ThaiPublica > เกาะกระแส > ข้อท้วงติง AOT เร่งซื้อเครื่องตรวจระเบิดใหม่ โล๊ะ CTX สวนมติบอร์ดฯเดินหน้า “เทอร์มินอล 2” รับผู้โดยสารเพิ่ม 30 ล้านคน

ข้อท้วงติง AOT เร่งซื้อเครื่องตรวจระเบิดใหม่ โล๊ะ CTX สวนมติบอร์ดฯเดินหน้า “เทอร์มินอล 2” รับผู้โดยสารเพิ่ม 30 ล้านคน

18 มีนาคม 2019


เครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000
เครื่องตรวจจับระเบิด CTX

ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ออก วันที่ 21 มกราคม 2562 เชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โครงการปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด (Hold Baggage Screening System : HBS) พร้อมปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ (Baggage Handling System : BHS) ภายในอาคารผู้โดยสาร (Main Terminal Building : MTB) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 3,053 ล้านบาท (รวม VAT) เปิดขายซองประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2562 กำหนดยื่นซองเสนอราคาวันที่ 27 มีนาคม 2562

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 บอร์ด ทอท.ได้มีมติยกเลิกสัญญาจ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก (กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาคเป็นแกนนำ) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว (ยกเลิกมติบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561) อีกทั้งยังมีมติให้ทอท. ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจการบินให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่ามีประเด็นที่ขอตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากบอร์ด ทอท.ลงมติเดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ต่อไปแล้ว ทอท.ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด และสายพานลำเลียงในอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 1 เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX รุ่น 9400 จำนวน 26 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บนสายพานลำเลียงกระเป๋าประจำการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีขีดความสามารถในการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสารได้ที่ความเร็วสูงสุด 0.3 เมตร/วินาที แต่เปิดใช้จริงที่ความเร็วแค่ 0.12 เมตร/วินาที ตรวจสอบตรวจสอบกระเป๋าได้ถึง 11,700 ใบ/ชั่วโมง ยังสามารถรองรับจำนวนกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารได้ถึง 68 ล้านคน โดยไม่มีปัญหากระเป๋าของผู้โดยสารตกหล่นแต่ประการใด โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางมากที่สุดมีกระเป๋าผ่านเครื่องสแกน 7,000 ใบ/ชั่วโมง ก็ยังมีความสามารถในการตรวจสอบกระเป๋าเหลืออยู่อีก 3,000 – 4,000 ใบ/ชั่วโมง โดยที่ยังไม่ได้เดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพที่ความเร็วสายพานสูงสุด 0.3 เมตรต่อวินาที

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่านอกจากนี้ บอร์ดทอท.ยังมีมติเดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ต่อไป ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาจำนวนผู้โดยสารในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ได้อีก 30 ล้านคน จึงไม่มีเหตุผล หรือ ความจำเป็นที่ทอท.ต้องรีบเร่งเปลี่ยนระบบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้ง ๆ ที่เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและระบบสายพานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังมีอะไหล่และอายุการใช้งานต่อไปได้อีก 5 ปี

แหล่งข่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การเปิดประมูลรอบนี้ ทอท.ยังคงยืนยันทำตามสเปกเดิม คือ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS machine) ที่จะขายให้กับทอท. ต้องเป็นเครื่องที่มีความเร็วของสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที และได้รับการรับรองจากหน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา (Transportation Security Administration : TSA Certified) และการอนุมัติจาก ECAC Standard – 3 หรือสูงกว่า (ECAC standard – 3 approved or higher) รวมทั้งยังต้องไปหา หรือ จับคู่ผู้รับเหมางานที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการปรับแต่งความเร็วสายพานลำเลียงกระเป๋า (Belt Speed) จากความเร็ว 0.3 เมตร/วินาที เป็น 0.5 เมตรต่อวินาที เท่าที่ทราบน่าจะยังไม่มีสนามบินแห่งใดในโลกนี้ตัดสินใจย้ายค่าย หรือ ปรับเปลี่ยนระบบ เพราะการโมดิฟลายระบบความเร็วสายพาน เพื่อข้ามไปใช้เครื่องสแกนของค่ายอื่น อาจจะมีความเสี่ยงระบบล่ม หรือ ระบบความเร็วสายพานไม่รองรับกับตัวเครื่อง ดังนั้น หากตัดสินใจใช้ระบบตรวจจับวัตถุระเบิดของค่ายไหนตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ก็ต้องใช้ต่อไป”

“กรณีของไทยอาจเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจใช้เครื่องสแกนที่มีความเร็วสายพาน 0.3 เมตร/วินาที แล้วเปลี่ยนไปใช้ 0.5 เมตร/วินาที หากตัดสินใจลงทุนก่อสร้างระบบตรวจจับวัตถุระเบิดที่ความเร็ว 0.5 เมตร/วินาทีตั้งแต่แรก หรือ อาจจะเริ่มลงทุนก่อสร้างกันใหม่ที่อาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 กรณีนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าวางระบบสายพานที่ความเร็ว 0.3 เมตร/วินาทีไปแล้ว มาโมดิฟลายความเร็วสายพานให้เป็น 0.5 เมตร/วินาทีกันในภายหลัง กรณีนี้ก็อาจไม่จบ อย่างไรก็ตาม แม้ทอท.ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการของธุรกิจสายการบิน แต่ก็ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการติดตั้งมีการหยุดเดินเครื่องทดสอบระบบหรือไม่ อย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 กลุ่ม CTX ที่มีบริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น จำกัด เป็นแกนนำ (ซื้อกิจการผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ยี่ห้อ CTX มาจากบริษัท Morpho Detection International, LLC.) เคยทำหนังสือประท้วง ส่งถึงนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ ทอท., นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ประธานกรรมการธรรมาภิบาล, นายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการจัดหาพัสดุ ทอท., นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่าง TOR ของ ทอท. รวมทั้งหมด 4 ครั้ง ในฐานะที่ ทอท. เป็นลูกค้าเก่า เคยสั่งซื้อและใช้บริการเครื่อง CTX – 9400 จำนวน 26 เครื่องมานานถึง 11 ปี จึงแสดงความห่วงใย เกรงว่าจะตัดสินใจผิดพลาด จึงส่งข้อมูลมาให้บอร์ด ทอท. ใช้ประกอบการพิจารณาร่าง TOR

การออกแบบสเปกของตัวเครื่องที่ความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาที บริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น จำกัด มองว่า เป็นการกีดกันเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่น CTX ไม่ให้เข้ามาร่วมประมูลงานนี้ ถึงแม้บริษัทสมิทส์ฯ จะมีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด รุ่น XCT-10080 ที่ผ่านการตรวจและรับรองการใช้งานที่ความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาทีจากหน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา (Transportation Security Administration: TSA) แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมและไม่ประสบความสำเร็จในการผสานเข้ากับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าที่สนามบินเท่ากับเครื่อง CTX-9800 DSI

จากข้อมูลเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่บริษัทสมิทส์ฯ รวบรวมมา ระบุว่าไม่มีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดยี่ห้อและรุ่นใดเปิดใช้ที่ความเร็วที่ 0.5 เมตรต่อวินาที แล้วผ่านการทดสอบจาก TSIF ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด TSA ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง และมีศูนย์ทดสอบ ติดตั้งเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดพ่วงต่อกับสายพานลำเลียง ทั้งนี้ เพื่อทดสอบว่าเครื่องยี่ห้อไหน รุ่นอะไร สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา จึงอนุญาตให้ใช้ในสนามบินของประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจรับรองปรากฏว่า มีเฉพาะเครื่อง CTX-9800 DSI เปิดใช้ที่ความเร็ว 0.3 เมตรต่อวินาที ของบริษัท Morpho Detection International, LLC. ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ยี่ห้อ Smiths Detection, SD, UK เท่านั้น ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก TSA – TSIF และถ้าไปดูที่ยอดขาย เครื่อง Smiths Detection รุ่น CTX – 9800 DSI มียอดขายรวมอยู่ที่ 535 เครื่อง และรุ่น XCT – 10080 มียอดขาย 174 เครื่อง เปรียบเทียบกับคู่แข่ง คือ เครื่อง L – 3 MV3D มียอดขายรวมไม่เกิน 50 เครื่อง

  • ศึกชิงงานประมูล “เครื่องตรวจระเบิด” มูลค่ากว่า 3 พันล้าน CTX ร้องบอร์ด AOT “ถูกกีดกัน”
  • ITD จี้บอร์ด AOT เปิดผลคะแนน ประมูลงานสายพานขนกระเป๋าฯ สนามบินสุวรรณภูมิ 3.7 พันล้าน
  • มติบอร์ด ทอท. ล้มงานออกแบบเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ – แยกประมูล 3 สัญญา “ดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์ – จุดส่งมอบสินค้า”