ThaiPublica > เกาะกระแส > ก้าวใหม่ “รฟท.” ฟื้นฟูก้าวสู่ “Change to the Future” ฝ่าวิกฤติหนี้ 1.4 แสนล้าน ปรับกลยุทธ์สู้ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ – รถตู้”

ก้าวใหม่ “รฟท.” ฟื้นฟูก้าวสู่ “Change to the Future” ฝ่าวิกฤติหนี้ 1.4 แสนล้าน ปรับกลยุทธ์สู้ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ – รถตู้”

7 กุมภาพันธ์ 2019


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานเปิดงาน “Change to the Future” ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้บรรยายพิเศษ ให้กับผู้บริหาร รฟท. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานทุกฝ่าย/สำนักงาน ตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปของการรถไฟฯ ทั่วประเทศเข้าร่วมมากกว่า 800 คน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 ตามวิสัยทัศน์ของแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะ 10 ปี (2561-2570) ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟความเร็วสูง รวมถึงแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังมุ่งการพัฒนาองค์กร ในด้านการบริหารและพัฒนาบุคลากร การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการพัฒนาการบริการในพื้นที่เชิงพาณิชย์ การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการลดต้นทุน ซึ่งในทุกกระบวนการมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่คนรถไฟจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำเพื่อขับเคลื่อนองค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงาน “Change to the Future” ครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ และความเข้าใจให้พนักงานและผู้บริหารรฟท.ได้รับทราบทิศทางการดำเนินงานของ รฟท.ในอนาคต ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของการรถไฟฯใหม่ คาดในปี 2562 ว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิประมาณ 21,845 ล้านบาท ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 141,986 ล้านบาท และถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆอีก คาดว่าในปี 2566 รฟท.จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 199,279 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้องค์กรล้าสมัย ไม่สามารถแข่งขันได้ อาจจะถูกโอนไปให้หน่วยงานอื่นเข้ามาบริหารจัดการแทน และคนตกงาน เพราะไม่มีเงินเดือนจ่าย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับองค์กรชั้นนำของโลกหลายแห่ง เช่น กรณีของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ , โกดัก และฟูจิ เป็นต้น

นายวรวุฒิ กล่าวว่า นับจากปี 2494 รฟท.มีทางรถไฟ 3,377 กิโลเมตร ถึงปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4,044 กิโลเมตร ช่วง 67 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหันไปเน้นการลงทุนก่อสร้างถนนเป็นหลัก มีการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นแค่ 677 กิโลเมตรเท่านั้น แต่หลังจากปี 2562 ไปจนถึงปี 2566 จะมีการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4,370 กิโลเมตร และในปี 2572 เพิ่ม 5,367 กิโลเมตร ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพลิกฟื้นกิจการรถไฟฯ โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ 11 โครงการ รวมระยะทาง 1,681 กิโลเมตร จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566 ส่วนรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่อีก 4 โครงการ รวมระยะทาง 865 กิโลเมตรจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2572

ดังนั้น รฟท. ต้องหันมาปรับปรุงกลยุทธ์ทางด้านการตลาด เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟที่เพิ่มขึ้น ในด้านของการขนส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทรนเนอร์ น้ำมันดิบ ก๊าซแอลพีจี ปูนซีเมนต์ จำเป็นต้องออกไปหาลูกค้าให้มาใช้บริการทางรางเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มความเร็วของขบวนรถ จาก 39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรางจาก 12 ล้านตันต่อปี เป็น 38 ล้านตันต่อปี ส่วนการขนส่งผู้โดยสารระยะทางไกลมีคู่แข่งที่สำคัญคือสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์” ส่วนระยะทาง 200 -300 กิโลเมตร ก็มีรถตู้โดยสารเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ดังนั้นรฟท.ต้องปรับตัวหันไปทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น จัดแพ็กเกจทัวร์ ผู้สูงอายุ ส่วนสถานีปลายทาง ก็ต้องมีบริการรถรับส่งผู้โดยสาร รวมทั้งเพิ่มความเร็วของขบวนรถจาก 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 11 ล้านคนต่อปี เป็น 24 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ รฟท.ยังต้องเร่งพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่ทั่วประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำรายได้มาใช้ในการพัฒนาบริการด้านอื่นๆ และลดปัญหาขาดทุน โดยที่ดินของรฟท.ที่มีทำเลดี อาทิ ที่ดินย่านสถานีกลางบางซื่อ ,ที่ดินย่านสถานีมักกะสัน , ที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ , ที่ดินย่านรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ

สำหรับบรรยากาศภายในงานวันนี้ได้เปิดเวทีให้พนักงานตั้งคำถาม เสนอแนะความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสามารถนำไปถ่ายทอดสู่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงบรรลุวิสัยทัศน์ “การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570” ได้ในอนาคตอันใกล้