ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” มองหลักนิติธรรมกับการลดเหลื่อมล้ำ – สร้างความปรองดอง แนะสังคมต้องมี fighting spirit

“สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” มองหลักนิติธรรมกับการลดเหลื่อมล้ำ – สร้างความปรองดอง แนะสังคมต้องมี fighting spirit

12 มกราคม 2019


ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่มาภาพ: สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายพิเศษในงานอบรมหลักสูตรนานาชาติด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย  “TIJ-IGLP Workshop for Scholars and Emerging Leaders on the Rule of  Law and Policy” ประจำปี 2562 จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ดร.สุรเกียรติ์ให้สัมภาษณ์ประเด็นเรื่องหลักนิติธรรม รวมทั้งตอบคำถามและให้มุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความปรองดอง รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งในสังคมไทยที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้  ไทยพับลิก้าถอดความและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนบางตอนมานำเสนอคุณผู้อ่านดังนี้

สร้างหลักนิติธรรม ต้องมี “ไฟท์ติ้งสปิริต” ร่วมกัน

สื่อมวลชน: ปีที่แล้วดัชนีหลักนิติธรรมประเทศไทยตกอันดับลง มองว่าควรมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง?

ดร.สุรเกียรติ์: การสร้างหลักนิติธรรมและการดูแลให้เกิดความโปร่งใสเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แน่นอนว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้นำ และต้องให้แน่ใจว่าองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความโปร่งใสทั้งด้านกฎหมาย รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ก็จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดพอสมควร แต่แค่นั้นไม่พอ ผมคิดว่าภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ต้องทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่ต้องมี “ไฟท์ติ้งสปิริต” (fighting spirit) ร่วมกัน ถึงจะเดินไปได้

สื่อมวลชน: คิดว่าหลักนิติธรรมจะสามารถแก้ไขปัญหาในสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง?

ดร.สุรเกียรติ์: ตอบสั้นๆ ก็คือว่า ผมว่าหลักนิติธรรมเป็นหลักสำคัญเลยครับ เป็นหลักที่จะสร้างให้เกิดความปรองดอง เพราะว่าถ้าเราบริหารประเทศด้วยหลักนิติธรรมคือ rule of law ไม่ใช่ rule by law  ไม่ใช่ใช้กฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น ทุกคนก็จะรู้สึกว่าตนเองได้รับความเป็นธรรมจากหลักนิติธรรม เป็นธรรมะของกฎหมาย มันก็จะนำไปสู่ความปรองดอง

อันที่สองก็คือ หลักนิติธรรมมันจะทำให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำด้วย ถ้าคุณไปถอดรหัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำ การสร้างงาน สร้างรายได้ การแก้ปัญหาในเรื่องยาเสพติดกับชาวเขา นำหลักนิติธรรมเข้ามาเชื่อมกับเรื่องการพัฒนา ทำให้ปัญหาในเรื่องความมั่นคงหมดไป ทำให้ปัญหาการที่คนไม่เข้าใจสังคมหมดไป ทำให้ปัญหาในเรื่องรายได้หมดไป เพราะฉะนั้นหลักนิติธรรมเป็นหลักสำคัญทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

แนะ 3 หลักลดความเหลื่อมล้ำ สร้าง “การศึกษาตลอดชีวิต”

สื่อมวลชน: อะไรคือปัจจัยสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย และถ้าให้ท่านแนะนำการออกนโยบายสักหนึ่งเรื่องเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จะแนะนำอย่างไร?

ดร.สุรเกียรติ์: ผมคิดว่าการลดความเหลื่อมล้ำคงต้องมาจากหลักที่เราให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะผู้ที่อาจจะมีรายได้น้อย ผู้ที่อยู่ในฐานะที่อาจจะมีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร หรือคนยากคนจน แต่เขาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเลย ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล เราก็จะไม่ได้ยินว่าสิ่งที่เขาต้องการนั้นคืออะไรอย่างแท้จริง

และเมื่อเราไม่ได้ยินอย่างเต็มที่แล้ว การที่เราจะแก้กฎหมาย หรือกำหนดนโยบายให้ลดความเหลื่อมล้ำนั้น ก็จะไปโดยไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น อันแรกคือเรื่อง “การมีส่วนร่วม” ในการกำหนดนโยบาย อันที่สองผมคิดว่าเป็นเรื่องของการ “ให้โอกาส”  และอันที่สามเป็นเรื่องของการ “สร้างงาน สร้างรายได้”

“ผมคิดว่างบประมาณจากนโยบายการคลังที่รัฐบาลทั้งหลายได้ทำกันมา แล้วก็จะทำต่อไปในอนาคต อาจจะมุ่งไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ คือแทนที่จะเอาปลาไปให้ ก็ควรจะสอนว่าไปตกปลายังไง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเน้นทรัพยากรทางด้านนโยบายการคลังของเราลงไปในการสร้างความสามารถในการหารายได้ น่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี”

การท่องเที่ยวเมืองรองที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ก็เป็นทิศทางที่ดี การท่องเที่ยวชุมชนที่ทำอยู่ก็เป็นทิศทางที่ดี แต่หัวใจอันหนึ่งก็คือ “การศึกษาตลอดชีวิต” จะเป็นตัวที่มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันถ้าเผื่อว่าเรามีช่องว่างเรื่องความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำของสังคมเราจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และจะมากขึ้นเป็นตัวคูณหลายเท่าในระยะเวลาอันสั้น

เพราะฉะนั้น ประการสุดท้ายที่จะลดความเหลื่อมล้ำก็คือ ต้องสร้างระบบการศึกษาที่เรียกว่า “lifelong learning” การศึกษาตลอดชีวิต ให้ทั้งคนสูงอายุ ทั้งคนที่อาจจะตกขบวนรถไฟเทคโนโลยีแล้ว กลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่มาภาพ: สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

อยากเห็นกระบวนการ “ปรองดอง” เป็นวาระชาติ

สื่อมวลชน: การปรองดองในประเทศไทยจะสามารถเกิดขึ้นได้ไหม?

ดร.สุรเกียรติ์: กระบวนการปรองดอง ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นกระบวนการ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นกระบวนการที่ทำไปเรื่อยๆ ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ผมอยากเห็นเรื่องปรองดองเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ

เพราะว่าถ้าเราไม่ทำเรื่องปรองดองให้เป็นที่ยอมรับได้จากคู่ขัดแย้ง ไม่ว่าเราจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลกี่รัฐบาล ความขัดข้องหมองใจ ความไม่สามัคคีมันก็ยังไม่หมดไป ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันของคนไทยก็ยังได้ไม่เต็มที่

ไม่ว่าจะร่วมมือร่วมใจกันในการเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือร่วมใจกันในเรื่องเดินหน้าเรื่องหลักนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าความปรองดองมันยังไม่กลับมาเต็มที่ มันก็จะทำให้พลังของสังคมยังขาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม

เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลในอนาคต ผมก็ยังอยากจะให้ความสำคัญในเรื่องของการทำปรองดอง ซึ่งมันต้องคุยกันยาวๆ ว่าวิธีที่จะทำกระบวนการปรองดองควรจะมีวิธีอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้คู่ขัดแย้ง ให้ทุกภาคส่วน สามารถเข้ามามีความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน คือสังคมไทยเราต้องอยู่ได้ด้วยความแตกต่าง ซึ่งไม่ใช่ความแตกแยก แล้วก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้

การปรองดองไม่ได้แปลว่าทุกคนเห็นเหมือนกันนะครับ การที่มีจุดยืน มันก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเลือกข้าง คนเราอาจจะมีจุดยืนต่างกันได้ แต่เป้าหมายใหญ่เดียวกัน อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยสร้างเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ว่านำไปสู่ความปรองดองได้

ชี้หากไทยเลื่อนเลือกตั้ง ไม่กระทบประธานอาเซียน

สื่อมวลชน: จากกระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้ง จะสร้างผลกระทบต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทยหรือไม่?

ดร.สุรเกียรติ์: ประการที่หนึ่งคือผมยังไม่ทราบว่าเลื่อนหรือเปล่า แต่คิดว่าการจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนคงเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้า กกต. อธิบายได้ว่ามีความจำเป็นอย่างไร กระทรวงการต่างประเทศก็คงจะนำสิ่งที่ กกต. พูดไปอธิบายกับสังคมระหว่างประเทศได้

“คิดว่าตราบใดที่เรายังมีการเลือกตั้ง อาเซียนก็เข้าใจว่าจะมีการเลือกตั้ง แล้วผมคิดว่าประเทศไทยเอง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายต่างประเทศเรามักจะไม่ถูกกระทบ นโยบายอาเซียน นโยบายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ จะมีความต่อเนื่อง ไม่เคยถูกกระทบจากการเปลี่ยนรัฐบาล”

เพราะฉะนั้น จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลใหม่ ผู้นำคนใหม่ หรือผู้นำคนเก่า รัฐบาลใหม่ รัฐบาลเก่า ช่วงไหนก็ตาม หรือในช่วงที่เราเป็นประธานอาเซียน ผมเชื่อว่าเรามีระบบราชการที่เข้มแข็ง และผมเชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคเข้าใจว่าเรื่องต่างประเทศนั้นจะเอามาทำเป็นการเมืองไม่ได้  และนโยบายต่างประเทศนั้นก็คงจะเป็นไปตามประเพณีของประเทศไทย ที่จะไม่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

แม้กระทั่งการเปลี่ยนจากรัฐบาลประชาธิปไตยมาเป็นรัฐบาลรัฐประหาร นโยบายต่างประเทศก็ไม่เปลี่ยน ความสัมพันธ์ ความเป็นมิตร การเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ ก็เหมือนเดิมตลอด ไม่เคยเปลี่ยนแปลง