ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Future Food Supply Chains (4) ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน กับหนทางอีกยาวไกลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

Future Food Supply Chains (4) ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน กับหนทางอีกยาวไกลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

5 กุมภาพันธ์ 2019


 

กรณีศึกษาสถานการณ์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร โดย Corporate Human Rights Benchmark (CHRB) ปี 2018 ระบุว่า คะแนนโดยภาพรวมของ 100 บริษัทที่ดีที่สุดของโลกอยู่ที่ 25.5% จาก 100% สะท้อนว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน

บรรยากาศในประชุมย่อยที่ 2 ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ“นโยบายสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลบริษัท ในเวทีการประชุมใหญ่ ”Food Retails and Social Sustainability Forum: Future Food Supply Chains ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ SWITCH-Asia สหภาพยุโรป จัดงานเสวนา “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม”: Food Retails and Social Sustainability Forum: Future Food Supply Chains  ในการสัมมนาช่วงที่ 2   “การสร้างความยั่งยืนผ่านนโยบายและแนวปฏิบัติของภาคธุรกิจ : นโยบายสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลบริษัท” มีการหยิบยกประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ แนวโน้มและความเป็นได้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทย โดยมีผู้นำอภิปราย ประกอบด้วย นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายกฤษณะ สนธิมโนธรรม ผู้จัดการอาวุโสด้านความยั่งยืน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา และมี นางสาวฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารความยั่งยืน ดำเนินรายการ

สิทธิมนุษยชน ปัญหาที่ธุรกิจอาหารทั่วโลกยังสอบตก

นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาจัดดัชนีสถานการณ์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในระดับโลก: กรณีศึกษาสถานการณ์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร โดย Corporate Human Rights Benchmark (CHRB) ปี 2018 ระบุว่า คะแนนโดยภาพรวมของ 100 บริษัทที่ดีที่สุดของโลกอยู่ที่ 25.5% จาก 100% สะท้อนว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน

ในธุรกิจที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในธุรกิจ ได้แก่ โกโก้ น้ำมันปาล์ม กาแฟ น้ำตาล กุ้ง จากผลสำรวจในปี 2018 มีแรงงาน 1.3 พันล้านคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้พร้อมกันนี้ยังพบว่าแรงงานบังคับอย่างผิดกฎหมายสามารถสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกจำนวน 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ 5% ของแรงงานในฟาร์มสหรัฐอเมริกายังมีการค้ามนุษย์

สำหรับประเทศไทย กสม.ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจในรูปแบบ pilot project โดยเบื้องต้นได้นำไปใช้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม นำร่องไปแล้วในโรงแรม จ.ภูเก็ต 5 แห่ง มีคู่มือประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนให้ทางโรงแรมปฏิบัติอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ดี ไม่ค่อยกังวลกับธุรกิจใหญ่มากนัก แต่เป็นห่วงในส่วน supply chain หรือสตาร์ทอัปที่กำลังสร้างธุรกิจ

นอกจากนี้ กสม.มีบทบาทผลักดันให้รัฐบาลไทยเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน โดยเชิญกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ มาลงนามร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจว่าประเทศไทยจะขับเคลื่อน “หลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” แบบสมัครใจตามหลักการ UNGP ที่สหประชาชาติรับรอง ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่

1. การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยรัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจากองค์กรของรัฐเอง หรือองค์กรภาคธุรกิจ

2. การเคารพสิทธิมนุษยชน โดยบุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน

3. การเยียวยา หมายถึงการแก้ไข ฟื้นฟู ชดเชยเมื่อเกิดผลกระทบหรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เนื่องมาจากการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าได้มีการป้องกันแล้วหรือไม่ก็ตาม ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องมีกลไกในการเยียวยาที่มีประสิทธิผล

“หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมา ทั้งรัฐบาลและธุรกิจต้องมีการเยียวยาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยไม่จำเป็นต้องเยียวยาด้วยระบบยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้ด้วยการเจรจาประนีประนอมบนหลักสิทธิมนุษยชน”

นางประกายรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมี 3 แนวทางสำคัญ คือ 1. ให้ผู้บริหารสูงสุดประกาศนโยบายการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนกับคนในองค์กร สาธารณะ และองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารในธุรกิจอย่างจริงจัง2. ให้ดำเนินการตรวจสอบประเมินความเสี่ยงรอบด้านและติดตามผล ยกตัวอย่างบริษัทเนสท์เล่หรือโคคา-โคลา ซึ่งประเมินเรื่องดังกล่าวแล้วองค์กรได้ประโยชน์ ทำให้แก้ปัญหาการขาดทุนได้ด้วย และ 3. กล้ารายงานผลให้สาธารณะชนได้รับรู้

“หลักการ UNGP เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องความสมัครใจ ยูเอ็นไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ภาคธุรกิจทำอะไรมากไปกว่าที่เคยทำมากไปกว่าที่มีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ คนที่รับเรื่องร้องเรียนต้องเข้าใจมิติของสิทธิมนุษยชน เพราะถ้าพูดเรื่อง human right beyond law ทุกคนจะเข้าใจ คือบางทีสิทธิมนุษยชนมากไปกว่ากฎหมาย ทั้งการเปิดเผยข้อมูล การทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตรของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ”

“ที่สำคัญคือ นอกจากคนรับเรื่องร้องเรียนที่เข้าใจเรื่องมิติสิทธิมนุษยชนแล้ว ต้องมีศูนย์หรือกระบวนการหรือกลไกในการเยียวยาผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ และต้องเยียวยาบนความสมัครใจ เยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน ซึ่งอยากฝากถึงภาคธุรกิจด้วย เพราะถ้ามีกลไกนี้ เชื่อว่าบริษัทท่านยั่งยืนแน่นอน เพราะเป็นการแก้ปัญหาด้วยใจที่เข้าใจ” นางประกายรัตน์กล่าว

แม็คโครกับแนวปฏิบัติการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

นายกฤษณะ สนธิมโนธรรม ผู้จัดการอาวุโสด้านความยั่งยืน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันแม็คโครให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าที่ขายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอาหารซึ่งส่วนหนึ่งคือการนำของมาขาย ดังนั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความเสี่ยงอื่นๆ อาจจะมาพร้อมกับสินค้าและบริการ ในฐานะหน่วยงานด้านความยั่งยืนต้องรายงานความเสี่ยงเหล่านี้ให้ผู้บริหารทราบด้วย นอกเหนือจากการรายงานความเสี่ยงด้านธุรกิจ

นายกฤษณะ สนธิมโนธรรม ผู้จัดการอาวุโสด้านความยั่งยืน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ซัพพลายเออร์ของเราถูกสั่งปิดโรงงาน ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ แม็คโครจึงต้องทำความเข้าใจกับทีมผู้บริหารว่าไม่ได้ทำหน้าที่แทนเอ็นจีโอหรือรัฐ แต่กำลังบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กร

“อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่อยากให้เกิดในองค์กรคือผู้บริหารคุยกันว่า มีประเด็นความเสี่ยงอยู่จะ take action มั้ย ประเด็นการคุยเหล่านี้ต้องเกิดก่อน ให้เกิดความตระหนักว่ามีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ และเมื่อจะขยายธุรกิจออกนอกประเทศ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียบางครั้งรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เอ็นจีโอต่างชาติดุกว่าในไทย ความคาดหวังเขามีเยอะ เราก็ต้องระมัดระวัง อย่าดูแค่ประเด็นทางธุรกิจอย่างเดียว ถ้าเขาขอมา 10 ข้อ ผมทำไหว 3 ข้อก่อนได้มั้ย อย่างน้อยเราต้องสื่อสารกันทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เอ็นจีโอ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น รักษาสมดุลทุกอย่างให้ไปได้ จะละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้”

อย่างไรก็ดี แม็คโครอยู่ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ดังนั้น การพูดคุยเรื่องนี้อาจไม่ยาก เนื่องจากผู้บริหารมีกรอบความคิดเรื่องความยั่งยืนชัดเจนอยู่แล้ว โดยหนึ่งในเป้าหมายของเครือปี 2020 คือการประเมินสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านครบทุกบริษัท 100% ดึงทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้ทราบว่าอาจมีความเสี่ยงและจะจัดการอย่างไร

“หน่วยงานด้านความยั่งยืน ต่อให้พยายามทำเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ตาย ก็ไม่สามารถขุดความเสี่ยงของแต่ละฟังก์ชันออกมาได้ทั้งหมด แต่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมภายในองค์กรก่อน ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ทิศทางว่าการที่เราตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านไม่ได้ทำเพื่อเอาผิดเอาเป็นเอาตาย แต่ทำเพื่อให้ทราบว่ามีความเสี่ยง และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อกำจัดความเสี่ยงนั้น

“ยกเว้นถ้าทำไม่ไหว อาจจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ หนึ่งในเกณฑ์จัดลำดับความสำคัญที่แม็คโครคือความสามารถในการเยียวยา เอาประเด็นมาคุยกัน ใส่มาตรการ ใส่เงิน ใส่ทรัพยากรลงไปเพื่อให้มันไม่เสี่ยงอย่างที่เคยเป็น ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน เพราะมันไม่สามารถแก้ไขได้ในวงประชุมเล็กๆ ต้องสื่อสารสู่สาธารณะ สื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสีย บอกว่าข้อไหนทำได้สำเร็จ ข้อไหนทำอยู่ ข้อไหนทำไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดคือการสื่อสาร เป็นเรื่องท้าทายของบริษัทในการเปิดเผยว่าเราทำเรื่องไหนได้ไม่ดี”

อย่างไรก็ตาม นายกฤษณะมองว่าแม้จะตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนรอบด้าน ก็ไม่สามารถพบความเสี่ยงได้ครบทั้งหมด เพราะทุกปัญหามีจุดอ่อนอยู่ในตัวเอง ดังนั้นต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่ทราบคอยแจ้งข่าวเตือนปัญหาให้ด้วย เช่น การเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากภายนอก หรือสื่อสารกับสังคมภายนอกในการคัดกรองประเด็นปัญหา

“จริงๆ ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนมันต้องมีแผนกที่รับเรื่องร้องเรียน การรับเรื่องร้องเรียนของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกันเลย มันจะมีเรื่องที่ถูกร้องเรียนขึ้นมาบ่อยๆ แต่สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชน มันยังเป็นเรื่องใหม่ขององค์กรที่ยังต้องคัดกรองกันอยู่ ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป” นายกฤษณะกล่าว

แรงงานต่างชาติในไทยยังถูกละเมิด

นางชลธิชา ตั้งวรมงคล ตัวแทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา กล่าวถึงบทบาทของภาคประชาสังคมในการทำงานเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนว่า มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เเรงงานต่างชาติ ทั้งการถูกละเมิดเรื่องค่าจ้าง การถูกให้ออกจากงาน เรื่องเอกสาร และเรื่องอื่นๆ

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ทำงานขององค์กรที่ผ่านมา พบว่าหากปราศจากการช่วยเหลือ การร้องเรียนแทบจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อแรงงานไม่กล้าร้องเรียน การถูกละเมิดย่อมเกิดขึ้น หลังจากนั้นเรื่องก็จะเงียบหายไป นอกจากนี้ เมื่อหันมามองตามกรอบของ UNGP พบว่ามีแรงงานต่างชาติจำนวนมากไม่ได้ถูกป้องปกตามกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้จ้างไม่ปฏิบัติตามเช่นกัน แม้จะมีบางกรณีที่เอ็นจีโอเข้าไปช่วยทำคดี แต่ก็ทำได้เป็นรายกรณีไป ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด

เช่น ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่ที่มีแรงงานจำนวนมากทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร แต่พบว่าแทบจะไม่มีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามที่กฎหมายไทยกำหนด โดยค่าจ้างรายวันที่เขาได้รับจริงๆ คือ 100 กว่าบาทถึงประมาณ 200 กว่าบาท หากหยุดงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง และไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

“หรือล่าสุดที่เราไปช่วยคือกลุ่มคนงาน 100 กว่าคน ระหว่างที่ขึ้นศาลกับนายจ้าง พวกผู้นำคนงานจะหางานใหม่ยาก เพราะนายจ้างมักจะเอารูปหน้าลูกจ้างที่ร้องเรียนไปเผยแพร่ เพื่อบอกนายจ้างอื่นๆ ว่าผู้นำแรงงานคนนี้คือคนปลุกปั่น อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงาน 100 คนนี้ชนะคดี ใช้เวลา 2 ปีในการสู้คดี แต่ในระยะเวลา 2 ปีนี้คนงานบางคนหางานไม่ได้ แต่ต้องจัดการตัวเองให้ถูกกฎหมาย หรืออยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อไม่ให้ถูกจับ”

“กรณีดังกล่าวนี้ศาลตัดสินให้นายจ้างชดเชยค่าเสียหายจำนวน 25 ล้านบาท แต่นายจ้างไม่ยอม ขอไกล่เกลี่ยจนเหลือ 8 ล้านบาท ในที่สุดสำหรับคนงาน 100 กว่าคน เขาก็ต้องยอม เพราะเขาเหนื่อยแล้วสำหรับการสู้คดี เขาอยู่โดยการอาศัยญาติพี่น้องและกู้เงินมาเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการร้องเรียนตามช่องทางปกติมันเหนื่อยและเปลืองทรัพยากรคนมาก ทั้งเรื่องเงินและการอยู่อาศัย” นางชลธิชากล่าว

“เราจึงมองว่าเรื่องเหล่านี้มันยาก แม้จะทำให้กรณีหนึ่งประสบความสำเร็จชนะคดี แต่ไม่รู้ว่าถ้าต้องทำซ้ำหลายกรณีจะทำได้หรือเปล่า จะไหวหรือเปล่า จึงมองว่าในอนาคตเราจะทำงานในเรื่องเหล่านี้ร่วมกันกับภาคเอกชนได้หรือไม่” นางชลธิชาระบุ

นางชลธิชายกตัวอย่างการทำงานร่วมกับภาคเอกชนว่า ขณะนี้มีบริษัทที่ทำเรื่องการเกษตรระดับโลกบริษัทหนึ่ง ได้ว่าจ้างให้ทางมูลนิธิฯ เข้าไปตรวจสอบแรงงานที่อยู่ในซัพพลายเออร์ของเขาว่าได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ทั้งเรื่องการจ้างงาน การบังคับใช้แรงงาน การใช้แรงงานเด็ก ค่าจ้างค่าแรง

จากผลการตรวจสอบพบว่านายจ้างรายนี้ทำผิดกฎหมายหลายข้อ แถมยังไม่รู้สิทธิของตนเองอีกด้วย เช่น ฉีดยาโดยไม่ใส่หน้ากาก และไม่ได้ให้คนงานใส่หน้ากากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นประเด็นที่มูลนิธิฯ ยังติดตามและต้องใช้เวลาในการเยียวยา เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูง รวมทั้งมีการแข่งขันในพื้นที่ แต่กำลังเรียนรู้และพยายามช่วยแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป