ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเทศไทยกับการขับเคลื่อนอาเซียนสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ประเทศไทยกับการขับเคลื่อนอาเซียนสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

17 กุมภาพันธ์ 2019


กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

​เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในงาน “รวมใจประสาน…สู่ประธานอาเซียน (Thailand Together for the ASEAN Chairmanship 2019)” ที่มาภาพ : http://www.mfa.go.th/main/th/news3

​เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในงาน “รวมใจประสาน…สู่ประธานอาเซียน (Thailand Together for the ASEAN Chairmanship 2019)” ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออธิบายถึงแนวคิดหลักในการเป็นประธานอาเซียนของไทย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงปลายปี 2562 โดยไทยจะสานต่อและขับเคลื่อนความร่วมมือในหลากหลายสาขาภายใต้ทั้งสามเสาของประชาคมอาเซียน ได้แก่ เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ เสาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยจะขับเคลื่อน คือ ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อให้อาเซียนก้าวทันโลก และก้าวไกลสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

​การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า “Fourth Industrial Revolution” หรือ “4IR” เป็นการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรอบด้านต่อวิธีการดำเนินชีวิต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และวิธีการทำงาน โดยในยุคปัจจุบัน ประชาชนหันมาใช้เวทีโซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมโยงกัน รับรู้เรื่องราวใหม่ๆ และแบ่งปันข้อมูล ซึ่งถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมและการรวมตัวให้เป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้น

นอกจากนี้ 4IR ยังช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาการด้านอินเทอร์เน็ต วัสดุศาสตร์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบัน สังคมภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์หลายประการจากปัญญาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นการแปลภาษา และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการตัดสินใจลงทุน

พัฒนาการด้านเทคโนโลยีได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอัตราการผลิตในระยะยาว รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในระบบการขนส่งและการสื่อสาร ซึ่งส่งผลให้การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ เปิดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเติบโต

​อย่างไรก็ดี เมื่อพลิกเหรียญอีกด้านหนึ่ง ก็จะพบว่า 4IR ยังมาพร้อมกับประเด็นท้าทายต่อทั้งสามเสาของประชาคมอาเซียน เช่น สำหรับเสาการเมืองและความมั่นคง 4IR ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ (cybersecurity) เพิ่มความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว(privacy) ของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต โดยบุคคลอื่นอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราและนำไปใช้ในทางมิชอบได้โดยวิธีการที่สะดวกขึ้นหรือแยบยลมากขึ้น ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ 4IR ทำให้ขีดความสามารถด้านการแข่งขันระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น เพราะ SMEs เสียเปรียบด้านเงินลงทุนเพื่อการทำงานวิจัยและการพัฒนา (R&D) อุตสาหกรรมของตนเอง รวมทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

นอกจากนี้ 4IR ยังส่งผลกระทบต่อเสาสังคมและวัฒนธรรม เพราะเริ่มเกิดความกังวลกันว่าประชาชนจะตกงานเพราะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ทั้งยังมีข้อกังวลอีกว่า 4IR จะทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเกิดจากการที่ประชากรมีความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลแตกต่างกัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติและต่อประชาชนอย่างถ้วนหน้า เป็นผลให้มีการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อจัดการรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างบูรณาการ

​อาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะก้าวสู่ยุค 4IR และอาจจะติดอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรกในโลกในบรรดาประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะอาเซียนมี GDP รวมถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 มาตั้งแต่ปี 2553 ตลาดดิจิทัลของอาเซียนขยายตัวถึง 3 เท่า ในรอบ 3 ปี ปัจจุบัน ร้อยละ 7 ของ GDP อาเซียนมาจากเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศที่ก้าวหน้าด้านนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวและประชากรส่วนมากเติบโตในยุคดิจิทัล มีคนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ SMEs ส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ก็ปรับใช้เครื่องมือดิจิทัล (digital tools) ในการดำเนินธุรกิจด้วยแล้ว

เมื่อคำนึงถึงความสำคัญ โอกาสใหม่ๆ และประเด็นท้าทายจาก 4IR แล้ว สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงได้จัดทำรายงานเพื่อประเมินความพร้อมของอาเซียนในการก้าวสู่ยุค 4IR และพบว่า แต่ละประเทศมีความพร้อมแตกต่างกัน จึงได้เสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนประสานงานระหว่างกัน เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กันในทุกสาขา รวมทั้งรักษาพลวัตของการพัฒนาต่อไป

​ในส่วนของไทย ได้เตรียมการรับมือกับ 4IR ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยมีนโยบายปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอย่างทั่วถึง และไทยยังต้องการผลักดันให้อาเซียนมีวิสัยทัศน์ร่วมในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความเชื่อมโยง โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานประสานงานในฐานะที่รับผิดชอบเสาเศรษฐกิจ ในบรรดา 12 ผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน มี 5 ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับ 4IR ได้แก่

    1) แผนปฏิบัติการในการบูรณาการอาเซียน ซึ่งรวมถึงการบูรณาการในมิติดิจิทัล
    2) แผนงานอาเซียนด้านนวัตกรรม
    3) แนวปฏิบัติด้านแรงงานที่มีทักษะสูง
    4) กฎระเบียบอาเซียนเรื่อง 4IR
    5) การปฏิวัติธุรกิจอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล หรือการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเพื่อเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยจะสานต่อสาขาความร่วมมืออาเซียนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของสิงคโปร์ด้านการพัฒนาและการเชื่อมโยงเมืองอัจฉริยะด้วย
เมื่อเดือนมกราคม 2562 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน “Digital Government Summit 2019” ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DGAThailand/photos/

​กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดูแลภาพรวมของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องนโยบายประเทศไทย 4.0 และการรับมือกับ 4IR อย่างบูรณาการในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะแบ่งปันประสบการณ์และร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้พัฒนาไปสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0 หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพร้อมๆ กันมาโดยตลอด

เมื่อเดือนมกราคม 2562 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน “Digital Government Summit 2019” นำเสนอผลงานเกี่ยวกับบริการดิจิทัลจากภาครัฐ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าของไทยในการพัฒนาบริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แนวคิด “3D” คือ D1 – Digital, D2 – Data และ D3 – Design เพื่อแสดงถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีในหลากหลายสาขา และการเตรียมการยกระดับสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีหลายหน่วยงานที่ให้บริการในรูปแบบดิจิทัลแล้ว เช่น กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และกรมสรรพากร ซึ่งไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาบริการภาครัฐกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อชูบทบาทนำของไทยในการพัฒนาโครงสร้างดิจิทัล รวมทั้งการขับเคลื่อนความร่วมมืออาเซียนเพื่อรองรับ 4IR อย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป

Digital Government Summit 2019 HighLight

Digital Government Summit 2019 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA หนุนราชการภายใต้แนวคิด 3D: Digital Data และ Design เปิดโหมดสู่รัฐบาลดิจิทัลเต็มพิกัด นำทัพผนึกพันธมิตรโชว์นิทรรศการ “DG Village” พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน CITIZENinfo ผู้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนติดต่อราชการได้ง่ายขึ้น สานพลัง 19 กระทรวง และสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครลงนาม MOU ร่วมมือพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ไปชม HighLight กันครับอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dga.or.th/th/content/913/13234/#ยกเลิกสำเนา #บัตรประชาชน #คุณหลวง #DGSummit2019 #CITIZENinfo➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖รู้จัก #สพร. หรือ #DGA ให้มากขึ้นที่ https://www.dga.or.th/th/index.php

Posted by DGA Thailand on Thursday, February 14, 2019