ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Future Food of Supply Chains (1) สัญญาณอันตรายในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกและอนาคตที่มาพร้อมความท้าทายใหม่

Future Food of Supply Chains (1) สัญญาณอันตรายในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกและอนาคตที่มาพร้อมความท้าทายใหม่

1 กุมภาพันธ์ 2019


ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา (ที่ 5 จากขวา) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย (ที่ 5 จากซ้าย) กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับองค์การ Oxfam ในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และผู้สนับสนุนโครงการ SWITCH ASIA สหภาพยุโรป ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาสาธารณะ “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม Food Retails and Social Sustainability Forum: Future Food Supply Chains” เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและภาคธุรกิจเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ โดยมี ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวเปิดงาน และฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ธุรกิจกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-ธรรมาภิบาลบริษัท สังคมและสิ่งแวดล้อม” และ ดร.ศรีธาร์ ธรรมาปุรี หัวหน้าสำนักระบบอาหารและการ เกษตร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก บรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตของเส้นทางอาหาร – มองไปข้างหน้าสู่ปี 2020”

ตลท.หนุนอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า ในวันนี้มีความยินดีที่ได้ต้อนรับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและผู้เข้าร่วมทุกท่าน ณ ปัจจุบันบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และมีการสร้างมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น โดยห่วงโซ่อุปทานอาหารมีบทบาทเป็นอย่างมาก รวมถึงธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว นอกจากซูเปอร์มาร์เกตที่กำลังดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ชาวนากำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารจากความไม่เท่าเทียม การเข้าไม่ถึงทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ

ดังนั้น วันนี้จะมีการพูดคุยกันว่าจะมีทางใดอะไรบ้างที่ธุรกิจค้าปลีกจะสามารถสนับสนุนให้เกิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ในที่นี้ต้องขอขอบคุณทางเครือข่าย คือ องค์กร Oxfam โครงการกินเปลี่ยนโลกจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไทยพับลิก้า SWITCH-Asia และเงินสนับสนุนการจัดการจากสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้ทำให้งานและการทำงานขององค์กรเกิดขึ้น และการประชุมนี้จะนำมาสู่ความร่วมมือการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ และนำมาสู่อุตสาหกรรมของห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างปลอดภัยที่มากขึ้น

4 แนวปฏิบัติผลิตยั่งยืน

ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธุรกิจกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน – ธรรมาภิบาลบริษัท สังคม และสิ่งแวดล้อม” ว่า ต้องขอขอบคุณผู้จัดที่เชิญมาในวันนี้ และสำหรับหัวข้อที่ได้รับมานั้นค่อนข้างยาวแต่จะพยายามทำให้สั้นลง ขอชื่นชมและยินดีที่ทุกคนสนใจเข้าร่วมเวทีนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและความยั่งยืนของบรรษัท

จากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นนั้น ผู้นำในเอเชียมีการต่อสู้กับการจ้างงานที่ไม่ปกติมานาน ทั้งการบังคับใช้แรงงาน แรงงานทาส และในเรื่องของความยั่งยืนยังเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในสังคมด้วย

โดยปีนี้ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งความยั่งยืนนั้นเป็นประเด็นหลักของอาเซียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของเอกชนและ SME ต่างๆ มีการส่งเสริมเพื่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน ขณะที่สหภาพยุโรปในปี 2019 มีโครงการที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนเช่นกัน เป็นเรื่องสำคัญมากที่ธุรกิจค้าปลีกและห่วงโซ่อุปทานได้เข้ามามีส่วนร่วม

20 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาความยั่งยืนไปอย่างมาก หากกลับไปเทียบกับเมื่อก่อนสภาพอากาศเป็นไปตามฤดูกาล แต่ปัจจุบันสภาพอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ในประเทศไทยพูดถึงสังคมสูงวัย ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในสังคม แต่ความท้าทายใหญ่ของโลกที่มีประชากรหมื่นล้านคนคือ ในอนาคตเราจำเป็นต้องแน่ใจว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ มีอาหารที่พอเพียง และพร้อมจะต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แต่หากเรายังดำเนินชีวิตแบบทุกวันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านไปได้ ซึ่งปัญหาใหญ่นี้ทำให้เราต้องมาที่นี่

นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

สิ่งที่ชื่นชมไทย คือ การลงทุนและมีการเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาไม่ใช่เฉพาะยุโรปหรือเอเชียแต่เป็นปัญหาของทั้งโลก ผมอาจจะไปยุโรปแล้วซื้ออาหารแช่แข็ง ซึ่งอาหารอาจจะมาจากกัมพูชาและแปรรูปที่ไทย สิ่งเหล่านี้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้และเลือกได้ ในยุโรปเราสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นใดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สหภาพยุโรปสนับสนุนให้มีห่วงโซ่อุปทานที่มีความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล กรณีประมงที่แรงงานไทยติด watchlist และในอนาคตต้องใส่ใจเรื่องแรงงานและสิทธิมากขึ้น เราจึงต้องแก้ปัญหาในภาคประมงและอาหารทะเล

ในฐานะบรรษัทมีหลายอย่างที่จะทำได้ เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงและพยายามให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ผลิตขึ้นด้วยความสำนึกความรับผิดชอบที่มีสังคม

“ความรับผิดชอบต่อสังคม คือ สถานการณ์ที่บรรษัทบูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เพื่อดำเนินกิจการและดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบในเรื่องนี้ สิ่งแวดล้อมและสังคมต้องมีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นหนาและเป็นค่านิยมที่มีผลสร้างสังคมให้มีความกลมกลืน”

โดยเราเห็นตัวอย่างจากยุโรปในเรื่องความรับผิดชอบของบรรษัท ซึ่งยุทธศาสตร์ปี 2020 ยุโรปต้องการเติบโต รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติที่รับผิดชอบต่อสังคม และในฐานะสหภาพยุโรป เราจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสิ่งนี้ในทุกประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจในสหภาพยุโรปมีการจัดให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงมีองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำงานกับบริษัท เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนส่งเสริมให้เกิดประโยชน์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนผู้บริโภคต้องมีความรับผิดชอบในการบริโภคสินค้าเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนมีการเสริมสร้างความตระหนักรู้อย่างดี มีองค์กร รัฐบาลต่างๆ ที่ลงนามเรื่องของข้อตกลง ความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ 2016 เป็นต้นมา รวมถึงมีการแนวข้อปฏิบัติตั้งแต่ 2016-2017 เป็นต้นมา ในเรื่องของสถาบันการเงินของยุโรปมีข้อบังคับว่าต้องมีรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Corporate Social Responsibility เป็นหลัก และซูเปอร์มาร์เกตก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วย

กลับมาที่ไทย มีบริษัทที่จดทะเบียนจำนวนไม่น้อยในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รายงานความยั่งยืนทุกปี มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้สนับสนุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขอแสดงความยินดีที่ได้ริเริ่มสิ่งเหล่านี้

ทั้งหมดนี้เราจะเน้นให้เกิดความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่างๆ ได้ด้วย 4 แนวปฏิบัติ ดังนี้ 1) เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีข้อมูลเที่ยงตรง และสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และสนับสนุนพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค 2) การลงทุนผลิตอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีช่วยเรื่องนี้อย่างมาก เพราะการลงทุนและการยึดมาตรฐานระดับสูงจะช่วยในเรื่องการใช้พลังงานและทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ครอบคลุมไปถึงการจัดซื้อ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดใช้พลังงาน

3) สวัสดิการของแรงงาน สิทธิของแรงงาน มีการเน้นให้คนงานทำงานอย่างมีความสุขก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นการสร้างความจงรักภักดีแก่บริษัทอีกทางหนึ่ง และ 4) วิธีการผลิตของผู้ผลิต ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นรูปธรรม

สิ่งที่คุยวันนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ทุกคน ยุโรป เอเชีย มีการเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่อุปทาน เรามีโอกาสที่จะทำงานร่วมกัน ซึ่งเรามีความยึดมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันสำหรับทุกคน เพราะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สภาพอากาศ และสิ่งมีชีวิต เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เผชิญอยู่

ดร.สีดา ธรรมาปุรี หัวหน้าสำนักระบบอาหารและการเกษตร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

เศรษฐกิจโตแต่คนขาดอาหารเพิ่ม

ดร.สีดา ธรรมาปุรี หัวหน้าสำนักระบบอาหารและการเกษตร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า วาระความยั่งยืน 2030 มีประเด็นหลัก 3 ด้านที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนคือ คน โลก และความเจริญรุ่งเรือง โดยในด้านคนนั้นมีเป้าหมายที่จะทำให้ขจัดความอดอยากและความหิวโหย และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่อย่างไม่แบ่งแยกมีความเท่าเทียม รวมทั้งมีสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนในด้านเกี่ยวกับโลกมีเป้าหมายปกป้องโลกที่กำลังมีสภาพถดถอยลงทุกวัน รวมทั้งคืนสิ่งที่มนุษย์เอาไปจากโลก และการผลิตการบริโภคที่ยั่งยืน ส่วนด้านสุดท้าย ความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

“ผมขอใช้เวทีนี้นำเสนอข้อมูลเพื่อนำไปสู่การถกเถียง การหาแนวทาง เพราะผมเข้าใจว่าทุกคนจากภาคเอกชนที่เข้าร่วมการเสวนาวันนี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีแนวคิดที่เป็นเลิศในการบริหารและจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจ โดยมองไปที่โลกเราทุกวันนี้และเราทุกคนจะร่วมมือกันได้อย่างไร เพราะเป้าหมายความยั่งยืนจะไม่สามารถบรรลุได้หากขาดความร่วมมือของภาคเอกชน และไม่มีรัฐบาลใดหรือองค์กรใดที่จะดำเนินการได้เพียงฝ่ายเดียว” ดร.สีดา ธรรมาปุรี กล่าว

ดร.สีดากล่าวต่อว่า เมื่อมองไปที่ภาพรวมโลกในด้านความอดอยากและความหิวโหยแล้ว พบว่ามีข้อมูลและสัญญานเตือนว่า กำลังอยู่ในภาวะอันตราย ปัญหาที่น่าวิตกอย่างมากคือ ในปี 2015 มีการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน SDG 17 ข้อ และแม้เศรษฐกิจขยายตัวโลกมีความรุ่งเรืองขึ้น แต่จำนวนประชากรที่อดอยากกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2017 เป็น 820 ล้านคน จากการที่ไม่มีอาหารเพียงพอ และตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

สถานการณ์ในเอเชียก็ไม่แตกต่างกัน โดยจำนวนประชากรที่อดอยากและหิวโหยในรอบ 3 ปีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งๆ ที่เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเติบโตในอัตราสูง ทั้งเอเชียใต้ เอเชียกลางที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรา 8-8.5% ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่อดอยากมีอาหารไม่เพียงพอ มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นมีอยู่ในระดับเหนือเส้นความอดอยาก ที่สะท้อนว่าประสบความสำเร็จในการขจัดความอดอยากและความหิวโหย ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับเฉลี่ย และมีอีกหลายประเทศยังต่ำกว่าเส้นความอดอยาก

“นี่คือสถานการณ์โดยรวม และเมื่อเราพูดถึงห่วงโซ่อุปทานอาหาร (food supply chain) ทั้งตลาด สินค้า แต่เรากลับเผชิญกับสถานการณ์นี้” ดร.สีดา ธรรมาปุรี กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อมองไปที่ข้อมูลจำนวนประชากรที่แคระแกร็น ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่มีประชากรที่แคระแกร็นจากการขาดอาหาร ทั้งในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ประชากรเป็นโรคขาดอาหารมีเกือบ 500 ล้านคน แม้ความเจริญทางเศรษฐกิจจะมีส่วนช่วยให้ลดอัตราความแคระแกร็นในคน ได้แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่อดอยาก คนในเมืองแคระแกร็นน้อยกว่าคนในชนบท

ในโลกนี้ยังมีบางประเทศที่ประชากรเด็กในวัยต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นโรคขาดอาหารในระดับสูงมาก คือสูงเกิน 15% ขึ้นไป คืออินเดียส่วนประเทศที่มีประชากรเป็นโรคขาดอาหารค่อนข้างสูงคือ 10-15% ได้แก่ ศรีลังกา ปาปัวนิวกินี ขณะเดียวกันก็มีประเทศที่ได้รับอาหารมากเกินไป จนทำให้มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วนและเป็นโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกภูมิภาค ทั่วโลก

ดร.สีดา ธรรมาปุรี กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้คือ โลกมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรา สูง 7-8% รายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่กลับมีปัญหาประชากรน้ำหนักเกิน มีประชากรที่แคระแกร็น มีประชากรเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น ปัญหาที่เราเผชิญไม่ใช่ด้านขาดอาหาร ความอดอยาก ความหิวโหย แต่ยังมีปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาหารคือมีอาหารเกินอีกด้วย

โลกยังเผชิญความท้าทายคือความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น ในเอเชียพื้นที่เมืองเต็มไปหมด รวมทั้งเมืองขนาดใหญ่ เช่น มุมไบ นิวเดลี ที่มีประชากรหนาแน่น 20 ล้านคน หรือกรุงธากาที่มีประชากร 17 ล้านคน กรุงเทพฯ ที่มีประชากร 10 ล้านคน และยังมีเมืองอื่นที่ขยายตัวความเป็นเมืองต่อเนื่อง เช่น จาการ์ตา โตเกียว ทำให้คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไปเพิ่มขึ้นมาก

ดร.สีดา ธรรมาปุรี หัวหน้าสำนักระบบอาหารและการเกษตร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค

เกษตรยั่งยืนบนมาตรฐานการผลิต

ดร.สีดา กล่าวว่า การที่พื้นที่เมืองขยายตัว หมายความว่าพื้นที่ทำการเกษตรลดน้อยลง มีน้ำน้อยลง เพราะแหล่งน้ำลดลง ประกอบกับโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะมีผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรในระยะต่อไป

“ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยั่งยืนอย่างที่สุด เพราะเราต้องมีอาหารให้กับประชากรนับหมื่นล้านคนในปี 2050 โดยที่ครึ่งหนึ่งของประชากรจำนวนนี้อยู่ในเอเชีย ประเด็นหลักคือต้องประยุกต์ใช้หลักการความยั่งยืน”

ดร.สีดา กล่าวว่า ต้องมีการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตร ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การปรับเปลี่ยนการเกษตรทั้งหมดเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่ต้องนำหลักการอื่นเข้ามาใช้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้แนวทางการอนุรักษ์น้ำ การอนุรักษ์ดิน รวมทั้งปกป้องความหลากหลายของสัตว์ สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะแมลงที่มีรายงานว่าลดลงในหลายสายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ในภาคเกษตรด้วย โดยเฉพาะประชากรในเอเชียที่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีความเปราะบางอยู่แล้ว ในแง่ชีวิต วิถีชีวิต รายได้ รวมทั้งความเท่าเทียม ซึ่งผู้หญิงก็อยู่ในกลุ่มนี้ที่ต้องให้ความมั่นคงด้วย ดังนั้น ความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงการลงทุนเพิ่มในภาคเกษตรเพียงเพื่อการดำรงอยู่ของ value chain เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมการลงทุนในคนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย เพื่อให้พวกเขาสามารถมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ในทางสาธารณะก็มีการพูดเรื่องการปฏิเสธสารเคมีต่างๆ จากการใช้ปุ๋ย การใช้ยาฆ่าแมลง หรืออย่างอื่นที่จะทำให้เกิดมลภาวะ ตอนนี้เราต้องแน่ใจว่าเรามีอาหารเพียงพอสำหรับทุกคนบนโลก เราพยายามที่จะลดความเสียเปล่าของอาหารที่เกิดขึ้นในตลาด หรือในบ้านเรือนของผู้คน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะนำแนวทางการตลาดเข้ามาใช้

ขณะเดียวกัน เรื่องเหล่านี้เราต้องทำงานกับเอกชน เรื่องความเจริญรุ่งเรืองไม่ใช่แค่เรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการค้าขายอย่างเดียว หากมีการลงทุนในแต่ละประเทศต้องมีความเจริญด้านเศรษฐกิจแน่นอน การค้าก็จะขยายตัวตามมา แต่เราต้องบูรณาการด้านต่างๆ เข้ามาเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สิ่งที่พบในหลายๆ ประเภทคือมีมาตรฐานต่างกันไป เราจะทำยังไงให้บริษัทเล็กใหญ่อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันตลอดห่วงโซ่เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เรามีคณะทำงานเพื่อความปลอดภัยทางอาหารและคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค และติดตามเรื่องมาตรฐานทางอาหาร เพื่อให้แน่ใจและส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ของ WTO ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องมือส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สิ่งที่คณะกรรมการนี้ทำคือ การประสานมาตรฐานด้านอาหารและอื่นๆ ของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน อาจจะเป็นมาตรฐานที่รัฐสมัครใจ เช่น Codex

สิ่งสำคัญของการมาตรฐานเดียวกัน คือเกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ถ้าเรารับมาตรฐานปรุงแต่งอาหาร แค่มาตรฐานเดียวเกี่ยวกับการปรุงแต่งมากมายในด้านสุขภาพ ที่สุดแล้วตลอดห่วงโซ่อาหารต้องมีความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตขั้นแรกจนถึงผู้บริโภค

ที่มาภาพ:Presentation ดร.สีดา ธรรมาปุรี

ดร.สีดา ยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่ในระบบปิดรั้ว เพื่อลดการให้ยาปฏิชีวนะ เพราะจะไม่มีการนำเชื้อโรคเข้ามาในเล้าไก่ อย่างนี้ลดต้นทุนได้ด้วย รายได้จะเพิ่มขึ้นด้วย การใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในไก่มีผลในคนคือจะทำให้เชื้อโรคในคนดื้อยาไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานด้านการป้องกัน เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานของความง่ายในการประกอบธุรกิจ แต่การทำให้เกษตรกรเข้าใจได้ ต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เป็นเรื่องง่าย ให้ฝึกอบรมตัวแทนเพื่อให้ถ่ายทอดถึงความปลอดภัยของอาหาร

เรามีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในบังกลาเทศ มาร่วมอบรมเรื่องความปลอดภัยในอาหาร และการใช้สารเคมี เกษตรกรรมพืชไร่ การเลี้ยงไก่ เรามีหลักสูตรที่เน้นเรื่องความปลอดภัยในการผลิตของเกษตรกร หลักสูตรที่สอนให้เขาหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลง โดยใช้มาตรฐานระดับภูมิภาค เช่น ASEAN GAP, SAARC GAP แต่นำมาปรับให้ง่ายเป็น 5 โมดูล ในด้านความสะอาดและความปลอดภัย รวมทั้งยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อติดตามผล

ที่มาภาพ: Presentation ดร.สีดา ธรรมาปุรี

“สิ่งที่ผมนำเสนอทั้งหมดเพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีผลต่ออาหารปลอดภัย ทุกห่วงโซ่อุปทานอาหารต้องตอบโจทย์พื้นฐานของชีวิตได้ แน่นอนว่าต้องมีผลกำไร แต่ขณะเดียวกันต้องให้ทุกคนได้รับประโยชน์ เพราะนั่นคือความยั่งยืนของโลก”