ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ITD จี้บอร์ด AOT เปิดผลคะแนน ประมูลงานสายพานขนกระเป๋าฯ สนามบินสุวรรณภูมิ 3.7 พันล้าน

ITD จี้บอร์ด AOT เปิดผลคะแนน ประมูลงานสายพานขนกระเป๋าฯ สนามบินสุวรรณภูมิ 3.7 พันล้าน

16 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการให้คะแนน โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2

ปิดการประมูลโครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสานพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟสที่ 2 มูลค่า 3,798.7 ล้านบาท (ราคากลาง) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการจัดหาพัสดุ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ประกาศผลการให้คะแนนผู้ยื่นซองประมูล 3 ราย อันดับที่ 1 “นิติบุคคลร่วมทำงาน ล็อกซเล่ย์-แอลพีเอส” ได้รับคะแนนจากกรรมการฯ 907.75 คะแนน โดยเสนอราคาต่ำที่สุด 3,618 ล้านบาท อันดับที่ 2 เอวีที คอนซอร์เตียม 863.48 คะแนน และอันดับที่ 3 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) 846.89 คะแนน คาดว่าคณะกรรมจัดหาพัสดุฯ จะเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลให้ที่ประชุมบอร์ดอนุมัติในวันที่ 24 มกราคม 2561

ปรากฏว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับคะแนนโดยรวมต่ำที่สุด ทำหนังสือถึงประธานกรรมการจัดหาพัสดุ, นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. และนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ขอทราบหลักเกณฑ์การให้คะแนนและผลคะแนนเอกสารด้านอื่นๆ เนื่องจากบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป เอ/เอส ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเจ้าของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดของกลุ่มของอิตาเลียนไทยฯ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการพิจารณาคะแนนด้านเทคนิคในซองเอกสารด้านอื่นๆ จึงมาขอให้บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ทำหนังสือสอบถาม โดยบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป ยืนยันว่า “ระบบและอุปกรณ์ (Individual Carrier System: ICS) ที่นำเสนอนั้นถูกต้องตามข้อกำหนดใน Specification ทุกประการตามที่ได้ชี้แจงกับ ทอท. มาแล้ว 2 ครั้ง และระบบ ICS ที่นำเสนอเป็นระบบที่มีคุณภาพ ซึ่งถูกเลือกให้ใช้ในท่าอากาศยานส่วนใหญ่ทั่วโลก”

ทางบริษัทอิตาเลียนไทยเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลในการพิจารณาคะแนนนั้นจะทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้เสนอราคา จึงขอให้ ทอท. ชี้แจงข้อสงสัยดังกล่าว และขอทราบรายละเอียดของเกณฑ์การให้คะแนน ตลอดจนผลคะแนนข้อเสนอด้านอื่นๆ (ซองที่ 2) ด้วย

หนังสือร้องเรียนของบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป ระบุว่า ทางบริษัทฯ รู้สึกประหลาดใจอย่างมากกับผลการให้คะแนนครั้งนี้ โดยบริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะได้รับคะแนนทางเทคนิคสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เนื่องจากบริษัทฯ ได้ออกแบบระบบให้เป็นไปตามข้อกำหนดความต้องการในเอกสารประมูลราคาอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเสนอทดแทนและดัดแปลงแก้ไขระบบควบคุมที่มีอยู่เดิมในอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal Building, MTB) ด้วยระบบการควบคุมระดับสูง (High Level Control) ใหม่อย่างสมบูรณ์ (SAC และ SCADA) ตามที่ได้เสนอต่อ ทอท. สามารถใช้งานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (Baggage Handing System: BHS) ซึ่งเป็นระบบเดี่ยว (Single System) โดยไม่ต้องใช้การควบคุมถึง 2 แพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน (ตามเอกสาร TOR)

เทคโนโลยีระบบสายพานลำเลียง แบบ ICS ของบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป (ยี่ห้อ CrisBag®) ที่นำเสนอใช้แนวคิดของระบบคัดกรองจากถาดรับกระเป๋า (Screening In Tote Concept) และควบคุมการลำเลียงกระเป๋าด้วยระบบเดี่ยว (Single Conveyer Control) แบบประหยัดพลังงานมานานหลายปี ทั้งนี้ ระบบสายพานแบบ ICS ของ CrisBag Totes เป็นยี่ห้อแรกที่ได้รับการรับรอง ECAC Standard 3 โดยกรมการบินพลเรือนของประเทศในกลุ่มยุโรป (The European Civil Aviation Conference: ECAC) และหน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสหรัฐอเมริกา (Transportation Security Administration: TSA)

ผลงานของ CrisBag ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป เป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยี ICS ที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยสนามบินที่ใหญ่ที่สุดเป็นศูนย์กลางการบิน และมีชื่อเสียงมากที่สุด เลือกใช้ระบบ ICS ของบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป ทางบริษัทฯ จึงมีความกังวลอย่างมากต่อการประเมินผลคะแนนครั้งนี้ อาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการตลาดและคุณภาพ

ดังนั้น บริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป จึงทำหนังสือถึงบริษัท อิตาเลียนไทย เพื่อเรียกร้องให้ ทอท. ใช้ที่ปรึกษาอิสระที่มีความเชี่ยวชาญในระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาเป็นผู้ประเมินผลการประกวดราคาครั้งนี้ เนื่องจากบริษัท บอยเมอร์ กรุ๊ป เชื่อว่าการประเมินผลคะแนนครั้งนี้ไม่ถูกต้อง

อนึ่ง ความเป็นมาของโครงการนี้ หลังจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟสที่ 1 ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฉบับทบทวน โดยอาคารผู้โดยสารหลักในปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 560,000 ตารางเมตร ถูกออกแบบและก่อสร้างเพื่อรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี แต่เนื่องจากปริมาณการจราจรทางอากาศขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินขีดความสามารถของท่าอากาศยานในปัจจุบันที่จะรองรับได้ ทาง ทอท. จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ได้อย่างน้อย 60 ล้านคนต่อปี ในปี 2560 มีโครงการสำคัญดังนี้

    1. งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 B1 และ G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก)

    2. งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) ส่วนเชื่อมต่ออุโมงค์ ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย)

    3. งานจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก

    4. งานจ้างก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก

    5. งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

    6. งานซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)

    7. งานซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) ซึ่งจะดำเนินการโดยผู้รับจ้างงานจัดซื้อพร้อมติดตั้ง CC5