ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า ธปท.ชี้ “คนไทยติดกับดักหนี้” วัฒนธรรม “สินเชื่อเงินทอน” เฟื่องฟู ระบุธุรกิจละเลยการกำกับที่ดี- มองข้ามความยั่งยืน

ผู้ว่า ธปท.ชี้ “คนไทยติดกับดักหนี้” วัฒนธรรม “สินเชื่อเงินทอน” เฟื่องฟู ระบุธุรกิจละเลยการกำกับที่ดี- มองข้ามความยั่งยืน

24 กรกฎาคม 2019


ดร.วิรไท สันติประภพ ผูว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Formulating for the Future of Corporate Governance” in Finance and Beyond ในงานสัมมนา Nation Director Conference 2019 จัดโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการ

“ผมขอเริ่มต้นด้วยการแสดงความยินดีที่ IOD ดำเนินกิจการมาครบ 20 ปี ตลอดระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่ที่ IOD ได้ก่อตั้งขึ้น IOD เป็นองค์กรสำคัญของประเทศที่ช่วยสร้างแนวปฏิบัติที่ดีให้กรรมการบริษัท และช่วยยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจไทย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน”

ผมได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ IOD เมื่อสองปีก่อน ซึ่งผมได้พูดถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตว่าภาคธุรกิจจะต้องเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ และไม่สร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ให้แก่สังคมนอกจากการมีธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กรแล้ว ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลในความหมายกว้างด้วย คือต้องให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อให้ประเทศไทยของเราและสังคมโลกเติบโตได้อย่างยั่งยืน ธุรกิจจะต้องชนะไปพร้อมกับสังคมวัฒนา

ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา เราเห็นภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศใส่ใจเรื่องธรรมาภิบาลในความหมายกว้างเพิ่มขึ้นตามลำดับ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อน ความคาดหวังที่สูงขึ้นของสังคม และปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ได้ทำให้ธรรมาภิบาลในความหมายกว้างสำคัญต่อภาคธุรกิจมากขึ้น มีผลต่อความยั่งยืนของภาคธุรกิจ และเป็นเรื่องที่เข้ามาใกล้ตัวกรรมการบริษัทมากกว่าเดิมมาก ผมขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่าผลข้างเคียงต่อชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม สามารถย้อนกลับมากระทบกับธุรกิจได้อย่างรุนแรง

กรณีตัวอย่าง 3 เหตุการณ์ ที่กระทบธุรกิจรุนแรง

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คือเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 85 ราย กินพื้นที่กว่า 600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของจังหวัดนนทบุรีทั้งจังหวัด มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 19,000 หลัง นับเป็นความเสียหายจากไฟป่าที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ต้นเหตุของไฟไหม้ป่าดังกล่าวอาจเกิดจากที่บริษัท Pacific Gas & Electric (PG&E) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย ละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยบางอย่าง เช่น การจัดการต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้า การสร้างสถานีตรวจจับสภาพอากาศ หรือการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามเวลาที่เหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทมีนโยบายให้เงินโบนัสของผู้บริหารขึ้นกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ ส่งผลให้การดำเนินการใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้า เช่น การหยุดจ่ายไฟเพื่อเปลี่ยนซ่อมบำรุงอุปกรณ์ หรือเมื่อพบความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ ทำได้ไม่เต็มที่นัก เพราะผู้บริหารเกรงว่าจะกระทบความพึงพอใจของลูกค้าและโบนัสที่ตนเองจะได้รับในอนาคต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้บริษัทถูกฟ้องร้องจากผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก จนบริษัทต้องยื่นขอเข้ากระบวนการล้มละลาย

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นที่ประเทศบราซิลในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขื่อน Brumadinho ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลได้พังลง เขื่อนนี้มีไว้กักของเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่เหล็ก ของเสียจากแร่เหล็กกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตรทะลักออกจากเขื่อนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 235 ราย และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้บริษัท Vale ในฐานะบริษัทเจ้าของเขื่อนมีค่าใช้จ่ายสูงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งค่าชดเชยต่อผู้ประสบภัย ค่ายกเลิกการใช้เขื่อนที่มีความเสี่ยงอื่นของบริษัท และค่าหยุดการรั่วไหลของของเสีย นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทางการบราซิลสั่งหยุดการผลิตแร่เหล็กจากเหมืองที่มีความเสี่ยงของบริษัท Vale ส่งผลให้ราคาแร่เหล็กในตลาดโลกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42 ภายในระยะเวลาเพียงสามเดือน

สาเหตุที่เขื่อน Brumadinho พังทลายลงนั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงการก่อสร้างเขื่อน ที่บริษัท Vale พยายามประหยัดต้นทุน โดยใช้ของเสียจากแร่เหล็กเป็นวัสดุในการสร้างแทนการใช้วัสดุที่มีความทนทานมากกว่า นอกจากนี้ บริษัท Vale ละเลยที่จะตรวจสอบความแข็งแรงเชิงโครงสร้างของเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 40 ปี ทั้งที่บริษัทพบการรั่วไหลของเขื่อนก่อนหน้านั้นหลายเดือน และที่สำคัญ กรณีเขื่อนแตกครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสามปีก่อนกับเขื่อนซึ่งใช้วิธีลดต้นทุนในการก่อสร้างเหมือนกัน

กรณี…”สินเชื่อเงินทอน”

เหตุการณ์สุดท้ายเป็นเรื่องใกล้ตัวในประเทศไทย ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวและแข่งขันกันสูงมาก มีการส่งเสริมการขายหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การลดราคา การพาผู้ซื้อไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำจากการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนโดยไม่ได้อยู่อาศัยจริงเพิ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากจำนวนคนที่กู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หลายสัญญาในเวลาใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้นมาก

ธนาคารพาณิชย์เองก็แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อจนเกินพอดี มูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มี loan-to-value (LTV) สูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ เรายังพบพฤติกรรมการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงกว่ามูลค่าที่ลูกค้าซื้อจริงมาก ทำให้ลูกค้าที่กู้เงินซื้ออสัง หาริมทรัพย์ได้เงินสดก้อนโตกลับไปใช้จ่าย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สินเชื่อเงินทอน” มีลูกค้าที่กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 3 สัญญาขึ้นไปพร้อมกันเพิ่มขึ้นมากเพียงเพื่อหวังเงินทอนก้อนโตและไม่ได้ใช้อยู่อาศัยจริง การกระทำดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิดการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็น ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยให้รุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญ ส่งเสริมการเก็งกำไรโดยตั้งอยู่บนความเชื่อผิด ๆ ว่า บ้านมีแต่จะราคาเพิ่มขึ้น หรือจะสามารถปล่อยบ้านให้เช่าได้ราคาดีตลอดไป ซึ่งไม่เป็นความจริง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์เทียมเพื่อการเก็งกำไร และทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวมเร็ว กระตุ้นให้เกิดการสร้างโครงการใหม่ ๆ มากเกินความต้องการที่แท้จริง

การลดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อจนเกินพอดีและการให้สินเชื่อเงินทอนจนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่มีทางที่จะยั่งยืน และในระยะยาวจะเกิดผลกระทบเชิงลบทั้งต่อเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ และต่อตัวลูกค้าเอง ถ้าไม่ช่วยกันป้องกันดูแลแต่เนิ่น ๆ เมื่อฟองสบู่แตกลง จะสร้างผลข้างเคียงอย่างมากกับทุก ๆ คน มูลค่าทรัพย์สินของคนไทยจะลดลงมาก เพราะบ้านเป็นทรัพย์สินสำคัญของคนไทย

การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เราได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ทั้งสามเหตุการณ์ที่ผมได้เล่าให้ฟัง ทุกท่านคงเห็นด้วยว่าการทำธุรกิจโดยคำนึงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก มุ่งแสวงหากำไรที่เกินพอดี โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะมีต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม จะไม่ยั่งยืนในระยะยาว เหตุการณ์ทั้งสามเหตุการณ์ข้างต้นนั้นจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้ากรรมการและผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น ยึดมั่นในหลัก “การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” โดยใส่ใจในธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กร และธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบ (negative externality) ที่ธุรกิจมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะในที่สุดผลกระทบเหล่านั้นจะย้อนกลับมากระทบตัวธุรกิจเอง ทั้งในแง่ชื่อเสียง ผลประโยชน์ทางการเงิน หรือคดีความ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้อาจรุนแรงมากจนทำให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการ

การดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงที่สะสมอยู่ในสังคมและเศรษฐกิจไทยโดยต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

ในด้านสังคม สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าในปี 2560 สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูง โดยกลุ่มคนรวยที่สุด 10% ของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 10% ของประเทศถึง 19 เท่า และกลุ่มผู้ถือครองที่ดินสูงสุด 10% ถือครองที่ดินกว่า 61.5% ของประเทศ ในขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุด 10% ถือครองเพียง 0.07% เท่านั้น

นอกจากนี้ คนไทยจำนวนมากยัง “ติดกับดักหนี้” ปัจจุบันประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน โดยประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 78.7% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจพยายามกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อของฟุ่มเฟือยหรือก่อหนี้จนเกินความจำเป็น เหมือนในกรณีของสินเชื่อเงินทอนที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น

“คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น-นานขึ้น-หนี้มากขึ้น”

งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น และเป็นหนี้มากขึ้น” โดย คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย คนอายุ 30–35 ปี เกือบ 60% มีหนี้ ขณะที่หนึ่งในห้าของคนกลุ่มนี้ที่มีหนี้เป็นหนี้เสีย ทั้งที่คนกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานที่อยู่ในช่วงสร้างรากฐานครอบครัว

คนไทยยังเป็นหนี้นาน ยอดหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นตั้งแต่เริ่มทำงานได้ไม่นาน คือประมาณอายุ 25 ปี และเร่งตัวต่อเนื่องจนถึงอายุ 44 ปี และยอดหนี้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนถึงอายุ 56 ปี แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณมูลหนี้ก็ยังอยู่ในระดับสูง

คนไทยมีหนี้มูลค่ามากขึ้น โดยค่ากลางของหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 70,000 บาท ณ สิ้นปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนั้น ถ้ารวมภาระหนี้ทั้งหมดเข้ามายอดหนี้จะยิ่งสูงขึ้นอีก จะเห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นเป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขกันอย่างจริงจัง

นอกจากปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนแล้ว ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นกรณีไฟป่าของบริษัท PG&E และกรณีเขื่อนของบริษัท Vale ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในระยะหลัง ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นและเกิดในวงกว้างขึ้น เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงมากกว่าในอดีต และขณะนี้ประชาชนหลายจังหวัดก็กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งขั้นวิกฤต

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต และจะไม่จำกัดวงอยู่เพียงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลแล้วจางหายไป สภาวะโลกร้อนอาจทำให้บางอุตสาหกรรมต้องหยุดธุรกิจลงอย่างถาวรได้ เกิดปัญหาโรคระบาดใหม่ ๆ ในพืชหรือปศุสัตว์ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ หรือปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงสุดในประวัติศาสตร์

อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจมาก และมีผลกว้างไกลมากต่อความควาดหวังของสังคมและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจคือเรื่องพลาสติก ปัจจุบันมีพลาสติกเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ได้รับการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้เกิดแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกกันว่า “The Great Pacific Garbage Patch” ที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า ในประเทศไทยเราเองใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 500 ล้านถุงต่อวันและมีอัตราการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก พลาสติกเหล่านี้เมื่อย่อยสลายก็จะกลายเป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมากที่เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารทะเลและกลับมาสร้างอันตรายให้กับพวกเราทุกคนในอนาคต

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มองกว้างและมองไกล ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กรและธรรมาภิบาลในความหมายกว้างที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในยุคที่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น รวมทั้งนักลงทุน ผู้บริโภค และคนในสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น บริษัทที่เป็นผู้นำในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้วยมาตรฐานที่สูงเท่าทันต่อความรุนแรงของปัญหา จะได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก และนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกิจแล้ว บริษัทเหล่านี้จะมีส่วนกำหนดทิศทางและมาตรฐานการทำธุรกิจใหม่ ๆ”

ในทางกลับกัน บริษัทใดที่ละเลยเรื่องเหล่านี้ นอกจากจะสร้างปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและสร้างความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและฐานะการเงินของบริษัทแล้ว ยังจะต้องคอยวิ่งไล่ตามเมื่อมีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลหรือมาตรฐานทางสังคมใหม่ ๆ ออกมา และอาจเกิดผลกระทบกับความยั่งยืนของธุรกิจได้

คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ “impact” และ “purpose”

ในวันนี้ ระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่ส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนพัฒนาไปไกลมาก ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ประโยชน์ในหลายมิติ ตั้งแต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ไปจนถึงการดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่

บริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังมากขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทที่มีโอกาสสร้างผลข้างเคียงให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคม ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ กลายเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ช่องทางระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (green bond, social bond และ sustainability bond) กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เงินลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (sustainable, responsible, and impact investing) หรือ SRI มีมูลค่ามากกว่า 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2018 เพิ่มขึ้นจาก 8.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 เพราะงานศึกษาหลายชิ้นแสดงผลชัดเจนว่าการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าการลงทุนในบริษัททั่วไป เนื่องจากบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีมาตรฐานการทำธุรกิจสูงกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมกว่า และที่สำคัญ มียุทธศาสตร์ที่มองไกลและมองกว้างกว่าบริษัททั่วไป

ในประเทศไทยเราก็เริ่มมีการระดมทุนผ่านการออก green bond และ sustainability bond แล้วมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนและความรับผิดขอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ บริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมยังมีโอกาสดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาร่วมงานได้ดีกว่าบริษัททั่วไป ในโลกปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงให้ความสำคัญกับ “impact” และ “purpose” ของงานที่ทำมากกว่าดูเพียงผลตอบแทนที่ตัวเองได้รับ

ทั้งโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเป็นที่น่ายินดีว่าธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ในภาคการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินกำลังขับเคลื่อนแนวคิดในการดำเนินธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับธรรมาภิบาลองค์กร และธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งและคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สนับสนุนการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นและธุรกิจที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ไม่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน และร่วมสนับสนุนการปลูกฝังวินัยทางการเงินและสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อหลากหลายประเภท เพื่อลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เช่น การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพื่อป้องกันการแข่งขันกันของสถาบันการเงินจนเกินพอดี ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแล market conduct เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับการบริการที่เป็นธรรม จัดทำโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยมีโอกาสหลุดจากกับดักหนี้เสีย รวมถึงจัดทำโครงการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไป

การสร้างความเปลี่ยนแปลงด้าน “การดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน” จะเป็นโจทย์ท้าทายและโจทย์สำคัญสำหรับอนาคตของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “คณะกรรมการบริษัท” ที่จะต้องมีบทบาทสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางและนโยบายของบริษัท และกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจ จะต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มองกว้างและมองไกล คำนึงถึงความเสี่ยงและผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงสร้างระบบแรงจูงใจภายในบริษัทให้เหมาะสม ไม่จ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารและพนักงานโดยอิงกับผลกำไรระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

“ผมเชื่อว่าโลกธุรกิจในอนาคตจะไม่ได้อยู่ในบริบทที่เราคุ้นเคยเหมือนในอดีต ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้น และภาคธุรกิจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงบทบาทในเรื่องนี้ได้อีกต่อไป พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้ธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว และจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความเปราะบางรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก”

ดังนั้น ธรรมาภิบาลในยุคข้างหน้าจึงจำเป็นต้องเป็นธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง ต้องครอบคลุมมากกว่าเพียงแค่การกำกับดูแลกิจการที่มุ่งเฉพาะเรื่องในองค์กร แต่ต้องคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างผลข้างเคียง หรือผลกระทบเชิงลบให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจะต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่มองไกลและมองกว้างอย่างรอบด้าน ผมต้องขอขอบคุณ IOD ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืน และจะขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญต่อไป

“ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราต้องมาช่วยกันทำให้สังคมมีคุณภาพสูงขึ้น ไม่เบียดเบียน นำทรัพยากรและคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อไปมาใช้อย่างไม่รับผิดชอบ ธุรกิจจะชนะได้ ก็ต่อเมื่อสังคมวัฒนา”