ThaiPublica > คอลัมน์ > หัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองไทย…หัวเลี้ยวหัวต่อประเทศไทย

หัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองไทย…หัวเลี้ยวหัวต่อประเทศไทย

6 กุมภาพันธ์ 2019


บรรยง พงษ์พานิช

สัปดาห์นี้ นอกจากจะเป็นช่วงฉลองเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเมืองไทยและของประเทศไทยอีกด้วย …และทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวที่จะส่งผลต่ออนาคตของประเทศไปอีกยาวนาน นั่นก็คือการตัดสินใจจะรับหรือไม่รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญพันลึกฉบับใหม่นี้ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำไมผมถึงคิดว่าเป็นอย่างนั้น …จะขอไล่เรียงให้ฟังนะครับ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเจตนาชัดเจนที่จะให้ประเทศถูกปกครองในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ คือถึงแม้จะให้สิทธิ์ให้เสียงประชาชนได้เข้ามาร่วมผ่านการเลือกตั้งผู้แทน แต่กลไกต่างๆ ทั้งในสภา ในองค์กรอิสระ ในรูปแบบกฎหมาย (เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ) ก็ยังถูกควบคุมอยู่โดยกลุ่มคนที่ปกครองอยู่ปัจจุบันผ่านการยึดอำนาจเมื่อห้าปีที่แล้ว นัยเหมือนจะพยายามให้กลับไปเหมือนช่วง พ.ศ. 2521-2531 ที่ประเทศมีความสงบต่อเนื่องกับพัฒนาก้าวหน้าได้ดี

…แต่เนื่องจากช่วงเวลาที่ต่าง ภาวะที่ต่าง สถานการณ์ที่ต่าง ผมขอฟันธงว่า จะไม่มีทางกลับไปเหมือนเก่าได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น สมัยนั้นผู้มีอำนาจไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองลงมาเกลือกกลั้วฟาดฟันในสนามเลือกตั้ง ใช้แต่เสียงในวุฒิสภาหนุนต่อรอง ในสมัยนั้นระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในชั้นเริ่มพัฒนาและยังไม่เปิดมากเหมือนปัจจุบัน ในสมัยนั้นระบบราชการยังค่อนข้างแข็งแรงมีกลุ่มเทคโนแครตที่มีความสามารถได้รับการยอมรับสูง ในสมัยนั้นการเมืองเพิ่งเริ่มพัฒนาเนื่องจากเราอยู่ในระบอบเผด็จการมายาวนานร่วมยี่สิบปี …ดังนั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ระบอบครึ่งใบได้ราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหมือนช่วงสิบปีของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ – พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ผมเรียกว่าพันลึกนั้น ออกแบบการเข้าสู่อำนาจและการเลือกตั้งไว้อย่างพิสดาร นอกจากให้วุฒิสภาแต่งตั้ง 250 เสียงมีอำนาจเลือกนายกฯ (แต่ไม่มีอำนาจช่วยบริหาร เช่น การผ่านกฎหมายสำคัญ) ในการเลือกตั้งยังให้ประชาชนลงคะแนนครั้งเดียวแต่เลือกสามอย่าง คือ เลือก ส.ส.เขตรายบุคคล เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วยังเสมือนเลือกนายกฯ ด้วย เพราะให้พรรคเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ (อันหลังนี้คงตั้งใจเปิดทางให้คนนอกแต่กลัวจะเกิดประท้วงนองเลือดเหมือนพฤษภาทมิฬ 2535)

…แต่โดยที่คิดไม่ครบเหมือนเรื่องอื่นๆ มันจะกลายเป็นเงื่อนไขให้คนที่ไม่ได้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกโดยพรรคที่ได้รับเลือกตั้งในสภาล่างมากที่สุดเป็นนายกฯ ได้อย่างไม่สง่างาม เช่น สมมติว่าพรรค พปชร. (พลังประชารัฐ) ได้อันดับ 3 ต่อให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกได้ ก็ต้องถูกวิจารณ์ว่าเป็นนายกฯ ที่ประชาชนไม่ต้องการ เพราะมีคนที่ประชาชนเลือกอยู่ก่อนหน้าถึงหกคน แล้วสมมติว่าได้สักร้อย ส.ส. ก็เท่ากับว่าประชาชนเลือกแค่ 20% เอง เป็นนายกฯ ที่มี approval rate ต่ำที่สุดในโลกในวันเข้ารับตำแหน่ง

ทีนี้ลองมาวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลตามแนวที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งธรรมศาสตร์ได้เคยวิเคราะห์ไว้

ในกรณีที่ 1 …จะไม่มีปัญหาเลย ถ้าพรรค พปชร.ได้รับแลือกตั้งมาที่หนึ่ง และพรรคฟากเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ได้คะแนนรวมไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อย่างนั้นก็จัดตั้งรัฐบาลได้ฉลุย คุมได้ทั้งสภาบนสภาล่าง …แต่ทุกคนที่อยู่ในวงการบอกเสียงเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ยกเว้นว่าจะต้องใช้ทุกอย่างให้ชนะเหมือนสมัย พ.ศ. 2500 ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ต่อให้สั่ง กกต.ซ้ายหันขวาหันได้เหมือนที่จอมพล ป. สั่งกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้น

ในกรณีที่ 2 …ถ้ากลุ่มพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากที่สุดตามที่หลายฝ่ายคาด และรวมกันถึงครึ่งสภาล่าง ก็ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลเพราะประชาชนเลือกเกินครึ่ง แต่ก็จะบริหารประเทศแทบไม่ได้เพราะมีวุฒิสภา องค์กรอิสสระ และยุทธศาสตร์ชาติค้ำคอ …แต่ถ้าเกิดกรณีนี้แล้ว พปชร.ยังฝืนตั้งรัฐบาลโดยใช้เสียง ส.ว.หนุน คงยากที่จะหาพรรคร่วมได้ เพราะอยู่ได้ไม่นานแน่นอน ต้องยุบสภาอย่างรวดเร็ว หรือเกิดรัฐประหารใหม่ …สรุปว่าถ้าเกิดกรณีนี้ ประเทศแย่แน่นอน ติดล็อกครั้งใหญ่ใหม่ ไม่มีทางมีเสถียรภาพได้

ในกรณีที่ 3 …กลุ่มเพื่อไทยชนะแต่ได้ไม่ถึงครึ่ง พปชร.จะเป็นรัฐบาลได้ราบรื่นก็คงต้องให้ได้ที่สอง และรวม ปชป.และพรรคที่เหลือทั้งหมดได้ จึงจะมีเสียงข้างมากในสภาล่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอควร เพราะ ปชป.มีเหตุผลที่จะรวมกับเพื่อไทยมากกว่าเสียอีก ซึ่งถึงจะเอามารวมได้คงจะต้องเอาคุณอภิสิทธิ์ออก และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คงจะถึงคราวตกต่ำยาวนาน และก็ยากที่จะทำงานร่วมกันได้ยาวนาน เสถียรภาพจะไม่ชัดเจน

ในกรณีที่ 4 …ปชป.ได้อันดับหนึ่งหรือสอง แต่ได้ไม่ถึงครึ่ง (ซึ่งไม่มีทางถึงอยู่แล้ว) ก็มีความเป็นไปได้ที่จะรวมกับ พปชร.และพรรคอื่นตั้งรัฐบาล แต่อย่างนี้ก็ต้องให้ ปชป.เป็นนายกฯ (ถ้า ปชป.เข้าร่วมแล้วให้ พปชร.เป็นนายกฯ ปชป.จบแน่นอน) แต่ พล.อ. ประยุทธก็คงจะเสียหน้าอย่างแรง …กรณีนี้ดูเหมือนว่าเป็นโอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด เพราะมีโอกาสคุยกับวุฒิสภา องค์กรอิสระ และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติรู้เรื่อง แต่ข้อเสียคือโอกาสที่จะได้ปฏิรูปใหม่ (ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นมาก) มีน้อย เป็นแค่รัฐบาลแบ่งปันจัดสรรประโยชน์กลุ่มเดิมๆ กันไป

ในกรณีที่ 5 …ไม่มีใครได้เสียงเกินครึ่ง และสามกลุ่มแยกกันไม่มีใครรวมกับใคร พปชร.จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาล่าง แล้วบริหารประเทศไปอย่างติดๆ ขัดๆ และคงอยู่ได้ไม่นาน ซึ่งถ้าต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดวังวนแบบเดิมซ้ำๆ ประเทศหยุดชะงัก แล้วก็หนีไม่พ้นต้องรัฐประหารเริ่มต้นกันใหม่ไม่รู้จบ

จะเห็นได้นะครับว่า นอกจากเกิดกรณีที่ 1 แล้ว ไม่มีกรณีไหนเลยที่ดีกับ พล.อ. ประยุทธ์ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านวิเคราะห์ว่า พปชร.ชนะแน่ ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ได้ ส.ส.มาอันดับหนึ่งแน่นอน และท่านยังต้องการบริหารประเทศต่อไป ท่านก็ควรจะตอบรับการเสนอชื่อ แต่ถ้าท่านไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรจะตอบรับ เพราะแทบจะไม่มี scenario ไหนเป็นคุณต่อท่านเลย และไม่ว่ากรณีใด(รวมทั้งกรณีที่ 1 ด้วย) การที่เป็นนายกฯ ที่ต้องทำงานกับนักการเมืองนั้น จะไม่เหมือนกับการเป็นนายกฯ ที่ถือรัฏฐาธิปัตย์เต็มที่ที่มี ม.44 เป็นไม้ตาย …ซึ่งท่านจะพบว่าเป็นเรื่องน่าอึดอัดขัดข้องไปทั้งหมดตลอดทาง ไม่ตรงกับทักษะความคุ้นเคยใดๆ ที่ท่านมีเลย แทบไม่มีโอกาสใดๆ เลยที่จะบริหารได้ราบรื่นสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ จนได้จารึกชื่อด้านดีไว้ในประวัติศาสตร์ มันจะเป็นเรื่องตรงข้ามเสียมากกว่า

นั่นเป็นผลต่อ พล.อ. ประยุทธ์ …แต่ผลต่อประเทศชาติแล้ว แทบไม่มีกรณีใดเลยที่จะเป็นคุณได้ โดยเฉพาะในระยะสั้น เพราะประเทศดูเหมือนจะเข้าสู่เงื่อนไขทางตันติดล็อกไปเสียทุกกรณี อันเนื่องมาจากการออกแบบเงื่อนไขตามที่ผมวิจารณ์ทัดทานตลอดมา ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งองค์กรอิสระ ทั้งกลไกยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นกฎหมายอันเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว

เพราะฉะนั้น ในความเห็นผม สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชาติก็คือกระบวนการที่จะแก้ไขปลดคลายล็อกต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็แค่สองกรณี คือ ปฏิวัติรัฐประหารล้างไพ่กันใหม่หมด ซึ่งก็ต้องทำโดยคนใหม่กลุ่มใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือถ้าเกิดก็หายนะหนักแน่ หรือไม่ก็ให้เกิดการตระหนักรู้ทั่วไปจนมีกระบวนการคล้ายๆ กับการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้น ซึ่งคงต้องริเริ่มที่รัฐบาลและสภาทั้งสอง

ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ไม่รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ และพร้อมที่จะวางมือทางการเมือง ช่วงสุดท้ายนี้ก็ยังสามารถสร้างคุณูปการได้หลายอย่าง เช่น การตั้งสมาชิกวุฒิสภาก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเลือกคนเพื่อคำ้จุนอำนาจ จะได้เลือกคนดีมีความสามารถได้อย่างเต็มที่ (แต่เชื่อผมเถอะครับ การเลือกคนเพื่อคำ้จุนอำนาจนั้น ไม่มีทางถาวรได้ คนพวกนั้นถึงเวลาก็ไม่ภักดีใครจริง เหมือนที่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ต้องลาออกเพราะกบฏเงียบในวุฒิสภาที่ตนเองแต่งตั้งมาแล้ว) การตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติส่วนที่เหลือก็เช่นเดียวกัน

ห้าปีที่ผ่านมา ถึงจะไม่ประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปใดๆ ให้เป็นรูปธรรมนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ท่านช่วยทำให้มีความสงบ มีเสถียรภาพได้ตามควร เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ (ถึงแม้ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อพ้นกับดัก) แต่มันถึงเวลาแล้วที่ท่านจะวางมือ และได้รับความชื่นชมไปตามควร การดันทุรังเดินหน้าไม่ปล่อยวางย่อมสุ่มเสี่ยงมากที่ประวัติศาสตร์จะจารึกไปในทางตรงข้าม

ขอยืนยันว่า ที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี่ด้วยความเป็นมิตร ผมมีความเชื่อในความตั้งใจดี ความทุ่มเท ความซื่อสัตย์ของ พล.อ. ประยุทธ์ หลายเรื่องที่ผมเห็นด้วยก็สนับสนุนถึงแม้เข้าไปร่วมงานก็เคย แต่หลายเรื่องที่ผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ หรือจะเกิดผลร้ายทั้งๆ ที่หวังดี ผมก็ทักท้วงติติงตามอย่างกัลยาณมิตรทั่วไป ขอยืนยันว่าไม่เคยหวังหรือได้ประโยชน์ส่วนตัวใดๆ จากการสนับสนุนหรือท้วงติงเลย ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความรักชาติรักสังคม กับหวังดีต่อท่านเป็นส่วนตัว

ขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ได้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบนะครับ การตัดสินใจครั้งนี้มีความหมายมากต่ออนาคตไทยและอนาคตท่าน

#พอเถิดครับ #วางมือเถิดครับ #เพื่อชาติเพื่อท่าน

ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562