

    7. นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3

    8. นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค (ลูกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย)

    9. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค

    10. นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค

    11. น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค (ลูกสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร)

    12. นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค

    13. นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค