ThaiPublica > คอลัมน์ > Learn – Unlearn – Relearn – ผู้ต้องขัง: เด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ (ตอนที่ 3) – ชาญ วชิรเดช พลิกกระบวนทรรศน์โจทย์ภารกิจคืนคน “ดี” กลับสู่สังคม

Learn – Unlearn – Relearn – ผู้ต้องขัง: เด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ (ตอนที่ 3) – ชาญ วชิรเดช พลิกกระบวนทรรศน์โจทย์ภารกิจคืนคน “ดี” กลับสู่สังคม

30 มีนาคม 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

ตลอดเวลาที่ผ่านมา โจทย์ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งที่เรือนจำต้องเผชิญก็คือ การคืนคน “ดี” กลับสู่สังคม

ที่ประดับเครื่องหมายคำพูดให้คำว่าดีนั้นไม่ใช่เพราะต้องการเน้นคำ หากแต่เพื่อบอกเป็นนัยว่าคำคำนี้ไม่ใช่คำที่มีความสัมบูรณ์แบบเดียวในทุกที่ทุกเวลา ทว่าคือคำที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท

ที่ต้องกล่าวเช่นนั้นก็เพราะ… (ให้ตายเถิด พ.ศ. 2562 แล้วยังต้องพูดสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้) ก็เพราะจริงๆ แล้วโลกนี้เป็นสีเทา ไม่ได้แบ่งขาวแบ่งดำได้ชัดเจนขนาดนั้น เราต่างยังเป็นมนุษย์เพราะเรายังมีข้อบกพร่อง มิใช่สิ่งกำเนิดอันสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะในฐานะภาพฉายของพระเจ้า หรือสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการมาจากลิงก็ตาม

เช่นนั้นแล้ว คำว่า “ดี” ในโจทย์ภารกิจดังกล่าวของเรือนจำก็คือดีในทางกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งในสภาพปัจจุบันที่เรือนจำทั้งหลายต่างประสบปัญหาคนล้นคุกด้วยคดียาเสพติด และผู้ต้องขังส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นคนยากคนจน องค์ประกอบสำคัญหนึ่งของคำว่าดีในความหมายนี้ก็คือการพ้นโทษออกไปแล้วสามารถประกอบอาชีพสุจริตที่เพียงพอเลี้ยงชีวิต เพื่อไม่ต้องหันกลับไปพึ่งพายาเสพติดผิดกฎหมายอีก ไม่ว่าจะในฐานะผู้ค้าหรือผู้เสพก็ตาม

ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี (ต่อไปจะเรียกว่า ผบ.ชาญ) ได้ริเริ่มทำหลายสิ่งขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเรือนจำจันทบุรี ด้วยหวังว่าจะสามารถแก้โจทย์ภารกิจดังกล่าวให้ลุล่วงได้ แม้ตนเองจะยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากก็ตาม

ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ผบ.ชาญแบ่งการปฏิรูปเรือนจำเป็นสี่ยุค คือ ยุคแรก เป็นยุคที่ภายในเรือนจำยังคลาคล่ำด้วยโทรศัพท์และยาเสพติดที่มีการลักลอบนำเข้าไป และแน่นอนว่าเป็นไปได้ด้วยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ยุคที่สอง เป็นยุคที่ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เริ่มดำรงตำแหน่ง 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559) เข้ามาจัดระเบียบเรือนจำทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ทำให้ปัญหายาเสพติดผิดกฎหมายภายในเรือนจำหมดไป ยุคที่สาม คือยุคที่เริ่มให้ความรู้และการฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง ซึ่ง ผบ.ชาญเรียกว่าเป็นยุคของการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และ ยุคที่สี่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาการทำหน้าที่ของ ผบ.ชาญ คือยุคที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม และทำให้สังคมยอมรับให้ผู้ต้องขังสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“คนที่มาติดคุกคือคนในจังหวัดนี้ คือลูกหลานของเขา” นั่นคือคำที่ ผบ.ชาญย้ำอยู่หลายครั้งหลายหนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดจันทบุรีและผู้คนในจังหวัดจันทบุรี เพื่อย้ำให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายนั้นไม่มีวันตัดขาดจากกันได้สนิท และภารกิจปฏิรูปในยุคที่สี่นี้จึงมีความสำคัญยิ่ง

“คนเหล่านี้ก็คือคนที่เกิดมาในสังคมของคุณ คนเหล่านี้อยู่กับพวกคุณมาทั้งชีวิต มาอยู่กับผมแค่สองปีถึงห้าปี จะมาคาดหวังให้เรือนจำคืนคนดีสู่สังคมคงไม่มีทาง เป็นพวกคุณต่างหากที่ต้องเข้ามาสนับสนุน โอบอุ้ม ดูแลลูกหลานคุณ”

นั่นคือสิ่งที่ ผบ.ชาญแสดงถึงการพลิกกระบวนทัศน์ของโจทย์ภารกิจดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าลำพังเรือนจำเพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่สามารถทำให้การคืนคน “ดี” กลับสู่สังคมสำเร็จลุล่วงได้ แต่ต้องได้รับการร่วมด้วยช่วยกันจากสังคมด้วย

กระนั้น ผบ.ชาญก็ไม่ได้คิดเพียงจะขอให้สังคมเปิดใจกว้างเพียงอย่างเดียว แต่เขาเริ่มจากฝั่งเรือนจำเอง ด้วยการคิดโมเดลทางธุรกิจต่างๆ ที่จะสร้างทักษะในการประกอบอาชีพ เงินเก็บ หรือกระทั่งสายสัมพันธ์ที่จะรับประกันว่าเมื่อพ้นโทษไปแล้วสามารถหางานทำได้

และนี่คือที่มาของ เรือนจันแลนด์

เมื่อเดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดจันทบุรี สิ่งแรกที่เราพบไม่ใช่กำแพงทึบสูงท่วมหัวและมีลวดหนามอยู่ข้างบน หากแต่คือพื้นที่ร่มรื่นซึ่งมีโครงสร้างปลูกไว้ในบึงน้ำ เบื้องหน้าโครงสร้างนั้นมีผืนหญ้าเขียวชอุ่มอันเป็นที่ปักป้ายตัวอักษรสีสันสดใสภาษาไทยอ่านได้เป็นคำว่าเรือนจันแลนด์

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

เรือนจันแลนด์คือหนึ่งในโมเดลธุรกิจเพื่อบรรลุการทำโจทย์ภารกิจการคืนคน “ดี” กลับสู่สังคมแบบพลิกกระบวนทัศน์ตามสไตล์ ผบ.ชาญดังที่กล่าวไปข้างต้น พื้นที่แห่งนี้คือดินแดนแห่งความฝันที่ ผบ.ชาญตั้งใจจะทำขึ้นเพื่อให้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นที่ยอมรับแก่สังคมมากขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของ ผบ.ชาญแล้ว เรือนจันแลนด์แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของสถานีต่างๆ เจ็ดสถานี ได้แก่

    1. เรือนจัน ครัวไทย ร้านอาหารราคาถูกรสชาติดีฝีมือผู้ต้องขัง
    2. เรือนจัน คาเฟ่ & เบเกอรี่: Tree Cafe’
    3. เรือนจัน กรีนเอาต์เลต: จำหน่ายผักปลอดสาร ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นจิตสำนึกต่อผู้บริโภค
    4. คุกขี้ไก่: สำหรับนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพ โดยจะมีการให้ความรู้เรื่องตำนานคุกประกอบด้วย
    5. เรือนจัน พิพิธภัณฑ์: โชว์เสื่อกกลายโบราณ โดยจะมีทั้งการสาธิตและจำหน่าย
    6. เรือนจัน สบาย: นวดดัดจัดสรีระและนวดแผนโบราณ
    7. เรือนจัน คาร์แคร์: ดูแลรักษารถให้สะอาด เนื่องด้วยเล็งเห็นว่าชาวจันทบุรีนั้นมีรถเยอะ

กระนั้น สำหรับหน่วยราชการต่างๆ แล้วก็เฉกเช่นใครหลายๆ คนในสังคม ที่ความฝันอันยิ่งใหญ่มักถูกขัดขวางไว้ด้วยงบประมาณอันจำกัด ปัจจุบัน เรือนจันแลนด์แห่งนี้จึงยังเพิ่งริเริ่มไปได้เพียงหนึ่งสถานี นั่นก็คือ เรือนจัน ครัวไทย ซึ่งเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป โดยรายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะแบ่งส่วนให้เจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้อง และเก็บไว้เป็นทุนพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ร้านอาหารเรือนจัน ครัวไทย ทำให้ผู้ต้องขังที่ฝึกอาชีพในส่วนนี้ได้รับปันผล (ค่าตอบแทนจากงานที่เป็นการฝึกอาชีพของเรือนจำ) สูงถึงคราวละ 3,000 บาท จำนวนเงินเท่านี้อาจฟังดูน้อย แต่ด้วยระเบียบราชทัณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิ์รับค่าจ้างจากงานที่ทำเป็นการฝึกอาชีพ แต่จะได้เป็นเงินปันผลซึ่งแบ่งเข้าเรือนจำครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นแบ่งสรรกันไปในหมู่ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกองงานฝึกอาชีพนั้นๆ ซึ่งสัดส่วนการแบ่งสรรนี้ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนงาน แต่จะมากน้อยไปตามลำดับชั้นของผู้ต้องขังแต่ละราย อันทำให้การฝึกอาชีพในงานบางประเภท เช่น ถักแห ทออวน ให้ปันผลน้อยนิดเพียงคราวละ 20 บาท ปันผลคราวละ 3,000 บาทจึงนับเป็นรายได้มหาศาลที่ผู้ต้องขังสามารถสะสมไว้ทั้งเพื่อใช้จ่ายในเรือนจำ และเพื่อเป็นทุนรอนในการเริ่มต้นชีวิตหลังพ้นโทษได้

นอกเหนือจากการฝึกอาชีพและสร้างรายได้แล้ว เรือนจัน ครัวไทย (รวมทั้งสถานีความฝันต่างๆ ที่ ผบ.ชาญตั้งใจไว้) ก็จะเป็นที่ที่ทำให้สังคมและผู้ต้องขังได้เกิดการผสานผสมกลมกลืนเข้าหากันและกัน เพราะผู้ที่ทำงานในเรือนจันแลนด์แห่งนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่คือผู้ต้องขังที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกมาทำงานที่นี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเรือนจำนั่นเอง

และนี่คือหนึ่งในฝันอันยิ่งใหญ่ของ ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี!

ภาพต่างๆ จากการเยี่ยมชมภายในเรือนจำจังหวัดจันทุบรี

การตรวจดวงชะตาด้วยไพ่ทาโรต์ เป็นหนึ่งในการฝึกอาชีพล่าสุดที่เกิดขึ้นในเรือนจำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช
นางจิรภา สินธุนาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กำลังทดสอบความแม่นยำของผู้ต้องขังที่ฝึกอาชีพการตรวจดวงชะตาด้วยไพ่ทาโรต์
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช
อาหารฝีมือผู้ต้องขัง ซึ่งมีการนำไปจำหน่ายในเรือนจัน ครัวไทย
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช
งานแกะสลักรองเท้ายางเป็นลวดลายต่างๆ จากฝีมือของผู้ต้องขังชายเรือนจำจังหวัดจันทบุรี
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช