ThaiPublica > คอลัมน์ > Angola Prison Rodeo: ห้วงขณะแห่งความเป็นมนุษย์ในอัลคาทราซแดนใต้ และ gamification กับการปรับพฤติกรรมผู้ต้องขัง

Angola Prison Rodeo: ห้วงขณะแห่งความเป็นมนุษย์ในอัลคาทราซแดนใต้ และ gamification กับการปรับพฤติกรรมผู้ต้องขัง

30 กันยายน 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ดิอีโคโนมิสต์ (https://econ.st/2NOqLsU)

ทัณฑสถานรัฐลุยเซียนา (Louisiana State Penitentiary) นั้นเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่าแองโกลา (Angola) เป็นเรือนจำที่มีผู้ต้องขัง 6,300 คน เจ้าหน้าที่ 1,800 นาย รวมทั้งเป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีอีกสมญาว่าอัลคาทราซแดนใต้ (Alcatraz of the South)

ทุกๆ ปี ในสุดสัปดาห์หนึ่งของเดือนเมษายน และในทุกวันอาทิตย์ของเดือนตุลาคม สนามกีฬาขนาดหมื่นคนในแองโกลาจะกลายเป็นสนามประลองในศึกขี่พยศคุกแองโกลา (Angola Prison Rodeo) ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีที่เปิดให้ผู้คนภายนอกซื้อตั๋วเข้าไปชมโรดีโอ (rodeo) ก็คือการแข่งขันขี่วัวหรือม้าพยศ ซึ่งไม่ได้มีแค่การขี่หลังให้รอดนานที่สุดอย่างเดียว แต่ยังมีสุดยอดของศึกที่เป็นการให้ผู้ต้องขังชิงเอาชิปสำหรับเล่นไพ่โปกเกอร์ซึ่งผูกไว้ที่หัววัวกระทิงคลั่งมาให้ได้ จากนั้นให้ผู้ต้องสี่คนนั่งเล่นโปกเกอร์กันในสนามประลอง และใครที่ยังนั่งอยู่ได้หลังจากโดนวัวกระทิงไล่ขวิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือผู้ชนะ (ดังปรากฏในภาพด้านบน)

นอกจากแข่งขี่พยศแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีเทศกาลศิลปหัตถกรรมฝีมือผู้ต้องขัง ที่ผู้ต้องขังจะสามารถนำงานศิลปหัตถรรมฝีมือตนเองมาขายให้แก่ผู้เข้าชมจากภายนอกโดยตรง โดยผู้ต้องขังที่ได้รับสถานะเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ หรือ trustee จะสามารถขายของให้กับผู้ชมจากภายนอกได้โดยตรง ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับสถานะดังกล่าวก็สามารถขายของให้แก่ผู้ชมภายนอกได้เช่นกัน แต่ต้องทำหลังรั้วที่มีโซ่ล้อมไว้

การแข่งขี่พยศและงานเทศกาลดังกล่าวนั้นได้รับความนิยมอย่างสูง จนสามารถนำเงินจากค่าตั๋วเข้าชมและการซื้องานศิลปหัตถกรรมเข้าสู่เรือนจำแองโกลาถึงหนึ่งล้านเหรียญเลยทีเดียว

ส่วนที่น่าสนใจก็คือ เหล่าผู้เข้าร่วมประลองในศึกขี่พยศนี้ ก็คือผู้ต้องขังที่ต้องโทษอยู่ในอัลคาทราซแดนใต้แห่งนี้นี่เอง

ผู้ต้องขังที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันขี่พยศหรือทำการค้าขายในเทศกาลศิลปะและหัตถกรรมได้ จะต้องมีสถานะเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการจะได้สถานะดังกล่าวนี้ ผู้ต้องขังจะต้องมีประวัติความประพฤติที่ดีในเรือนจำมายาวนานถึงสิบปีเลยทีเดียว

อนึ่ง การแข่งขี่พยศของผู้ต้องขังนั้นเป็นการแข่งโดยไม่มีการฝึกซ้อมมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่า นั่นย่อมหมายถึงความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัส หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

กระนั้น ก็มีผู้ต้องขังมากมายที่ต้องโทษคุมขังเป็นเวลายาวนาน เต็มใจจะประพฤติดีเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจ อันจะเป็นบันไปสู่การแข่งขันขี่พยศในที่สุด

อัลดรี ลาทาน (Aldrie Lathan) ซึ่งต้องโทษคุมขังถึง 65 ปีจากคดีใช้อาวุธปล้นชิงทรัพย์ เป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งที่เข้าแข่งขี่พยศมาแล้วถึงเก้าปี เจอมาแล้วทั้งซี่โครงหัก ไหล่หลุด หรือกระทั่งสมองกระทบกระเทือน แต่เขาก็ยังยืนยันกับเว็บไซต์เดอะการ์เดียนhttps://bit.ly/2y1id7vว่าเมื่อเทียบกับเงินที่ได้แล้วมันคุ้มค่าเป็นที่สุด เพราะตัวเขาไม่ได้มีความช่วยเหลือใดๆ จากนอกคุกมากนัก เขาก็มีแต่ต้องช่วยเหลือตัวเอง และการขี่พยศก็ตอบโจทย์ในเรื่องนั้น

“พอโดนวัวขวิดสักครั้ง คุณก็จะรู้ว่ามันรู้สึกยังไง แล้วคุณก็ไม่ต้องกลัวมันอีกต่อไป” ลาทานว่าอย่างนั้น

อีกคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนได้อย่างน่าสนใจก็คือจัสติน ซิงเกิลตัน (Justin Singleton) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่แม้จะไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันขี่พยศ แต่เขาก็ได้สิทธิเปิดบูทขายของในงาน

“ที่แองโกลานี่คุณจะไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกนักหรอก ซึ่งบางทีมันก็เลย…ออกจะน่าหดหู่อยู่บ้าง” ซิงเกิลตันบอกกับเดอะการ์เดียน “เพราะงั้น มันก็สร้างแรงบันดาลใจดีนะ กับการได้มาในงานขี่พยศ ได้เห็นใบหน้าของผู้คนมากมายที่มีความสุขที่ได้มาที่นี่ และปฏิบัติกับคุณเหมือนคุณเป็นคนธรรมดา ซึ่งคุณก็เป็นมนุษย์ธรรมดาไง”

เดอะการ์เดียนบอกว่า ในมุมเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เหล่าผู้ต้องขังได้จากการแข่งขี่พยศนี้ไม่ใช่แค่เพียงรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่คือห้วงขณะแห่งความเป็นมนุษย์

ความคิดเรื่องการขี่พยศแห่งอัลคาทราซแดนใต้นี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1964 และได้ลงมือทำกันจริงๆ ในปี ค.ศ. 1965 ก่อนจะเปิดให้คนภายนอกเข้าชมในปี ค.ศ. 1967 ส่วนสนามที่จุคนได้ถึงหมื่นคนนั้นเปิดใช้ในปี ค.ศ. 2000 ก่อนหน้านั้น ในการแข่งพวกเขา พวกเขาจะขนทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ขึ้นรถกระบะไปกลางทุ่ง แล้วก็ออกไปลุยกับวัวกับม้าที่เลี้ยงขึ้นมาในเรือนจำ

นอกจากการแข่งขันขี่พยศและเทศกาลศิลปะหัตถกรรมแล้ว แองโกลาที่เข้มงวดถึงขนาดได้สมญาว่าอัลคาทราซแห่งแดนใต้ ยังมีสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของตัวเอง มีนิตยสารที่เหล่าผู้ต้องขังทำกันเองอย่างแองโกไลต์ (Angolite) ซึ่งกวาดรางวัลมาหลายเวที และยังมีสนามกอล์ฟเก้าหลุมที่เรียกว่าพริซันวิว (Prison View) ด้วย

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในทัณฑสถานรัฐลุยเซียนา แองโกลา หรือจะเรียกว่าอัลคาทราซแดนใต้ก็ตาม คือการนำศาสตร์แห่งเกมมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ต้องขัง

ศาสตร์แห่งเกมหรือ gamification เป็นคำที่นิก เพลลิง (Nick Pelling) บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 2002 หมายถึงการทำให้เรื่องต่างๆ นั้นมีความน่าดึงดูดใจเพิ่มขึ้นด้วยการทำให้มันกลายเป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นเกม ปัจจุบัน ศาสตร์แห่งเกมนั้นแพร่กระจายไปในโลกธุรกิจต่างๆ และเป็นสิ่งที่มีผลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้หันมาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้น เช่น การสะสมแต้มในบัตรเครดิตเพื่อนำไปแลกของสมนาคุณรูปแบบต่างๆ การแข่งกันออกกำลังกับเพื่อนๆ เพื่ออวดค่าสถิติในแอปพลิเคชันที่ทุกคนใช้เหมือนกัน การสะสมแสตมป์จากร้านสะดวกซื้อ ที่แม้บางทีก็ไม่ได้รู้จะเอาไปแลกอะไร แต่ก็สะสมเอาไว้ไปตามแคมเปญ หรือกระทั่งการเล่นเกมมือถือ ที่ตั้งใจจะเล่นก่อนนอนสักนิดหนึ่ง แต่รู้ตัวอีกทีก็ตะวันตรึงตาแล้ว

ในหนังสือสุดแรงต้าน: การผงาดขึ้นของเทคโนโลยีเสพติดและธุรกิจแห่งการทำให้เราติดงอมแงม (Irresistible: The Rise of Addictive Technology and the Business of Keeping Us Hooked) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2017 อดัม อัลเทอร์ (Adam Alter) ซึ่งเป็นผู้เขียนได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างของศาสตร์แห่งเกมว่าประกอบด้วย 1. คะแนน (points) 2. ตราสัญลักษณ์ (badges) และ 3. ทำเนียบผู้นำ (leaderboards) ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับเส้นทางสู่ศึกขี่พยศคุกแองโกลาแล้ว เราจะพบว่า การประพฤติตัวดีเป็นเวลาสิบปีก็คือการสะสมคะแนน การได้รับสถานะผู้ที่ไว้วางใจได้ก็คือการได้ติดตราสัญลักษณ์ให้ผู้อื่นเห็นได้ และการเข้าร่วมในศึกขี่พยศนั้นก็คือการได้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบผู้นำเหนือคนอื่นๆ และหากมองไปในส่วนของการที่แม้ไม่เข้าร่วมในศึกขี่พยศแต่ก็เปิดบูทขายของในงานเทศกาล เราก็สามารถเปรียบเทียบต่อไปได้ว่า นัยของกระดานผู้นำในกรณีนี้ก็คือการได้ไปถึงจุดที่ทำให้สามารถตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ซึ่งในบริบทนี้แล้วก็คือการสามารถหาเลี้ยงตัวเอง หรือถึงขั้นส่งเงินออกไปให้กับสมาชิกครอบครัวที่นอกคุกได้ ดังที่ซิงเกิลตันบอกกับเดอะการ์เดียนว่า ที่เขาขายของก็เพราะอยากส่งเงินไปให้ลูกสาววัย 15 ปีของตนเองที่นอกคุก และมันไม่ใช่ค่าเล่าเรียนแต่อย่างไร แต่คือ “เพราะรักเธอ และผมเป็นพ่อของเธอ ก็เท่านั้น”

และศาสตร์แห่งเกมนี้เอง ที่อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งในการบำบัดผู้ต้องขัง ทั้งในแง่ของการทำให้สามารถกลับไปเป็นมนุษย์ที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปรกติธรรมดา และไม่ตกอยู่ในวงจรของการกระทำผิดซ้ำ ดังที่เบิร์ล เคน (Burl Cain) ผู้เป็นพัศดีทัณฑสถานรัฐลุยเซียนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 บอกกับเว็บไซต์ดิอีโคโนมิสต์ว่าhttps://econ.st/2NOqLsU ทั้งหมดทั้งมวลที่อัลคาทราซแดนใต้มี (ดังกล่าวไปตอนตนนั้น) ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดศีลธรรมของผู้ต้องขังทั้งสิ้น

“ถ้าคุณไม่บำบัดสำนึกของพวกเขา ทุกอย่างที่เราทำก็แค่สร้างอาชญากรที่ฉลาดขึ้นเท่านั้นแหละ” เคนกล่าว

อนึ่ง บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อบอกว่าดังนั้นเราควรให้ผู้ต้องขังไปทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างในศึกขี่พยศแห่งคุกแองโกลาแต่อย่างใด