ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุใดบริษัทในต่างประเทศถึงพร้อมรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน และเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง

เหตุใดบริษัทในต่างประเทศถึงพร้อมรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน และเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง

30 กันยายน 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

ร้านสเต็ก ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ปัญหาสำคัญประการหนึ่ง และน่าจะเป็นประการหลัก ที่คอยขัดขวางไม่ให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมากลับสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ ความยากลำบากในการหางานทำ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีประวัติอาชญากรรม โดยเฉพาะถึงขั้นเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ที่ทำงานหลายๆ แห่งก็คงไม่อยากรับเข้าทำงาน เพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะให้โอกาสเกิดอาชญากรรมใดๆ มาปรากฏในสถานที่ทำงานของตน

ทว่า ความกังวลเช่นนั้นนั่นเอง ที่ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้นในที่สุดได้ แม้จะไม่ใช่ในที่ทำงานของตนก็ตาม เพราะเมื่อไม่มีงานทำ ก็ยากที่อดีตผู้ต้องขัง (โดยเฉพาะที่ไม่มีทางบ้านคอยสนับสนุน) จะสามารถกลับมายืนหยัดดำเนินชีวิตอย่างสุจริตได้ และพอนานเข้าก็อาจวนกลับไปสู่วงจรของการกระทำผิดซ้ำในที่สุด

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่จินตนาการถึงแต่ความเสี่ยงในการรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน เพราะธุรกิจหลายๆ เจ้านั้นกลับมองเห็นว่า การจ้างอดีตผู้ต้องเข้าทำงานนั้นคือโอกาสสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนากิจการของตัวเองแบบที่มนุษย์ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากประวัติอาชญากรรมไม่อาจให้ได้

เว็บไซต์ BUSINESS INSIDER เผยแพร่บทความ 4 Reasons Why Your Small Business Should Hire An Ex-Convict (4 เหตุผลที่กิจการขนาดเล็กควรจ้างอดีตผู้กระทำผิดเข้าทำงาน) เล่าถึงประสบการณ์ของมาร์ก ปีเตอส์ (Mark Peters) ซีอีโอของ Butterball® Farms, Inc. บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเนย และจ้างอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงานอยู่เสมอ ทั้งยังแนะนำอีกด้วยว่า บริษัทต่างๆ ควรพิจารณารับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงานด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

1. หากคุณช่วยเหลือพวกเขา พวกเขาก็จะช่วยเหลือคุณ

สังคมมักมีอคติต่ออดีตผู้ต้องขังว่าเป็นคนที่เกินเยียวยา ไม่สามารถกลับตัวกลับใจ เคยเป็นคนไม่ดี (ตามกฎหมาย) อย่างไรก็จะเป็นคนไม่ดีต่อไปเช่นนั้น แต่ถ้าเรามองในมุมกลับ เมื่อสังคมตีตราและกดทับอดีตผู้ต้องขังไว้อย่างนั้น การที่เราในฐานะนายจ้างให้โอกาสพวกเขา ก็ย่อมมีโอกาสที่เราจะได้รับการตอบแทนอย่างดีเช่นกัน

“หลายคนที่ผมจ้างนี่เขาไม่แคร์หรอกว่าตัวเองต้องทำงานให้ผมหรือทำให้ใครที่ไหน” ปีเตอส์กล่าว “ผมอยากจ้างคนที่ผูกพันกับองค์กรและช่วยให้องค์กรของผมประสบความสำเร็จจริงๆ มากกว่า ดังนั้น ถ้าผมช่วยให้ใครสักคนประสบความสำเร็จ เขาก็คงใส่ใจจะช่วยให้ผมประสบสำเร็จมากกว่าใคร”

2. การฝึกฝนที่อดีตผู้ต้องขังได้รับในเรือนจำนั้นอาจเป็นประโยชน์ต่องานภายนอก

ผู้ที่เคยอยู่ในเรือนจำนั้นมีโอกาที่จะได้รับการฝึกวิชาชีพและเข้าร่วมการสอบเทียบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือถึงขั้นได้ประกาศนียบัตรระดับวิทยาลัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับการทำงาน รวมทั้งมอบทักษะในการทำงานที่สามารถส่งผ่านข้ามสาขาได้ และยิ่งไปกว่านั้น นั่นหมายความว่าพวกเขาย่อมคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบวินัยและการทำงานหนักเป็นอย่างดี

3. อดีตผู้ต้องขังมีแนวโน้มจะทำงานอยู่กับคุณนานกว่า

อดีตผู้ต้องขังที่ได้รับการจ้างงานนั้นจะให้คุณค่ากับงานของตัวเองเป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะโอกาสที่อดีตผู้ต้องขังจะได้รับการจ้างงานนั้นมีน้อย ทำให้ถ้าได้งานทำแล้วพวกเขาก็จะไม่ค่อยลาออก และพวกเขามีแรงจูงใจที่จะกลายเป็นลูกจ้างระยะยาวสูงมากๆ

4. ผู้จ้างงานอดีตผู้ต้องการอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ในสหรัฐอเมริกานั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า การลดหย่อนภาษีแก่โอกาสในการทำงาน หรือ Work Opportunity Tax Credit ซึ่งจะลดหย่อนภาษีให้แก่นายจ้างที่จ้างคนจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเข้าทำงาน และอดีตผู้ต้องขังก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ว่านั่น

ข้อสรุป

จากตัวอย่างเล็กน้อยข้างต้น เราอาจพูดได้ว่าการรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงานนั้นมีความเสี่ยงอยู่จริง (เฉกเช่นการรับใครก็ตามเข้าทำงาน) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถเปลี่ยนความเสี่ยงนั้นให้กลายเป็นโอกาสได้ด้วยการมองมุมกลับลงไปในความเสี่ยงที่มีอยู่ และด้วยการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมตลอดกระบวนการ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่ลำพังบริษัทต่างๆ จะสามารถทำได้โดยลำพัง

เริ่มกันตั้งแต่ในเรือนจำ เรือนจำควรจะเป็นที่สำหรับ “เซ็ตซีโร” (set zero) หรือล้างผลทั้งปวงให้แก่ผู้กระทำความผิด กล่าวคือ นอกจากการลงโทษจำคุกจนครบตามกำหนดจะทำให้การกระทำผิดสิ้นสุดตามกฎหมายและไม่ติดตัวไปตลอดชีวิตแล้ว ยังต้องเป็นที่ที่เสริมสร้างทักษะในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะด้านการประกอบอาชีพ ให้แก่ผู้ต้องขังด้วย

เพื่อให้เป็นเช่นนั้นได้ การฝึกอาชีพในเรือนจำจึงควรตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและมีความหลากหลาย แบบที่เรียกได้ว่าเมื่อ “จบการศึกษา” ในเรือนจำแล้ว ก็สามารถใช้ทักษะที่ได้มาออกไปประกอบอาชีพสุจริตได้ทันที ไม่ใช่ต้องออกไปเสี่ยงต่อการกลับไปทำอาชีพทุจริตอีกเพราะหางานทำไม่ได้

ส่วนภาครัฐนั้น การให้สิทธิ์ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีแก่ผู้ยินดีจ้างอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงานคงเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนปลายของกระบวนการแล้ว เพราะการจะจ้างงานได้นั้นอดีตผู้ต้องขังเองก็ต้องมีทักษะที่เพียงพอด้วย แต่หากภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่หาทางเลือกในการลงโทษที่จะเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกไปจากการจำคุก จำนวนผู้กระทำผิดที่ต้องเข้าไปสู่เรือนจำก็จะยังคงมากมายมหาศาลจนเกิดสภาพคนล้นคุกดังเช่นทุกวันนี้ และเป็นสภาพที่ยากต่อการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพได้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเสริมสร้างทักษะให้ผู้ต้องขังพร้อมในการดำรงชีวิตในสังคมเมื่อพ้นโทษออกไป